ภาคการผลิตของเมียนมาดึงดูด FDI ทั้งหมด 40 ล้านเหรียญสหรัฐในเดือนเมษายน

ตามสถิติที่เผยแพร่โดยคณะกรรมการการลงทุนและการบริหารบริษัท (DICA) การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมากกว่า 39.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไหลเข้าสู่ภาคการผลิตของเมียนมาจากวิสาหกิจ 8 แห่งในเดือนแรกของปีงบประมาณปัจจุบัน พ.ศ. 2567-2568 (เมษายน-มีนาคม) โดยในเดือนเมษายน ภาคการผลิตมีส่วนดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศ 100% ซึ่งบริษัทจีนมีการลงทุนในภาคการผลิตเป็นหลักโดยมี 4 โครงการ ตามมาด้วยอินโดนีเซีย อินเดีย จีนไทเป และสิงคโปร์ในแต่ละโครงการ สถานประกอบการผลิตที่ต้องการกำลังแรงงานจำนวนมากได้รับการจัดลำดับความสำคัญเพื่อสร้างโอกาสในการทำงานให้กับคนในท้องถิ่น ทั้งนี้ ภาคการผลิตของเมียนมาส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในธุรกิจเสื้อผ้าสำเร็จรูปและสิ่งทอที่ผลิตในรูปแบบ CMP และมีส่วนช่วยต่อ GDP ของประเทศในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ดี ตามคำแถลงของ สมาคมผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปเมียนมา (MGMA) สมาคมฯ มุ่งมั่นที่จะเร่งความพยายามในการพัฒนาภาคส่วนสิ่งทอและเสื้อผ้าของเมียนมา โดยร่วมมือกับแบรนด์และพันธมิตรต่างประเทศ ซึ่ง ณ เดือนเมษายน 2567 มีโรงงานที่ดำเนินการอยู่ 539 แห่งที่ดำเนินการภายใต้ MGMA ซึ่งประกอบด้วยโรงงานในจีน 315 แห่ง, เกาหลีใต้ 55 แห่ง, ญี่ปุ่น 18 แห่ง, จากประเทศอื่น ๆ 16 แห่ง, โรงงานในประเทศ 62 แห่ง และกิจการร่วมค้า 27 แห่ง และมีโรงงานกว่า 50 แห่งที่ปิดชั่วคราวในขณะนี้

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmars-manufacturing-sector-attracts-whole-fdi-of-us40m-in-april/#article-title

การส่งออกภาคการผลิตทะลุ 8.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีงบประมาณ 2566-2567

สถิติของกระทรวงพาณิชย์เมียนมาเผยว่า มูลค่าการส่งออกจากภาคการผลิตทะลุ 8.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีงบประมาณ 2566-2567 ซึ่งลดลง 2.09 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2565-2566 ซึ่งมีการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมสำเร็จรูปมูลค่า 10.9 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นมูลค่ารวมจากการขนส่งสองรูปแบบ (ทางทะเลและชายแดนทางบก)  อย่างไรก็ดี เมียนมาส่งออกสินค้าเกษตร ผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ การประมง แร่ธาตุ ผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ สินค้าอุตสาหกรรมสำเร็จรูป และสินค้าอื่นๆ ในขณะที่นำเข้าสินค้าทุน สินค้าขั้นกลาง วัตถุดิบจากโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า CMP และสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นหลัก

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/manufacturing-sector-exports-surpass-us8-8-bln-in-fy2023-2024/#article-title

การส่งออกจากภาคการผลิตทะลุ 8.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 1 มีนาคม

สถิติของกระทรวงพาณิชย์เผยว่ามูลค่าการส่งออกจากภาคการผลิตมีมูลค่า 8.28 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 1 มีนาคมของปีงบประมาณปัจจุบัน พ.ศ. 2566-2567 ซึ่งลดลง 1.975 พันล้านดอลลาร์เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่มีส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมสำเร็จรูปมีมูลค่า 10.255 พันล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ดี เมียนมายังคงพลักดันภาคการส่งออก ภายใต้ยุทธศาสตร์การส่งออกแห่งชาติ (NES) พ.ศ. 2563-2568 เพื่อสนับสนุนการส่งออก ภาคส่วนที่มีลำดับความสำคัญของ NES ประกอบด้วยการผลิตทางการเกษตร เครื่องนุ่งห่มและเครื่องแต่งกาย อุปกรณ์อุตสาหกรรมและอิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจประมง ผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ การผลิตและบริการดิจิทัล บริการโลจิสติกส์ การจัดการคุณภาพ บริการข้อมูลการค้า นวัตกรรม และภาคส่วนของผู้ประกอบการ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/exports-from-manufacturing-sector-surpass-us8-2b-as-of-1-march/#article-title

