พลังงานแสงอาทิตย์ยังคงมีความสำคัญกว่าการนำขยะมาผลิตพลังงานในกัมพูชา

โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 30 เมกะวัตต์ในจังหวัดโพธิสัตว์ ได้เริ่มผลิตไฟฟ้าให้กับกริดแห่งชาติโดยมีโครงการที่ได้รับอนุมัติอีกสามโครงการที่จะผลิตพลังงานในปลายปี 2020 แต่สิ่งนี้ยังคงมีคำถามเกี่ยวกับการที่จะนำขยะภายในท้องถิ่นมาเข้าขบวนการเปลี่ยนเป็นพลังงาน หรือที่เรียกันว่าพลังงานขยะ (WTE) ยังไม่ถูกนำมาใช้ ซึ่งโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์รวม 140 เมกะวัตต์จะแล้วเสร็จใน 4 จังหวัดทั่วกัมพูชาภายในสิ้นปี 2020 โดยพลังงานแสงอาทิตย์เป็นทิศทางที่กัมพูชากำลังดำเนินไปในแง่ของพลังงานหมุนเวียนในขณะนี้แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการศึกษาความเป็นไปได้ของโรงไฟฟ้าขยะชุมชนก็ตาม ซึ่งอัตราค่าไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขยะอยู่ที่ประมาณ 0.14 ถึง 0.15 ดอลลาร์ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมงที่ขายให้กับ Electricite du Cambodge (EDC) และอัตราค่าไฟฟ้าจากเขื่อนพลังน้ำอยู่ที่ 0.06 ถึง 0.07 ดอลลาร์ต่อกิโลวัตต์ และจากโรงไฟฟ้าถ่านหินประมาณ 0.08 เหรียญต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง ตามรายงานของกระทรวงสิ่งแวดล้อมมีการรวบรวมและส่งขยะมูลฝอยกว่า 1.7 ล้านตัน ไปยังที่ทิ้งขยะซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยขยะมูลฝอยคิดเป็นร้อยละ 51 ของขยะทั้งหมดในปี 2561

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50766293/solar-still-beats-waste-to-energy/

ADB คาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจกัมพูชาจะเติบโตช้าลงในปีนี้

ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ได้ปรับการคาดการณ์การเติบโตของกัมพูชาในปี 2020 เป็นลบร้อยละ 4 จากการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ติดลบร้อยละ 5.4 ในเดือนมิถุนายนเนื่องจากผลการดำเนินงานทางการด้านการเกษตรที่ดีขึ้นและปริมาณการผลิตสินค้าที่นอกเหนือจากภาคอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มที่เพิ่มขึ้น โดยเสริมถึงเศรษฐกิจท้องถิ่นจะฟื้นตัวมาอยู่ที่ร้อยละ 5.9 ในปี 2021 แต่อย่างไรก็ตามการคาดการณ์นี้ยังไม่เป็นที่แน่นอนและจะขึ้นอยู่กับการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ยังคงดำเนินอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังคงค่อนข้างคงที่ที่ร้อยละ 2.1 ในปี 2020 ก่อนจะลดลงเหลือร้อยละ 1.8 ในปี 2021 เนื่องจากราคาน้ำมันที่ต่ำทำให้ต้นทุนการขนส่งและการผลิตลดลง โดยธนาคารเพื่อการพัฒนาระบุว่าการชะลอตัวอย่างต่อเนื่องในอุตสาหกรรมการก่อสร้างและเครื่องนุ่งห่ม รวมถึงการเก็บเกี่ยวที่ไม่ดีจากสภาพอากาศเลวร้ายยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50765972/adb-revised-forecast-says-economy-to-plunge-this-year/

