‘เวียดนาม’ ส่งออกปลาสวาย มีแนวโน้มฟื้นตัว

จากข้อมูลทางสถิติของกรมศุลกากรเวียดนาม แสดงให้เห็นว่าเวียดนามทำรายได้จากการส่งออกปลาสวาย (Tra fish) ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ อยู่ที่ราว 725 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2% เมื่อเทียบเป็นรายปี ในขณะที่จากข้อมูลของสมาคมผู้ส่งออกและผู้ผลิตอาหารทะเลของเวียดนาม (VASEP) ระบุว่าสหรัฐฯ ยังคงเป็นผู้นำเข้าปลาสวายจากเวียดนามรายใหญ่ที่สุด รองลงมาจีน สหภาพยุโรปและอเมริกาใต้ โดยเฉพาะสินค้าส่งออกปลาแช่แข็งของเวียดนามที่ส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ทำรายได้มากกว่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 19% เมื่อเทียบเป็นรายปี หรือคิดเป็นสัดส่วน 98% ของสินค้าส่งออกปลาสวายทั้งหมด

อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญ มองว่าแนวโน้มการส่งออกปลาสวายไปยังตลาดยุโรปจะปรับตัวลดลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการถดถอยของภาวะเศรษฐกิจโลกและความตึงเครียดของสถานการณ์โลกในปัจจุบัน ทำให้เวียดนามต้องใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรียุโรป-เวียดนาม (EVFTA) เพื่อที่จะเข้าถึงตลาดได้มากขึ้น

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnams-tra-fish-export-tipped-to-bounce-back-post287558.vnp

‘ไมโครซอฟท์’ เผยผลสำรวจชี้ว่าเวียดนามใช้ AI ในการทำงานสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก

จากรายงานของไมโครซอฟท์ (Microsoft) เปิดเผยผลการสำรวจแรงงาน 31,000 คน จาก 31 ประเทศทั่วโลก รวมถึงเวียดนาม พบว่าอัตราการใช้งานปัญญาประดิษฐ์เชิงรู้สร้าง (Generative AI) เข้ามาช่วยในการทำงานเพิ่มขึ้น 2 เท่าในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ด้วยเครื่องมือยอดนิยม ได้แก่  ChatGPT, Copilot และ GitHub Copilot เป็นต้น

โดยเฉลี่ยกลุ่มตัวอย่าง 3 ใน 4 หรือคิดเป็น 75% มีการใช้ AI โดยเฉพาะเวียดนามที่แสดงให้เห็นว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 88% ใช้ AI ในการทำงาน และมีอัตราสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก

ทั้งนี้ นาง Nguyen Quynh Tram ผู้อำนวยการทั่วไปของ Microsoft Vietnam กล่าวว่าในปัจจุบัน AI ไม่เพียงแต่ใช้งานทั่วไปแล้ว เช่น การแปลเอกสาร การสรุปผลหรือการร่างอีเมล์ แต่ยังมีการใช้งานในการสร้างสรรค์อีกด้วย อย่างไรก็ตาม การกระตุ้นให้คนหันมาใช้ AI จากระดับลูกจ้างนั้น เป็นไปได้ยาก

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/rate-of-using-ai-to-work-in-vietnam-is-higher-than-worlds-average-microsoft-post1097732.vov

เขตมินบู มีแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรจากโครงการชลประทานพลังงานแสงอาทิตย์ 19 โครงการ

