‘เวิลด์แบงก์’ เผยการเติบโตทางเศรษฐกิจเวียดนาม ปัจจัยหนุนจากการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจสำคัญ

ตามรายงาน “Vietnam Macro Monitoring” ของเวิลด์แบงก์ (ธนาคารโลก) เปิดเผยว่าเศรษฐกิจเวียดนามในไตรมาส 1/2565 ขยายตัว 5.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนมาจากภาคการส่งออกและบริการที่ฟื้นตัว ทั้งนี้ ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนมี.ค. ขยายตัว 8.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี เทียบเท่ากับช่วงก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ในขณะการค้าระหว่างประเทศ พบว่าเดือน มี.ค. เวียดนามเกินดุลการค้า 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ท่ามกลางความขัดแย้งของสงครามรัสเซีย-ยูเครน นอกจากนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เพิ่มขึ้น 2.4% ในเดือนมี.ค. นับเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 7 เดือน แต่ถือว่าอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมาย (4.0%)

ที่มา : https://en.nhandan.vn/business/item/11407902-vietnam%E2%80%99s-economic-growth-driven-by-good-recovery-of-sectors-wb.html

 

‘ฟู้ดเดลิเวอรี’ปีนี้ส่อโต 7.9 หมื่นล.

นางสาวจันต์สุดา ธนานิตยะอุดม ผู้อํานวยการฝ่ายการตลาดและพันธมิตรทางธุรกิจ แกร็บ ประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรีได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย อันเป็นผลมาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยคาดว่าในปี 2565 นี้ ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรีจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีมูลค่าตลาดรวมกว่า 7.9 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ผู้ประกอบการร้านอาหารก็หันมาใช้ช่องทางการขายผ่านแพลตฟอร์มเดลิเวอรีมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งเห็นได้จากจำนวนพาร์ทเนอร์ร้านอาหารของแกร็บฟู้ดที่มีการเติบโตเพิ่มขึ้นกว่า 800% (เปรียบเทียบจากช่วงสิ้นปี 2562 จนถึงปี 2564) จนมีจำนวนมากกว่า 200,000 ร้านในปัจจุบัน

ที่มา: https://www.naewna.com/business/648201

‘เวียดนาม’ เผยไตรมาส 1 ปี 65 เกินดุลการค้าสะพัดกว่า 1.46 พันล้านเหรียญสหรัฐ

กรมศุลกากรเวียดนาม (GDVC) รายงานว่าเวียดนามมียอดเกินดุลการค้า 1.46 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2565 และหากพิจารณาตัวเลขการค้าของเดือนมีนาคม พบว่าเพิ่มขึ้น 20% เป็นมูลค่า 36.66 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ยอดการค้ารวมในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ อยู่ที่ 176.75 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 14.3% โดยกิจการต่างชาติยังคงเป็นแรงผลักดันการส่งออกของเวียดนาม มีสัดส่วน 73.4% ของรายได้ทั้งหมด ทั้งนี้ ในช่วงเวลาดังกล่าว สินค้าส่งออกหลักของเวียดนามที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ได้แก่ โทรศัพท์และชิ้นส่วน เพิ่มขึ้น 34.8% คิดเป็นมูลค่า 972 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามมาด้วยคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์, เครื่องจักรและส่วนประกอบ, สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ในขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกายังคงเป็นตลาดส่งออกรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม รองลงมาจีน สหภาพยุโรปและอาเซียน

ที่มา : http://hanoitimes.vn/vietnam-posts-trade-surplus-of-us146-billion-in-q1-320536.html

เวิลด์แบงก์ ชี้ ‘เวียดนาม’ ได้รับผลประโยชน์มากที่สุดจากข้อตกลง RCEP

ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) เปิดเผยว่าเวียดนามทำรายได้มากที่สุดจากการค้ากับประเทศสมาชิกภายใต้ความตกลงการเป็นหุ้นส่วนระดับภูมิภาค (RCEP) โดยอัตราภาษีศุลกากรทางการค้าเฉลี่ยของเวียดนามปรับตังลดลงจาก 0.8% มาอยู่ที่ 0.2% ในขณะที่อัตราภาษีศุลกากรที่ประเทศจะลดลงจาก 0.6% มาอยู่ที่ 0.1% ปี 2543-2578 ทั้งนี้ ตามรายงานของ newswire Vietnam Briefing ชี้ว่าผลประโยชน์จากการค้าของเวียดนามกับสมาชิกประเทศ RCEP ส่งผลให้เวียดนามมีรายได้เพิ่มขึ้น 4.9% เมื่อเทียบกับระดับพื้นฐาน ซึ่งถือว่าสูงกว่าระดับของประเทศอื่นๆ ที่ทำรายได้เพิ่มขึ้นราว 2.5% อีกทั้ง เวียดนามและมาเลเซียเป็นประเทศสมาชิกที่คาดว่าจะได้รับผลประโยชน์สูงสุดจากข้อตกลงฉบับนี้ “RCEP” จะช่วยให้เวียดนามเข้าถึงตลาดผู้บริโภคที่มีขนาดใหญ่กว่า 2 เท่าของความตกลง CPTPP อย่างไรก็ตามเวียดนามต้องยกระดับความสามารถ เพื่อที่จะตอบสนอบความต้องการที่สูงขึ้นและการแข่งขันที่รุนแรง

