ผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจต่อภาคธุรกิจไทย

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566  รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี ร่วมกับผศ.ดร.วชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจต่อภาคธุรกิจไทย โดยสำรวจผู้ประกอบ 600 ราย ระหว่างวันที่ 1-15 มีนาคม 2566 พบว่า ผู้ประกอบการมีความกังวลและสภาพธุรกิจส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบเชิงลบจากต้นทุนที่สูงขึ้น มีผลต่อยอดขายและกำไรลดลง แต่ภาระหนี้เพิ่มขึ้น

 

ซึ่งปัจจัยเชิงลบสำคัญ คือ ภาวะเงินเฟ้อสูง  และมองว่าเงินเฟ้อที่เหมาะสมควรสูงไม่เกิน 2-3% อัตราดอกเบี้ยที่สูงกระทบต่อโอกาสผิดนัดชำระหนี้ อัตราค่าจ้างแรงงานกว่า 22% มองว่าเหมาะสมอยู่ที่ 325 บาท/วัน จากเฉลี่ยอยู่ที่ 328-354 บาท/วัน หากปรับขั้นค่าแรงอีก 10% กว่า 50% ระบุว่าอาจต้องปรับขึ้นราคาสินค้า และเลิกจ้างแรงงานบางส่วน

 

ด้านค่าไฟฟ้าส่วนใหญ่เห็นว่าอัตราค่าไฟฟ้าที่จะลดจาก 5.69 บาทต่หน่วน เหลือ 5.33 บาทต่อหน่วยยังสูง ที่เหมาะสมมองที่ 3.94 บาทต่อหน่วย เช่นเดียวกับภาระค่าน้ำมันดีเซลที่สูง ธุรกิจ 80% ระบุว่าจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาสินค้าทันที ขณะที่ส่วนใหญ่ 95% ไม่ได้เตรียมรับมือเงินบาทผันผวน

 

สำหรับผลกระทบจากแบงก์สหรัฐล้ม ส่วนใหญ่เกือบ 90% ระบุว่าได้รับผลกระทบน้อยถึงไม่ได้รับผลกระทบ รวมถึงไม่ได้รับผลกระทบและได้รับผลกระทบน้อยจากการส่งออกหรือนำเข้า แต่อย่างไรก็ตาม บางส่วนกังวลในปานกลางหากผลกระทบแบงก์ล้มจะขยายวงกว้างกว่านี้ ส่วนปัจจัยเชิงบวกต่อธุรกิจวันนี้ คือ การกลับมาท่องเที่ยวไทยของชาวจีนภายหลังจากการเปิดประเทศ

 

ส่วนการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย ผู้ประกอบการมองว่าจะฟื้นตัวได้เร็วขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 4/2566 และจีดีพีทั้งในปีนี้ขยายตัวได้ 3.35-3.82% แม้ธุรกิจ 37% ยังมองเศรษฐกิจปีนี้โตต่ำกว่า 3% โดยยังกังวลถึงเสถียรภาพการเมืองไทยและปัจจัยเสี่ยงใหม่ๆ ภายนอกประเทศ

 

สำหรับข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่ต้องการให้รัฐบาลใหม่ช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ ได้แก่

  • ดูแลต้นทุนการผลิตของภาคเอกชนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมไม่สูงเกินไป โดยเฉพาะในช่วงที่ เศรษฐกิจกาลังฟื้นตัว ณ ปัจจุบัน เช่น ไม่ปรับขึ้นค่าพลังงาน ต้นทุนอัตราดอกเบี้ย ค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นต้น
  • เร่งเบิกจ่ายเงินงบประมาณ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงที่มีรัฐบาลรักษาการ และยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้
  • ส่งเสริมการท่องเที่ยวจากต่างประเทศและในประเทศให้เหมาะสม เพื่อเป็นปัจจัยในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้ฟื้นตัวในขณะที่เศรษฐกิจโลกยังไม่แน่นอน
  • ดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพและอ่อนค่าเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและการส่งออกให้ขยายตัว
  • ดูแลสถานการณ์หนี้ครัวเรือนโดยเฉพาะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว และมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจ โลกถดถอยโดยให้ธุรกิจและประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อได้อย่างดีและมีเงื่อนไขในการปรับโครงสร้างหนี้ หากมีปัญหาทางเศรษฐกิจเกิดขึ้น

 

ที่มา: https://bit.ly/42nzc1f