รมว.พาณิชย์ถก JFCCT เร่งลดอุปสรรคการค้า-ดึงดูดลงทุนหลังโดนผลกระทบโควิด

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) นำโดยนายสแตนลีย์ คัง ประธาน JFCCT ว่า วันนี้ได้พบปะหารือตัวแทนหลายประเทศในกลุ่มหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย โดยประเด็นที่ 1 คือเรื่อง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ซึ่ง JFCCT ต้องการให้ผู้ประกอบธุรกิจต่างด้าวสามารถถือหุ้นได้ 100% ในการประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้บัญชี 3 บางรายการในช่วง 3 ปีนี้ เพื่อดึงดูดการลงทุนเข้ามาประเทศไทยในช่วงโควิด ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงพาณิชย์รับจะพิจารณาให้ ภายใต้ขั้นตอนกระบวนการตามที่กฎหมายกำหนด เรื่องที่ 2 คือ การเจรจาการค้าเสรี (FTA) กับหลายกลุ่ม ที่มีความชัดเจนอย่างน้อย 5 ประเทศ 5 กลุ่ม คือ FTA ไทย-EU, ไทย-UK, ไทย-EFTA กลุ่มประเทศแถวสวิส นอร์เวย์, ไทย-ยูเรเซีย และอาเซียนกับแคนาดา เรื่องที่ 3 คือ มาตรการฟื้นการท่องเที่ยวที่ภาคเอกชนต่างประเทศ อยากเห็นการกำหนดเงื่อนเวลาที่จะให้กักตัวอย่างชัดเจนและจะมีมาตรการผ่อนคลายเพิ่มขึ้นเมื่อใด ส่วนเรื่องที่ 4 เกี่ยวข้องกับระบบการขนส่งที่ภาคเอกชนต่างประเทศ ต้องการเห็นการขนถ่ายสินค้าที่สะดวกขึ้น อย่างไรก็ตาม สำหรับการพบปะกันนั้น จะเปิดโอกาสให้หอการค้าต่างประเทศได้หารือกับกระทรวงพาณิชย์มากขึ้น เพื่อจะได้ติดตามความคืบหน้า และร่วมกันทำงานคลี่คลายปัญหาที่ติดขัด เพื่อช่วยกันฟื้นเศรษฐกิจและเป้าหมายในการเพิ่มมูลค่าการส่งออกของไทยด้วย

ที่มา : https://www.ryt9.com/s/iq03/3172940

กระทรวงฯ คาดว่าการส่งออกของเวียดนามในปี 63 โต 3-4%

กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (MoIT) เปิดเผยว่าเวียดนามยังคงรักษาอัตราการเติบโตของการส่งออกในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ ถึงแม้ว่าจะเผชิญกับการระบาดของ COVID-19 ก็ตาม โดยในช่วง 10 เดือนแรก เวียดนามมีมูลค่าการส่งออก อยู่ที่ 229.27 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ยอดการส่งออกของธุรกิจในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 (28.7% ของยอดส่งออกรวม) ในขณะที่ธุรกิจต่างชาติเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 (71.3% ของยอดส่งออกรวม) อย่างไรก็ตาม รองผู้อำนวยการฝ่ายการส่งออกและนำเข้า กล่าวว่าสหรัฐฯ ยังคงเป็นตลาดส่งออกรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ด้วยมูลค่า 62.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 24 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว รองลงมาจีน สหภาพยุโรป อาเซียน เกาหลีใต้และญี่ปุ่น ตามลำดับ ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ คาดว่าผู้ส่งออกในท้องถิ่นยังคงทำตลาดแบบดั้งเดิมอยู่และมองหาตลาดใหม่ๆ เพื่อที่จะใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) นอกจากนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงฯ กล่าวว่าการผลิตภาคอุตสาหกรรม การส่งออกและการค้าในประเทศ ปี 2563 อาจอยู่ในทิศทางที่ดีขึ้น และคาดว่าการส่งออกจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3-4 เมื่อเทียบกับปี 2562

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/ministry-predicts-2020-export-growth-of-34-pct/189865.vnp

เผยผลสำรวจพบนักช้อปชาวเวียดนามซื้อสินค้าออนไลน์พุ่ง ในปี 2563

“เอเซีย พลัส” บริษัทวิจัยตลาดเอเชียและอาเซียน เปิดเผยผลสำรวจของผู้บริโภคชาวเวียดนาม เรื่อง “ตลาดอีคอมเมิร์ซเวียดนาม ปี 2563” ทำการสำรวจเดือนต.ค. 2563 รวมทั้งสิ้น 700 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการซื้อสินค้าออนไลน์ เมื่อถามถึงอุปกรณ์ที่ใช้ในการซื้อสินค้าออนไลน์ พบว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่ร้อยละ 59 ใช้แอปพลิเคชันบนมือถือ ในขณะที่ร้อยละ 19 ใช้คอมพิวเตอร์ สาเหตุส่วนใหญ่มาจากนักช้อปชาวเวียดนามอยู่บ้านมากขึ้นในช่วง COVID-19 ส่งผลให้การซื้ออาหารและเครื่องดื่มผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้นตามไปด้วย รองลงมาแฟชั่น เครื่องสำอาง อุปกรณ์กีฬา หนังสือ โทรศัพท์มือถือและของใช้ภายในบ้าน ซึ่งล้วนแต่เป็นสินค้าที่นิยมซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส อย่างไรก็ตาม จำนวนเงินที่ซื้อสินค้าออนไลน์ ส่วนใหญ่ร้อยละ 53 ใช้จ่ายต่ำกว่า 500,000 ด่องต่อเดือน (21.6 ดอลลาร์สหรัฐ) ขณะที่ร้อยละ 21 ใช้จ่าย 700,000-1 ล้าน ด่องต่อเดือน (30.3-43.2 ดอลลาร์สหรัฐ) นอกจากนี้ สำหรับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ พบว่า ช้อปปี้ (Shopee) เป็นแพลตฟอร์ที่นักช้อปชาวเวียดนามร้อยละ 36 นิยมซื้อนิยมสินค้ามากที่สุด รองลงมาลาซาด้า (28%) และทิกิ (11%) โดยสาเหตุที่ช้อปปี้ได้รับความนิยมมากที่สุด เนื่องมาจากราคาและความหลากหลายของสินค้าที่มีความเหมาะสม รวมถึงมีภาพลักษณ์ให้ความสนุกสนานในการจับจ่ายใช้สอย

