ไตรมาสแรกของปีงบฯ 65-66 ภาคการผลิตเมียนมาดูดเม็ดเงินลงทุนจากจีนไปแล้วกว่า 11.112 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

คณะกรรมการการลงทุนและการบริหารบริษัท (DICA) ของเมียนมา เผย ไตรมาสที่ 1 (เม.ย.-มิ.ย.2565) ของปีงบประมาณ 2565-2566 มีการลงทุนในภาคการผลิตจาก 7 บริษัทของจีน รวมทั้งสิ้น  11.112 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากเม็ดเงินลงทุนทั้งหมด 21.99 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มทุนจากฮ่องกง ลงทุนกว่า 5.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ญี่ปุ่นประมาณ 3.1 และไต้หวันอีก 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แม้ว่าสถานประกอบการที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมากต้องเผชิญกับผลกระทบของโควิด-19 และความไม่สงบทางการเมือง แต่ขณะนี้เริ่มกลับสู่ภาวะปกติหลังจมีการเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 สำหรับแรงงาน ตั้งแต่เดือนก.ย.2564 ที่ผ่านมา โดยภาคการผลิตส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอที่ผลิตแบบ CMP (การตัด การผลิต และบรรจุภัณฑ์) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของจีดีพีประเทศ ทั้งนี้ ในช่วงงบประมาณย่อยที่ผ่านมา (เดือนต.ค. 2564 ถึงเดือนมี.ค. 2565) เมียนมาดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมากกว่า 647.127 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จาก 49 บริษัทต่างชาติ ในจำนวนนี้ มี 40 บริษัทลงทุนในภาคการผลิต

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/myanmar-manufacturing-sector-attracts-11-million-from-china-in-q1-april-june/#article-title

เดือนเม.ย. 4 บริษัททุ่มเม็ดเงิน FDI ในภาคการผลิตของเมียนมา พุ่งแตะ 5.99 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

คณะกรรมการการลงทุนและการบริหารบริษัท (DICA) เผย การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเดือนเม.ย. 2565 ของปีงบประมาณ 2565-2566 มี 4 บริษัทจีนและเขตบริหารพิเศษฮ่องกงเข้ามาลงทุนในภาคการผลิตประมาณ 5.99 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สามารถสร้างโอกาสในการทำงานให้กับชุมชนท้องถิ่นเป็นอย่างมาก แม้สถานประกอบการที่ใช้แรงงานจำนวนมากต้องได้รับผลกระทบของโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่ขณะนี้อุตสาหกรรมกำลังกลับสู่สภาวะปกติหลังจากการเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับผู้ใช้แรงงานในประเทศ  ที่ผ่านมาในช่วงงบประมาณย่อย (เดือนต.ค.2564-มี.ค.2565) เมียนมาสามารถดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมากกว่า 647.127 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จาก 49 บริษัทต่างชาติ ในจำนวนนี้ มี 40 บริษัท ที่ลงทุนในภาคการผลิต โดยมีเงินลงทุนโดยประมาณ 202.667 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/4-enterprises-pump-5-99-mln-of-fdi-into-manufacturing-sector-in-april/

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในกัมพูชาเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.2 ในปี 2021

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในกัมพูชาเติบโตร้อยละ 11.2 ในปี 2021 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามรายงานของธนาคารแห่งชาติกัมพูชา ซึ่งการลงทุนจากจีน เกาหลีใต้ เวียดนาม สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ถือเป็นส่วนที่สำคัญ โดยเฉพาะในภาคการเงิน การผลิต อสังหาริมทรัพย์ โรงแรมและร้านอาหาร เกษตรกรรม และการก่อสร้าง ซึ่งกัมพูชาได้รับการลงทุนจากต่างประเทศรวม 41 พันล้านดอลลาร์ ในปีที่แล้ว โดยจีนเป็นแหล่งลงทุนที่ใหญ่ที่สุดคิดเป็นมูลค่า 18 พันล้านดอลลาร์ หรือร้อยละ 43.9 ของทุนจดทะเบียนทั้งหมด ในขณะที่เกาหลีใต้อันดับรองลงมามีมูลค่าเงินลงทุนอยู่ที่ 4.9 พันล้านดอลลาร์ ตามด้วยเวียดนามและสิงคโปร์ที่ 2.5 พันล้านดอลลาร์ และ 2.7 พันล้านดอลลาร์ตามลำดับ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501063578/cambodia-fdi-surges-11-2-percent-in-2021/

‘FDI เวียดนาม’ ช่วง 2 เดือนแรก 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ

กรมส่งเสริมการลงทุนต่างประเทศ (FIA) กระทรวงวางแผนและการลงทุนของเวียดนาม (MPI) เปิดเผยว่าเวียดนามดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ได้ราว 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 91.5% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ทั้งนี้ ข้อมูล ณ วันที่ 20 ก.พ. เวียดนามอนุมัติโครงการ FDI ใหม่จำนวน 183 โครงการ ด้วยทุนจดทะเบียนรวมทั้งสิ้น 631.8 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยจำนวนโครงการใหม่เพิ่มขึ้น 45.2% แต่เงินทุนลดลง 80.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี อีกทั้ง นักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่เข้าไปลงทุนในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูป 3.13 พันล้านเหรีญสหรัฐ รองลงมาอสังหาริมทรัพย์, โครงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ การผลิตและจำหน่ายพลังงาน ตามลำดับ

นอกจากนี้ ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ สิงคโปร์เป็นแหล่งเงินทุนรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ด้วยมูลค่ากว่า 1.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 34.2% ของเม็ดเงินทุนต่างชาติทั้งหมด ตามมาด้วยจีน 538 ล้านเหรียญสหรัฐ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-attracts-nearly-5-billion-usd-of-fdi-in-two-months/222784.vnp

ปีงบฯ 63-64 สิงคโปร์ทุ่มลงทุนในเมียนมา กว่า 429 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

สำนักงานบริหารจัดการบริษัทและทะเบียนบริษัท (DICA) เผย ปีงบประมาณ 2563-2564 สถานประกอบการที่จดทะเบียนในสิงคโปร์ นำเงินลงทุนในเมียนมาไปแล้วกว่า 429 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนใหญ่ลงทุนในการพัฒนาเมือง อสังหาริมทรัพย์ พลังงาน และภาคการผลิต ซึ่งในปีงบประมาณนี้ เมียนมาดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมากกว่า 3.79 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จาก 48 บริษัท รวมถึงการขยายทุนในวิสาหกิจและการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษติละวา โดยมีญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนรายใหญ่อันดับ 2 ด้วยทุนจดทะเบียนประมาณ 518.76 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่อันดับ 2 ในเขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวา รองจากญี่ปุ่นอีกด้วย

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/singapore-puts-capital-of-429-mln-into-myanmar-in-2020-2021fy/

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมายังกัมพูชาลดลงกว่าร้อยละ 50 ในช่วง ม.ค.-พ.ค.

กระทรวงเศรษฐกิจและการคลังกัมพูชาเปิดเผยว่าปริมาณการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ลดลงถึงร้อยละ 50 ในช่วงเดือน ม.ค.-พ.ค. เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งโครงการลงทุนในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2021 มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 825 ล้านดอลลาร์ คาดสร้างงานให้กับคนในท้องถิ่นจำนวน 30,000 ตำแหน่ง โดยการลดลงอย่างมากเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งกัมพูชากำลังร่างกฎหมายสนับสนุนการลงทุนฉบับใหม่ โดยปัจจุบันอยู่ในวาระการประชุมของคณะรัฐมนตรีที่กำลังจะจัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 9 ก.ค. นี้ ซึ่งในปี 2020 กัมพูชาได้อนุมัติโครงการลงทุนรวมกว่า 238 โครงการ ทั้งในและนอกเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZs) มูลค่ารวม 8.2 พันล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับผลลัพธ์ 2019

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/889495/fdi-flow-drops-50-percent-jan-may/

วงในเผยเม็ดเงิน FDI ในเวียดนาม ‘ยังไม่ยั่งยืน’

ในไตรมาสที่ 1 เวียดนามดึงดูดเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มูลค่า 10.13 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 18.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี คุณ Nguyen Van Toan รองประธานสมาคมธุรกิจต่างชาติในเวียดนาม กล่าวกับหนังสือพิมพ์ Cong Thuong ระบุว่าการลงทุนจากต่างประเทศจะไม่ยั่งยืน เนื่องจากเม็ดเงินกระจุกตัวอยู่ในเดือนมีนาคม ด้วยทุนจดทะเบียนราว 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยเฉพาะโรงงานพลังงานก๊าซธรรมชาติเหลวที่มีมูลค่า 3.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ สิงคโปร์เข้ามาลงทุนดังกล่าว ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ได้ใบรับรองจากการจดทะเบียนการลงทุนในวันที่ 19 มีนาคม ทำให้เม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศไหลเข้ามากขึ้นในเดือนมีนาคม จนถึงไตรมาสที่ 1 อีกด้วย นอกจากนี้ ในช่วงเวลาเดียวกัน การลงทุนส่วนใหญ่มาจากพันธมิตรดั้งเดิม ได้แก่ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่นและจีน ในขณะที่สหรัฐฯ ยุโรป ยังคงอยู่ในระดับปานกลาง ด้วยเหตุนี้ เม็ดเงิน FDI จึงไม่ค่อยไหลเข้ามายังเวียดนามมากเท่าไรนักในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้

ที่มา : https://vov.vn/en/economy/fdi-attraction-not-yet-sustainable-insider-851567.vov