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-to-benefit-most-from-rcep-wb-post937468.vov

ชายแดนเกาะสอง-ระนอง ส่งออกประมงมากที่สุดของเขตตะนาวศรี

รายงานของกรมประมงเมืองเกาะสอง เผย ด่านชายแดนเกาะสอง-ระนอง มีการส่งออกสินค้าประมงมากที่สุด ของเขตตะนาวศรี โดย 6 เดือนที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 1 ต.ค. 2564 ถึง 31 มี.ค. 2565 มีการส่งออกสินค้าประมงจากเกาะสองไปยังประเทศไทย คิดมูลค่ากว่า 160 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากปริมาณสินค้าประมงประมาณ 161,283 ตัน แม้ชายแดนเกาะสองจะมีความต้องการสินค้าประมงในปริมาณมาก แต่พบว่าในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาลดลงกว่า 18,000 ตันเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยมีมูลค่าการส่งออกลดลง 1.245 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การส่งออกปลามีแนวโน้มลดลงในฤดูสัตว์น้ำวางไข่ (เมษายน พฤษภาคม และมิถุนายน) ซึ่งธุรกิจประมงชายฝั่งถือเป็นหัวใจหลักทางเศรษฐกิจของเกาะสอง

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/kawthoung-ranong-border-post-sees-highest-fishery-exports-in-taninthayi-region/#article-title

ตัวเลขผู้โดยสารรถไฟสปป.ลาว พุ่งทะยานรับวันปีใหม่ลาว

จำนวนผู้โดยสารบนรถไฟลาว-จีนพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงปีใหม่ของลาว โดยสถานีต่างๆ ใน Kasy และ Nga จะเปิดขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่รถไฟเปิดให้บริการในเดือนธันวาคม โดยวันที่ 10 เมษายน รถไฟ EMU จำนวน 468 ขบวนได้เดินทางแล้ว บรรทุกผู้โดยสาร 244,400 คน ที่ผ่านมาจำนวนผู้โดยสารสูงสุดในหนึ่งวันคือ 3,160 คน นอกจากนี้ รถไฟบรรทุกสินค้าได้เดินทางข้ามพรมแดนจำนวน 589 เที่ยว บรรทุกสินค้าได้ 365,400 ตัน สินค้าที่ทำการขนส่งได้แก่ ยาง ปุ๋ยชีวภาพ สินค้าอุปโภคบริโภคพื้นฐาน อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ไฟฟ้า อุปกรณ์สื่อสาร รถยนต์ สิ่งทอ ผัก และดอกไม้ รถไฟสปป.ลาวได้สร้างแนวโน้มที่ดีให้กับเศรษฐกิจสปป.ลาว จากการเป็นตัวเชื่อมเส้นระหว่างสปป.ลาวไปจีน ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก อีกแง่หนึ่งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศและดึงนักท่องเที่ยวจากจีนมายังสปป.ลาว

ที่มา: https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten72_Railway.php

การค้าทวิภาคี กัมพูชา-เวียดนาม แตะ 9 พันล้านดอลลาร์ในปี 2021

กระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม เปิดเผยว่า การค้าทวิภาคีระหว่าง กัมพูชา-เวียดนาม มีมูลค่ารวมมากกว่า 9 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วถึงร้อยละ 80 เมื่อเทียบกับปี 2020 และยังคงรักษาอัตราการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ตามข่าวประชาสัมพันธ์ของ Pham Minh Chinh นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ที่ได้รายงานต่อนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ซึ่งนายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศได้เน้นย้ำถึงความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ในการรักษาและกระชับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อสร้างความมั่นคงและการพัฒนาในสถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงเสริมสร้างความร่วมมือในการป้องกันการระบาดของโควิด-19 ภายใต้รูปแบบ New Normal เพื่อส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและสังคมร่วมกันอย่างต่อเนื่อง

