รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่นเยือนสปป.ลาว

รัฐมนตรีต่างประเทศของญี่ปุ่น ได้เดินทางเยือนสปป.ลาวเพื่อฉลองครบรอบ 65 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสปป.ลาวและญี่ปุ่น เสริมสร้างมิตรภาพอันยาวนานและความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างสองประเทศ ได้มีการหารือกันถึงความเป็นไปได้ของการอนุญาตให้ผู้อยู่อาศัยในประเทศ นักลงทุนและนักธุรกิจสามารถเดินทางระหว่างสองประเทศได้ในขณะที่ยังคงข้อกำหนดของการกักกันเป็นเวลา 14 วันที่บ้านหรือในพื้นที่อื่นที่กำหนดไว้ ผู้เดินทางจะได้รับการตรวจสอบตลอดการเข้าพัก แต่จะช่วยให้การค้าดำเนินต่อไปได้โดยฝ่ายสปป.ลาวมีความกระตือรือร้นที่จะเห็นธุรกิจของญี่ปุ่นย้ายการดำเนินงานไปยังสปป.ลาวมากขึ้น และยังหารือถึงความร่วมมือในด้านภัยพิบัติและการป้องกันโรค ความมั่นคงสาธารณะเสถียรภาพทางการเงินและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรวมถึงการศึกษาความเป็นไปได้ของทางด่วนเวียงจันทน์ – ฮานอยเพื่อเสริมสร้างการเชื่อมต่อ และมีการหารือเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาคซึ่งรวมถึงปัญหาทะเลจีนใต้และสถานการณ์ของเกาหลีเหนือตลอดจนความร่วมมือในเวทีระหว่างประเทศ หลังจากการประชุมได้มีการจัดพิธีลงนามเพื่อแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับความช่วยเหลือแบบให้เปล่า 2 โครงการที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกและอุปกรณ์ที่โรงเรียนฝึกหัดครู โรงเรียนในเครือ 8 แห่งในสปป.ลาว และการจัดหารถโดยสารสาธารณะใหม่ที่จะให้บริการในเมืองเวียงจันทน์ นอกจากนี้ยังมีพิธีมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จะนำไปสู่การรับมือกับโรคโควิด -19 ในสปป.ลาว

ที่มา : https://laotiantimes.com/2020/08/24/japanese-foreign-minister-motegi-visits-laos/

ครม. แนะภาคการเงินและธุรกิจปรับปรุงนโยบายที่เอื้อต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ

การประชุมประจำเดือนสิงหาคมของคณะรัฐมนตรีมีการหารือในหลายประเด็นรวมถึงรับรองกฎหมายเพิ่มเติมต่างๆ ประเด็นที่สำคัญในการประชุมครั้งนี้ครอบคลุมในเรื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยคณะรัฐมนตรีสั่งการเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องในการปรับปรุงนโยบายเพื่อส่งเสริม SMEs รวมถึงการแก้ไขอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และการปรับปรุงขั้นตอนเข้าถึงกองทุนส่งเสริม SME ได้ง่ายและรวดเร็ว ในส่วนอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราและอัตราเงินเฟ้อควรอยู่ในระดับที่เหมาะสมเพื่อเอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม นอกจากนี้รัฐบาลยังผลักดันการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ การจะทำตามแผนดังกล่าวได้สิ่งสำคัญประการหนึ่งคือภาครัฐต้องคำนึงถึงประสิทธิด้านการเก็บภาษีเพื่อให้ได้ตรงตามเป้าหมายประจำปี ในที่ประชุมยังได้เห็นชอบในหลักการร่างกฎหมาย 3 ฉบับซึ่งจะถูกส่งเข้าสู่การประชุมสมัชชาแห่งชาติสมัยสามัญที่กำลังจะมีขึ้น และเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างภาคการค้า รัฐบาลพยายามสนับสนุนการผลิตในประเทศเพื่อลดการนำเข้าและส่งเสริมการส่งออกรวมถึงส่งเสริมการแคมเปญการท่องเที่ยวหลังโควิด -19 เพื่อทำให้เศรษฐกิจสปป.ลาวกลับมาเติบโตอีกครั้ง

ที่มา : http://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Cabinet_163.php

Laos Economic Factsheet : February 2020

เศรษฐกิจภาพรวมของสปป.ลาว ณ เดือน กุมภาพันธ์ 2020
– สถานการณ์เศรษฐกิจประจำเดือนกุมภาพันธ์
– ดัชนีราคาผู้บริโภค
– อัตราแลกเปลี่ยน
– ทุนสำรองระหว่างประเทศ
– สถานการณ์การส่งออก-นำเข้าสปป.ลาว
– มูลค่าการส่งออกในประเทศคู่ค้าสำคัญของสปป.ลาว 5 อันดับ
– มูลค่าการนำเข้าในประเทศคู่ค้าส าคัญของสปป.ลาว 5 อันดับ
– ดัชนีตลาดหลักทรัพย์สปป.ลาว
– รายงานภาวะเศรษฐกิจ สปป.ลาวโดยรวม

