ตั้ง “วอร์รูม” อุ้มส่งออก เพื่อผลักดันการค้าของไทยขยายตัว

รมว.พาณิชย์ เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ ว่าที่ประชุมได้พิจารณาการรับมือสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนที่ยังยืดเยื้อส่งผลกระทบต่อการค้า การลงทุนทั่วโลก รวมถึงไทย โดยเห็นชอบร่วมกันให้จัดตั้งวอร์รูม เพื่อติดตามสถานการณ์การค้าและการส่งออกรวมถึงเสนอแนวทางรับมือทั้งเชิงรุก เชิงรับ เพื่อผลักดันให้การค้าของไทยยังขยายตัวได้ต่อไป สำหรับการเร่งรัดการส่งออกได้จัดตั้งคณะทำงานเจาะตลาด เพื่อเร่งรัดการส่งออกแบบเร่งด่วนในระยะเวลา 3-6 เดือน โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจะหารือกับเอกชน เพื่อจัดทำแผนขยายตลาด เป็นรายสินค้า บริการ และตลาดแต่ละประเทศให้มีความชัดเจนว่าจะทำอะไร อย่างไร เพื่อให้ส่งออกได้เพิ่มขึ้น โดยมีเป้าหมายใน 5 ตลาดหลัก คือ CLMV เพราะเป็นตลาดที่มีศักยภาพใกล้กับไทย นอกจากนี้ ยังมีจีนเป็นตลาดศักยภาพสูงมากสามารถเพิ่มมูลค่าไปยังเมืองและมณฑลต่างๆ ที่สินค้าไทยยังเข้าไม่ถึงได้อีก, อินเดีย และเอเชียใต้ เป็นตลาดใหม่ที่มีโอกาส มีกำลังซื้อสูง, อาเซียน เป็นตลาดที่ต้องเจาะเพิ่ม, ตะวันออกกลาง ที่บางตลาดสามารถฟื้นขึ้นมาได้ ขณะเดียวกันจะเร่งรัดเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดน

ที่มา : https://www.thairath.co.th/news/business/market-business/1638090

2 องค์กรมองต่างมุม “ส่งออก”

กรรมการผู้จัดการธนาคารเอ็กซิมแบงก์ เผยว่า 6 เดือนแรกของปีนี มูลค่าส่งออกของไทยหดตัว 2.9% เป็นผลของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่ยังยืดเยื้อ ทำให้สินค้าส่งออกที่พึ่งพาตลาดจีนหดตัว อาทิ คอมพิวเตอร์ แผงวงจรไฟฟ้า เม็ดพลาสติก สำหรับสินค้าความหวังที่จะช่วยพยุงการส่งออก 6 เดือนสุดท้ายของปีนี้มี 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มสินค้าดาวรุ่ง 2.กลุ่มสินค้าที่ได้อานิสงส์จากสงครามการค้า 3.กลุ่มสินค้าที่หนีไปตลาดหลบภัย 4.กลุ่มสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการเดิมในตลาดใหม่ๆ รวมถึงการมีรัฐบาลชุดใหม่, สงครามการค้ายุติลงชั่วคราว, ประเทศไทยมีตลาดส่งออกใหม่ๆ อาทิ อินเดีย แอฟริกา ยุโรปตะวันออก ละตินอเมริกา นอกเหนือจากตลาดปัจจุบันคือ CLMV เชื่อว่าทำให้มูลค่าส่งออกตลอดทั้งปีกลับมาเติบโต 0.2% 4. ส่วนผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท.กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยเดือน มิ.ย. เป็นเดือนที่ชะลอตัวแทบทุกหมวด ยกเว้นการท่องเที่ยวที่ดีขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับเดือน พ.ค. ส่วนการส่งออกที่ชะลอตัวต่อเนื่อง และการนำเข้าเดือน ก.ค.ที่ชะลอตัวลงมาก ทำให้การส่งออกเดือน ก.ค.-ส.ค. ซึ่งเดิมคาดว่าจะฟื้นตัวในระยะสั้นๆไม่เกิดขึ้น เป็นไปได้ว่าการ ส่งออกตลอดทั้งปีนี้ เดิมคาดว่าขยายตัว 0% อาจเปลี่ยนเป็นติดลบ.