ที่มา : http://hanoitimes.vn/vietnamese-shoppers-increase-online-purchase-frequency-in-2020-survey-314726.html

ร่างคุ้มครองผู้บริโภคเมียนมาพร้อมประกาศใช้

จากรายงานของฝ่ายกิจการผู้บริโภคภายใต้กระทรวงพาณิชย์ เมียนมาได้จัดทำร่างโครงการคุ้มครองผู้บริโภคระดับชาติเป็นที่เสร็จสิ้นแล้ว เนื้อหาในร่างนี้จะรวมถึงการคุ้มครองผู้บริโภค การศึกษาการสื่อสารการตลาดและการดำเนินการเพื่อผู้บริโภค โดยได้รับการยอมรับจากคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคของเมียนมาและจะถูกส่งต่อไปยังรัฐบาล โครงการดังกล่าวเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560 และจะประกาศให้สาธารณชนได้รับทราบต่อไป โปรแกรมนี้ได้รับความช่วยเหลือจากนานาชาติรวมถึงการขอความช่วยเหลือสำหรับผู้บริโภคออนไลน์

ที่มา: https://www.mmtimes.com/news/consumer-protection-program-drafted-myanmar.html

รัฐบาลสปป.ลาวประกาศลดโครงการที่ได้รับทุนเพื่อลดภาระหนี้

งบประมาณส่วนสำคัญที่จัดสรรให้สำหรับโครงการที่ได้รับทุนจากรัฐจะถูกตัดในปีหน้าเพื่อให้รัฐบาลสามารถรักษาสภาพคล่องทางการเงินได้ แต่โครงที่ยังมีความจำเป็นอย่างโครงการที่เกี่ยวข้องกับการลดความยากจนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาฝีมือแรงงาน โครงการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และโครงการพัฒนาสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออกจะยังได้รับการสนับสนุนต่อไป Mr. Sonexay Siphandone รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการวางแผนและการลงทุนกล่าวว่า “เราต้องจำกัดจำนวนโครงการใหม่เพื่อลดการก่อหนี้เรื้อรังและช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดทางการเงินที่เกิดขึ้นจากโครงการที่ผ่านมา” สิ่งนี้ก่อให้เกิดความกังวลภายในรัฐสภาเกี่ยวกับเป้าหมายต่างๆที่รัฐบาลจะต้องบรรลุในช่วง 5 ปีข้างหน้าเนื่องจากงบประมาณที่ลดลงสำหรับโครงการซึ่งเป็นความท้าทายอย่างยิ่งของรับบาลสปป.ลาว

ที่มา : http://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Govt217.php

สปป.ลาวอาจไม่สำเร็จการหลุดพ้นจากสถานะประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุดในปี 67

รองนายกรัฐมนตรีสปป.ลาว กล่าวกับสมาชิกสมัชชาแห่งชาติว่า องค์การสหประชาชาติกำลังประเมินความเป็นไปได้ที่สปป.ลาวจะหลุดพ้นจากสถานะประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (LDC) ในปี 67 ซึ่งสปป.ลาวจำเป็นต้องรวบรวม วิเคราะห์ข้อมูลโดยละเอียดมากขึ้น การวิเคราะห์ผลกระทบของการระบาดอย่างละเอียดต่อการหลุดพ้นจากสถานะ LDC สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการพัฒนาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เกณฑ์ที่กำหนดโดยสหประชาชาติในการหลุดพ้นจากสถานะ LDC ที่ประเทศต่างๆจะต้องบรรลุเป้าหมายบางประการ ที่เกี่ยวข้องกับดัชนีสินทรัพย์มนุษย์ (HAI) ซึ่งประเมินเป้าหมายด้านสุขภาพและการศึกษาความเปราะบางทางเศรษฐกิจ (EVI) และรายได้ประชาชาติมวลรวม (GNI) ต่อหัว การทบทวนของสปป.ลาวในปี 62 พบว่าประเทศนั้นมีคุณสมบัติ GNI ต่อหัวและ HAI ตรงตามข้อกำหนด แต่ดัชนีความเปราะบางทางเศรษฐกิจ (EVI) ไม่ผ่านเกณฑ์ดังกล่าว ท่ามกลางการระบาดของโรคโควิด -19 สปป.ลาวต้องเผชิญกับความท้าทายในการพัฒนาหลายประการรวมถึงผลกระทบที่สำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจโดย คาดว่าอัตราการเติบโตจะอยู่ที่ 3.3 % ในปีนี้ แม้จะมีความท้าทายเหล่านี้รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าสปป.ลาวต้องพัฒนาพื้นที่ชนบทและขจัดความยากจนทั่วประเทศ

ที่มา :  https://laotiantimes.com/2020/11/05/laos-may-graduate-from-least-developed-country-in-2024/