สปป.ลาว วางแผนปราบปราม ‘บริษัท Crypto ที่ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด’

รัฐบาล สปป.ลาว ประกาศแผนการที่จะดำเนินการอย่างเข้มงวดกับบริษัทคริปโตที่ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงที่เกี่ยวข้องกับการค้าสกุลเงินดิจิทัล การดำเนินการนี้จะถูกบังคับใช้กับบริษัท 15 แห่ง ที่ได้รับอนุญาตเริ่มต้นธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ครอบคลุมการขุดและการค้าสกุลเงินดิจิทัล ซึ่งสองแห่งในนั้นไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินธุรกิจและอีกหลายแห่งล่าช้าในการชำระค่าธรรมเนียมให้กับรัฐบาล โดยค่าธรรมเนียมคงค้างในปัจจุบันมีมูลค่ารวม 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รัฐบาลถือว่าการชำระเงินล่าช้าเกิดจากการเสื่อมราคาของมูลค่าสกุลเงินดิจิทัล เพื่อเป็นการตอบสนอง นายกรัฐมนตรี โสเนชัย สีพันโดน ได้ประกาศในระหว่างการประชุมสามัญสมัยสามัญครั้งที่ 6 ว่ารัฐบาลได้เลือกที่จะลดค่าธรรมเนียมคงค้างลง 50% ทั้งนี้ รัฐบาลได้กล่าวเตือนว่าจะระงับและปรับ รวมถึงเพิกถอนใบอนุญาตของบริษัทคริปโตที่ไม่ได้จ่ายค่าธรรมเนียม ตัวอย่างการลงโทษที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม Electricite du Laos (EDL) รัฐวิสาหกิจด้านพลังงานไฟฟ้าของรัฐบาลได้ประกาว่าจะไม่จ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับการขุดคริปโตในประเทศลาวอีกต่อไป สาเหตุหลักมาจากหนี้ที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจการขุดคริปโต

ที่มา : https://laotiantimes.com/2023/11/15/laos-plans-crackdown-on-non-compliant-crypto-firms/

รัฐบาลจับตาแหล่งที่มารายได้ใหม่ 2,000 พันล้านกีบจากการขุด bitcoin

รัฐบาลคาดว่าจะมีรายได้ 2,000 พันล้านกีบจากการขุด bitcoin ซึ่งเป็นครั้งแรกที่รายรับดังกล่าวจะได้รับจากการขุดและการค้าสกุลเงินดิจิทัลและคาดการณ์ไว้สำหรับปี 2565 ขึ้นจะมีรายได้เพิ่มขึนร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับเป้าหมายในปี 2564 จากการขุด Bitcoin จะทำให้รัฐบาลสามารถใช้จ่ายเงินในโครงการสำคัญๆ ได้มากขึ้นซึ่งรวมถึงการเพิ่มเงินสนับสนุนเพื่อให้ครอบคลุมค่าครองชีพของเจ้าหน้าที่และเจ้าหน้าที่กองกำลังรักษาความปลอดภัย ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเพื่อตอบสนองต่อการระบาดของ Covid-19 และการชำระหนี้ในโครงการใหญ่ๆ ของประเทศ รัฐบาลคาดว่าจะใช้เงินทั้งหมดในการพัฒนาและริเริ่มลงทุน 34,595 พันล้านกีบในปี คิดเป็น 18.14 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ดังนั้นแหล่งรายได้ใหม่นี้ของไทยจะนำพาสปป.ลาวก้าวสู่ประเทศที่มีเทคโนโลยีการเงินทีดีขึ้นรวมถึงการผลักดันเศรษฐกิจสปป.ลาวให้เติบโตอีกทางหนึ่ง

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Govteyes_215_21.php

วิเคราะห์ก้าวแรกของการพัฒนา CBDC ในภูมิภาค CLMVT

โดย ดร.ปพน เกียรติสกุลเดชา ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์

