จับตา SME เริ่มขาดสภาพคล่องสูงหลังแรงซื้อทั้งในและ ตปท.ดิ่งหนัก

นายอภิชิต ประสพรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.มีความกังวลถึงความอยู่รอดของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (SMEs) ที่ขณะนี้กำลังประสบปัญหาสภาพคล่องมากขึ้นหลังจากต้องเผชิญกับต้นทุนการผลิต และต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นต่อเนื่อง แต่รายได้กลับสวนทางลดต่ำลงเนื่องจากแรงซื้อทั้งภายในประเทศและต่างประเทศปี 2566 ภาพรวมต่างชะลอตัวเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ดังนั้นรัฐบาลใหม่จำเป็นจะต้องหามาตรการมาช่วยเหลือในการให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อพยุงเศรษฐกิจเร่งด่วน โดยปัจจุบันภาคการผลิตและส่งออกของไทยถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยคิดเป็นสัดส่วนราว 70% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) และธุรกิจส่วนใหญ่มี SMEs อยู่ในห่วงโซ่การผลิตจำนวนมากที่ต้องยอมรับว่าภาคส่งออกของไทยครึ่งปีแรกของปี 2566 หดตัวร้อยละ 5.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและแม้แต่การค้าชายแดนเองก็ปรับตัวลดลงจึงกระทบต่อ SMEs ภาพรวมที่บางส่วนต้องปรับลดกำลังการผลิตลงตามคำสั่งซื้อที่ลดต่ำ และหากปัญหานี้ยังคงมีมากขึ้นอาจต้องปิดตัวลงซึ่ง ส.อ.ท.กำลังเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด

ที่มา : https://mgronline.com/business/detail/9660000074361

เรื่องที่ SME ไทยควรรู้ เมื่อ RCEP มีผลบังคับใช้เป็นทางการ

เมื่อวันที่ 1 ม.ค. ที่ผ่านมา เป็นดีเดย์ที่ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) หรือ ‘อาร์เซ็ป’ ซึ่งเป็นความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกจะเริ่มมีผลบังคับใช้ด้วย

ซึ่ง 15 ประเทศที่ร่วมลงนามความตกลง RCEP ประกอบด้วย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์  ไทย บรูไน เวียดนาม ลาว เมียนมา กัมพูชา จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

จุดมุ่งหมายของความตกลงดังกล่าว คือสลายอุปสรรคทางการค้าและส่งเสริมการลงทุน เพื่อช่วยให้ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ก้าวทันประเทศอื่นในโลก ความตกลง RCEP เป็นความตกลงที่ทันสมัย ครอบคลุม คุณภาพสูง และได้รับผลประโยชน์ร่วมกันจากการเปิดเสรีการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน อีกทั้งมีการเพิ่มความร่วมมือในด้านต่างๆ ที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้นจากเอฟทีเอของอาเซียนกับคู่เจรจาที่มีอยู่ก่อนหน้า

 

สินค้าประเทศไทยที่ได้รับประโยชน์จาก RCEP

1.หมวดสินค้าเกษตร เช่น แป้งมันสำปะหลัง สับปะรด สินค้าประมง เป็นต้น

2.หมวดอาหาร ผักผลไม้แปรรูป น้ำส้ม น้ำมะพร้าว รวมทั้งอาหารแปรรูปอื่น ๆ

3.หมวดสินค้าอุตสาหกรรมอุปกรณ์ไฟฟ้า พลาสติก กระดาษ เคมีภัณฑ์ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องแต่งกาย รวมทั้งจักรยานยนต์

4.หมวดบริการ หมวดการก่อสร้าง ธุรกิจด้านสุขภาพ ธุรกิจด้านภาพยนตร์ บันเทิง แอนิเมชัน

5.การค้าปลีก

 

โดยสมาชิก RCEP จะยกเลิกภาษีนำเข้าที่เก็บกับสินค้าไทย จำนวน 39,366 รายการ โดยลดภาษีเหลือ 0% ทันที จำนวน 29,891 รายการ เช่น ผลไม้สดและแปรรูป สินค้าประมง ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยางรถยนต์และส่วนประกอบ พลาสติก เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เป็นต้น

 

ผู้ประกอบการไทยควรเตรียมตัวอย่างไร?

