รมว.พาณิชย์กัมพูชา ลงนามส่งออกรังนกนางแอ่นไปยังจีน

กระทรวงพาณิชย์ (MoC) ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) กับศูนย์การค้าเซี่ยเหมินในกัมพูชา ซึ่งดำเนินการโดยบริษัทสัญชาติจีน เพื่อเพิ่มการส่งออกรังนกนางแอ่นไปยังประเทศจีน โดย MoU ดังกล่าวลงนามโดย Kao Kosal อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าของกระทรวงพาณิชย์ และ Zeng Youmin ผู้อำนวยการศูนย์การค้าเซี่ยเหมินกัมพูชา ซึ่งวัตถุประสงค์หลักคือการสร้างพันธมิตรในการผลิตและจัดหาผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับรังนก รวมถึงเป็นการส่งเสริมการพัฒนาโรงงานแปรรูปรังนกภายในกัมพูชา โดยเฉพาะเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนภาคเอกชนรายย่อย (SMEs) เพื่อเป็นการสร้างเสถียรภาพในตลาดรังนกกัมพูชา ภายใต้คุณภาพ มาตรฐานสุขอนามัย และความปลอดภัย เป็นสำคัญ ซึ่งทางการกัมพูชาคาดหวังเป็นอย่างมากที่จะเพิ่มการส่งออกผลิตภัณฑ์รังนกไปยังประเทศจีน โดยในปี 2020 กัมพูชามีรังนกนางแอ่นจำนวนกว่า 872 หลัง ที่สามารถผลิตรังนกได้ประมาณ 1-1.5 ตันต่อเดือน ในขณะที่ราคารังนกสดปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 700-900 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัม และรังนกแปรรูปอยู่ที่ประมาณ 1,500-2,000 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัม ตามข้อมูลของกรมวิชาการเกษตร (GDA)

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501177180/commerce-ministry-chinese-firm-sign-swiftlet-nest-exports-mou/

จีนลดการนำเข้าถั่วลิสงจากเมียนมา กดราคาร่วงต่ำกว่า 6,000 จัตต่อ viss

ศูนย์ขายส่งสินค้ามัณฑะเลย์ เผย ผลผลิตถั่วลิสงที่เก็บเกี่ยวใหม่จำนวนมากจาก ภูมิภาคต่างๆ ของเมียนมากำลังถูกขนส่งไปจำหน่ายยังตลาดมัณฑะเลย์ส่งผลให้ราคาร่วงลงต่ำกว่า 6,000 จัตต่อ viss (viss เท่ากับ 1.6 กิโลกรัม) และความต้องการที่ลดต่ำลงของจีนส่งผลให้ราคาร่วงลงอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 1 กันยายน2565 ราคาถั่วลิสงอยู่ระหว่าง 6,800 ถึง 7,200 จัตต่อ viss ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ แต่ราคา ณ  เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2565 ราคาลดลงอยู่ระหว่าง 4,700-5,800 จัตต่อ viss ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนการลดลงอย่างรวดเร็วถึง 1,000 จัตต่อ viss ในระยะเวลาเพียงแค่หนึ่งเดือน

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/chinas-low-demand-drives-peanut-prices-down-to-below-k6000-per-viss/

ธุรกิจรับสร้างบ้านชะลอตัว น้ำท่วมฉุดกำลังซื้อ-ค่าแรง-วัสดุดันต้นทุนพุ่ง

นายนิรัญ โพธิ์ศรี นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน เปิดเผยว่า มูลค่าบ้านที่ประชาชนสร้างเองทั่วประเทศ (มิใช่ บ้านจัดสรร) มีมูลค่ารวมประมาณ 2 แสนล้านบาทเศษ สำหรับมูลค่าตลาดรับสร้างบ้านในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งในต่างจังหวัด สมาคมฯ ประเมินว่า กลุ่มบริษัทรับสร้างบ้านมีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 2.4 – 2.5 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 12% แบ่งเป็นในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 1.4 – 1.5 หมื่นล้านบาท และต่างจังหวัดประมาณ 1 – 1.1 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันมีบริษัทรับสร้างบ้านแข่งขันอยู่ในธุรกิจจำนวน230 – 250 ราย ประกอบด้วยบริษัทรับสร้างบ้านชั้นนำ รายกลาง รายเล็ก และบริษัทในท้องถิ่น(ต่างจังหวัด) โดยจะมีแบบบ้านให้ผู้บริโภคเลือกปลูกสร้างระดับราคาเริ่มต้น 1.5 ล้านบาท ไปจนถึงราคา 150 ล้านบาทขึ้นไป จากสถานการณ์น้ำท่วมขังหลายๆ พื้นที่ทั่วประเทศ ทำให้ประชาชนจำนวนมากได้รับความเดือดร้อน ทรัพย์สินและบ้านเรือนเกิดความเสียหาย คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวเศรษฐกิจประเทศในช่วงไตรมาสสุดท้ายปีนี้ และความต้องการสร้างบ้านใหม่จะชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับ 3 ไตรมาสที่ผ่านมา ขณะที่ต้นทุนก่อสร้างทั้งค่าวัสดุและค่าแรงปรับตัวสูงขึ้นสวนทางกัน ซึ่งถือเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการทั้งรายเก่ารายใหม่ สมาคมฯ ประเมินว่าตลาดรีโนเวทบ้านจะเติบโตได้ดีในช่วงไตรมาสสุดท้าย และอาจเป็นโอกาสดีสำหรับผู้ประกอบการที่สามารถปรับตัวหันมาจับตลาดรีโนเวทบ้าน เพื่อเป็นการสร้างรายได้และเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน

