‘เวียดนาม’ เผยเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศระลอกใหม่ ม.ค.-เม.ย. แตะ 9.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) รายงานว่าการลงทุนจากต่างประเทศในเดือน เม.ย. เพิ่มขึ้น 4.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี มูลค่ากว่า 9.27 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยยอดเม็ดเงินลงทุนดังกล่าว มีจำนวนโครงการใหม่ 966 โครงการ ทุนจดทะเบียนรวม 7.11 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 28.8% และ 73.2% ตามลำดับ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปได้รับเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศมากที่สุด มูลค่าราว 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วน 70.2% ของเงินลงทุนทั้งหมด ในขณะที่ภาคอสังหาฯ มูลค่า 1.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 22.5%

นอกจากนี้ นักลงทุนชาวสิงคโปร์ยังคงเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ในเวียดนาม มีมูลค่าการลงทุนรวม 2.59 พันล้านเหรียญสหรัฐในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ คิดเป็นสัดส่วน 36.4% ของเงินลงทุนทั้งหมด รองลงมาฮ่องกง 898.6 ล้านเหรียญสหรัฐ

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/new-foreign-investments-in-jan-apr-put-at-us9-3-billion/

แนวโน้ม FDI ในเมียนมาร์ : ภาคพลังงานเป็นผู้นำด้วยมูลค่า 374 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

คณะกรรมการการลงทุนและการบริหารบริษัทรายงานว่าในช่วง 9 เดือนของปีงบประมาณ 2566-2567 ภาคพลังงานกลายเป็นผู้รับการลงทุนจากต่างประเทศสูงสุด โดยดึงดูดเงินได้มากกว่า 374 ล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมา คือ ภาคอุตสาหกรรมการผลิตซึ่งมีรายได้ 112 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และภาคการขนส่งและการสื่อสารด้วยการลงทุน 77.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ระหว่างเดือนเมษายน-ธันวาคม 2566 ทั้งนี้ ในทางตรงกันข้าม ภาคบริการมีการลงทุนน้อยที่สุดเพียง 0.809 ล้านดอลลาร์ ซึ่งโดยรวมแล้ว มีการลงทุนใน 7 ภาคส่วนมีมูลค่าทะลุ 602 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม การลงทุนจากต่างประเทศลดลงอย่างมากเมื่อเดือนที่แล้ว โดยมีมูลค่าเพียง 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งภูมิทัศน์การลงทุนของเมียนมาร์ประกอบด้วย 7 ภาคส่วนหลัก ได้แก่ เกษตรกรรม ปศุสัตว์และการประมง การผลิต พลังงาน การขนส่งและการสื่อสาร อสังหาริมทรัพย์ และการบริการ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/fdi-trends-in-myanmar-energy-sector-leads-with-us374m/#article-title

โครงการลงทุน 3 โครงการ ได้รับการอนุมัติ สร้างงาน 744 ตำแหน่งในภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม

ในการประชุมที่จัดขึ้นที่สำนักงานของรัฐบาลสหภาพในกรุงเนปิดอว์ คณะกรรมการการลงทุนเมียนมาร์ได้อนุมัติโครงการลงทุนใหม่ 3 โครงการ ที่จะมาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษติละวา คิดเป็นมูลค่า 0.180 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมากกว่า 300 พันล้านจ๊าด ซึ่งจะสร้างโอกาสในการทำงานในท้องถิ่น 744 ตำแหน่งในภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมในวันที่ 1 ธันวาคม อย่างไรก็ดี จากต้นปีที่ผ่านมาจนถึงสิ้นเดือนตุลาคม 2566 ใน 52 ประเทศและภูมิภาคที่ลงทุนในเมียนมาร์ ประเทศนักลงทุนรายใหญ่ที่สุด ได้แก่ สิงคโปร์ จีน และไทย ตามลำดับ ทั้งนี้ ในบรรดาธุรกิจ 12 ประเภทในเมียนมาร์ ร้อยละ 28.49 ของการลงทุนทั้งหมดไหลเข้าสู่ภาคพลังงาน ร้อยละ 24.44 ลงทุนในภาคน้ำมันและก๊าซธรรมชาติคิดเป็น และร้อยละ 14.39 เป็นการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม ตามลำดับ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/three-invested-businesses-approved-to-generate-744-jobs-in-industrial-agricultural-sectors/

สนค. แนะไทยเพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน ชิงแหล่งทุนจากทั่วโลก แห่ใช้อาเซียนฐานผลิตแห่งใหม่