สิ่งที่ผู้ประกอบการ SME ควรให้ความสำคัญในการทำการค้าระหว่างประเทศในปัจจุบันก็คือ การสร้างโอกาสและแต้มต่อจากการใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA รวมถึงความตกลง RCEP ที่จะมีผลบังคับใช้ โดยผู้ประกอบการควรเร่งเตรียมความพร้อมเรียนรู้ทำความเข้าใจกฎเกณฑ์ทางการค้าต่างๆ ของความตกลง RCEP อาทิ การเปิดตลาดการค้าสินค้า อัตราภาษีศุลกากร กฎเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้า และสิทธิประโยชน์ รวมทั้งศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคในตลาดประเทศสมาชิก RCEP

เพื่อเตรียมวางแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจและพัฒนาสินค้าให้สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ซึ่งผู้บริโภคจะให้ความสำคัญกับเรื่องมาตรฐาน คุณภาพ ความปลอดภัยของสินค้าและบริการมากขึ้น จึงจำเป็นที่ผู้ประกอบการต้องปรับตัวให้ สอดรับกับสถานการณ์ใหม่แบบ New Normal’ สร้างความเชื่อมั่น – ภาพลักษณ์ที่ดีให้กับสินค้าและบริการ ของตน ตลอดจนเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

ที่มา : https://www.bangkokbanksme.com/en/sme-thai-should-know-rcep

แหล่งอ้างอิง : สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

เจาะเคล็ดลับส่งเครื่องปรุงรสไทยตะลุยตลาด CLMV

โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

 

ไทยมีศักยภาพในการผลิตและส่งออกอาหารสดกับอาหารแปรรูปไปต่างประเทศอยู่แล้ว ขณะที่การส่งออกเครื่องปรุงรสก็เป็นอีกสินค้าที่สามารถสร้างรายได้ให้ไทยปีละเกือบ 800 ล้านดอลลาร์ฯ แม้จะมีสัดส่วนการส่งออกค่อนข้างน้อยเพียง 0.4% ของการส่งออกทั้งหมดของไทยไปตลาดโลก ขณะที่ในแง่ของศักยภาพการส่งออกเครื่องปรุงรสของไทยติดอันดับ 6 ของโลก (อันดับหนึ่งคือสหรัฐฯ ตามมาด้วยจีน อิตาลี เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และไทยตามลำดับ) คิดเป็นสัดส่วน 5.8% ของมูลค่าการส่งออกเครื่องปรุงรสทั่วโลก (มีมูลค่าราว 13,600 ล้านดอลลาร์ฯ) นอกจากนี้ ไทยยังเป็นผู้ส่งออกเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย โดยเป็นรองเพียงจีนเท่านั้น ด้วยความที่เครื่องปรุงรสของไทยมีจุดแข็งตรงที่สามารถตอบโจทย์วัฒนธรรมการรับประทานอาหารของชาวเอเชียที่มักจะต้องมีเครื่องปรุงรสประกอบในแต่ละมื้อได้ค่อนข้างดี

 

