เมียนมาหยุดนำเข้าไก่จากความต้องการที่ลดลง
เมียนมาระงับการนำเข้าไก่เป็นระยะเวลาหนึ่งเดือนตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 63 เนื่องจากความต้องการสัตว์ปีกในท้องถิ่นที่ลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่งจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 แม้ว่าต้นทุนของลูกไก่จะสูงกว่า 500 จัต แต่ราคาตลาดปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 150 จัตต่อตัว ประธานสมาพันธ์ปศุสัตว์เมียนมาจึงได้เสนอให้งดนำเข้าเป็นเวลาสามเดือน แต่ทางการได้อนุมัติการระงับหนึ่งเดือนไปก่อน สมาคมผู้เพาะพันธุ์และผู้ผลิตปศุสัตว์แห่งเมียนมาตัดสินใจว่าจะขยายการห้ามนำเข้าเป็นรายเดือนหรือไม่ขึ้นอยู่กับการบริโภคในท้องถิ่น ส่วนการนำเข้าลูกไก่กว่า 1.9 ล้านตัวตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคมถึงกลางเดือนสิงหาคมแต่ลดลงเหลือประมาณ 1 ล้านตัวตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคมถึงกลางเดือนกันยายนเนื่องจากมีมีการพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศ การผลิตและการบริโภคในท้องถิ่นของเมียนมาอยู่ที่ประมาณ 1.4 ล้านตัวต่อเดือน การบริโภคไก่อยู่ที่ประมาณ 500,000 ตัวต่อวันและเนื่องจากความต้องการที่ลดลงผู้เลี้ยงไก่จึงสูญเสียรายได้ต่อวันประมาณ 50 ล้านจัต
ที่มา: https://www.mmtimes.com/news/chicken-imports-banned-myanmar-poultry-demand-falls.html
เมียนมาปล่อยเงินกู้รอบสองกว่า 100 พันล้านจัตให้ธุรกิจสู้ภัยโควิด
รัฐบาลได้เริ่มจ่ายเงินกู้จำนวน 20,700 ล้านจัตเพื่อช่วยเหลือบริษัทมากกว่า 10,000 แห่งที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 รวมถึงบริษัทที่อยู่นอกย่างกุ้ง เงินเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณจำนวน 1 แสนล้านจัต รอบที่ 2 ของรัฐบาลเมียนมา ซึ่งจากธุรกิจ 10,000 แห่ง มากกว่า 7,600 แห่งมาจากภูมิภาคและรัฐอื่น ๆ โดยเงินจะจ่ายล็อตแรกให้กับธุรกิจ 1,041 แห่ง จะมีเพียง 180 แห่งที่เป็นธุรกิจในย่างกุ้ง ซึ่งเงินกู้ถูกจ่ายไปใน 9 ภาคธุรกิจจะถูกรวมอยู่ในเงินล็อตที่ 2 ได้แก่ เกษตรกรรม ปศุสัตว์และประมง การส่งออก การทดแทนการนำเข้า ห่วงโซ่อุปทาน อาหาร บริการการจัดหางานในต่างประเทศและอาชีพ โดยระยะเวลาการกู้ยืม 12 เดือนอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 กลุ่มธุรกิจแรกที่ได้รับ ได้แก่ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โรงสีข้าว ฟาร์มปศุสัตว์ และธุรกิจอาหาร ภายใต้กองทุน 100 พันล้านจัตล็อตแรกได้จ่ายให้กับผู้ที่สมัครเข้ามา 3,393 จากผู้สมัครมากกว่า 4250 คน
ที่มา : https://www.mmtimes.com/news/myanmar-govt-commences-second-k100b-covid-19-loan-business.html
หวั่นโควิดรอบ 2 จำกัดขนส่งสินค้าข้ามเมียนมาเหลือ 6 คัน
นายยงยุทธ นาคแดง รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก(ขบ.) เปิดเผยถึงการขนส่งสินค้าระหว่างไทย-เมียนมาในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า ปัจจุบันปริมาณการขนส่งสินค้าบริเวณด่านพรมแดนแม่สาย จังหวัดเชียงรายลดลง เนื่องจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นในเมียนมา ทำให้ไทยต้องยึดมาตรการด้านสาธารณสุขเป็นหลัก ในขณะเดียวกัน ปริมาณการขนส่งสินค้าบริเวณด่านพรมแม่สาย จังหวัดเชียงราย มีปริมาณการขนส่งสินค้าราว 1,000 เที่ยวต่อวัน แต่ปัจจุบันหลังเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ทางประเทศเมียนมามีการจำกัดปริมาณการเดินรถขนส่งสินค้าข้ามประเทศ ส่งผลให้ปริมาณการขนส่งสินค้าด่านดังกล่าวเหลือเพียง 6 คันต่อวัน ขณะเดียวกันจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างหนักในเมียนมา ทำให้ต้องควบคุมด้านความปลอดภัยในการเข้า-ออกประเทศ เพื่อลดการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบ 2
ค้าชายแดนมูเซกลับมาเปิด หลังคลายล๊อคด่านหลุยลี่