ที่มา: https://www.naewna.com/business/689364

โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานนานาชาติบ่อแก้ว ของสปป.ลาว คืบหน้าไปแล้วกว่า 86%

การก่อสร้างสนามบินนานาชาติในอำเภอต้นผึ้ง จังหวัดบ่อแก้ว ขณะนี้การก่อสร้างคืบหน้าไปแล้วกว่า 86% มีกำหนดเปิดให้บริการเที่ยวบินภายในประเทศภายในสิ้นปี 2565 นี้ โดยสนามบินจะให้บริการเที่ยวบินไปกลับจากเวียงจันทน์ไปยังบ่อแก้วในวันจันทร์ วันพุธ และวันเสาร์ในแต่ละสัปดาห์ และจะเปิดให้บริการสำหรับการเดินทางระหว่างประเทศในไม่ช้า ซึ่งการก่อสร้างเริ่มขึ้นมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2563 สนามบินแห่งใหม่ถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มาเยือนเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ และรองรับนักท่องจากจีน ทั้งนี้มูลค่าการก่อสร้างจะอยู่ที่ประมาณ 175 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ได้รับการสนับสนุนจาก Greater Bay Area Investment and Development (HK) Limited ของฮ่องกง ปัจจุบัน สนามบินหลักของสปป.ลาว ได้แก่ ท่าอากาศยานนานาชาติวัตไตในเวียงจันทน์ และสนามบินขนาดเล็กในหลวงพระบาง อุดมไซ สะหวันนะเขต และแขวงจำปาสัก

ที่มา: https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten212_Bokeo_y22.php

“เวียดนาม” เผย 10 เดือนแรกปี 65 ดัชนีราคาผู้บริโภค ปรับตัวขึ้น 2.89%

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เพิ่มขึ้น 2.89% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เพิ่มขึ้น 2.14% สาเหตุสำคัญที่ทำให้ดัชนีราคาผู้บริโภคปรับตัวสูงขึ้นมาจากราคาน้ำมัน อีกทั้ง การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อยู่ภายใต้การควบคุมแล้ว ผู้คนเริ่มกลับมาทานอาหารที่ร้านอาหาร ส่งผลให้ราคาอาหารนอกบ้าน เพิ่มขึ้น 4.6% ในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ รวมถึงราคาบ้านและวัสดุก่อสร้างที่ปรับตัวสูงขึ้นเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในช่วงเวลาดังกล่าวก็ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.14% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ถือว่าอยู่ในระดับต่ำกว่าการขยายตัวของดัชนีราคาผู้บริโภค (2.89%) บ่งชี้ให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงของราคาผู้บริโภคส่วนใหญ่มาจากความผันผวนของราคาอาหารและราคาน้ำมัน

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/tenmonth-cpi-increases-289-year-on-year/242941.vnp

“เวียดนาม” เผยการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในช่วง 10 เดือนแรกปี 65 ดิ่งลงฮวบ

กรมส่งเสริมการลงทุนต่างประเทศ (FIA) กระทรวงการวางแผนและการลงทุน เปิดเผยว่าในภาพรวม ถึงแม้เวียดนามจะมีการเบิกจ่ายเงินลงทุนสำหรับโครงการ FDI เพิ่มขึ้นในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ แต่กระแสการลงทุนจากต่างประเทศกลับชะลอตัว เนื่องจากสถานการณ์โลกที่ยังคงมีความไม่แน่นอนและมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข็มงวด อย่างไรก็ตามเวียดนามยังได้รับโครงการขนาดใหญ่หลายแห่งที่มีการปรับเพิ่มเงินทุน ยกตัวอย่างเช่น Samsung Electro-Mechanics Vietnam ซึ่งปรับเพิ่มเงินทุนจำนวนสองครั้ง คิดเป็นมูลค่า 920 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 267 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ นักลงทุนชาวสิงคโปร์ยังคงเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดในเวียดนาม มีการลงทุนรวม 5.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 23.8% ของการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด รองลงมาญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ เป็นต้น

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1349530/ten-month-foreign-investment-declines-fia.html