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า อาเซียนกลายเป็นแหล่งดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เพราะสภาพแวดล้อมหมาะสม การย้านฐานผลิตของจีน หลังเกิดความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐ-จีน และไทยเร่งเจรจาเอฟทีเอมากขึ้น ทั้งนี้ หลังจากการเกิดโควิด-19 อาเซียนมีความยืดหยุ่นตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจการค้าของโลกอย่างรวดเร็ว จากรายงาน ASEAN Investment Report 2022 ระบุว่า ปี 2564 มีเงินลงทุนทางตรงจากต่างประเทศไหลเข้าเพิ่มขึ้นถึง 42% มูลค่า 1.74 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ สะท้อนให้เห็นถึงความน่าดึงดูดใจทางเศรษฐกิจของภูมิภาคของนักลงทุนทั่วโลก ด้วยตลาดขนาดใหญ่และความร่วมมือภายในภูมิภาคที่เข้มแข็ง โดยอาเซียนเป็นเป้าหมายการลงทุนที่สำคัญรองจากจีน ซึ่งการลงทุน FDI ช่วยให้เศรษฐกิจของภูมิภาคเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ทั้งนี้ ในรายงานของ IMF ล่าสุด ณ ตุลาคม 2566 คาดการณ์ว่าปี 2566 เศรษฐกิจของอาเซียน 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย จะขยายตัว 4.5% และขยายตัว 4.5% ในปี 2567 ซึ่งมากกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัว 3% และ 2.9% ตามลำดับ

ที่มา : เว็บไซต์มติชนออนไลน์  https://www.matichon.co.th/economy/news_4304946

 

ภูมิภาคพะโคดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศจำนวนมาก

U Ko Ko Latt ผู้อำนวยการคณะกรรมการการลงทุนและการบริหารบริษัทประจำภูมิภาคพะโค กล่าวว่า ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ภูมิภาคพะโคมีโครงการลงทุนจากต่างประเทศมูลค่า 1.622 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ คณะกรรมการยังได้อนุมัติธุรกิจต่างประเทศที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันให้เพิ่มเงินลงทุนเดิมจำนวน 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในการประชุมครั้งที่ 7/2566 นอกจากนี้ หน่วยงานระดับภูมิภาคยังมีความกระตือรือร้นที่จะเชิญนักลงทุนภายนอกให้ลงทุนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์การเกษตร การผลิตปุ๋ย และการจัดตั้งห้องเย็นเพื่อส่งเสริมการพัฒนาการเกษตรแบบอเนกประสงค์และการผลิตผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะให้ความช่วยเหลือที่จำเป็นตามกฎหมาย อย่างไรก็ดี ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 ถึงพฤศจิกายน 2566 มีการลงทุนจากต่างประเทศมูลค่ากว่า 197.117 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการลงทุนภายในประเทศในภูมิภาคพะโค 75,456.275 ล้านจ๊าด ส่งผลให้มีการจ้างงานแรงงานมากกว่า 11,281 คน

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/bago-region-attracts-substantial-foreign-investments-approves-additional-funding-for-industrial-business/#article-title

นักเศรษฐศาสตร์ลาวแนะ ‘ต้องดึงเม็ดเงินต่างชาติ’ เพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงินกีบ

ศ.ภูเพชร เคียวภิลาวงศ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสและคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว เสนอแนะวิธีรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนเงินกีบและจัดการกับความท้าทายทางเศรษฐกิจของลาวที่ตกต่ำจากปัญหาเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น โดยลาวจำเป็นต้องดึงดูดเงินตราต่างประเทศเข้ามามากขึ้นด้วยการเพิ่มมูลค่าของการส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุนจากต่างประเทศ เนื่องจากการไหลเข้าของเงินตราต่างประเทศจะช่วยรักษาเสถียรภาพของค่าเงินกีบไม่ให้อ่อนค่าลงไปกว่าปัจจุบัน นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญที่ต้องแก้ไข คือ แก้ไขกฎระเบียบการซื้ออสังหาริมทรัพย์ของชาวต่างชาติในลาว โดยปัจจุบันยังไม่มีการออกกฎระเบียบดังกล่าวมารองรับว่าชาวต่างชาติสามารถซื้ออสังหาริมทรัพย์ในลาวได้ หากแก้ไขได้จะช่วยดึงดูดเม็ดเงินต่างชาติเข้ามาได้อีกทางหนึ่ง

ที่มา : https://www.nationthailand.com/world/asean/40031972

VinaCapital มองเวียดนามยังคงเป็นจุดหมายปลายทางการลงทุนจากต่างประเทศ

Michael Kokalari หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของกองทุน Vinacapital กล่าวว่าการกำหนดอัตราภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลกไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อการไหลเข้าของเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ไปยังเวียดนาม เนื่องจากความเป็นจริงที่ว่าแรงจูงใจทางด้านภาษีไม่ใช่สิ่งที่เป็นปัจจัยในการดึงดูดให้มีการตั้งโรงงานในเวียดนาม ตามการวิเคราะห์บ่งชี้ให้เห็นว่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนสำคัญในการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนาม อย่างไรก็ดี มีความเสี่ยง 2 ประการที่อาจมีผลกระทบต่อการไหลเข้าของ FDI ในอนาคต ดังต่อไปนี้ ประการแรก เวียดนามอาจสูญเสียความสามารถทางการแข่งขันในฐานะจุดหมายปลายทาง FDI เมื่อเทียบกับประเทศอินเดีย มาเลเซียและอินโดนีเซีย ประการที่สอง คือ อัตราภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลกฉบับใหม่ที่จะลดความน่าดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ โดยจำกัดการจูงใจทางด้านภาษีแก่นักลงทุน