กรมชลประทานและการจัดการการใช้น้ำของเมียนมา ระบุว่า โครงการชลประทานพลังงานแสงอาทิตย์ 19 โครงการได้ดำเนินการในเขตมินบู โดยได้รับเงินกู้จากกองทุนส่งเสริมเศรษฐกิจของรัฐ เพื่อปรับปรุงคุณทางสังคมและเศรษฐกิจของเกษตรกรในภูมิภาคจากเมืองต่างๆ และเพื่อเพิ่มผลผลิตพืชผลในท้องที่ โดยทั้ง 19 โครงการ ได้รับการอนุมัติด้วยเงินกู้จำนวน 78.365 ล้านจ๊าด และประสบความสำเร็จอย่างมากในการปลูกพืชผลในเขตดังกล่าว  อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่จากกรมชลประทานและการจัดการการใช้น้ำ กล่าวว่า ชาวนาแต่ละรายกู้ยืมเงิน 5.625 ล้านจ๊าด ในอัตราดอกเบี้ยต่ำโดยมีระยะเวลากู้ยืม 1 ปี สิ่งอำนวยความสะดวกด้านชลประทานได้รับการสนับสนุนจากเทคโนโลยีในการจัดหาน้ำเพื่อการเกษตรให้กับพืชผลในพื้นที่ที่ยากลำบาก นอกจากนี้ มีรายงานด้วยว่าเกษตรกรในท้องถิ่นสามารถปลูกพืชได้เพิ่มขึ้น 3 เท่าต่อปี ด้วยระบบชลประทานพลังงานแสงอาทิตย์แบบใหม่ ระบบใช้น้ำใต้ดินและจัดหาน้ำประปาที่เชื่อถือได้ทุกครั้งที่ต้องการ สิ่งนี้มาแทนที่การพึ่งพาน้ำฝนแบบดั้งเดิมและลดต้นทุนเชื้อเพลิงสำหรับเกษตรกร รวมทั้ง ระบบดังกล่าวคาดว่าจะเพิ่มผลผลิตพืชผลและปรับปรุงชีวิตทางเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของเกษตรกร จากข้อมูลของหน่วยงานดังกล่าว กองทุนส่งเสริมเศรษฐกิจของรัฐจะถูกใช้เพื่อขยายระบบน้ำประปาพลังงานแสงอาทิตย์นี้ไปยังเมืองอื่นๆ ในเขตมินบูด้วย

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/minbu-district-enjoys-agricultural-water-from-19-solar-powered-irrigation-projects/

รัฐบาล สปป.ลาว สั่งทุกหน่วยงานแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศอย่างจริงจัง

รัฐบาล สปป.ลาว เรียกร้องให้หน่วยงานกลางและระดับท้องถิ่นเร่งดำเนินการเพื่อบรรลุยุทธศาสตร์และมาตรการทางเศรษฐกิจที่มุ่งแก้ไขความยากลำบากทางเศรษฐกิจที่กำลังดำเนินอยู่ ท่ามกลางความกังวลที่เกิดจากความวุ่นวายทั่วโลกและแรงกดดันทางเศรษฐกิจภายในประเทศ แนวทางหลักที่ต้องปฏิบัติคือลดการพึ่งพาการนำเข้าและเพิ่มการบริโภคสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ เนื่องจากการพึ่งพาสินค้านำเข้าในสัดส่วนที่มาก ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ดัชนีราคาผู้บริโภคของประเทศขยายตัว จนอัตราเงินเฟ้อมีระดับที่สูงในปัจจุบัน

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_99_govt_y24.php

AMRO คาด GDP กัมพูชาโต หนุนโดยการส่งออกและการท่องเที่ยว

สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (AMRO) คาดการณ์เศรษฐกิจกัมพูชามีแนวโน้มที่ดีขึ้นในปี 2024 โดยแรงขับเคลื่อนสำคัญมาจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการส่งออกและการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าจะเติบโตร้อยละ 5.6 ในปี 2024 และร้อยละ 5.9 ในปี 2025 กล่าวโดย Jinho Choi นักเศรษฐศาสตร์ประจำสำนักงาน AMRO อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวนี้ ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงภายนอกและจุดอ่อนภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอสังหาริมทรัพย์ในระยะยาวและคุณภาพสินเชื่อที่ปรับตัวลดลง ขณะที่การเติบโตของภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอคาดว่าจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในปี 2024 โดยแรงขับเคลื่อนมากจากความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้นในตลาดหลักของประเทศพัฒนาแล้ว ในขณะเดียวกัน ภาคการผลิตนอกเหนือจากอุตสาหกรรมสิ่งทอ คาดว่าจะรักษาโมเมนตัมการเติบโตที่แข็งแกร่งต่อไป โดยได้รับการสนับสนุนจากการไหลเข้าของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่มั่นคง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501494147/amro-forecasts-rosier-growth-for-cambodia-in-2024/