ทั้งนี้ ในปัจจุบันเครื่องปรุงรสที่ไทยส่งออกมากที่สุดอยู่ในกลุ่มเครื่องปรุงแบบเอเชียที่เป็นจุดแข็งของไทย อาทิผงปรุงรส 24% ตามมาด้วยซอสพริก/ซอสถั่วเหลือง 18% เครื่องแกงสำเร็จรูป 9% น้ำปลา 9% และวัตถุดิบอื่นๆ 41% (อาทิ กะปิ) ซึ่งสินค้าเหล่านี้เป็นคนละประเภทกับเครื่องปรุงรสแบบตะวันตกที่ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มซอสมะเขือเทศ มัสตาร์ด ขณะที่จีนแม้จะมีกำลังผลิตขนาดใหญ่และเป็นผู้ส่งออกหลักในฝั่งเอเชีย แต่ความเชี่ยวชาญของจีนจะอยู่ในกลุ่มซอสถั่วเหลืองเป็นหลัก นอกจากนี้ ด้วยความเชี่ยวชาญดังกล่าวทำให้สินค้าเครื่องปรุงรสของไทยส่วนใหญ่มีปลายทางอยู่ที่ตลาดอาเซียนถึง 31% ของการส่งออกเครื่องปรุงรสทั้งหมดของไทย และครึ่งหนึ่งของจำนวนดังกล่าวล้วนส่งไปประเทศเพื่อนบ้านประกอบด้วยกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม (CLMV) สำหรับตลาดอื่นๆ ก็จะมีสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ 21.5% และ 12.3% ตามลำดับ

.

ธุรกิจเครื่องปรุงรสของ SME ไทยมีโอกาสทำตลาดใน CLMV ได้อีกมากโดยเฉพาะในกลุ่มเครื่องปรุงรสแบบเอเชียที่ไทยมีศักยภาพ ประกอบกับพฤติกรรมการบริโภคที่ใกล้เคียงกับไทย และเครื่องปรุงรสของไทยได้รับการตอบรับที่ดีในประเทศ CLMV อาทิ ผงปรุงรส ซอสพริก น้ำปลา ซอสถั่วเหลือง กะปิ เครื่องแกง ดังจะเห็นได้จากปริมาณการนำเข้าเครื่องปรุงของ CLMV มีมูลค่าราว 144 ล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2562 ในจำนวนดังกล่าวไทยครองส่วนแบ่งตลาดเกือบครึ่งหนึ่งมีมูลค่าประมาณ 71 ล้านดอลลาร์ฯ อีกทั้ง ไทยยังเป็นแหล่งนำเข้าหลักอันดับ 1 ในผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสด้วยสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 70% ทั้งของการนำเข้าในประเทศกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา สำหรับตลาดเวียดนามแม้สินค้าไทยจะได้รับความนิยมครองส่วนแบ่งตลาดการนำเข้าอันดับหนึ่ง 1 แต่มีสัดส่วนเพียง 27% เท่านั้น

 

เวียดนามเป็นตลาดเครื่องปรุงรสที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่ม CLMV มีวัฒนธรรมการรับประทานอาหารที่ได้รับอิทธิพลมาจากจีนและฝรั่งเศส อาหารท้องถิ่นของเวียดนามจึงต่างจากไทยทำให้การบริโภคเครื่องปรุงรสของเวียดนามก็แตกต่างกับประเทศกัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา โดยเครื่องปรุงของเวียดนามจะเป็นพริกซอยดองในน้ำส้มสายชู ซอสพริกในรูปแบบเวียดนาม น้ำจิ้มอาหารทะเลที่ใช้ทำจากเกลือ ผสมพริกไทย ผงชูรส และน้ำมะนาว นอกจากนี้ เศรษฐกิจที่น่าจะกลับมาฟื้นตัวได้หลังโควิด-19 ในปี 2564 กำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น ด้วยจำนวนประชากรกว่า 97.3 ล้านคน การเข้ามาของนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงนักท่องเที่ยวปีละไม่ต่ำกว่า 18 ล้านคน (ในปี 2562) ทำให้เวียดนามเป็นอีกตลาดที่น่าจะมีความต้องการเครื่องปรุงรสตอบโจทย์วัฒนธรรมการรับประทานอาหารนานาชาติทั้งจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น จึงเป็นโอกาสให้ SME ไทยในการเจาะตลาดเครื่องปรุงรสแบบเอเชียที่ทำได้ดีอยู่แล้วและเครื่องปรุงรสในกลุ่มอาหารนานาชาติที่น่าจะเป็นโอกาสสำคัญ อย่างไรก็ดี ธุรกิจเครื่องปรุงรสของ SME ไทยที่จะขยายตลาดในกลุ่มอาหารนานาชาติคงต้องแข่งกับแบรนด์เครื่องปรุงรสของจีนและเกาหลีใต้ที่ทำตลาดอยู่ก่อนแล้วโดยมีส่วนแบ่งตลาดการนำเข้าที่ 13% และ 12% ตามลำดับ

