การค้าทวิภาคีระหว่าง กัมพูชา-จีน พุ่งเกือบ 7 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 7 เดือน

การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและจีนแตะมูลค่า 6,971 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รายงานโดยกรมศุลกากรและสรรพสามิต กระทรวงเศรษฐกิจและการเงินกัมพูชา โดยเปิดเผยว่าในช่วงเดือน มกราคม-กรกฎาคม กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังจีนมูลค่า 701 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่การนำเข้าของกัมพูชาจากจีนปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 6,270 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 20 ซึ่งส่วนใหญ่กัมพูชาส่งออกสินค้าเกษตร ได้แก่ ข้าวสาร มะม่วง กล้วย และมันสำปะหลังไปยังจีน ในขณะเดียวกันกัมพูชาทำการนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรม วัตถุดิบ และวัสดุก่อสร้างจากจีน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501135128/cambodia-china-bilateral-trade-reaches-almost-7-billion-in-first-seven-months/

การค้าต่างประเทศ สปป.ลาว พุ่งแตะ 968 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

จากข้อมูลจาก Lao Portal Trade พบว่า 7 เดือนแรกของปี 2565 การค้าระหว่างประเทศของสปป.ลาว พุ่งถึง 968 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นการส่งออก 427 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนการนำเข้าประมาณ 541 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ขาดดุลการค้า 114 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยสินค้าส่งออก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์กระดาษ ทองคำ เหยื่อไม้ เศษกระดาษ ยาง แร่เหล็ก เสื้อผ้า เครื่องดื่ม (น้ำ น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง) น้ำตาล และรองเท้า โดยประเทศส่งออกหลัก ได้แก่ จีน มูลค่าประมาณ 162 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, เวียดนาม 105 ล้านดอลลาร์สหรัฐ, ไทย 47 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, ออสเตรเลีย 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และสิงคโปร์ 13 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนประเทศที่นำเข้าหลัก ได้แก่ ไทยมูลค่า 264 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, จีน 142 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, เวียดนาม 34 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, สหรัฐอเมริกา 31 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และญี่ปุ่น 13 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ที่มา: https://kpl.gov.la/En/Detail.aspx?id=68390

ส่งออกแร่ของเมียนมา ดิ่งลงเหลือ 115 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ปีงบประมาณ 2565-2566 ตั้งแต่เดือนเม.ย. จนถึงวันที่ 12 ส.ค.2565 มูลค่าการส่งออกแร่ของเมียนมาอยู่ที่ 115 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งลดลงจากปีงบประมาณย่อยของปีงบประมาณ 2564-2565 (เดือนม.ค.-เดือนเม.ย.2565) ที่มีมูลค่าส่งออกถึง 254.448 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นผลมาจากการระบาดของโควิด-19 อีกทั้งอยู่ในช่วงฤดูฝนทำให้เหมืองแร่ต้องหยุดดำเนินการจึงกระทบต่อการส่งออกเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ธุรกิจเหมืองหินและหยก ในรัฐคะฉิ่นถูกระงับเพื่อสนับสนุนการรักษาทรัพยากรอย่างยั่งยืนและมาตรการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างจำกัด ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์แร่ประมาณ 80% ส่งออกต่างประเทศผ่านการค้าทางทะเล ในขณะที่ 20% จะส่งออกผ่านชายแดน

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/mineral-exports-down-by-115-mln-as-of-12-august/#article-title

“เวียดนาม” เผยครึ่งแรกเดือน ส.ค. ยอดการค้าระหว่างประเทศ พุ่ง 30 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ตามข้อมูลของกรมศุลกากรเวียดนาม เปิดเผยว่าสถานการณ์การค้ารวมในช่วงครึ่งแรกของเดือน ส.ค. 2565 มีมูลค่ามากกว่า 30 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งออกเป็นมูลค่าการส่งออก 15.13 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 7% เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว โดยมีสินค้าส่งออก 5 รายการที่มีมูลค่าเกินกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้แก่ โทรศัพท์และชิ้นส่วน (2.71 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) รองลงมาเครื่องจักร เครื่องมือและอะไหล่, คอมพิวเตอร์ ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ, สิ่งทอและรองเท้า ในขณะเดียวกันเวียดนามนำเข้า 15.24 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.8% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ส่งผลให้เวียดนามขาดดุลการค้ากว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงครึ่งแรกของเดือน ส.ค. แต่ในภาพรวมตั้งแต่ต้นเดือนจนถึงกลาง เดือน ส.ค. เวียดนามยังคงเกินดุลการค้า 1.39 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnam-laos-trade-advances-in-jan-jul/