ในปัจจุบัน การคิดค้นเทคโนโลยีกระจายศูนย์ข้อมูล (Distributed Ledger Technology: DLT) ที่มีความรวดเร็ว ปลอดภัย และสามารถสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ใช้งานในด้านการชำระเงิน ได้นำไปสู่การพัฒนาสกุลเงินคริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) อย่างแพร่หลายในภาคเอกชนทั่วโลก เช่นเดียวกับภาคเอกชน ธนาคารกลางต่าง ๆ ทั่วโลกก็ได้เร่งริเริ่มที่จะนำนวัตกรรมเหล่านี้มาใช้ในระบบสถาบันการเงินในประเทศจนเกิดการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency: CBDC)

จุดมุ่งหมายของการพัฒนา CBDC โลกที่ผ่านมาเป็นอย่างไร และคาดว่าจะส่งกระทบอย่างไรต่อระบบเศรษฐกิจ?

การพัฒนา CBDC โดยธนาคารกลางต่าง ๆ ปัจจุบันนั้น สามารถแบ่งตามการใช้งานได้เป็น 2 ระดับ ได้แก่

1.ระดับธุรกรรมระหว่างสถาบันการเงิน (Wholesale CBDC) : การสร้างเครือข่ายการโอนทรัพย์สินระหว่างสถาบันการเงินทั้งในและระหว่างประเทศ

2.ระดับธุรกรรมรายย่อย (Retail CBDC) : การใช้สกุลเงินดิจิทัลแทนเงินสดในการทำธุรกรรมระหว่างประชาชนและธุรกิจรายย่อย

ในภาพรวม ทั้ง Wholesale CBDC และ Retail CBDC ได้ถูกพัฒนาขึ้นมา โดยมีเป้าหมายส่งเสริมการทำธุรกรรมทางการเงินให้รวดเร็วและปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นประโยชน์หลักที่ได้จากการนำ DLT (โดยเฉพาะในรูปแบบบล็อกเชน) มาใช้โดยธนาคารกลาง ที่จะทำให้สามารถลดต้นทุนในการประมวลผลธุรกรรมทางการเงินลงได้อย่างมีนัย รวมทั้งยังสามารถตรวจสอบตัวตนของคู่สัญญาธุรกรรมต่าง ๆ ได้อย่างรัดกุมมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ CBDC ทั้งสองประเภท หากถูกพัฒนาร่วมกันโดยกลุ่มประเทศในภูมิภาค ยังจะมีแนวโน้มนำไปสู่การเชื่อมโยงแพลตฟอร์ม และสนับสนุนให้ธุรกรรมระหว่างประเทศ (Cross-border Transactions) เป็นไปได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้นและด้วยต้นทุนที่ต่ำลงอีกด้วยเช่นกัน

แต่ทว่าหากมองลึกลงไปกว่าประสิทธิภาพของระบบสถาบันการเงินที่เพิ่มขึ้นนั้น การพัฒนาในระดับ Retail CBDC จะสามารถสร้างประโยชน์เพิ่มเติมได้ในอีกหลายด้าน โดยจะเป็นก้าวสำคัญต่อการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ ได้แก่

1. การเข้าถึงสถาบันการเงิน (Financial Inclusion) จะเพิ่มมากขึ้น ตามระบบ Retail CBDC ที่จะสามารถเข้าใช้งานได้ง่ายและรวดเร็วเพียงผ่านโทรศัพท์มือถือโดยไม่จำเป็นต้องผูกติดกับบัญชีธนาคาร ซึ่งข้อดีในจุดนี้ โดยเฉพาะสำหรับในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา จะช่วยให้กลุ่มประชาชนที่ไม่สามารถเข้าถึงสถาบันการเงินได้มาก่อนนั้น มีโอกาสหันมาเลือกใช้ Retail CBDC ที่สะดวกกว่าการถือเงินสดเพิ่มมากขึ้น