ธนาคารกลางเวียดนามเล็งปรับลดอัตราดอกเบี้ย

ธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) เล็งปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง เพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ตามคำแถลงการณ์ของรองผู้ว่าธนาการกลาง เมื่อวันที่ 22 กันยายนที่ผ่านมา โดยทางผู้ว่าธนาคารกลาง กล่าวว่ายังคงให้การสนับสนุนกับทางสถาบันสินเชื่อในทุกวิธีทาง รวมถึงอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ ทั้งนี้ ธนาคารกลางเวียดนามสนับสนุนสถาบันสินเชื่อ ให้ลดค่าใช้จ่าย-ต้นทุน และสนับสนุนลูกค้ารายใหม่ๆ ในขณะเดียวกัน ก็ยังรักษามาตรฐานในการปล่อยสินเชื่อวงเงินสูง เพื่อให้มั่นใจว่าภาคธนาคารมีเสถียรภาพในระยะยาว อย่างไรก็ตาม ความต้องการเงินกู้ในปีนี้อยู่ในระดับต่ำ เป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ตัวเลขของการเติบโตสินเชื่ออยู่ที่ร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว สำหรับอัตราหนี้เสีย พบว่ายังอยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละ 2 จากการที่ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ดำเนินการตามแนวทาง Basel II

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/central-bank-eyes-further-interest-cut/187441.vnp

เวียดนามทำสถิติยอดเกินดุลการค้าสูงสุดในช่วง 9 เดือนและครึ่งแรกของปีนี้

กรมศุลกากรระบุว่าเวียดนามมียอดการค้าระหว่างประเทศอยู่ที่ 361.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงกลางเดือนกันยายนในปีนี้ ส่งผลให้ตัวเลขของยอดเกินดุลการค้าในช่วง 8 เดือนแรก ขยับพุ่งแตะ 14.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ สินค้าส่งออก 4 รายการที่มีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตั้งแต่วันที่ 1-15 กันยายน ได้แก่ โทรศัพท์และชิ้นส่วน (2.33 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) รองลงมาคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ (2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ), เครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอ (1.37 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) และเครื่องจักรและอุปกรณ์ (1.22 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ตามลำดับ ขณะที่ มูลค่าการนำเข้ารวม อยู่ที่ราว 11.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงกลางเดือนกันยายน นอกจากนี้ จากตัวเลขสถิติเมื่อปีที่แล้ว พบว่าเวียดนามมียอดเกินดุลการค้าถึง 9.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา หลังจากในปี 2559 มีมูลค่าที่ 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามมาด้วยปี 2560 ที่ 1.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และในปี 2561 ที่ 6.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/trade-surplus-reaches-record-high-in-nine-months-and-a-half/187444.vnp

เมียนมาปล่อยเงินกู้รอบสองกว่า 100 พันล้านจัตให้ธุรกิจสู้ภัยโควิด

รัฐบาลได้เริ่มจ่ายเงินกู้จำนวน 20,700 ล้านจัตเพื่อช่วยเหลือบริษัทมากกว่า 10,000 แห่งที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 รวมถึงบริษัทที่อยู่นอกย่างกุ้ง เงินเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณจำนวน 1 แสนล้านจัต รอบที่ 2 ของรัฐบาลเมียนมา ซึ่งจากธุรกิจ 10,000 แห่ง มากกว่า 7,600 แห่งมาจากภูมิภาคและรัฐอื่น ๆ โดยเงินจะจ่ายล็อตแรกให้กับธุรกิจ 1,041 แห่ง จะมีเพียง 180 แห่งที่เป็นธุรกิจในย่างกุ้ง ซึ่งเงินกู้ถูกจ่ายไปใน 9 ภาคธุรกิจจะถูกรวมอยู่ในเงินล็อตที่ 2 ได้แก่ เกษตรกรรม ปศุสัตว์และประมง การส่งออก การทดแทนการนำเข้า ห่วงโซ่อุปทาน อาหาร บริการการจัดหางานในต่างประเทศและอาชีพ โดยระยะเวลาการกู้ยืม 12 เดือนอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 กลุ่มธุรกิจแรกที่ได้รับ ได้แก่ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โรงสีข้าว ฟาร์มปศุสัตว์ และธุรกิจอาหาร ภายใต้กองทุน 100 พันล้านจัตล็อตแรกได้จ่ายให้กับผู้ที่สมัครเข้ามา 3,393 จากผู้สมัครมากกว่า 4250 คน

ที่มา : https://www.mmtimes.com/news/myanmar-govt-commences-second-k100b-covid-19-loan-business.html