‘เวียดนาม-ออสเตรเลีย’ จับมือพันธมิตร ขับเคลื่อน AI

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (MoST) ส่งเสริมให้บุคคลและองค์กรต่างๆ จับมือร่วมกันทำงานด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ระหว่างเวียดนามกับออสเตรเลีย โดยจากข้อมูลของกระทรวงฯ ได้มีการเปิดตัวเครือข่ายความร่วมมือด้านปัญญาประดิษฐ์ระหว่างเวียดนามกับออสเตรเลีย เพื่อส่งเสริมยุทธศาสตร์ระดับชาติในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ AI ทั้งนี้ เครือข่ายระบบ AI ถูกนำมาใช้ในหลายๆ อุตสาหกรรมในประเทศ ได้แก่ อีคอมเมิร์ซ, การขนส่งและโลจิสติกส์, การศึกษา, อสังหาริมทรัพย์, การเงินและการเกษตร เป็นต้น นอกจากนี้ ตลาด AI ในเวียดนามยังคงมีขนาดเล็ก มีจำนวนบริษัทใหญ่ 10 แห่ง อาทิ FPT, Viettel, CMC, VNG, VNPT, VinGroup, Google, Amazon, NVIDIA และ IBM รวมถึงกองทุนบางแห่งและสตาร์ทอัพอีก 65 แห่ง แต่ธุรกิจดังกล่าวยังไม่มีแพลตฟอร์มสำหรับการใช้ AI ที่มีลักษณะเฉพาะในเวียดนาม

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1024941/viet-nam-ai-talent-to-partner-with-australia.html

‘เวียดนาม’ เผยอสังหาฯ คงเป็นที่สนใจของนักลงทุนต่างชาติ

ตั้งแต่เดือน ม.ค.-สิ.ค. ภาคอสังหาริมทรัพย์มีเงินทุนจดทะเบียนรวมราว 1.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ และยังคงติดอันดับที่ 3 ในสาขา 18 ภาคเศรษฐกิจสำคัญเป็นที่ดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ถึงแม้ว่าตัวเลขเงินทุนดังกล่าวจะต่ำกว่าปีที่แล้ว แต่ผู้เชี่ยวชาญมองว่าสิ่งนี้สมเหตุสมผล เนื่องจากได้รับผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้นักลงทุนตัดสินใจที่จะลงทุนได้ยาก อย่างไรก็ตาม กลุ่มนิคมอุตสาหกรรมยังเป็นจุดไฮไลท์สำคัญ ด้วยมีการตั้งเขตอุตสาหกรรมใหม่และโครงการอุตสาหกรรมสำคัญที่เริ่มดำเนินการแล้ว ทั้งนี้ นาย Dinh Trong Thinh นักเศรษฐศาสตร์เวียดนาม กล่าวว่าการเพิ่มขึ้นของเม็ดเงิน FDI ที่ไหลเข้าไปยังภาคอสังหาฯ เป็นผลมาจากความมีเสถียรภาพทางการเมือง การเติบโตทางเศรษฐกิจในเชิงบวก อัตราเงินเฟ้อที่มีเสถียรภาพ ตลอดจนไม่มีความผันผวนของตลาดการเงินและความมุ่งมั่นที่จะต่อสู้กับการระบาดของโควิด-19

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/real-estate-remains-attractive-to-foreign-investors/207490.vnp

‘เวียดนาม’ เบิกจ่ายงบลงทุนสาธารณะเกิน 50% เป็นระยะเวลา 8 เดือน

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าการเบิกจ่ายงบลงทุนสาธารณะในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ แตะ 245 ล้านล้านดอง (10.76 พันล้านเหรียญสหรัฐ) หรือ 51.1% ของเป้าหมายปี และเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวยังต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ตลอดจนจังหวัดและหัวเมืองต่างๆ มีคำสั่งให้มีการกักตัวอยู่ที่บ้าน ทำให้การดำเนินงานเป็นไปได้ยากขึ้น นอกจากนี้แล้ว สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน นาย Tran Quoc Phuong รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวางแผนและการลงทุน ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของวัสดุก่อสร้างและการขาดความมุ่งมั่นในการทำงานของหน่วยงานรัฐและท้องถิ่น ซึ่งเป็นปัจจัยที่ขัดขวางความก้าวหน้าของการลงทุนภาครัฐ

ที่มา : http://hanoitimes.vn/disbursement-of-public-funds-reaches-over-50-in-8-month-period-318577.html

‘ภาคการผลิตของเวียดนาม’ ปรับตัวลดลง เหตุโควิด-19 ระบาด

ผลสำรวจโดยนิกเกอิ ชี้ว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของเวียดนาม ปรับตัวลงสู่ระดับ 40.2 ในเดือนสิ.ค. จากระดับ 45.1 ในเดือนก.ค. สะท้อนให้เห็นว่าภาคการผลิตของเวียดนามต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2563 ทั้งนี้ แอนดรูว์ ฮาร์เกอร์ รองผู้อำนวยการ IHS Markit กล่าวว่าผู้ผลิตของเวียดนามกำลังเผชิญกับปัญหาการดำเนินงานในปัจจุบันที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากมาตรการข้อจำกัดต่างๆ ที่ควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการผลิตสินค้า อีกทั้งธุรกิจส่วนใหญ่คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะขยายเวลาต่อไปมากขึ้น ในขณะเดียวกันตลาดแรงงานของภาคการผลิต ประสบปัญหาจากมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ภาคธุรกิจยังคงให้พนักงานบางส่วนอยู่ในสถานที่ทำงาน แต่พนักงานบางส่วนยังไม่สามารถเข้ามาทำงานได้ เมื่อพิจารณาในภาพรวมแล้วนั้น การจ้างงานลดลงเป็นเดือนที่สามติดต่อกัน

