เดินเกมค้าปลีกสมัยใหม่ในเมียนมา
ร้านค้าปลีกและค้าส่งสมัยใหม่ (Modern Trade) เป็นที่น่าจับตามองภายหลังอนุญาตให้ทุนต่างชาติครองสัดส่วนการถือหุ้นได้ 100% ใกล้เคียงกับไทยและเวียดนาม เพื่อให้เกิดการแข่งขันในอุตสาหกรรมและราคาที่เป็นธรรมสำหรับผู้บริโภค เพราะการเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลางจาก 9% เป็น 15% ในปี 63 อัตราการค้าปลีกเติบโตในปี 55 – 60 ปีละกว่า 8% ทำให้ทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนรวมกับบริษัทท้องถิ่นในรูปแบบร้านค้าปลีกอุปโภคบริโภคสมัยใหม่ (modern grocery store) บริษัทค้าปลีกมีแนวโน้มที่แข่งขันรุนแรงขึ้นหลังจากบริษัทต่างชาติสามารถลงทุนได้เต็มรูปแบบ ร้านค้าปลีกที่มีโอกาสเติบโตสูงคือ มินิซูเปอร์มาร์เก็ต ที่เน้นประเภทอาหารพร้อมทานแทน เพราะสอดคล้องกับพฤติกรรมของกลุ่มที่มีกำลังซื้อที่เน้นความสะดวกและมีสินค้าให้เลือกหลากหลาย ทั้งนี้ ความเข้าใจในพฤติกรรมผู้บริโภคจะเป็นปัจจัยสู่ความสำเร็จ โดยจากการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคชาวเมียนมาในย่างกุ้งและมัณฑะ พบว่าผู้บริโภคเริ่มให้ความสำคัญด้านรสชาติและคุณภาพมากขึ้นซึ่งสูงกว่าด้านราคา ส่งผลให้สินค้านำเข้าเป็นที่นิยมมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีโอกาสในการนำเสนอสินค้าตราห้าง (private label) ถึงแม้ว่าสินค้าจากบริษัทชื่อดังของโลกอย่าง Coca Cola, Unilever หรือ Nestle แต่พบว่า 32% ของสินค้าที่วางขายซึ่งมีทั้งแบรนด์ท้องถิ่นและแบรนด์ต่างประเทศยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก เทียบกับค่าเฉลี่ยของโลกซึ่งอยู่ที่ราว 16% เชื่อได้ว่าสามารถสร้างแบรนด์ให้เป็นที่น่าจดจำได้ โดยเฉพาะสินค้าจากไทยที่ชาวเมียนมาเชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้าและราคาที่ไม่สูงนักเมื่อเทียบกับสินค้าจากยุโรปหรือญี่ปุ่น แต่ความเสี่ยงของผู้ประกอบการคือ ความไม่พร้อมของโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและการขนส่ง ไฟฟ้าที่ไม่เสถียรและไม่เพียงพอต่อการใช้งาน ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญในการหาพันธมิตรบริษัทขนส่งของเมียนมา รวมถึงพัฒนาระบบจัดการสินค้าคงคลังและมีการบริหารความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