“เวียดนาม” คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในเอเชียแปซิฟิก ปี 65

มูดี้ส์ อนาไลติคส์ (Moody’s Analytics) ได้คาดการณ์ว่าตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในปี 2565 ขยายตัว 8.5% ซึ่งสูงที่สุดในบรรดาประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและมีแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ มุมมองของฝ่ายนักวิเคราะห์ชี้ให้เห็นถึงการกลับมาฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของเศรษฐกิจเวียดนามในช่วงต้นปี ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกดีขึ้น จากการเข้ามาลงทุนโดยจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง (FDI) ในขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ได้เตือนถึงอุปสรรคของกลุ่มประเทศในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถึงการเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อที่คาดไม่ถึง ทำให้ความต้องการซื้อสินค้าและบริการชะลอตัว รวมถึงที่อยู่อาศัย

ที่มา : https://en.nhandan.vn/business/item/11793402-vietnam-forecast-to-reach-highest-gdp-growth-in-asia-pacific-in-2022.html

นายกฯ พอใจกระทรวงพาณิชย์ ใช้กรอบ RCEP ดันส่งออกโต

เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2565 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีพอใจผลงานกระทรวงพาณิชย์ ที่ผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี ตามกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership Agreement: RCEP) ทั้งนี้ นับจากวันที่ RCEP มีผลบังคับใช้เมื่อ 1 มกราคมที่ผ่านมา การค้าระหว่างไทยกับประเทศสมาชิก ในช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค. – มิ.ย. 2565) มีมูลค่ารวม 169,041 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 13% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออกไปยังประเทศสมาชิก RCEP มูลค่า 78,172 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 9% ตลาดส่งออกสำคัญที่ขยายตัวได้ดี อาทิ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ กลุ่มประเภทสินค้าได้รับประโยชน์จากข้อตกลงนี้ มีการการส่งออกไปตลาดRCEP เพิ่มมากขึ้น กล่าวคือ กลุ่มสินค้าเกษตรแปรรูป อาทิ น้ำตาลทราย (+145%) ผลไม้กระป๋องและแปรรูป (+19%) ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูป (+10%) และอาหารสัตว์เลี้ยง (+9%) กลุ่มสินค้าเกษตร อาทิ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง (+14%) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (+24%) ข้าว (+12%) และกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม อาทิ แผงวงจรไฟฟ้า (+19%) เม็ดพลาสติก (+12%) และผลิตภัณฑ์ยาง (+3%) ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรเร่งศึกษาทำความเข้าใจกฎเกณฑ์ทางการค้า อัตราภาษีศุลกากร กฎถิ่นกำเนิดสินค้า และวางแผนธุรกิจพร้อมพัฒนาสินค้าให้สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคในตลาด RCEP

ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/politics/1022200

ข้าวปอซานคุณภาพสูง เมืองชเวโบ พุ่งขึ้น 24,000 จัตต่อถุงภายใน 6 สัปดาห์

ราคาข้าวปอซานคุณภาพสูงจากเมืองชเวโบ เขตซะไกง์ ของเมียนมา พบว่า ราคาตลาดภายในประเทศ พุ่งไปถึง 24,000 จัตต่อถุง โดยเมื่อวันที่ 1 ก.ค.2565 ราคาข้าวคุณภาพสูงเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 49,000 ถึง 66,000 จัตต่อถุง ในขณะที่ราคาข้าวคุณภาพต่ำอยู่ที่ 32,000 ถึง 41,000 จัตต่อถุง แต่เมื่อวันที่ 16 ส.ค.2565 ราคาข้าวคุณภาพสูงพุ่งขึ้นเป็น 60,000-90,000 จัตต่อถุง ส่วนข้าวคุณภาพต่ำอยู่ที่ 35,500-50,000 จัตต่อถุง ซึ่งการอ่อนค่าของค่าเงินจัตมีผลทำให้ราคาข้าวสูงขึ้นและความตื่นตระหนกจากการขาดแคลนข้าวของผู้บริโภค ขณะนี้สหพันธ์ข้าวเมียนมา, สมาคมผู้ผลิตและผู้ปลูกข้าวเมียนมา, สมาคมโรงสีข้าวเมียนมา ผู้ค้าและนายหน้าในศูนย์ค้าส่งข้าว กำลังร่วมมือกันจัดทำแผนเการขายข้าวในราคาที่เหมาะสมให้กับผู้บริโภคในประเทศ