ที่มา : https://hanoitimes.vn/vietnam-manufacturing-output-declines-on-covid-19-outbreak-318571.html

‘เวียดนาม’ ขาดดุลการค้าต่อเนื่อง 4 เดือน

กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า เปิดเผยว่าในเดือนสิงหาคม เวียดนามขาดดุลการค้า 1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ต่อเนื่อง 4 เดือนติดต่อกัน ทำให้ยอดการค้ารวม ตั้งแต่เดือนม.ค.-สิ.ค. อยู่ที่ 3.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับภาคอุตสาหกรรมและการค้า แสดงให้เห็นว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 4 ทำให้หัวเมืองและจังหวัดต่างๆ ถูกบังคับล็อกดาวน์และข้อจำกัดในการเดินทางที่รุนแรง ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการนำเข้าและส่งออกของประเทศ อย่างไรก็ตาม กระทรวงฯ ยังคงมองแนวโน้มไปในทิศทางที่เป็นบวกในแง่ของดุลการค้าในช่วงเดือนที่เหลือของปีนี้ ทั้งนี้ สหรัฐฯ เป็นผู้นำเข้าสินค้าเวียดนามรายใหญ่ที่สุด ด้วยมูลค่า 62 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 32.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี รองลงมาจีนและสหภาพยุโรป ในขณะเดียวกัน จีนยังคงเป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ด้วยมูลค่า 72.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาเกาหลีใต้และอาเซียน

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnam-runs-trade-deficit-for-fourth-consecutive-month/

‘สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด’ ปรับเป้าจีดีพีเวียดนาม ปี 64 โต 4.7%

ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด เปิดเผยว่าปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามในปี 2564 จาก 6.5% มาอยู่ที่ 4.7% เนื่องจากตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำ ทั้งผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 และการฉีดวัคซีนที่ช้า ยิ่งไปกว่านั้นหากไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ในเดือนนี้ การเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามจะแย่ลงไปอีกและจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนในเวียดนาม ตลอดจนภาคการท่องเที่ยว ทั้งนี้ เศรษฐกิจโลกอาจฟื้นตัวในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้และการค้าโลกจะปรับตัวดีขึ้น ทำให้การส่งออก-นำเข้าของเวียดนามดีขึ้นตามไปด้วย

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/standard-chartered-revises-down-vietnams-2021-gdp-growth-forecast-to-4-7/

LG เพิ่มการลงทุนในเวียดนาม 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ

คณะกรรมการประชาชนประจำจังหวัด ประเทศเวียดนามเปิดเผยว่าได้ออกใบอนุญาตให้ LG Display บริษัทผลิตจอแสดงผลชั้นนำของเกาหลีใต้สามารถเพิ่มการลงทุนในเมืองไฮฟอง 1.4 พันล้านเหรียญ ซึ่งการลงทุนดังกล่าวนั้น จะช่วยเพิ่มผลผลิตหน้าจอแสดงผล OLED ของโรงงานไฮฟอง จากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิตที่ 9.6-10.1 ล้านชิ้นต่อเดือน ขยายเป็น 13-14 ล้านชิ้นต่อเดือน คณะกรรมการระบุในคำแถลง ทั้งนี้ การลงทุนเพิ่มเติมดังกล่าวจะช่วยสร้างงานใหม่ถึง 10,000 ตำแหน่ง และสร้างรายได้จากการส่งออก 6.5 พันล้านเหรียญต่อปี

ที่มา : https://tuoitrenews.vn/news/business/20210901/lg-display-raises-investment-at-vietnam-factory-by-14-bln-local-govt/62885.html

‘เวียดนาม’ เผย ม.ค.-สิ.ค. ยอดค้าปลีกและบริการดิ่งลง

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ รายได้รวมจากการค้าปลีกและบริการอยู่ที่ 133.55 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 1.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สำหรับเดือนสิงหาคมเพียงเดือนเดียว ยอดค้าปลีกและบริการรวมลดลงอย่างมากถึง 34% เมื่อเทียบเป็นรายปี และ 10.5% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน แตะอยู่ที่ 279.8 ล้านล้านดอง เนื่องจากหลายพื้นที่ดำเนินตามมาตรการทางสังคมที่เข็มงวด ภายใต้คำสั่งข้อที่ 16 ของรัฐบาล ขณะที่ในช่วง 8 เดือนแรก ยอดค้าปลีก 2.49 ล้านล้านดอง คิดเป็นสัดส่วน 82.1% ของยอดค้าปลีกสินค้าและบริการรวม ลดลง 1.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1022936/retail-sales-of-goods-and-services-plunge-in-january-august.html