การค้าชายแดนที่ด่านมูเซของรัฐฉานกลับมาเปืดอีกครั้งหลังจากสำนักงานศุลกากรในเมืองหลุ่ยลี่ของจีนเริ่มเปิดทำการ ในวันที่ 22 กันยายน 63 การค้าชายแดนระหว่างเมียนมาและจีนถูกระงับหลังจากด่านหลุ่ยลี่ถูกปิดไปเมื่อวันที่ 15 กันยายน 63 ภายหลังตรวจพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในขณะที่การเดินทางออกนอกเมืองหลุ่ยลี่ยังคงถูกจำกัด ซึ่งสินค้าอนุญาตให้ผ่านชายแดนได้แต่คนขับรถบรรทุกของเมียนมาต้องสับเปลี่ยนรถกับคนขับรถของจีนก่อนที่สินค้าจะถูกนำเข้า คาดว่าจะมีการส่งออกข้าวประมาณ 20,000 ถุงจากเมียนมาในวันนี้ มูลค่าการค้าที่ด่านมูเซสูงสุดในบรรดาด่านชายแดนโดยมีการส่งออกรวม 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีงบประมาณ 62-63 และการนำเข้าจากจีนสูงถึง 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ที่มา : https://www.mmtimes.com/news/border-trade-muse-resumes-after-ruili-restrictions-relaxed.html
มูลค่าการค้าเมียนมาสูงขึ้นแม้ COVID-19 ระบาด
กระทรวงพาณิชย์เมียนมาเผย ณ เดือนสิงหาคม 63 หนึ่งเดือนก่อนปิดปีงบประมาณ 62-63 มูลค่าการค้าระหว่างประเทศสูงถึง 34,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้จะมีการระบาดของ COVID-19 การส่งออกแตะที่ 16.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่การนำเข้า 17.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขาดดุลการค้าประมาณ 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การส่งออกส่วนใหญ่ประกอบด้วยสินค้าสำเร็จรูปและสินค้าสำหรับการ ผลิต ตามด้วยผลิตผลทางการเกษตรทรัพยากรและแร่ธาตุที่ขุดได้ การนำเข้าประกอบด้วยสินค้าทุน เช่น อุปกรณ์ ยานพาหนะและเครื่องจักร ตลอดจนวัตถุดิบและสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ ประเทศคู่ค้าอันดับต้น ๆ ได้แก่ จีน ไทย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย อินเดีย สหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย เกาหลี และเวียดนาม เมื่อเร็วๆ นี้ การค้าชายแดนได้รับผลกระทบ เช่น การค้าที่ท่าขี้เหล็กของรัฐฉานชายแดนระหว่างเมียนมาและไทยเพิ่งปิดไปส่วนไทยอนุญาตให้รถจากเมียนมาเพียง 6 คันเข้าอำเภอแม่สายของไทยได้ การค้าระหว่างเมียนมาและจีนยังต้องหยุดชะงักหลังจากชายแดนหลุ่ยลี่ (Ruili) ถูกปิดเมื่อวันที่ 15 กันยายน 63 หลังตรวจพบ COVID-19 หลุ่ยลี่เป็นจุดผ่านแดนสำคัญระหว่างจีนและเมียนมาใกล้กับมูเซของรัฐฉาน
ที่มา: https://www.mmtimes.com/news/myanmar-trade-volumes-rise-despite-covid-19.html
เมียนมามุ่งฟื้นฟูเศรษฐกิจหลัง COVID-19
กระทรวงการลงทุนและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจต่างประเทศและประธานคณะกรรมการการลงทุนเมียนมาร์ (MIC) ของเมียนมาให้ความสำคัญกับการส่งเสริมเศรษฐกิจทั้ง 4 ภาคส่วนเพื่อรับมือกับผลพวงของ COVID-19 และผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ซึ่งเชื่อว่าสามารถตอบสนองต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะส่งเสริมการลงทุนในเขตอุตสาหกรรมใหม่ อุตสาหกรรมเกษตรกรรมซึ่งสนับสนุนทั้งห่วงโซ่อุปทาน การผลิตสินค้าเกี่ยวข้องกับสุขภาพและเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจดิจิทัล และจำเป็นที่จะต้องทบทวนแผนส่งเสริมการลงทุนของเมียนมาร์ (MIPP) ซึ่งเป็นพิมพ์เขียวแห่งชาติระยะยาวในการดึงการลงทุนเข้ามาในประเทศ ADB ชี้การแพร่ระบาดจะส่งผลกระทบต่อแผนการลงทุนในอนาคตและอาจส่งผลกระทบต่อการไหลเข้าของเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ การอนุมัติ FDI เพิ่มขึ้นเป็น 4.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงไตรมาส 3 สิ้นสุดเดือนมิถุนายน 2563 จาก 3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยนักลงทุนให้ความสำคัญกับการผลิตไฟฟ้า การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และการผลิต ขณะที่ GDP ของเอเชียในปีนี้คาดว่าจะหดตัวร้อยละ 0.7 ซึ่งเป็นการถดถอยครั้งแรกในรอบเกือบหกทศวรรษซึ่งอาจทำให้การลงทุนไหลเข้าเมียนมาลดลงในอนาคต โดย ADB คาดว่าการเติบโตเศรษฐกิจของเมียนมาจะเหลือเพียงร้อยละ 1.8 เปอร์เซ็นต์ในปีงบประมาณ 62-63 เทียบกับร้อยละ 4.2 ที่คาดการณ์ไว้ในเดือนเมษายน 63 หากทุกอย่างเป็นไปด้วยดีการเติบโตทางเศรษฐกิจคาดว่าจะฟื้นตัวเป็นร้อยละ 6 ในปีงบประมาณ 63-64
ที่มา: https://www.mmtimes.com/news/border-trade-hold-myanmar-thailand-add-restrictions.html