การส่งออกจากภาคการผลิตทะลุ 7.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐใน 10 เดือน

สถิติของกระทรวงพาณิชย์เมียนมาเผยว่า มูลค่าการส่งออกจากภาคการผลิตมีมูลค่าถึง 7.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาของปีงบประมาณปัจจุบัน พ.ศ. 2566-2567 โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมสำเร็จรูปในช่วงเวลาเดียวกันของปีงบประมาณที่แล้ว มีรายได้ 9.5 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วบ่งชี้ว่าลดลงอย่างมากที่ 1.9 พันล้านดอลลาร์ในปีงบประมาณนี้ อย่างไรก็ดี เมียนมาได้ดำเนินยุทธศาสตร์การส่งออกแห่งชาติ (NES) พ.ศ. 2563-2568 เพื่อสนับสนุนการส่งออก ภาคส่วนที่มีลำดับความสำคัญของ NES ประกอบด้วยการผลิตทางการเกษตร เครื่องนุ่งห่มและเครื่องแต่งกาย อุปกรณ์อุตสาหกรรมและอิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจประมง ผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ การผลิตและบริการดิจิทัล บริการโลจิสติกส์ การจัดการคุณภาพ บริการข้อมูลการค้า นวัตกรรม และภาคส่วนของผู้ประกอบการ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/exports-from-manufacturing-sector-cross-us7-6-bln-in-10-months/#article-title

‘S&P Global’ เผยดัชนี PMI ของเวียดนามลดลงสู่ระดับต่ำสุดรอบ 5 เดือน

สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของโลก ‘S&P Global’ เปิดเผยว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของเวียดนาม เดือน พ.ค. ลดลงต่ำสุดในรอบ 5 เดือน สู่ระดับ 47.3 จากระดับ 49.6 ในเดือน ต.ค. โดยสาเหตุที่ภาคการผลิตเวียดนามปรับตัวลดลง เนื่องมาจากผู้ผลิตเวียดนามเผชิญกับคำสั่งซื้อใหม่ที่ลดลงในเดือน พ.ค. รวมถึงอุปสงค์จากต่างประเทศที่อ่อนแอลงและสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน ในขณะเดียวกันธุรกิจเผชิญกับแรงกดดันด้านต้นทุนที่สูงขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ทำให้ธุรกิจต่างๆ ปรับขึ้นราคาสินค้าเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน ด้วยเหตุนี้ ภาคธุรกิจจึงจำเป็นที่จะต้องลดขนาดการผลิต การจ้างงาน การจัดซื้อ ตลอดจนจำกัดปริมาณสินค้าคงคลัง

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnams-pmi-drops-to-lowest-level-in-five-months-sp-global-post1062915.vov

‘ดัชนี PMI’ ภาคการผลิตเวียดนาม กลับมายืนเหนือ 50 จุด ครั้งแรก รอบ 6 เดือน

ตามรายงานของ S&P Global ระบุว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของเวียดนาม ในเดือน ส.ค. 66 อยู่ที่ระดับ 50.5 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือน ก.ค. ที่ระดับ 48.7 เนื่องจากสัญญาการฟื้นตัวของอุปสงค์ จึงทำให้คำสั่งซื้อใหม่และการผลิตเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม การจ้างงานยังคงปรับตัวลดลง เป็นผลมาจากภาคธุรกิจมองว่าไม่จำเป็นที่จะต้องรับพนักงานใหม่เพิ่ม เพราะอุปสงค์ที่อ่อนตัว

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1593373/pmi-back-above-50-mark-for-first-time-in-six-months.html

จับตา SME เริ่มขาดสภาพคล่องสูงหลังแรงซื้อทั้งในและ ตปท.ดิ่งหนัก

นายอภิชิต ประสพรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.มีความกังวลถึงความอยู่รอดของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (SMEs) ที่ขณะนี้กำลังประสบปัญหาสภาพคล่องมากขึ้นหลังจากต้องเผชิญกับต้นทุนการผลิต และต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นต่อเนื่อง แต่รายได้กลับสวนทางลดต่ำลงเนื่องจากแรงซื้อทั้งภายในประเทศและต่างประเทศปี 2566 ภาพรวมต่างชะลอตัวเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ดังนั้นรัฐบาลใหม่จำเป็นจะต้องหามาตรการมาช่วยเหลือในการให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อพยุงเศรษฐกิจเร่งด่วน โดยปัจจุบันภาคการผลิตและส่งออกของไทยถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยคิดเป็นสัดส่วนราว 70% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) และธุรกิจส่วนใหญ่มี SMEs อยู่ในห่วงโซ่การผลิตจำนวนมากที่ต้องยอมรับว่าภาคส่งออกของไทยครึ่งปีแรกของปี 2566 หดตัวร้อยละ 5.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและแม้แต่การค้าชายแดนเองก็ปรับตัวลดลงจึงกระทบต่อ SMEs ภาพรวมที่บางส่วนต้องปรับลดกำลังการผลิตลงตามคำสั่งซื้อที่ลดต่ำ และหากปัญหานี้ยังคงมีมากขึ้นอาจต้องปิดตัวลงซึ่ง ส.อ.ท.กำลังเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด

