‘อสังหาฯ เวียดนาม’ ช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ ดึงดูดเงิน FDI ได้กว่า 1.94 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

หน่วยงานการลงทุนต่างประเทศ กระทรวงวางแผนและการลงทุนของเวียดนาม เปิดเผยว่าภาคอสังหาริมทรัพย์ดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ อยู่ที่ 1.94 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนราว 9.6% ของเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงาน พบว่าตั้งแต่ต้นปีนี้จนถึงวันที่ 20 ก.ย. เวียดนามดึงดูดการลงทุน FDI ประมาณ 20.21 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.7% เมื่อเทียบเป็นรายปี อย่างไรก็ดี ภาคอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปยังคงเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นผู้นำที่ดึงดูด FDI ในเวียดนามได้มากที่สุด มูลค่ามากกว่า 14 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 5.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี รองลงมาภาคอสังหาฯ ที่ 1.94 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 45% และการเงินการธนาคาร 1.54 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/real-estate-attracts-1-94-billion-usd-in-fdi-in-nine-months-2198057.html

เอดีบี ชี้ ‘อสังหาฯ เวียดนาม’ ส่อผิดนัดชำระหนี้

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) รายงานเกี่ยวกับตลาดตราสารหนี้ในเอเชียว่าดัชนีกลุ่มอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ของเวียดนามปรับตัวลดลงอย่างมากประมาณครึ่งหนึ่งนับตั้งแต่เดือน ม.ค. และรายงานยังเปิดเผยว่าอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล ณ ช่วงอายุต่างๆ ลดลง ตั้งแต่ 1 มี.ค. จนถึง 2 มิ.ย. เนื่องจากธนาคารกลางเวียดนามใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากขึ้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความมั่งคงทางการเงิน โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาหนี้สินของภาคอสังหาริมทรัพย์ พบว่ามีสัดส่วนหนี้เสียสูงถึง 20% อยู่ในอันดับที่ 2 เป็นรองจากภาคพลังงาน นอกจากนี้ ภาคอสังหาฯ ยังมีสัดส่วนยอดคงค้างพันธบัตรที่ใหญ่ที่สุด โดยคิดเป็น 33.8% ของมูลค่าทั้งหมด

ที่มา : https://vir.com.vn/adb-highlights-default-risks-in-vietnams-property-markets-102853.html

“อสังหาฯเวียดนาม” ยังคงเป็นที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนต่างชาติ

CBRE Vietnam บริษัทที่ให้บริการและการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ รายงานผลการสำรวจมุมมองของนักลงทุนในเอเชียแปซิฟิก ประจำปี 2566 แสดงให้เห็นว่าเมืองโฮจิมินห์และฮานอย เป็นหนึ่งใน 10 จุดหมายปลายทางของการลงทุนข้ามพรมแดนที่น่าสนใจที่สุด โดยเฉพาะเมืองโฮจิมินห์เป็นครั้งแรกที่อยู่ในอันดับที่ 3 ของผลการสำรวจในครั้งนี้ ประกอบกับอยู่อันดับดีกว่าออสเตรเลีย เนื่องจากอัตราการขยายตัวของเมืองที่คาดการณ์ไว้ที่ 42% ในปี 2568 ทำให้เวียดนามเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

นอกจากนี้ จากรายงานของ PropertyGuru Group บ่งชี้ให้เห็นถึงนโยบายเศรษฐกิจเปิดของเวียดนามและการรวมเข้ากับห่วงโซ่อุปทานโลก ด้วยเหตุนี้ ห่วงโซ่อุปทานที่ยืดหยุ่นจึงเป็นกุญแจสำคัญในความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของเวียดนามและเพิ่มความน่าดึงดูดอสังหาริมทรัพย์แก่นักลงทุนต่างชาติ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnamese-real-estate-remain-attractive-to-foreign-investors/249435.vnp