กรมสรรพากรกัมพูชา รายงานการจัดเก็บภาษีไตรมาส 1 ลดลง

กรมสรรพากร (GDT) รายงานการจัดเก็บภาษี ในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2024 ที่มูลค่ารวม 1.18 พันล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 11.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มียอดการจัดเก็บภาษี 1.34 พันล้านดอลลาร์ สำหรับกัมพูชามีหน่วยงาน 2 แห่ง ที่รับผิดชอบการจัดเก็บภาษี หน่วยงานแรกคือ กรมสรรพากร (GDT) ซึ่งมุ่งเน้นการจัดเก็บภาษีภายในประเทศ เช่น ภาษีเงินได้ ภาษีเงินเดือน ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีที่ดิน อีกหน่วยงานคือกรมศุลกากร (GDCE) ซึ่งทำหน้าที่จัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าและส่งออก โดยการจัดเก็บภาษีในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม คิดเป็นร้อยละ 28.5 ของเป้าหมายการจัดเก็บภาษีที่ตั้งไว้ในปีงบประมาณ 2024 ขณะที่นายกรัฐมนตรีได้จัดเตรียมมาตรการกระตุ้นการจัดเก็บภาษีสำหรับภาคการท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ และภาคการเกษตร เพื่อกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่อไป

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501493907/gdt-tax-collection-falls-in-q1/

DITP ชี้ตลาดฮาลาลบูม พร้อมแสดงศักยภาพ ยกระดับฮาลาลไทย

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) จัด Thai Halal Pavilion เปิดโอกาสทางธุรกิจ สร้างโอกาสทางการค้า แสดงศักยภาพอาหารฮาลาลไทย ผสานนวัตกรรม ก้าวสู่ตลาดโลก ดัน Soft Power อาหารไทย ใน THAIFEX-Anuga Asia 2024 นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตอาหารฮาลาลเพื่อการส่งออก ในปี 2566 มีมูลค่าการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศมุสลิม (OIC) 6,246.13 ล้านบาท โดยไทยส่งออกสินค้าอาหารฮาลาล เป็นอันดับที่ 11 ของโลก อย่างไรก็ตาม อาหารฮาลาลของไทยยังมีโอกาสเติบโตได้เพิ่มขึ้น จากจุดแข็งด้านคุณภาพ วัตถุดิบที่มีความหลากหลาย มีมาตรฐาน รสชาติดี เป็นที่นิยม และมีชื่อเสียงในตลาดโลก กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) จึงได้สนับสนุนและส่งเสริมอาหารฮาลาลมาอย่างต่อเนื่อง โดยเปิดโอกาสให้อาหารฮาลาลไทยขยายออกไปสู่ตลาดโลกมากขึ้น และได้กำหนดให้จัด Thai Halal Pavilion ขึ้นเพื่อแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มฮาลาลแบบครบวงจร สร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการจาก 5 จังหวัดชายแดนใต้ สงขลา สตูล ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ซึ่งเป็นฐานการผลิตสินค้าฮาลาลที่สำคัญ ในงาน THAIFEX-Anuga Asia 2024 งานจัดแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม ที่ใหญ่และครบวงจรที่สุดในเอเชีย ซึ่งปีนี้มีผู้เข้าร่วมแสดงสินค้ารวมกว่า 3,000 บริษัท มากกว่า 6,000 คูหา จาก 50 ประเทศ ในปัจจุบันอาหารฮาลาลไทย ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากจำนวนประชากรมุสลิมมีการขยายตัวสูง ประกอบกับผู้บริโภคยุคใหม่ที่มิใช่มุสลิมก็ให้ความสำคัญกับการบริโภคอาหารปลอดภัย และมีความเชื่อมั่นในอาหารและเครื่องดื่มฮาลาลของไทยที่มีกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานคุณภาพตามหลักการศาสนาบัญญัติอิสลาม