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1541981/viet-nam-will-continue-to-be-prime-destination-for-fdi-vinacapital.html

“OECD” คาดเศรษฐกิจเวียดนามปีนี้ขยายตัว 6.6%

องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) รายงานว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัว 6.6% ในปีนี้ โดยได้รับแรงหนุนจากการลงทุนจากต่างประเทศที่ไหลเข้าไปยังภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร สิ่งทอและรองเท้า รวมถึงได้รับปัจจัยบวกจากการที่ประเทศจีนผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ด้วยเหตุนี้ ทางองค์การ OECD มองว่าเวียดนามยังคงเป็นประเทศชั้นนำที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดจาก 5 อันดับแรกในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ ตามรายงาน ระบุว่าหลังสิ้นสุดโครงการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ได้สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกแก่เวียดนามที่จะหันไปแก้ไขสถานการณ์ทางการเงินของประเทศ อย่างไรก็ดี อุปสงค์ที่อ่อนแอ ส่งผลให้เศรษฐกิจเวียดนามชะลอตัวตามไปด้วย ตลอดจนภาวะเงินเฟ้อ เวียดนามควรติดตามทิศทางและแนวโน้มของเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnams-economy-to-grow-by-66-this-year-oecd-post1011080.vov

บริษัทสหรัฐฯ เล็งสำรวจโอกาสลงทุนในเวียดนาม

ตัวแทนของบริษัทในสหรัฐฯ มากกว่า 50 แห่งจะเดินทางเยือนเวียดนามระหว่างวันที่ 21-22 มีนาคม เพื่อหารือเกี่ยวกับการลงทุนและโอกาสทางธุรกิจภายใต้โครงการประจำปีที่จัดขึ้นโดยสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน ทั้งนี้ คุณ Vũ Tự Thành ตัวแทนสภาธุรกิจเวียดนาม กล่าวว่าองค์กรได้จัดงานดังกล่าวมาเป็นระยะเวลากว่า 30 ปี และในครั้งนี้นับว่าเป็นภารกิจที่ใหญ่ที่สุดที่เคยมีมาในประเทศ บริษัทสหรัฐฯ บางรายมีมุมมองที่น่าสนใจกับเวียดนามในฐานะที่เป็นศูนย์กลางการผลิตและผู้ให้บริการ รวมถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวสูงถึง 8% ในปีที่แล้ว โดยหนึ่งในบริษัทสหรัฐฯ คือ สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ที่ต้องการให้บริการอินเตอร์เน็ตผ่านดาวเทียมในเวียดนามและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค และยังรวมถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ได้แก่ Pfizer, Johnson & Johnson, Abbott, Visa, Citibank, Meta และ Amazon เป็นต้น

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1499610/spacex-apple-pfizer-among-us-businesses-exploring-investment-opportunities-in-vie-t-nam.html

“เซ็นทรัล” เดินหน้าลงทุนเวียดนาม

นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (CRC) เปิดเผยว่าทางบริษัทมองเห็นศักยภาพการเติบโตของตลาดเวียดนามและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ด้วยฐานที่แข็งแกร่งของบริษัทที่ทำธุรกิจและการตั้งเป้าโรดแมป 5 ปี จึงมีความพร้อมที่จะอัดงบลงทุน 5 ปี ในเวียดนามอีกกว่า 50 พันล้านบาท ทั้งนี้ เซ็นทรัล รีเทล เวียดนาม มีจำนวนร้านค้ามากกว่า 340 แห่ง และมีพื้นที่รวมกันเกินกว่า 1.2 ล้านตารางเมตร ครอบคลุมไปยัง 40 จังหวัดทั่วประเทศ นอกจากนี้ นาย Olivier Langlet ผู้บริหารสูงสุดของ Central Retail Vietnam กล่าวว่าเศรษฐกิจเวียดนามยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้เผชิญกับความไม่แน่นอน โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัว 6.7% และ 7.2% ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ เทียบกับ 3.5% ต่อปีของเศรษฐกิจไทยในอีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้ตลาดเวียดนามเติบโตเร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

ที่มา : https://www.bangkokpost.com/business/2509314/crc-bullish-on-vietnam