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/singapore-tops-fdi-in-myanmar-in-past-four-months/#article-title

“เวียดนาม” ปรับโซลูชั่นที่หลากหลาย ฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

กระทรวงวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยวของเวียดนาม เปิดเผยว่าจำเป็นต้องทำการสนับสนุนธุรกิจท่องเที่ยวรายใหญ่ เพื่อเชื่อมโยงส่วนท้องถิ่นและเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงให้เข้าสู่ทรัพย์มรดกทางดิจิทัลด้วยการมีส่วนร่วมของธุรกิจท่องเที่ยว คิดค้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ การส่งเสริมข้างต้นนั้นเป็นหนึ่งในข้อกำหนดของหม่ิตภัิตภับสนุนอองธุรกิจการการนายหวู ดึ๊ก ดาม  รองนายกรัฐมนตรีเวียดนามที่ต้องการขจัดอุปสรรคของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันอุตสาหกรรมท่องเที่ยวกำลังประสบปัญหาจากค่าบริการที่สูง การให้บริการยังไม่เป็นมืออาชีพและขาดแคลนบุคลากร ประกอบกับนโยบายสำหรับการขอวีซ่าและระยะเวลาอาศัยในเวียดนามยังไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ ด้วยเหตุนี้ ควรให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมทรัพยากรบุคคลเป็นอันดับแรก

ที่มา : https://hanoitimes.vn/vietnam-deploys-diverse-solutions-to-revive-tourism-industry-321553.html

การค้าระหว่าง กัมพูชา-สหรัฐฯ แต่เกือบ 6 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 7 เดือนแรกของปี

การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและสหรัฐฯ พุ่งแตะมูลค่า 5.892 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2022 เพิ่มขึ้นร้อยละ 45 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รายงานโดยกรมศุลกากรและสรรพสามิตของกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง โดยตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนกรกฎาคมกัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ มูลค่า 5.695 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 47 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่การนำเข้าของกัมพูชาจากสหรัฐฯ มูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 196 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ซึ่งสินค้าส่งออกที่สำคัญของกัมพูชาไปยังสหรัฐฯ ได้แก่ สิ่งทอ รองเท้า สินค้าท่องเที่ยว และสินค้าเกษตร ในขณะที่สินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ ยานพาหนะ อาหารสัตว์ และเครื่องจักร

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501134336/almost-6-billion-cambodia-us-trade-registered-in-first-seven-months/

รัฐบาลกัมพูชาเรียกร้อง CP ALL ขยายการลงทุนภายในประเทศ

รัฐบาลกัมพูชาเรียกร้องให้ บริษัท ซีพี ออลล์ จํากัด (มหาชน) ขยายการลงทุนมายังกัมพูชา โดยเฉพาะโรงงานกระดาษและโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ เพราะเป็นสินค้าที่มีความต้องการสูงในตลาดกัมพูชา ซึ่งปัจจุบัน ซีพี ออลล์ ได้เปิดดำเนินการร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven หลายสาขาในกรุงพนมเปญเมืองหลวงของกัมพูชา สะท้อนถึงเป้าหมายของ ซีพี ออลล์ ในการขยายกิจการเข้าสู่ตลาดอาเซียนที่กำลังเติบโต พร้อมตอกย้ำจุดแข็งในการส่งเสริมการค้าและบริการระหว่างไทยกับกัมพูชา โดยปัจจุบันการค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและไทยแตะที่มูลค่า 1.174 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 16 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501133961/govt-asks-cp-all-plc-to-invest-in-kingdom/