“เวียดนาม” เผยหนี้อสังหาฯ แตะ 1,200 ล้านล้านดอง

กระทรวงการก่อสร้าง เปิดเผยข้อมูล ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2565 พบว่ายอดสินเชื่อคงค้างของภาคอสังหาริมทรัพย์ มีมูลค่าสูงถึง 1,200 ล้านล้านดอง และภาระหนี้ดังกล่าวส่วนหนึ่งมาจากธนาคาร ประมาณ 800 ล้านล้านดอง และพันธบัตรอสังหาริมทรัพย์ 419 ล้านล้านดอง ทั้งนี้ ในปี 2565 เพียงปีเดียว ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้กู้เงิน 180.7 ล้านล้านดอง เพื่อเป็นเงินทุนสำหรับโครงการที่อยู่อาศียและการพัฒนาเมือง โดยเงินกว่า 144.1 ล้านล้านดอง หรือคิดเป็น 18.16% ของยอดสินเชื่อคงค้างทั้งหมด ถูกใช้ไปกับการก่อสร้างและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ในขณะที่เงินอีก 85.2 ล้านล้านดองถูกใช้ไปซื้อที่ดิน

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/real-estate-sector-s-debt-hits-vnd1-200-trillion-2105830.html

‘เวียดนาม’ นับเป็นหนึ่งตลาดที่อยู่อาศัยที่มีศักยภาพ

ตามรายงานของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของโลก “ซาวิลส์” เปิดเผยว่าเวียดนามเป็น 1 ใน 4 แบรนด์ตลาดที่อยู่อาศัยที่มีชื่อเสียงและยังมีศักยภาพที่จะเติบโตได้ โดยกลุ่มแบรนด์ชื่อดังของภาคอสังหาฯ มองว่าภาคอสังหาฯ ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าสามารถเผชิญกับความไม่แน่นอนและความผันผวนของสถานการณ์โลกได้ พร้อมกับเติบโตได้อย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ คุณ Matthew Powell ผู้อำนวยการของบริษัทซาวิลส์ ประจำกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม กล่าวว่าตลาดเวียดนามในกลุ่มแบรนด์ที่อยู่อาศัยชื่อดัง อยู่ในช่วงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดในเมืองและรีสอร์ทของประเทศเวียดนามที่มีศักยภาพที่แข็งแกร่ง ในขณะที่ด้านอุปสงค์ พบว่ามีความต้องการจำนวนมากสำหรับอพาร์ทเมนท์แบบ 3 และ 4 ห้องนอน ซึ่งมีพื้นที่พิเศษสำหรับครอบครัว

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1445263/viet-nam-is-one-of-potential-markets-for-branded-residences.html

บริษัทเกาหลี เร่งเครื่องลงทุนอสังหาฯ ในสปป.ลาว

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา KB Lao Group บริษัทอสังหาริมทรัพย์จากเกาหลีใต้ได้เปิดตัวอาคารอพาร์ตเมนต์ระดับพรีเมียมภายใต้ชื่อโครงการ “The Riverfront Apartments”  ซึ่งนับเป็นการพัฒนาตลาดที่พักอาศัยที่สำคัญในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของสปป.ลาว ในพิธีนี้มีผู้เข้าร่วมได้แก่ นาง Suanesavanh Vignaket  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสารสนเทศ วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว, นาง Phonevanh Outhavong, นาย Hwang Soo Nam ซีอีโอของ KB Lao Group และ นาย Yungsoo Jung เอกอัครราชทูตเกาหลีประจำสปป.ลาว ร่วมเป็นสักขีพยาน โดย The Riverfront Apartments ตั้งอยู่ในหมู่บ้าน Phanman อำเภอศรีสัตตนาค ของเวียงจันทน์ ซึ่งอพาร์ทเมนท์มาพร้อมกับสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันและที่สำคัญคืออยู่ติดริมแม่น้ำโขงที่งดงาม ทำให้ผู้พักอาศัยสามารถเติมความรู้สึกผ่อนคลายและเพลิดเพลินกับการมองดูพระอาทิตย์ตกและพระอาทิตย์ขึ้นที่งดงามเหนือแม่น้ำโขง โดยอพาร์ตเมนต์จะมีทั้งหมด 9 ชั้น 39 ห้องที่มีขนาดแตกต่างกันไป มีทั้งแบบ 1 – 3 ห้องนอน และยูนิตพิเศษอย่างห้องชุดเพนต์เฮาส์ นอกจากนี้ยังมีสระว่ายน้ำบนชั้นดาดฟ้า โรงหนัง สนามกอล์ฟจำลอง และฟิตเนสเซ็นเตอร์