 

ดังนั้น ปัจจัยที่จะทำให้ผู้ประกอบการ SME ในธุรกิจเครื่องปรุงรสประสบความสำเร็จต่อเนื่องในตลาด CLMV ได้คือความเข้าใจวัฒนธรรมการรับประทานอาหาร การผสมผสานรสชาติการรับประทานอาหารแบบตะวันออกและตะวันตกเข้าด้วยกัน โดยพัฒนาเครื่องปรุงรสให้ตอบโจทย์ความต้องการครอบคลุมทุกกลุ่มสินค้ โดยเฉพาะเครื่องปรุงรสในแบบเอเชียที่ไทยทำได้ดีอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นผงปรุงรส ซอสพริก น้ำปลา ซอสถั่วเหลือง กะปิ เครื่องแกง ซึ่งผู้ประกอบการ SMEs ไทยควรเน้นไปที่ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ในแง่ของความสะดวกในการรับประทานที่น่าจะช่วยเพิ่มโอกาสทำตลาดได้ครอบคลุมผู้บริโภคทุกกลุ่ม อาทิ บรรจุภัณฑ์สำหรับรับประทานในครัวเรือน บรรจุภัณฑ์แบบซองที่พร้อมรับประทานเป็นมื้อสำหรับจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อบรรจุภัณฑ์แบบซองสำหรับให้ร้านอาหารนำไปใช้จำหน่ายแบบซื้อกลับไปรับประทานที่บ้าน นอกจากนี้เครื่องปรุงรสในกลุ่มที่ตอบโจทย์อาหารนานาชาติก็น่าจะเป็นอีกกลุ่มที่ช่วยขยายโอกาสให้แก่ SME ไทย ทั้งในตลาด CLM ที่ก็น่าจะมีพื้นที่ตลาดให้สินค้าไทยทำตลาดต่อยอดได้มากขึ้นอีก รวมทั้งตลาดเวียดนามที่มีความต้องการบริโภคอีกมาก ให้สินค้าไทยรุกเข้าทำตลาด ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้ผู้ประกอบการก็อาจใช้กลยุทธ์เพิ่มความหลากหลายในบรรจุภัณฑ์เช่นเดียวกับสินค้ากลุ่มข้างต้น

ที่มา : https://kasikornbank.com/th/business/sme/KSMEKnowledge/article/KSMEAnalysis/Pages/SMEseasoning_SME.aspx

รัฐบาลสปป.ลาวออกมาตรการยกเว้นภาษีเพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของ COVID-19