ที่มา : https://www.thairath.co.th/news/business/market-business/1627530

กางแผนดันทุเรียนใต้เข้าระบบGAPลดกีดกันการค้า

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวถึงสถานการณ์ไม้ผลแปลงใหญ่ภาคใต้ฤดูกาลปี 62 โดยเฉพาะทุเรียน จัดเป็นไม้ผลที่ส่งออกลำดับต้นๆ เนื่องจากเนื้อที่ให้ผลเพิ่มขึ้น ราคาดี จากแนวโน้มราคาทุเรียนที่ดีขึ้นต่อเนื่องส่งผลให้มีการขยายพื้นที่ทั้งประเทศเพิ่มขึ้น ประกอบกับช่วง 4 ปี ที่ผ่านมา ประเทศไทยส่งออกทุเรียนเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน โดยมีจีนเป็นตลาดหลัก ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรมองว่าการที่ไทยส่งออกทุเรียนไปจีนจำนวนมาก เนื่องจากขณะนี้จีนแจ้งในเบื้องต้นมาแล้วผลผลิตทุเรียนที่ไม่ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP จะไม่สามารถส่งออกได้ในปีถัดไป ด้วยเหตุนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร จึงเร่งผลักดันให้เกษตรกรได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP โดยศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร จะเป็นตัวขับเคลื่อนการดำเนินงาน เพื่อช่วยผลักดันให้ทุเรียนแปลงใหญ่ผลิตภายใต้มาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ เพื่อลดความเสี่ยงในการพึ่งพาตลาดส่งออกรายใหญ่ เพียงรายเดียว และเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจส่งผลกระทบต่อทุเรียนไทย นอกจากทุเรียนแล้วไม้ผลชนิดอื่น ได้เร่งบริหารจัดการให้มีมาตรฐานการผลิตเป็นไปในทิศทางเดียวกัน อาทิ มังคุด  สำหรับแผนบริหาร จัดการผลไม้ของภาคใต้ในฤดูกาล โดยการบริหารจัดการเชิงปริมาณ ได้แก่ การกระจายผลผลิตในประเทศ ด้วยวิธีกระจายผลผลิตออกนอกแหล่งผลิตผ่านผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน ศูนย์คัดแยกผลไม้ชุมชน สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร Modern Trade ไปรษณีย์/ตลาดออนไลน์ ตลาดค้าผลไม้ภายในจังหวัด การจำหน่ายตรงผู้บริโภค การจัดงานประชาสัมพันธ์ เป็นต้น การแปรรูป ด้วยวิธีการแช่แข็ง อบแห้ง กวน ทอด และการส่งออก ซึ่งในอนาคตผลไม้แปลงใหญ่ทุกชนิด กรมจะผลักดันให้เข้าสู่ระบบ GAP ทั้งหมด เพื่อรองรับตลาดส่งออกไปยังทุกประเทศต่อไป

ที่มา : https://www.naewna.com/local/428504

ทอท.จับธุรกิจCargoตั้งศูนย์ตรวจสอบสินค้าเกษตรดันรายได้1,000ล้าน

ทอท.รุกตลาด Cargo ขยายฐานลูกค้า CLMV ดันรายได้เพิ่มแตะ 1,000 ล้าน คาดเปิดเฟสแรกต้นปีหน้า รอชงคมนาคมเคาะขนส่ง G2G เชื่อมไทย-ยุโรป กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. กล่าวว่า ทอท.อยู่ระหว่างการจัดตั้งบริษัทลูก เพื่อมาดูแลโครงการศูนย์ตรวจสอบสินค้าเกษตรก่อนส่งออก ภายในท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ หลังมีการหารือร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยถึงแนวทางการส่งออกสินค้าไปยังยุโรป โดยคาดว่าการจัดตั้งบริษัทลูกจะแล้วเสร็จภายใน 2 เดือนนี้ จากนั้นจะเดินหน้าทำห้องเย็น และเปิดให้บริการได้ภายใน 6 เดือนนับจากนี้ ปัจจุบันมีหลายประเทศให้ความสนใจที่จะมาใช้บริการโดยเฉพาะกับกลุ่มประเทศ CLMV จากเดิมจะต้องไปใช้บริการที่ประเทศสิงคโปร์ โดยศูนย์ตรวจสอบสินค้าเกษตรก่อนส่งออกในเฟสแรก จะให้บริการในรูปแบบของ Premium Len ก่อน ซึ่งจะคล้ายช่องทางพิเศษ VIP ขณะที่เฟสต่อไปในอนาคตนั้น ส่วนศูนย์ตรวจสอบสินค้าเกษตรก่อนส่งออกนั้น จะผ่านดูไบ และต่อไปยังเบลเยี่ยม ก่อนที่จะกระจายส่งไปประเทศอื่นๆในยุโรป และล่าสุดในช่วงเดือนส.ค.นี้ ทอท.เตรียมลงนามบันทึกความร่วมมือ ว่าด้วยเรื่องอี-คอมเมิร์ชกับประเทศดูไบ ทั้งนี้ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีการขนส่งสินค้าจำนวน 1.5 ล้านตันต่อปี หรืออยู่ที่อันดับ 15 ของโลก ซึ่งในจำนวนดังกล่าวมีสินค้าเน่าเสียกว่า 1.5 แสนตันต่อปี