ที่มา: https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten226_Korean.php

ธุรกิจรับสร้างบ้านชะลอตัว น้ำท่วมฉุดกำลังซื้อ-ค่าแรง-วัสดุดันต้นทุนพุ่ง

นายนิรัญ โพธิ์ศรี นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน เปิดเผยว่า มูลค่าบ้านที่ประชาชนสร้างเองทั่วประเทศ (มิใช่ บ้านจัดสรร) มีมูลค่ารวมประมาณ 2 แสนล้านบาทเศษ สำหรับมูลค่าตลาดรับสร้างบ้านในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งในต่างจังหวัด สมาคมฯ ประเมินว่า กลุ่มบริษัทรับสร้างบ้านมีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 2.4 – 2.5 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 12% แบ่งเป็นในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 1.4 – 1.5 หมื่นล้านบาท และต่างจังหวัดประมาณ 1 – 1.1 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันมีบริษัทรับสร้างบ้านแข่งขันอยู่ในธุรกิจจำนวน230 – 250 ราย ประกอบด้วยบริษัทรับสร้างบ้านชั้นนำ รายกลาง รายเล็ก และบริษัทในท้องถิ่น(ต่างจังหวัด) โดยจะมีแบบบ้านให้ผู้บริโภคเลือกปลูกสร้างระดับราคาเริ่มต้น 1.5 ล้านบาท ไปจนถึงราคา 150 ล้านบาทขึ้นไป จากสถานการณ์น้ำท่วมขังหลายๆ พื้นที่ทั่วประเทศ ทำให้ประชาชนจำนวนมากได้รับความเดือดร้อน ทรัพย์สินและบ้านเรือนเกิดความเสียหาย คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวเศรษฐกิจประเทศในช่วงไตรมาสสุดท้ายปีนี้ และความต้องการสร้างบ้านใหม่จะชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับ 3 ไตรมาสที่ผ่านมา ขณะที่ต้นทุนก่อสร้างทั้งค่าวัสดุและค่าแรงปรับตัวสูงขึ้นสวนทางกัน ซึ่งถือเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการทั้งรายเก่ารายใหม่ สมาคมฯ ประเมินว่าตลาดรีโนเวทบ้านจะเติบโตได้ดีในช่วงไตรมาสสุดท้าย และอาจเป็นโอกาสดีสำหรับผู้ประกอบการที่สามารถปรับตัวหันมาจับตลาดรีโนเวทบ้าน เพื่อเป็นการสร้างรายได้และเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน

ที่มา: https://www.naewna.com/business/689364

“เวียดนาม” เผยภาคอุตสาหกรรมและอสังหาฯ แม่เหล็กดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ

กระทรวงการวางแผนและการลงทุน (MPI) เปิดเผยข้อมูล ณ วันที่ 20 ก.ย. ชี้ว่าในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ เวียดนามดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 18.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 15.3% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยตัวเลขข้างต้น มีเงินทุนที่ไหลเข้าไปยังโครงการใหม่กว่า 7.12 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และจำนวน 1,355 โครงการ หดตัว 43% และเพิ่มขึ้น 11.8% ตามลำดับ ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปยังเป็นแหล่งดึงดูดเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ 12.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 64.6% ของทุนจดทะเบียนรวม รองลงมาอสังหาริมทรัพย์ 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (19% ของทั้งหมด) อย่างไรก็ดี ถึงแม้ยอดการลงทุนที่จดทะเบียนใหม่จะยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่จากผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อโรคและความไม่แน่นอนทั่วโลก แต่เงินทุนที่เพิ่มขึ้นจะเช้าไปยังโครงการในปัจจุบันและการใช้จ่ายในการซื้อหุ้นยังคงเพิ่มสูงขึ้น

