เค้าชอบเรา! 5 เหตุผลที่เวียดนามนิยมไทย

จากรายงานของสถานกงสุลใหญ่ ณ นครโอจิมินห์ เปิดเผยว่าสินค้าของประเทศไทยนับได้ว่าเป็นหนึ่งในสินค้าที่ได้รับความนิยมอย่างมากจากชาวเวียดนามไม่ว่าจะเป็นสินค้าประเภทอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องแต่งกาย รองเท้า อุปกรณ์ในครัวเรือน อาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น ถึงแม้ว่าราคาจะสูงกว่าคู่แข่งในตลาด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ชาวเวียดนามพิจารณาว่าสินค้าของไทยมีคุณภาพและราคาที่สมเหตุสมผลกว่าสินค้าจากประเทศอื่นๆ โดยเหตุผลที่ชาวเวียดนามชื่นชอบสินค้าไทย ประกอบไปด้วย 5 ปัจจัย ได้แก่ การลงทุนของกลุ่มผู้ประกอบการไทย,ราคาสมเหตุสมผล,ภาพลักษณ์สินค้าไทยที่มีคุณภาพสูง,บรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม และกระแสนิยมไทย นอกจากนี้เหตุผลข้างต้น ยังมีเหตุผลที่เกื้อหนุนที่ทำให้ชาวเวียดนามนิยมสินค้าไทย เช่น เศรษฐกิจยังพุ่งทะยานสูงขึ้น สังคมเมืองยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ รัฐบาลเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้วยเหตุนี้ จากปัจจัยดังกล่าว เชื่อว่าคงเป็นแนวทางให้ผู้ประกอบการที่ต้องการขายสินค้าในเวียดนาม ได้กำหนดกลยุทธ์ในการบุกตลาดที่ถูกต้อง

ที่มา : https://www.bangkokbanksme.com/en/vietnam-thai-products

จับตาเศรษฐกิจเมียนมาร์ เมื่อแบรนด์หรูตบเท้าเข้ามาลงทุน

เมียนมาเหมือนหลายประเทศกำลังพัฒนาที่ยังมีช่องว่างระหว่างชนชั้น กลุ่ม HNWI หรือ high net worth individual เริ่มเปิดตัวมากขึ้น คือผู้ที่มีทรัพย์สินเป็นเงินสดหรือเงินลงทุนมากกว่า 1 ล้านดอลลาร์ บริษัทที่ปรึกษาแห่งหนึ่งในเมียนมาระบุเศรษฐีเหล่านี้เมีเชื้อสายจีนเสียเป็นส่วนใหญ่ และมักมีสายสัมพันธ์กับผู้นำทางทหาร กับนักธุรกิจในแวดวงค้าอัญมณี หรืออุตสาหกรรมตัดไม้ขนาดใหญ่ หลังการเลือกตั้งเมื่อปี 2012 เศรษฐกิจก็เริ่มกระเตื้องอันเป็นผลจากการไหลเข้าของเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ ทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์เฟื่องฟู เศรษฐกิจที่โตปีละ 7% ทำให้ธุรกิจค้าปลีกในประเทศโตไปด้วย อย่างไรก็ตามการผุดขึ้นของห้างสรรพสินค้าดูเน้นไปที่ผู้บริโภคระดับรากหญ้าและชนชั้นกลางมากกว่า ส่วนกลุ่มเศรษฐีก็ยังนิยมบินไปช้อปปิ้งสินค้าแบรนด์เนมที่ต่างประเทศ เช่น ไทย ฮ่องกง สิงคโปร์ หรือไม่ก็ยุโรป เนื่องจากนาฬิกาและรถยนต์เป็นสิ่งที่แสดงฐานะทางสังคม ช่วงไม่กี่ปีมานี้ แบรนด์สินค้าหรูได้ให้ความสนใจและเริ่มเข้ามาบุกเบิก เช่น นาฬิกาแฟรงก์ มุลเลอร์ ตามด้วยร้าน Swiss Time Square ซึ่งเป็นศูนย์รวมนาฬิกาหรูหลากหลายยี่ห้อ และยังมีค่ายรถยนต์ที่มาเปิดโชว์รูม เช่น จาร์กัวร์ แลนด์โรเวอร์ บีเอ็มดับบลิว และเมอร์เซเดสเบนซ์ ยังไม่นับรวมเครื่องสำอางแบรนด์ไฮเอนด์ที่เข้ามาทำตลาด ธุรกิจเหล่านี้ไม่ได้ตอบสนองเฉพาะกลุ่มเศรษฐี หากยังรวมถึงกลุ่มชาวเมียนมาโพ้นทะเลที่เคยอพยพไปตั้งรกรากในต่างประเทศแล้วกลับมาดำเนินธุรกิจในบ้านเกิด และชนชั้นระดับกลางค่อนไปทางสูงซึ่งเป็นกลุ่มใหม่และกำลังเพิ่มจำนวนขึ้น สำหรับผู้ประกอบการไทยลองประเมินดูว่านอกจากอสังหาริมทรัพย์ และบริการทางการแพทย์ (โรงพยาบาลเอกชน) เรามีสินค้าหรือบริการอะไรที่พอจะดึงดูดลูกค้ากระเป๋าหนักจากเมียนมาได้บ้าง 

ที่มา: https://www.smethailandclub.com/aec-1924-id.html

การลงทุนจากต่างชาติในไมโครไฟแนนซ์กัมพูชา แรงส่งการเปลี่ยนแปลงในหลายมิติ

ไมโครไฟแนนซ์ได้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว วัตถุประสงค์คือขยายสินเชื่อให้กับประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ปี 2560 มียอดปล่อยสินเชื่อประมาณ 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 1 ใน 4 ของธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด ปัจจุบันมีผู้ให้บริการทั้งหมด 68 ราย มี 5 รายที่ครองส่วนแบ่ง 80% โดยการปล่อยสินเชื่อจะแบ่งเป็น ภาคครัวเรือน 33% การเกษตร 30% และค้าปลีก 19% จากประชากรที่ใช้สินเชื่อ 1.7 ล้านคน ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กัมพูชาได้เพิ่มทุนจดทะเบียนไมโครไฟแนนซ์ ทำให้ต้องหาพันธมิตรจากต่างประเทศมากขึ้น ผลดีคือ การบริการที่หลากขึ้นเพราะแข่งขันสูง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การบริโภคภาคครัวเรือนเพิ่ม ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นนักลงทุนไทยควรปรับกลยุทธ์ให้เหมาะกับโอกาสทางธุรกิจ เช่น พัฒนาระบบ e-payment เพื่อขยายช่องทางและเชื่อมต่อพื้นที่ห่างไกล โดยเฉาะสินค้าที่เป็นที่นิยมอย่างมอเตอร์ไซค์หรือเครื่องจักรทางการเกษตร

ที่มา: http://www.exim.go.th/doc/newsCenter/50318.pdf

31 ธันวาคม 2561