เจาะลึกความสามารถในการแข่งขันของเวียดนาม

โดย ธนวัฒน์ พนิตพงศ์ศรี และ ณัชพล จรูญพิพัฒน์กุล I FAQ Issue 178 I Bank of Thailand

เวียดนามเป็นประเทศที่น่าจับตามองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งด้านศักยภาพการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติที่โดดเด่น ความได้เปรียบในด้านต้นทุนแรงงานที่ต่ำ กำลังซื้อในประเทศที่เติบโตต่อเนื่องและนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐที่ชัดเจน ทิศทางการส่งออกที่ขยายตัวดีต่อเนื่องของเวียดนาม ส่วนหนึ่งเกิดจากการเน้นส่งเสริมพัฒนาในอุตสาหกรรมที่ประเทศมีความถนัด ส่งผลให้สามารถเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในประเทศต่าง ๆ ได้มากขึ้น

เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตอย่างน่าจับตามองในสายตาของนักลงทุนทั่วโลก สะท้อนจาก GDP ที่ขยายตัวเฉลี่ยกว่าร้อยละ 6.7 ต่อปี1 ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี ตั้งแต่การเริ่มใช้นโยบาย Doi Moi ในปี 2529 เพื่อปฏิรูปเศรษฐกิจให้เป็นไปตามกลไกตลาดมากขึ้น

โครงสร้างเศรษฐกิจเวียดนามโดยสังเขป : เศรษฐกิจเวียดนามถูกขับเคลื่อนด้วยการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ สะท้อนจากสัดส่วนกว่าร้อยละ 70 ของ GDP โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวเฉลี่ยถึงร้อยละ 7.4 ต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จากกำลังซื้อในประเทศที่ขยายตัวตามค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้นและเศรษฐกิจที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง ขณะที่แรงขับเคลื่อนที่สำคัญอีกประการคือการลงทุนของภาครัฐและเอกชน ซึ่งมีทิศทางขยายตัวดีจาก (1) การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) โดยเฉพาะจากเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ (2) การลงทุนโครงการขนาดใหญ่ในภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคการผลิตพลังงานไฟฟ้า สอดคล้องกับการขยายตัวของสังคมเมือง และ (3) การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะการผลิตเพื่อการส่งออก ซึ่งส่งผลให้เวียดนามสามารถเกินดุลการค้าได้ในระยะหลัง

โครงสร้างตลาดส่งออกและสินค้าส่งออกหลัก : โครงสร้างตลาดส่งออกของเวียดนามกระจุกตัวอยู่ใน 5 ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา จีน ยุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ คิดเป็นร้อยละ 67 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งหมด ในปี 2562 จากร้อยละ 58 ในปี 2552 ขณะที่ ในมิติของกลุ่มสินค้า สินค้าส่งออกกระจุกตัว ได้แก่ (1) อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือ (2) เครื่องนุ่งห่ม และ (3) รองเท้า คิดเป็นร้อยละ 42 11 และ 8 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งหมดในปี 2562 ตามลำดับ

ความสัมพันธ์ทางการค้ากับไทย : ในช่วงที่ผ่านมา ระดับการค้าขายของไทยกับเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากมูลค่าการค้าที่ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 8.7 ต่อปี ในช่วงปี 2558 – 2562 โดยไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้ากับเวียดนามมาโดยตลอด

ไทยและเวียดนามมีความเป็นคู่ค้ามากขึ้นชัดเจน สะท้อนจากระดับการนำเข้าและส่งออกสินค้าที่เพิ่มขึ้นมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยสินค้านำเข้าหลักของไทยจากเวียดนามคือโทรศัพท์มือถือ ขณะที่สินค้านำเข้าหลักของเวียดนามจากไทยคือรถยนต์

การเป็นคู่แข่งระหว่างไทยและเวียดนาม แม้ว่าไทยและเวียดนามมีความสัมพันธ์ทางการค้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ทั้งสองประเทศก็เป็นคู่แข่งทางการค้าเช่นกัน โดยการส่งออกของเวียดนามที่เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในบางหมวดสินค้าอย่างชัดเจน เช่น ระหว่างปี 2552 – 2561 ไทยได้สูญเสียส่วนแบ่งตลาดในหมวดรองเท้า  ให้แก่เวียดนามใน 3 ประเทศผู้นำเข้าหลัก ได้แก่ สหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น ขณะที่เวียดนามมีส่วนแบ่งตลาดในหมวดสิ่งทอเพิ่มขึ้นมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

สถานการณ์ปัจจุบันและปัจจัยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศของเวียดนาม : ก่อนวิกฤตการณ์การเงินโลกปี 2550 – 2551 FDI ของเวียดนามส่วนใหญ่อยู่ในการผลิตน้ามันดิบ และการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้น อาทิ อุตสาหกรรมสิ่งทอ สะท้อนถึงการลงทุนที่เน้นเฉพาะข้อได้เปรียบด้านต้นทุนแรงงานต่ำ

อย่างไรก็ตาม หลังช่วงปี 2552 เป็นต้นมา FDI ในเวียดนามมีความหลากหลาย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ได้เข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นปี 2562 เวียดนามมีมูลค่าเงินลงทุนโดยตรงสุทธิสะสมกว่า 161,111 ดอลลาร์ สรอ อยู่ในการผลิตร้อยละ 59 ในอสังหาริมทรัพย์ร้อยละ 16 และในการผลิตไฟฟ้าร้อยละ 7 โดยประเทศที่เข้ามาลงทุนสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ซึ่งการลงทุนของเวียดนามมีแนวโน้มเติบโตได้ดี สะท้อนจากข้อมูลมูลค่าการลงทุนที่ไหลเข้าเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อ่านต่อ : https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/ArticleAndResearch/Pages/FAQ178.aspx