เศรษฐกิจสปป.ลาวคาดการณ์ว่าจะชะลอตัวร้อยละ 6.1 ในปีนี้จากก่อนหน้านี้ที่คาดการณ์ว่าจะเติบโตร้อยละ 6.5 ในปีนี้ ซึ่งมาจากการแพร่ระบาดของ COVID-19ในปัจจุบันถึงแม้สปป.ลาวจะพบผู้ติดเชื้อเพียง 19 คนเท่านั้นในขณะนี้ แต่เศรษฐกิจกลับพบว่ามีผลกระทบเชิงลบอย่างมากโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว การก่อสร้างและการผลิตทำให้รัฐบาลต้องมีการออกมาตราเพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าว โดยมีการออกมาตราการยกเว้นการจ่ายภาษีเป็นเวลา 3 เดือนตั้งแต่เดือนเมษายน-มิถุนายน ทั้งในส่วนภาษีของธุรกิจและภาษีเงินได้ส่วนบุคคลมาตราการดังกล่าวจะช่วยให้กระแสเงินสดของภาคธุรกิจมีมากขึ้นเพื่อนำไปหมุนเวียนในธุรกิจเพื่อรักษาธุรกิจให้รอดในสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะภาคธุรกิจที่อยู่ในกลุ่ม SME มีมากถึงร้อยละ 90ของธุรกิจที่จดทะเบียนในสปป.ลาวหากเกิดปัญหามีการปิดตัวไปหรือล้มละลาย จะทำให้กระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรงรวมถึงแรงงานที่อยู่ในอุตสาหกรรมก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลตระหนักจึงทำให้มีการยกเว้นภาษีขึ้นมาเพื่อรักษาระบบเศรษฐกิจในขณะนี้

ที่มา : https://www.aseanbriefing.com/news/laos-issues-tax-relief-measures-mitigate-covid-19-impact/

กองทุนเพื่อธุรกิจสปป.ลาวสนับสนุน SME ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน

กรมส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ คาดว่าจะจัดสรรเงินทุนจากกองทุนพัฒนาธุรกิจ SMEs ในการพัฒนาโครงการด้านเทคนิคซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการเสริมสร้างธุรกิจขนาดเล็กและส่งเสริมการเริ่มธุรกิจใหม่ของผู้ประกอบการในสปป.ลาว ซึ่งจะมีการปล่อยกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ในวงเงินไม่เกิน 1.5 พันล้านกีบให้กับ MSMEs ในขณะที่องค์กรขนาดเล็กจะได้รับประมาณ 3 พันล้านกีบและวิสาหกิจขนาดกลางจะได้รับ 4 พันล้านกีบ โดยเงื่อนไขของภาคธุรกิจที่จะเข้ามาควรมีแผนธุรกิจและควรได้รับการรับรองจากองค์กรภาคการค้าและอุตสาหกรรมก่อนถึงจะมีสิทธิ์ในการได้รับการพิจารณาให้กู้เงินในกองทุนดังกล่าวได้ โดยในปีที่ผ่านมาโครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จอย่างดีจากการที่ภาคธุรกิจแต่ละขนาดมีการพัฒนาในการนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วยส่งเสริมในการผลิต รวมถึงมีระบบจัดการที่ดีขึ้นมีหลายๆธุรกิจที่ขยับตัวเองจาก SMEs มาเป็น MSMEs ซึ่งถือเป็นตัวบ่งชี้ถึงการประสบความสำเร็จของโครงนี้ เป้าหมายในอนาคตจะมีการอนุมัติสินเชื่อให้เพิ่มเติมแก่ธุรกิจต่างๆเพื่อให้ครอบคลุมทั่วสปป.ลาว เป็นการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจในสปป,ลาวเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจสปป.ลาวต่อไป

ที่มา : http://annx.asianews.network/content/smes-set-benefit-special-funding-scheme-115096