ที่มา : https://www.matichon.co.th/publicize/news_4596050

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก เป็นภัยคุกคามต่อการพัฒนาประเทศลาว

นางสาวแสงผาสุข ไซยะวงศ์ ผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สปป.ลาว กล่าวในที่ประชุมเกี่ยวกับการจัดการการขาดแคลนน้ำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศดูเหมือนจะก่อให้เกิดภัยคุกคามที่สำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศลาว โดยภัยแล้งที่ยืดเยื้อเป็นเวลานานในขณะนี้ได้ทำลายการผลิตพลังงานและพืชผลทางการเกษตร ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ การขาดแคลนน้ำอาจสร้างความเสียหายให้กับกิจกรรมทางการเกษตรซึ่งมีการจ้างงานในสัดส่วนที่สำคัญของประชากรลาว เกษตรกรที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบชลประทานอาจได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการขาดแคลนน้ำ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_98_Climate_y24.php

‘วีซ่า’ จับมือเป็นพาร์ทเนอร์อีวอลเล็ท ดันตลาดเวียดนาม

นาง Dang Tuyet Dung ผู้จัดการวีซ่าประเทศเวียดนามและสปป.ลาว กล่าวว่าวีซ่า (Visa) ผู้ให้บริการชำระเงินดิจิทัลระดับโลก มีความยินดีที่จะเป็นพันธมิตรกับกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำในเวียดนาม ได้แก่ MoMo, VNPAY และ ZaloPay เพื่อมอบประสบการณ์การชำระเงินให้เป็นเรื่องสะดวก ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ให้กับผู้ถือบัตรวีซ่าที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) รวมถึงประชาชน โดยความร่วมมือในครั้งนี้จะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของเวียดนามไปสู่สังคมไร้เงินสด โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ที่สามารถเสนอโซลูชั่นให้กับผู้บริโภค

นอกจากนี้ จากการศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคในเรื่องการชำระเงิน พบว่าในปี 2566 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 88% ใช้การชำระเงินดิจิทัล ในขณะที่ 62% ใช้สแกน QR Code ชำระเงิน เพิ่มขึ้น 35% จากปี 2565

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1656257/visa-partners-with-e-wallets-in-viet-nam.html

‘เวียดนาม’ เผยการผลิตภาคอุตสาหกรรม สัญญาณฟื้นตัว

กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ทำการประเมินสถานการณ์ของภาคอุตสาหกรรมพบว่าดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม ม.ค.-เม.ย. เพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยเฉพาะสาขาการผลิตและแปรรูปที่เพิ่มสูงขึ้นกว่า 6.3% เนื่องจากมาตรการส่งเสริมของภาครัฐ ตลอดจนการไหลเข้าของเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ ในขณะที่ตลาดโลกค่อยๆกลับมาฟื้นตัวและปรับตัวจากการหยุดชะงักในปี 2565 และปี 2566 ทำให้ยอดคำสั่งซื้อส่งออกใหม่เพิ่มสูงขึ้น

ทั้งนี้ นาย Dao Phan Long ประธานสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องกลของเวียดนาม กล่าวว่าความพยายามของประเทศพัฒนาแล้วในการกระจายห่วงโซ่อุปทานและการลงทุน ช่วยให้เวียดนามกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตและการส่งออกในห่วงโซ่คุณค่าระดับโลก อย่างไรก็ดี จากการคาดการ์เศรษฐกิจโลกในปีนี้ แสดงให้เห็นถึงภาวะเงินเฟ้อสูง และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ในพื้นที่ต่างๆ ส่งผลกระทบในเชิงลบต่อเวียดนาม

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/industrial-production-shows-signs-of-recovery-post287518.vnp