การขาดดุลการคลังเพิ่มแรงกดดันต่อรัฐบาลสปป.ลาว

การขาดดุลการคลังที่เพิ่มสูงขึ้นจะส่งผลให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นซึ่งจะเพิ่มแรงกดดันต่อความสามารถในการชำระหนี้ของประเทศท่ามกลางวิกฤตโควิด -19 รัฐบาลประเมินว่าการขาดดุลงบประมาณจะเพิ่มขึ้นจาก 6.69 ล้านล้านกีบ  เป็น 10.3 ล้านล้านกีบ ประธานคณะกรรมการการวางแผนการเงินและการตรวจสอบของสมัชชาแห่งชาติ กล่าวว่ารัฐบาลกำลังหาวิธีแก้ไขหนี้ของประเทศหลังจากที่รายได้ขาดแคลน ซึ่งหนี้มี 2 รูปแบบ คือหนี้ที่มาจากเงินทุนในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและความรับผิดที่รัฐบาลกู้ยืมมาเพื่อเป็นหลักประกันสำหรับรัฐวิสาหกิจ ทั้งนี้มีหลายวิธีที่รัฐบาลสามารถจัดการหนี้ได้โดยการแปลงหนี้เป็นการลงทุน เจรจาต่อรองหนี้และขายหุ้นของรัฐวิสาหกิจหรือทรัพย์สินที่รัฐบาลใช้เป็นหลักประกันเงินกู้ รัฐบาลออกพันธบัตรเพื่อระดมทุนมากขึ้น นักวิจารณ์กล่าวว่าการกู้ยืมเงินมากขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการขาดดุลนั้นเป็นไปได้ในระยะสั้น แต่ในระยะยาวการขาดดุลอาจฉุดให้ประเทศกลายเป็นหนี้จากรายงานธนาคารโลกในเดือนมิ.ย. ในปี 63 หนี้สาธารณะคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 65% เป็น 68% ของ GDP  และคาดว่าภาระการชำระหนี้ต่างประเทศจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจาก 842 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 62 นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีกล่าวกับรัฐสภาว่ารัฐบาลจะออกพันธบัตรในช่วงที่เหลือของปีนี้เพื่อชำระหนี้ รัฐบาลจะเปลี่ยนหนี้ที่เป็นหนี้บริษัทเอกชนซึ่งดำเนินโครงการลงทุนของรัฐไปยังธนาคารพาณิชย์ นอกจากนี้จะให้ความสำคัญกับการจัดเก็บรายได้และตัดการใช้จ่ายในโครงการที่ไม่จำเป็น

ที่มา : http://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Fiscal162.php

สหภาพยุโรปสนับสนุนเงินทุน 2.5 ล้านยูโร ในโครงการป้องกันและบรรเทา COVID-19

สหภาพยุโรปได้จัดหาเงินจำนวน 2.5 ล้านยูโรให้กับสปป.ลาวภายใต้โครงการที่ชื่อว่า“ Civil Society Action to Prevent and Mitigate Covid-19” ภายใต้ความร่วมมือ Plan International องค์กรภาคประชาสังคมสปป.ลาว และสมาคมพัฒนาการเกษตรและสิ่งแวดล้อม พวกเขามีเป้าหมายที่จะสนับสนุนรัฐบาลสปป.ลาวในการบรรเทาผลกระทบด้านสุขภาพสังคมและเศรษฐกิจจากการระบาด COVID-19 ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงานองค์กรภาคประชาสังคม นอกจากนี้ยังเสริมสร้างแผนการพัฒนาด้านสาธารณสุขรวมถึงให้ความสำคัญกับต่อเศรษฐกิจสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการแก้ปัญหาความยากจนที่เป็นปัญหาที่สปป.ลาวเผชิญมาตลอด เงินทุนดังกล่าวจะเข้ามาช่วยทำให้สปป.ลาวพัฒนาต่อไปได้ภายใต้ปัจจัยพื้นฐานที่มั่นคงในแต่ละด้าน

ที่มา : http://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_EU161.php

สปป.ลาวมีความเสี่ยงจากกระแสการเงินที่ผิดกฎหมาย

สปป.ลาวอาจเสี่ยงต่อการไหลเวียนทางการเงินที่ผิดกฎหมาย (IFF) แต่ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนในการตรวจสอบปัญหาและแหล่งที่มาของเงินที่ผิดกฎหมายซึ่งธนาคารโลกได้นิยาม“กระแสการเงินที่ผิดกฎหมาย” คือเงินที่ได้รับโอนหรือใช้อย่างผิดกฎหมายข้ามพรมแดน สถาบันวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติเปิดเผยผลการศึกษาเกี่ยวกับกระแสการเงินที่ผิดกฎหมาย พบว่าประเทศที่กำลังพัฒนาที่อุดมด้วยทรัพยากรจำนวนมากต้องสูญเสียรายได้จำนวนมหาศาลเนื่องจากกระแสการเงินที่ผิดกฎหมาย ส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและความพยายามในการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ โดยสถาบันยังกล่าวอีกว่าประเทศกำลังพัฒนาสูญเสียเงิน 1.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปีจากการโอนเงินที่ผิดราคาและการออกใบแจ้งหนี้               ที่ผิด การศึกษายังชี้ให้เห็นอีกว่าการจัดเก็บรายได้จากภาคทรัพยากรธรรมชาตินั้นต่ำกว่าศักยภาพ ซึ่งสปป.ลาวพึ่งพาภาคทรัพยากรธรรมชาติเป็นหลักในการเติบโตด้านเศรษฐกิจ ดังนั้นปัญหาดังกล่าวจึงได้รับความสนใจมากขึ้นในฐานะความท้าทายในการพัฒนาที่สำคัญของประเทศ

ที่มา : http://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Laos161.php