สสว.เดินหน้าหนุน SMEs รุกตลาดใกล้ บุกตลาดไกล จัดเสวนากลยุทธ์บุกตลาดเพื่อนบ้าน

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จัดทำ โครงการเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ให้บริการ SMEs สู่อาเซียน เดินหน้าสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ไทยรุกตลาดโลก พร้อมเดินสายจัดสัมมนาในแต่ละภูมิภาค ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี อุดรธานี ข่อนแก่น หาดใหญ่ เชียงราย และเชียงใหม่ ภายใต้หัวข้อ “รุกตลาดใกล้ บุกตลาดใหญ่” เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดต่างประเทศมาร่วมให้ความรู้และคำแนะนำเกี่ยวกับกลยุทธ์ด้านการตลาดและการลงทุนกับเครือข่ายทางธุรกิจในกลุ่มประเทศดังกล่าว โดยกลุ่มเป้าหมายหลักเบื้องต้นคือกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งมีวัฒนธรรมการบริโภคสินค้าและพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใกล้เคียงกับไทยในหลายด้าน โดยการสร้างเครือข่าย (Network) ถือเป็นพันธกิจและเป้าหมายหลักของโครงการ เพื่อมอบโอกาสทางการตลาด ให้ผู้ประกอบการสามารถต่อยอดในการประกอบธุรกิจ

ที่มา : https://www.ryt9.com/s/prg/3019713

SME เพิ่มโอกาสรวยแบบก้าวกระโดด! บนตลาดกัมพูชากับเวียดนาม

งานสัมมนา “Krungsri Business Talk : กัมพูชา VS เวียดนาม ตลาดไหน ใช่เลย!” มีการนำผู้มีประสบการณ์ในการทำธุรกิจของทั้ง 2 ประเทศมาถ่ายทอดข้อมูลที่สำคัญคือ ประเด็นที่ 1 การเติบโตและสินค้าที่เป็นไปได้ในตลาด กัมพูชาชอบดีทีวีไทยเป็นอย่างมากจึงไม่จำเป็นต้องทำโฆษณาตัวสินค้าไทยเพราะเป็นที่นิยมอยู่แล้ว ส่วนเวียดนาม มี FTA เชื่อมต่อการส่งออกของไทยและนิยมสินค้าอย่างเครื่องสำอางและไอที ประเด็นที่ 2 พฤติกรรมผู้บริโภค กัมพูชาเปิดรับสินค้าทุกอย่าง ไม่สนใจว่าฉลากจะเป็นภาษาไหนแต่ถ้าเป็นภาษาไทยจะยิ่งมีความเชื่อมั่น ส่วนเวียดนามมีรสนิยมในสินค้าที่มีคุณภาพมากขึ้น ชอบผลิตภัณฑ์ที่มีกิมมิคและแปลกใหม่ ประเด็นที่ 3 การจับจ่ายและกฎระเบียบ การเข้าไปทำธุรกิจของทั้ง 2 ประเทศจะคล้ายคลึงกันคือหาคู่ค้าและตัวแทนจำหน่าย ด้านกฎระเบียบของเวียดนามจะมีความอ่อนไหวมากกว่าเพราะเปลี่ยนแปลงบ่อย สิ่งที่นักลงทุนพึงตระหนักคือการติดตามข้อมูลข่าวสาร นโยบายและเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศอยู่ตลอด

