“เวียดนาม” กลายเป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญของห่วงโซ่อุปทานในเอเชีย

Nikkei Asia สื่อยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น รายงานว่าเวียดนามกำลังดึงดูดกลุ่มผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของโลก นอกจากบริษัทระดับโลกอย่างแอปเปิล (Apple), ซัมซุง (Samsung) และพานาโซนิค (Panasonic) ซึ่งวางแผนที่จะขยายกำลังการผลิต ในขณะที่บริษัทออกแบบชิบรายใหญ่ของสหรัฐฯ “Synopsys” เพิ่งจะประกาศว่าจะช่วยเหลือในการฝึกอบรมด้านวิศวกรและจัดตั้งศูนย์การออกแบบชิปในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หากตั้งข้อสังเกตจะเห็นได้ว่าเวียดนามดึงดูดกลุ่มธุรกิจไฮเทคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ คุณ Okuda Yoshiki ที่ปรึกษาขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) กล่าวว่าในอดีตไม่เพียงแต่ประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายประเทศที่พึ่งพาการผลิตของจีน อย่างไรก็ตาม COVID-19 ทำให้เกิดการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน ทำให้เกิดการย้ายโรงงานไปยังเวียดนามและยังถือว่าเป็นข้อกังวลอย่างมากต่อมุมมองของประเทศญี่ปุ่น

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-an-important-link-in-asian-supply-chain-post967774.vov

RCEP ช่วยให้เวียดนามเข้าร่วมห่วงโซ่อุปทานโลกได้ง่ายขึ้น

นาง Nguyen Thi Thu Trang ผู้อำนวยการ WTO และหอการค้าและอุตสาหกรรมเวียดนาม (VCCI) กล่าวว่าการร่วมลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมระดับภูมิภาค (RCEP) จากงานประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 37 ในปี 2563 ชี้ให้เห็นว่าเวียดนามแสดงถึงความน่าเชื่อถือและความสำเร็จในฐานะที่เป็นประธานอาเซียน โดยข้อตกลงการค้าเสรีดังกล่าว ได้สร้างโอกาสที่จะให้เวียดนามสามารถเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบใหญ่ที่สุด และยังเป็นตลาดการบริโภคที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ตลอดจนครอบคลุมห่วงโซ่อุปทานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยเหตุนี้ จึงช่วยสร้างความเชื่อมต่อระหว่างเวียดนามกับสมาชิก RCEP และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศอีกด้วย อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ได้รับประโยชน์มากที่สุดจากข้อตกลงดังกล่าว เวียดนามต้องปรับปรุง 3 แนวทางด้วยกัน ได้แก่ ปฏิรูปหน่วยงานอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมสภาพแวดล้อมการทำธุรกิจและกำหนดนโยบายอุตสาหกรรมให้ชัดเจน

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/rcep-smooths-way-for-vietnam-to-join-global-supply-chains/197191.vnp

เวียดนามเผยอุตสาหกรรมรองเท้า รุกขยายห่วงโซ่อุปทานโลก

สมาคมเครื่องหนัง รองเท้าและกระเป๋าถือของเวียดนาม (LEFASO) ระบุว่าอุตสาหกรรมรองเท้าของเวียดนามเริ่มเห็นสัญญาเขิงบวก หลังจากยอดการส่งออกรองเท้าและกระเป๋าถือลดลง 11% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สู่ระดับ 19.5 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2563 อุตสาหกรรมดังกล่าวได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยมีสัญญาแสดงให้เห็นว่าเวียดนามพยายามเข้าห่วงโซ่อุปทานรองเท้าหนังมากขึ้น ในขณะที่กระบวนการออกแบบและการวิจัยได้สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ทั้งนี้ แหล่งวัตถุดิบส่วนใหญ่อยู่ในประเทศ คิดเป็นสัดส่วน 60% ของทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรปและเวียดนามนับว่าเป็นโอกาสอันดีของเวียดนามที่จะส่งออกไปยังตลาดอียู ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้หวังว่าในปี 2564 ยอดคำสั่งซื้อและรายได้จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากได้รับประโยชน์หลังวิกฤติโควิด-19

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/866852/footwear-sector-further-penetrates-global-supply-chain.html