ที่มา : https://www.posttoday.com/economy/595674

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดส่งออกปีนี้ไม่โต ติดตามผลกระทบ H2/62 บาทแข็ง-ภัยแล้ง-สงครามการค้า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า การส่งออกในเดือน มิ.ย.62 มีมูลค่าอยู่ที่ 21,409.3 ล้านดอลลาร์ฯ หดตัว 2.15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ก็ตาม การส่งออกในเดือนมิ.ย. หดตัวน้อยลงเมื่อเทียบกับช่วง 3 เดือนก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการส่งออกทองคำที่ขยายตัวสูงถึง 317.4% ในเดือน มิ.ย.ซึ่งเมื่อหักมูลค่าส่งออกทองคำแล้ว ภาพรวมการส่งออกสินค้าไทยหดตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ -8.7% โดยเป็นการหดตัวในการส่งออกสินค้าหลักไปยังตลาดคู่ค้าหลักทุกตลาด ส่งผลให้การส่งออก 6 เดือนแรก มีมูลค่ารวม 122,970.7 ล้านดอลลาร์ หดตัว 2.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 61 สาเหตุจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน แต่เมื่อมองไปในช่วงครึ่งหลังของปี 62 บรรยากาศการค้าโลกแม้ว่าจะไม่ได้ดีขึ้น หลังสหรัฐฯ และจีนกลับเข้าสู่เส้นทางการเจรจาอีกครั้ง แต่สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสองประเทศจะไม่แย่ลงไปกว่าช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้จีนและสหรัฐฯ คาดว่าจะมีมาตรการทางการเงินออกมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งก็น่าจะช่วยพยุงเศรษฐกิจโลกได้ด้วยในระดับหนึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงยังคงประมาณการส่งออกสินค้าไทยตลอดทั้งปี 62 ที่ 0.0% และระบุว่ายังมีประเด็นที่ต้องติดตามในช่วงที่เหลือของปี 62 ได้ ไม่ว่าจะเป็นทิศทางการแข็งค่าของเงินบาท สภาพภูมิอากาศที่ร้อนและแห้งแล้งที่อาจจะกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตร รวมไปถึงความไม่แน่นอนในเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในระยะข้างหน้า

ที่มา : https://www.ryt9.com/s/iq03/3017948

ตลท.เล็งออกสกุลเงินดิจิทัล CLMV

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยภายในงานเสวนาลิบราว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีแนวคิดศึกษาและพัฒนาแพลต ฟอร์มการเชื่อมโยงตลาดกลุ่ม “CLMV” ที่ให้สามารถซื้อขายหลักทรัพย์ระหว่างประเทศรวมกันได้ รวมทั้งอาจลดระยะเวลา และการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ที่ปัจจุบันดำเนินการ 2 วันทำการ (ที+2) ให้เร็วขึ้นมากกว่าเดิม ซึ่งเบื้องต้นหากดำเนินการจริง คงต้องมีการทดลองทำสกุลเงินดิจิทัลที่มีสินทรัพย์อ้างอิงในกลุ่ม (CLMVT) ผ่านศูนย์ทดสอบนวัตกรรมการเงิน (แซน บอค) เพื่อทดสอบระบบดังกล่าวก่อน อย่างไรก็ตาม ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องการดำเนินการเพื่อพัฒนาการลงทุนให้มีการซื้อขายหลักทรัพย์ที่มีความหลากหลายมากขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีรวมกัน โดยจะหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเชื่อมโยงการลงทุนในภูมิภาคให้กับนักลงทุนไทยที่ลงทุนในต่างประเทศ

ที่มา : https://www.ryt9.com/s/tpd/3013083

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยศึกษา สเตเบิลคอยน์ เชื่อมโยงเทรดหุ้นใน CLMV

กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยในงานเสวนา “Libra คืออะไร? มาทำไม? มาแทนใคร?” ว่ามีแนวคิดที่จะทดลองใช้ “สเตเบิลคอยน์” หรือคริปโทเคอร์เรนซีที่มีสินทรัพย์อ้างอิง เพื่อเชื่อมโยงการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาด CLMV เพื่อลดระยะเวลาการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ จากปัจจุบันที่มีระยะเวลาการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ดำเนินการใน 2 วันทำการ (T+2) และเพื่อต่อยอดการทำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของตลาดทุน ยังกล่าวอีกว่าตลาดหลักทรัพย์ยังอยู่ระหว่างศึกษาพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มระดับโลก อย่างเช่น Libra ของ Facebook โดยจะเริ่มใช้ในประเทศไทยก่อน และหลังจากนั้นก็จะขยายไปต่างประเทศ อย่างไรก็ตามขณะนี้ก็ศึกษา business case อยู่ และไปพิจารณาว่าภาครัฐจะเข้ามาควบคุมดูแลอย่างไร รวมถึงเจรจากับหน่วยงานกำกับดูแลอื่น ๆ ด้วย

ที่มา : https://www.ryt9.com/s/iq05/3013027