ที่มา: https://www.khmertimeskh.com/501057807/cambodia-vietnam-bilateral-trade-remained-steady-at-9-billion-in-2021/

กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังญี่ปุ่นในช่วง ม.ค.-ก.พ. มูลค่าแตะ 291 ล้านดอลลาร์

กัมพูชาส่งออกสินค้ามูลค่า 291 ล้านดอลลาร์ ไปยังญี่ปุ่นในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ลดลงร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งตัวเลขดังกล่าวรายงานโดยองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) โดยกัมพูชานำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่นมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 87.3 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.4 เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งคิดเป็นมูลค่าการค้าทวิภาคีรวม 378.4 ล้านดอลลาร์ โดยสินค้าสำคัญของกัมพูชาที่ได้ส่งออกไปยังญี่ปุ่นได้แก่ เสื้อผ้า อุปกรณ์ไฟฟ้า และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าส่งออกสำคัญ ในขณะที่สินค้าสำคัญของญี่ปุ่นที่ได้ทำการส่งออกไปยังกัมพูชา ได้แก่ เครื่องจักร สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และผลิตภัณฑ์ไฮเทค เป็นสำคัญ ซึ่งในปีที่แล้ว ปริมาณการค้าทวิภาคีระหว่าง กัมพูชา-ญี่ปุ่น อยู่ที่ 2,332 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นกัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังญี่ปุ่นมูลค่า 1,752 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ที่มา: https://www.khmertimeskh.com/501058463/cambodia-exports-to-japan-nets-291-million-in-january-february/

ธุรกิจท่องเที่ยวคึกคัก นักวิชาการชี้อานิสงส์ เปิดประเทศ

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง และอดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ ม.รังสิตเปิดเผยว่า เศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวกระเตื้องขึ้นหลังสงกรานต์เงินสะพัดมากกว่าที่หลายสำนักวิจัยคาดการณ์ สะท้อนความเชื่อมั่นผู้บริโภคดีขึ้น ขณะที่การขยายเพดานเงินกู้เป็น 70% ต่อจีดีพี มีความจำเป็น เพราะในความจริง เศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพมาหลายปีแล้ว และยังต้องกู้เงินมาชดเชยงบประมาณเพิ่มขึ้นทุกปี อย่างไรก็ตาม ยังมีความน่าเป็นห่วงว่าความเสี่ยงของการที่ไทยจะถูกลดอันดับเครดิตหรือความน่าเชื่อถือนั้น มีความเป็นไปได้ในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า หากหนี้สาธารณะทะลุระดับ 70% ของจีดีพีและระบบเศรษฐกิจไม่สามารถหารายได้มากพอที่ทำให้การชำระหนี้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น รวมทั้งไม่สามารถเพิ่มรายได้การจัดเก็บภาษี อย่างไรก็ตาม ฐานะทางการคลังของไทยยังพอไปได้เพราะยังมีหนี้ต่างประเทศในระดับต่ำมาก

ที่มา: https://www.naewna.com/business/647982

CDC อนุมัติ 4 โครงการลงทุนใหม่ วงเงินเกือบ 32 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

สภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) ได้ให้ใบอนุญาตในการลงทุนแก่บริษัทเอกชน 4 แห่ง เป็นมูลค่าเงินลงทุนรวม 31.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษในเมืองหลวงพนมเปญ จังหวัดสวายเรียง และพระสีหนุ โดยรายชื่อทั้ง 4 บริษัทมีดังนี้ 1.Covered Bridge Cabinetry Manufacturing Co., Ltd., 2. SDJC Steel and Wire (Cambodia) Products Co., Ltd., 3. Solteam (Cambodia) Co., Ltd. และ 4. Wendua Packaging (Cambodia) Co., Ltd. ทั้ง 4 บริษัทจะลงทุนในการผลิตเฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์พลาสติก อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ วัสดุบรรจุภัณฑ์ กล่องกระดาษแข็ง กล่องไม้ ชั้นวางของที่ทำจากไม้ และถุงพลาสติกตามลำดับ คาดว่าจะสร้างงานให้กับคนท้องถิ่นได้เกือบ 2,500 ตำแหน่ง ซึ่งจากการลงทุนดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนในเสถียรภาพเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ในขณะที่กัมพูชากำลังฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด-19

ที่มา: https://www.khmertimeskh.com/501057077/four-new-investment-projects-worth-almost-32-million-approved-by-cdc/