สปป.ลาว-ลักเซมเบิร์ก เสริมสร้างความร่วมมือในหลายมิติ
รัฐบาล สปป.ลาว และลักเซมเบิร์ก ย้ำความสัมพันธ์ในการเสริมสร้างความร่วมมือในด้านมิติที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ เช่น สุขภาพและโภชนาการ การพัฒนาท้องถิ่น การพัฒนาทักษะและการจ้างงาน หลักธรรมาภิบาล การเข้าถึงความยุติธรรม และหลักนิติธรรม โดยทั้งสองประเทศร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการหุ้นส่วนทวิภาคี ครั้งที่ 15 ที่เวียงจันทน์ การประชุมดังกล่าวมีรัฐมนตรีกระทรวงการวางแผนและการลงทุนของ สปป.ลาว นายคำเจน วงศ์โพซี เป็นประธานในการประชุม และ Xavier Bettel รองนายกรัฐมนตรีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและการค้าต่างประเทศของลักเซมเบิร์ก คณะผู้แทนทั้งสองประเทศได้ทบทวนความคืบหน้าของการดำเนินโครงการภายใต้โครงการความร่วมมือฉบับที่ 5 ซึ่งดำเนินการตั้งแต่ปี 2566-2570 ซึ่งครอบคลุมความร่วมมือระดับทวิภาคี พหุภาคี และภาคประชาสังคมของทั้งสองประเทศ
ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_30_LaosLuxembourg_y24.php
ศรีลังกา-สปป.ลาว ย้ำเส้นทางความสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยว ศาสนา และเทคโนโลยี
Damith Aluge ในฐานะผู้แทนของรัฐบาลศรีลังกาในประเทศลาว แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและความร่วมมือในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ ในขณะที่ศรีลังกาและลาวทำงานเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ตลอด 16 ปี ในการสร้างความสามัคคีและความก้าวหน้าได้มอบความหวังสำหรับอนาคตที่สดใสด้วยการเสริมสร้างวัฒนธรรมและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีร่วมกัน ผลงานที่โดดเด่นอย่างหนึ่งที่ Damith Aluge ทำระหว่างดำรงตำแหน่ง คือ การช่วยเหลือชาวศรีลังกาที่ลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อแก้ว เขาเปิดเผยว่าการดำเนินการที่ประสบความสำเร็จนั้นเป็นความพยายามร่วมกันระหว่างรัฐบาลลาวและศรีลังกา รวมถึงองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานแห่งสหประชาชาติ (IOM) ที่ช่วยเหลือชาวศรีลังกากว่า 70 คน ลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษได้อย่างราบรื่น
รถไฟลาว-จีน จำนวนผู้โดยสารและสินค้าเติบโตต่อเนื่องในช่วงต้นปี 2567
โครงการ Belt and Road Initiative (BRI) ของการรถไฟจีน-ลาว ได้อำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสาร 27.87 ล้านคน และสินค้า 32.56 ล้านตัน นับตั้งแต่เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 สะท้อนให้เห็นถึงแรงผลักดันที่แข็งแกร่งในด้านการค้าและธุรกิจระหว่างจีนและลาว จนถึงต้นปี 2567 รถไฟสายนี้ได้ขนส่งสินค้าไปแล้ว 2.01 ล้านตัน โดยเป็นสินค้าข้ามพรมแดน 55,000 ตัน เพิ่มขึ้น 29.7% เมื่อเทียบกับปีก่อน การขนส่งสินค้าทางรถไฟกับประเทศในกลุ่มอาเซียนมากกว่าครึ่งหนึ่งได้รับการอำนวยความสะดวกรถไฟสายนี้ ปัจจุบันเส้นทางรถไฟลาว-จีนเส้นทางในการนำเข้าผลไม้เมืองร้อนจากไทยและ สปป.ลาว เพื่อนำไปจำหน่ายในมณฑลเสฉวน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน และมณฑลกวางตุ้ง ทางตอนใต้ของจีน นอกจากนี้ ผัก ผลไม้ แผงเซลล์แสงอาทิตย์ และเครื่องใช้ในบ้านของจีน ยังถูกส่งไปยังประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านทางทางรถไฟอีกด้วย
ที่มา : https://www.globaltimes.cn/page/202402/1306924.shtml
คนรุ่นใหม่ใน สปป.ลาว ให้ความสนใจภาษาจีนเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการทำงาน
คนรุ่นใหม่ใน สปป.ลาว ให้ความสนใจในการเรียนรู้ภาษาจีนเพิ่มมากขึ้น โดยตระหนักโอกาสในการทำงานในอนาคต ท่ามกลางการหลั่งไหลเข้ามาของนักลงทุนชาวจีนจำนวนมาก ในปีการศึกษา 2566-2567 การลงทะเบียนเรียนที่สถาบันขงจื้อ ซึ่งเป็นสถาบันภาษาจีนที่มีชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากข้อมูลเผยให้เห็นว่าจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้นเกือบสามเท่าในเวลาเพียง 2 ปี โดยเพิ่มขึ้นจาก 193 คน ในปี 2564 เป็น 562 คน ในปี 2566 นอกจากนี้ นักศึกษาลาวเริ่มลงทะเบียนสอบเข้ามหาวิทยาลัยแห่งชาติ โดยสาขาวิชาภาษาจีนกลายเป็นวิชาที่เป็นที่ต้องการมากที่สุด โดยมีนักศึกษาลงทะเบียนมากกว่า 2,000 คน นี่เป็นจำนวนที่สูงที่สุดในบรรดาวิชาทั้งหมดสำหรับปีการศึกษานี้ ซึ่งส่งสัญญาณถึงการเปลี่ยนแปลงความสนใจทางวิชาการในหมู่เยาวชนของ สปป.ลาว
นายกฯ สปป.ลาว แนะเจ้าหน้าที่แขวงบ่อแก้ว ลดนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยจากต่างประเทศ
นายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว แนะนำให้ทางการปฏิบัติตามมติของรัฐบาล เพื่อส่งเสริมแนวทางการพัฒนาใหม่ๆ สู่การเปลี่ยนแปลงที่มีประสิทธิภาพและครอบคลุมถึงวิธีการบริหารสมัยใหม่ แขวงบ่อแก้วควรปฏิบัติตามพระราชกฤษฎีกาที่กำหนดความรับผิดชอบในการดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนงบประมาณของรัฐ และแผนสกุลเงิน ปี 2567 โดยแนะนำให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่าเม็ดเงินที่เข้ามาสู่แขวงบ่อแก้วและการชำระเงินโดยทั่วไป จะถูกชำระผ่านบัญชีธนาคารมากขึ้น เพื่อให้เงินเข้าสู่ระบบธนาคาร การจัดการสกุลเงินจะต้องมีความเข้มงวดมากขึ้น รวมถึงการควบคุมเงินที่นำเข้าเพื่อการลงทุนให้มีความสอดคล้องกับกฎหมาย นอกจากนี้ ทางการควรลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลีกเลี่ยงการนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือย
ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_28_PM_y24.php
สปป.ลาว และตุรกี ร่วมลงนาม MOU ด้านเศรษฐกิจและการค้า
รัฐบาล สปป.ลาว และตุรกี วางแผนที่จะขยายความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจและการค้า โดยรัฐมนตรีต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจในนามของรัฐบาลทั้งสองประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า และทั้งสองฝ่ายได้ร่วมหารือเกี่ยวกับความร่วมมือทวิภาคีในปีที่ผ่านมา และทิศทางในอนาคตที่เป็นไปได้ของการเชื่อมสัมพันธ์ที่มากขึ้น และยังแบ่งปันความคิดเห็นในประเด็นระดับภูมิภาคและระดับโลกที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน โดยรัฐมนตรีทั้งสองกล่าวถึงความสำเร็จมากมายตลอดระยะเวลา 60 ปีแห่งมิตรภาพและความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศ โดยเห็นพ้องกันว่าความสัมพันธ์ได้พัฒนาอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ การค้า และด้านอื่นๆ สำหรับการค้าทวิภาคีระหว่างทั้งสองประเทศขยายตัวจุดสูงสุดในปี 2561 และ 2562 แต่ต่อมาลดลง 75.0% เนื่องจากเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 จากนั้นมูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศกลับมาเพิ่มขึ้นเป็น 11.83 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2566 ซึ่งส่งสัญญาณการฟื้นตัวในด้านการค้าระหว่างกันของทั้งสองประเทศ
ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_27_LaoTurkiye_y24.php