ที่มา: https://www.thairath.co.th/content/1258896

19 เมษายน 2561

ชี้ขุมทรัพย์ของนักธุรกิจไทยในสปป.ลาวโดย SME แห่งสปป ลาว

นิตยา เพชดาวัน กรรมการสมาคม SME สปป.ลาว ได้ชี้ถึงโอกาสของนักลงทุนไทยในสปป.ลาว โดยเฉพาะในจุดที่แตกต่างระหว่างไทยกับสปป.ลาว ที่ถือเป็นความลงตัว สปป.ลาวยังมีทรัพยากรจำนวนมาก แต่ยังไม่สามารถแปรรูป แต่คนไทยทำได้หมด จึงอยากให้นักธุรกิจไทยให้ไปลงทุน ซึ่งโอกาสมีทั้งเรื่องธุรกิจอาหาร เครื่องดื่มและผลิตภัณฑ์เสริมความงาม คนสปป.ลาวมีความมั่นใจในสินค้าไทยมาก มีความเชื่อว่าเป็นของดี สินค้าจากสองประเทศวางคู่กัน สินค้าแบรนด์ที่ Made in Thailand จะถูกเลือกซื้อไปก่อน เพราะมีราคาไม่สูงและเป็นสินค้ามีคุณภาพ และที่น่าสนใจคือการค้าชายแดนที่รัฐบาลสปป.ลาว ยึด 4 ข้อหลัก คือ การสร้างเขื่อนไฟฟ้า พัฒนาโครงการพื้นฐาน การลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ และผลักดันการลงทุนทั้งด้านเกษตรแปรรูป การศึกษา และโรงพยาบาล ด้านผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย มีศักยภาพมากพอที่จะเข้าไปลงทุนในด้านเกษตรแปรรูป (ที่ในปัจจุบันรัฐบาลเน้นเกษตรออร์แกนิค พืชผักปลอดสารพิษ) การศึกษา และโรงพยาบาล เช่นเดียวกัน ที่ผ่านมานักธุรกิจมักคิดว่าสปป.ลาวเป็นเมืองปราบเซียน ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเรื่องความไม่เข้าใจระหว่าง ที่ถูกต้องคือต้องไปกับหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ถ้าจดทะเบียนตามระบบขั้นตอนที่ถูกต้องนั้น การันตีเลยว่าจะไม่โดนโกงอย่างแน่นอน นักธุรกิจที่ไม่ประสบความสำเร็จนั้นมีเป็นส่วนน้อย เพราะไทยกับ สปป.ลาวนั้นเชื่อมโยงใกล้ชิดกันอยู่แล้ว

ที่มา: https://news.mbamagazine.net/index.php/entrepreneurship/smes/item/1020-2018-08-13-02-49-26

สร้างแต้มต่อ SME ไทยเจาะตลาดกัมพูชา

กัมพูชาเป็นประเทศที่เนื้อหอมสำหรับนักลงทุนต่างชาติ ด้วยจีดีพีโตเฉลี่ย 7% ต่อปี แม้จะมีสะดุดจากกรณีการพิจารณาเพิกถอน EBA จากอียู แต่ด้วยการเติบโตของสัดส่วนของภาคอุตสาหกรรมจาก 29% ในปี 2553 เพิ่มเป็น 36% ในปี 2559 อัตรา ยังถือว่าน่าสนใจอีกทั้งการว่างงานที่ถือว่าต่ำมาก (0.3) แต่กำลังซื้อส่วนใหญ่อยู่ในเขตเมืองและการท่องเที่ยว ที่ผ่านมาสินค้าอุปโภคบริโภคของไทยเป็นที่นิยมและได้รับความเชื่อมั่นจากชาวกัมพูชาเป็นอย่างมาก แต่ควรระวังเรื่องการตั้งราคาที่เหมาะสมเพราะยังอ่อนไหวเรื่องราคา แต่ช่วงหลังหันมานำเข้าสินค้าขั้นกลางและสินค้าทุนที่เน้นในด้านภาคการผลิตส่งผลให้มีคู่แข่งเพิ่มมากขึ้น ลดการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคลง แต่ที่น่าสนใจคือผู้บริโภครุ่นใหม่ที่มาขึ้นมีกำลังซื้อมากขึ้น เช่น สินค้าประเภทอาหารสำเร็จหรือกึ่งสำเร็จรูป สินค้าอย่างเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งและเครื่องประดับมีแนวโน้มเติบโตได้ และอีกภาคอุตสาหกรรมที่ไม่ควรมองข้ามคือ การท่องเที่ยวและโรงแรมที่มีศักยภาพการเติบโตในระดับสูง สินค้าที่สามารถเจาะตลาด คือ เฟอร์นิเจอร์ สุขภัณฑ์ ตู้เย็น และเครื่องประดับตกแต่งบ้าน ซึ่งสามารถที่จะทำการตลาดได้ทั้งแบบ B2B และ B2C

ที่มา:https://kasikornbank.com/th/business/sme/KSMEKnowledge/article/KSMEAnalysis/Documents/Thai-SME_Cambodia-Market.pdf

มิถุนายน 2561