ปิดฉาก ASEAN Summit : ปลดล็อกข้อจำกัด ผลักดัน RCEP เดินหน้าต่อ
การประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 35 ที่ไทยในฐานะประธานและเจ้าภาพการประชุมปี 2562 หัวข้อการเจรจาในครั้งนี้ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) ถือเป็นจุดสนใจของนานาประเทศเป็นอย่างมาก เนื่องจากเคยเป็นความตกลงที่เป็นคู่เทียบกับความตกลงเขตการค้าเสรีสำคัญอย่าง Trans-Pacific Partnership (TPP) จนปัจจุบันบรรลุข้อตกลงภายใต้ชื่อ Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership (CPTPP) และเศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญสงครามการค้าซึ่งถือเป็นแนวคิดที่ตรงกันข้ามกับแนวคิดการค้าเสรีโดยสิ้นเชิง ความสำเร็จในการเจรจาความตกลง RCEP ในครั้งนี้ ถือว่ามีส่วนช่วยบรรเทาผลกระทบจากสงครามการค้า และกระแสปกป้องทางการค้าที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ ความสำเร็จที่ถือเป็นไฮไลต์สำคัญ คือ ไทยสามารถผลักดันให้เกิดผลสรุปของการเจรจาความตกลง RCEP ได้ครบข้อเจรจาทั้งหมด 20 บท จากช่วงต้นปี 2562 ที่ได้ผลสรุปเพียง 7 บท โดยเป็นการบรรลุข้อเจรจาระหว่างอาเซียน 10 ประเทศกับประเทศหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ 5 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ยกเว้นเพียงอินเดียที่ยังไม่พร้อมในการเปิดเสรีการค้าการลงทุนในบางรายการตามความตกลง RCEP แต่ยังสามารถกลับมาเจรจาหาได้ในภายหลัง ทั้งนี้ คาดว่าอินเดียจะกลับเข้าสู่โต๊ะเจรจามีความเป็นไปได้พอสมควร กลายเป็นแหล่งลงทุนที่น่าสนใจยิ่งขึ้นในมุมมองของนักลงทุนต่างชาติ โดยประเทศสมาชิก RCEP (ไม่รวมอินเดีย) มีขนาดเศรษฐกิจรวมกันถึง 24.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 29% ของขนาดเศรษฐกิจโลก ขณะที่มีประชากรรวมกันถึงราว 3.6 พันล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 30% ของจำนวนประชากรโลก ส่วนไทยก็จะได้ประโยชน์จากการเป็นแหล่งลงทุนที่น่าสนใจมากขึ้นเช่นกัน ความตกลง RCEP จะช่วยสนับสนุนการส่งออกของไทยในระยะข้างหน้า โดยก่อนหน้าประเมินว่าสินค้าในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า พลาสติกและเคมีภัณฑ์ ยานยนต์และชิ้นส่วน ยางล้อ เส้นใย สิ่งทอ เครื่องแต่งกาย ผลิตภัณฑ์แป้งมันสำปะหลัง และกระดาษ จะเป็นกลุ่มสินค้าที่ได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น แม้อินเดียยังไม่เข้าร่วม RCEP ไม่ได้บั่นทอนการค้าระหว่างไทยและอินเดียแต่อย่างใด เนื่องจากไทยและอาเซียนยังคงมีข้อตกลงเขตการค้าเสรีร่วมกับอินเดียภายใต้ Thailand-India Free Trade Agreement (TIFTA) และ ASEAN-India Free Trade Agreement (AIFTA) ขณะเดียวกันอินเดียนับเป็นตลาดเป้าหมายใหม่สำหรับผู้ประกอบการไทย ซึ่งภาครัฐให้ความสำคัญและพร้อมสนับสนุนในการเปิดตลาด โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การส่งออกของไทยไปอินเดียขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 9 ต่อปี เทียบกับการส่งออกของไทยโดยรวมที่ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 2 แม้ว่า RCEP จะยังไม่สำเร็จผลอย่างเต็มรูปแบบ ผู้ประกอบการไทยจึงจำเป็นต้องเตรียมกลยุทธ์ให้พร้อม ควรศึกษาลู่ทางและแสวงหาโอกาสลงทุนในประเทศสมาชิก RCEP โดยอาศัยจุดแข็งของประเทศนั้น อาทิ ความพร้อมด้านแรงงาน และทรัพยากรทางธรรมชาติ ส่วนผู้ประกอบการไทยที่ยังไม่มีความพร้อมด้านการลงทุนในต่างประเทศหรือยังไม่มีแผนการลงทุนในต่างประเทศ ควรเตรียมกลยุทธ์รับมือกับแนวโน้มการแข่งขันในประเทศที่อาจรุนแรงขึ้นจากการเข้ามาของต่างชาติในอนาคต
ที่มา: https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/24383