กัมพูชาคาดลงทุน 9.22 พันล้านดอลลาร์ สำหรับโครงการลงทุนสาธารณะ

รัฐบาลกัมพูชาอนุมัติโครงการลงทุนสาธารณะ 3 ปีถัดไป (2023-2025) ซึ่งต้องใช้เงินทุนรวม 9.22 พันล้านดอลลาร์ เพื่อดำเนินโครงการ 663 โครงการ โดยการอนุมัติดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งล่าสุด (29 ต.ค.) โดยในจำนวนโครงการดังกล่าวคิดเป็นโครงการที่เริ่มดำเนินการแล้วอยู่ 189 โครงการ ด้วยกรอบงบประมาณ 5.11 พันล้านดอลลาร์ และโครงการใหม่ 474 โครงการด้วยงบประมาณ 4.11 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งทางการกล่าวเสริมว่าโครงการลงทุนภาครัฐมีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและสังคมของกัมพูชาในยุคหลังโควิด-19 โดยประมาณร้อยละ 13.4 ของการลงทุนทั้งหมดจะถูกจัดสรรให้กับโครงการเพื่อสังคม, ร้อยละ 43.6 สำหรับโครงการที่ขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจ, ร้อยละ 37.4 สำหรับโครงการโครงสร้างพื้นฐาน และ ร้อยละ 5.6 สำหรับโครงการบริการและระหว่างภาคส่วน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501176756/cambodia-needs-9-22-for-next-three-year-public-investment-program/

คาดการณ์ GDP กัมพูชาโต 6.6% ในปีหน้า

 รัฐบาลกัมพูชาคาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของประเทศจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งที่ร้อยละ 6.6 ในปี 2023 โดยได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ภายนอกและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศที่กำลังจะกลับมาสู่ภาวะปกติ การคาดการณ์ดังกล่าวถูกกล่าวถึงในร่างกฎหมายงบประมาณประจำปี 2023 ซึ่งได้รับการอนุมัติเมื่อเช้าวันที่ 29 ต.ค. ในการประชุมคณะรัฐมนตรี ในขณะที่เศรษฐกิจการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2022 คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องเมื่อเทียบกับการเติบโตในปีก่อนที่ร้อยละ 5.4 แม้จะได้รับผลกระทบจากวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501176797/cambodias-gdp-growth-predicted-at-6-6-pct-next-year/

หัวหอมในฤดูมรสุมของเมียนมา ร่วงลง 2,500 จัตต่อ viss

ราคาหัวหอม ณ Pakokku Commodity Center เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2565 ราคาพุ่งแตะ 3,600 จัตต่อ viss แต่หลังจากผลผลิตหัวหอมในช่วงฤดูมรสุมกว่า 10,000 viss ได้หลั่งไหลเข้าสู่ตลาด ราคาร่วงลงเหลือ 2,500 วอนต่อครั้ง ตามข้อมูล นอกจากนี้ ผลผลิตหัวหอมของเมียนมานอกจากจะได้รับผลกระทบจากฤดูฝน ระยะเวลาเก็บเกี่ยวของเวียดนาม ไทย และบังคลาเทศก็จะมาถึงเร็วกว่าปกติก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ราคาลดลง ดังนั้นทำให้ความต้องการของตลาดชายแดนในเดือนพฤศจิกายนก็จะลดลงไปด้วย โดยราคาหัวหอม ณ ตลาดย่างกุ้งอยู่ที่ 3,500 จัตต่อ viss ในขณะที่ตลาดของบังคลาเทศราคาจะอยู่เพียง 2,000 จัตต่อ viss

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/newly-harvested-monsoon-onions-enter-markets-at-k2500-per-viss/#article-title

สปป.ลาว รัสเซีย จับมือเปิดเที่ยวบินระหว่างประเทศ

เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2565 นาย Ounthuang Khaophanh รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงข้อมูล วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว ร่วมหารือกับนาย Alexander Radkov ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมของรัสเซียประจำสปป.ลาว ถึงความเป็นไปได้ในการเปิดเที่ยวบินตรงระหว่างกรุงเวียงจันทน์และเมืองวลาดีวอสตอค ซึ่งเป็นเมืองบนชายฝั่งตะวันออกของรัสเซีย เพื่อเอื้อประโยชน์แก่นักท่องเที่ยวชาวรัสเซียที่อยากมาท่องเที่ยวสปป.ลาว โดย สปป.ลาวก็ถือว่าเป็นหนึ่งในสถานที่ที่ดีที่สุดสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในการเข้ามาเยือน ซึ่งนิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ระบุว่าสปป.ลาวเป็นหนึ่งใน 25 ประเทศอันน่าทึ่งที่แนะนำสำหรับผู้ที่จะมาเยือนในปี 2566 นอกจากนี้ นิตยสารท่องเที่ยว Wanderlust ของสหราชอาณาจักรยังจัดอันดับให้เป็นหนึ่งใน 20 ประเทศที่น่าท่องเที่ยวที่สุด หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ได้คลี่คลายลง มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่รัฐบาลเปิดประเทศในเดือนพฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกันยายน 2565 มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาสปป.ลาวมากกว่าหนึ่งล้านคน เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 39 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

ที่มา: https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten211_Laorusia.php