ที่มา : https://mgronline.com/business/detail/9660000074361

‘S&P Global’ เผยภาคการผลิตเวียดนามอยู่ในระดับมีเสถียรภาพ

บริษัท S&P Global (S&P) เปิดเผยว่าอุตสาหกรรมการผลิตของเวียดนามในเดือน ก.ค. ยังคงอยู่ในแดนลบ อย่างไรก็ดี มีสัญญาที่บ่งบอกถึงความมีเสียรภาพ เนื่องจากผลผลิต ยอคคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงานปรับตัวลดลงเล็กน้อย ในขณะที่ความเชื่อมั่นทางธุรกิจเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในภาคการผลิต (PMI) ของเวียดนาม ในเดือน ก.ค. อยู่ในระดับ 48.7 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือน มิ.ย. อยู่ที่ 46.2 จุด แสดงให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมของเวียดนามมีทิศทางที่ฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อย แต่ในภาพรวมยังเป็นเชิงลบ นอกจากนี้ ความเชื่อมั่นทางธุรกิจในเดือน ก.ค. เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 4 เดือน แต่ว่าตลาดยังค่อนข้างเงียบ ประกอบกับภาคธุรกิจหวังว่าความต้องการของลูกค้าจะกลับมาฟื้นตัวและนำไปสู่การเติบโตของธุรกิจ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1551947/viet-nam-s-manufacturing-industry-shows-signs-of-stabilisation-s-p-global.html

ดัชนี PMI ภาคการผลิตเวียดนาม ฟื้นตัวเล็กน้อย แต่ยังต่ำกว่าในเกณฑ์ที่กำหนด

S&P Global เปิดเผยว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของเวียดนามอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์ 50.0 แสดงให้เห็นว่าสถานการณ์ของภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยดัชนี PMI เดือน มิ.ย. อยู่ที่ 46.2 เพิ่มขึ้นจาก 45.3 ในเดือน พ.ค. และจากรายงานล่าสุดชี้ให้เห็นว่าสถานการณ์ยังอยู่ในทิศทางที่ย่ำแย่ เนื่องมาจากอุปสงค์ที่อ่อนแอลงตามยอดคำสั่งซื้อที่ลดลง ตลอดจนการจดทะเบียนธุรกิจใหม่ลดลงเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน และยอดคำสั่งซื้อใหม่เพื่อการส่งออกที่ลดลงอย่างรวดเร็ว อีกทั้ง ไฟดับในเวียดนาม เหตุจากคลื่นความร้อนสูง ทำให้ผลผลิตมีจำกัด

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1550654/pmi-recovers-slightly-but-still-below-threshold-of-50-points.html

จับตาเวียดนามวิกฤตหนักไฟฟ้าส่อขาดแคลน

“เวียดนาม” ประเทศ “น่าลงทุน” และมีศักยภาพการพัฒนาอันดับต้น ๆ ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วันนี้…กำลังเผชิญวิกฤตพลังงานไฟฟ้าขาดแคลนอย่างหนักมาตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และส่อแววยืดเยื้อไปจนถึงฤดูร้อนในช่วงเดือนมิถุนายนนี้ ถึงขั้นต้องประกาศเวียนดับไฟฟ้าทั่วประเทศเพื่อรับมือกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น โดยบางพื้นที่อาจต้องดับไฟฟ้านานกว่า 7 ชั่วโมง ทั้งที่ประเทศเวียดนามมีกำลังผลิตไฟฟ้าติดตั้งในระบบมากถึง 80,704 เมกะวัตต์ ขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 45,434 เมกะวัตต์ สะท้อนถึงปัญหาความมั่นคงระบบไฟฟ้าและคุณภาพไฟฟ้าของเวียดนามที่ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต ความเชื่อมั่นของนักลงทุน รวมถึงความเสียหายทางเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาล

ที่มา : https://www.thaipost.net/hi-light/392968/