ที่มา : https://en.nhandan.vn/processing-manufacturing-real-estate-top-fdi-attraction-in-nine-months-post118357.html

ธุรกิจที่ปรึกษาอสังหาฯ ระดับโลก ชี้ “เวียดนาม” จุดหมายปลายทางชั้นนำของนักลงทุนต่างชาติ

บริษัท คุชแมน แอนด์ เวคฟีลด์ จำกัด (Cushman & Wakefield) ธุรกิจที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ระดับโลก เปิดเผยผลการสำรวจตัวแทนผู้ประกอบการที่อยู่ในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง จำนวน 200 ราย ส่วนใหญ่เลือกเข้าไปลงทุนในเวียดนามเป็นประเทศแรกและอันดับสองในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ทั้งนี้ เพื่อดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เวียดนามหันมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อยกระดับความสามารถทางการแข่งขัน รวมถึงปรับปรุงทางหลวงและท่าเรือหลักของประเทศ อีกทั้ง ภาคอสังหาริมทรัพย์ยังเป็นสาขาธุรกิจที่น่าดึงดูดเป็นอันดับ 2 ของมุมมองนักลงทุนต่างชาติ คิดเป็น 26% ของเงินลงทุนรวม นักลงทุนส่วนใหญ่มาจากสิงคโปร์ ญี่ปุ่น เดนมาร์ก จีนและเกาหลีใต้

นอกจากนี้ คุณจอห์น แคมป์เบลล์ จากบริษัทอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของโลก Savills Vietnam กล่าวว่านโยบายในการสนับสนุนเศรษฐกิจและการรณรงค์ฉีดวัคซีนที่ประสบความสำเร็จของเวียดนาม ได้สร้างฐานที่มั่นคงสำหรับบริษัทต่างชาติที่จะมีความมั่นใจต่อการฟื้นตัวของตลาดหุ้นเวียดนาม

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-top-destination-for-foreign-investors-says-cushman-wakefield-2059452.html

‘ตลาดตราสารหนี้เวียดนาม’ ปี 64 พุ่งทะยาน 56% ทะลุ 32 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

จากรายงานของบริษัท SSI Corporation (SSI) เปิดเผยว่าในปี 2564 มูลค่าของตราสารหนี้ของบริษัทเวียดนาม รวมกันทั้งสิ้น 722.7 ล้านล้านดอง (32 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้น 56% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยผู้ออกตราสารหนี้ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ด้วยมูลค่า 14 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 44% ของเม็ดเงินกู้ทั้งหมดของบริษัท ในขณะที่ฝั่งของกลุ่มธนาคารได้ออกตราสารหนี้เป็นมูลค่า 9.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 31.3% ของทั้งหมด อย่างไรก็ตามบริษัท SSI ระบุว่ามูลค่ารวมของพันธบัตรจากธนาคารที่หมุนเวียนในช่วงปลายปี 2564 อยู่ที่ 540 ล้านล้านดอง (23.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) หรือ 39% ของตลาด ซึ่งยังคงต่ำกว่าอัตรา 48% ที่บันทึกไว้ในปลายปี 2561 อย่างมีนัยสำคัญ สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าขนาดของตลาดตราสารหนี้ที่ไม่ใช่ธนาคารกำลังเพิ่มขึ้น

 

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/business/vietnam-s-corporate-bond-market-in-2021-surges-by-56-to-us-32-billion-825021.html