2. ช่องทางการดำเนินนโยบายทางการคลัง (Fiscal Policy) ของภาครัฐที่จะมีประสิทธิภาพมากขึ้นหลังมีการใช้ CBDC แทนเงินสดอย่างแพร่หลาย ตัวอย่างเช่น ภาครัฐสามารถออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่าน CBDC โดยประชากรสามารถนำเงินช่วยเหลือในรูปแบบดิจิทัลออกมาจับจ่ายใช้สอยได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องผ่านขั้นตอนการเปิดบัญชีธนาคารหรือเบิกจ่ายกับหน่วยงานของรัฐ นอกจากนี้ ภาครัฐยังสามารถเข้าถึงข้อมูลการจับจ่ายใช้สอยของประชากรในแต่ละกลุ่มสังคมเศรษฐกิจ (socioeconomic group) ซึ่งอาจต้องการความช่วยเหลือที่แตกต่างกัน การมี Retail CBDC platform จะช่วยให้ภาครัฐสามารถเลือกกลุ่มเป้าหมายและตั้งเงื่อนไขของมาตรการช่วยเหลือได้อย่างตรงจุดมากยิ่งขึ้น

3. การเพิ่มประสิทธิภาพของธนาคารกลางในการดำเนินนโยบายทางการเงิน (Monetary Policy) โดยการใช้ Retail CBDC แทนเงินสดนั้น จะช่วยให้ธนาคารกลางสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลปริมาณและการไหลเวียนของเงินในระบบได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการวางแผนนโยบายการเงินที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังมี CBDC อีกประเภทที่มีการจ่ายอัตราดอกเบี้ยในการถือครอง ซึ่งอาจเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ธนาคารกลางใช้ส่งผ่านผลของอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้โดยตรง

สถานะการพัฒนา CBDC โลกเป็นอย่างไรและภูมิภาค CLMVT อยู่ตรงจุดไหน?

ผลสำรวจล่าสุดโดย Bank of International Settlement พบว่า 86% ของธนาคารทั่วโลกกำลังดำเนินงานวิจัยเทคโนโลยี CBDC โดย 60% อยู่ในขั้นทดสอบระบบ ขณะที่เพียง 14% ได้เริ่มมีการทดลองใช้จริงในกลุ่มประชากรตัวอย่าง แม้ว่ากลุ่มประเทศที่มีการทดลองใช้ CBDC จริงแล้วประกอบด้วยกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักในโลก เช่น จีน ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และ สหภาพยุโรป แต่เป็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่งว่าภูมิภาค CLMVT อยู่ในจุดที่ล้ำหน้ากว่าหลายชาติอื่นในโลกด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะไทยและกัมพูชา ซึ่งถูกจัดอันดับโดย PwC ว่าอยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลกในด้านการพัฒนา Wholesale CBDC และ Retail CBDC ตามลำดับ

สำหรับไทยนั้น โครงการอินทนนท์ซึ่งเป็น Wholesale CBDC ได้ถูกพัฒนาโดยธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งแต่ปี 2561 จนถึงในปี 2563 ได้พัฒนาไปถึงจุดที่มีการทดสอบการทำธุรกรรมข้ามพรมแดนโดยเชื่อมต่อกับ Project LionRock ของฮ่องกงได้สำเร็จ นอกจากนี้ ล่าสุดในปีนี้ ทาง ธปท. ยังได้เริ่มทำการศึกษาวิจัยต่อยอดไปสู่การทำ Retail CBDC แล้วเช่นกัน โดยมีเป้าหมายเบื้องต้นว่าจะมีการทดสอบใช้จริงในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2565

แนวโน้มการพัฒนา Retail CBDC สำหรับประเทศ LMVT (สปป.ลาว, เมียนมา, เวียดนาม และไทย) จะเป็นอย่างไร? บทเรียนล่าสุดที่ได้จากกัมพูชาคือ ประเทศกำลังพัฒนาที่มีการเข้าถึงสถาบันการเงินในระดับต่ำ แต่มีโครงสร้างประชากรที่พร้อมตอบรับเทคโนโลยีใหม่ นับได้ว่าเป็นจุดตั้งต้นที่สำคัญต่อการพัฒนาเงินดิจิทัลให้เข้ามาทดแทนเงินสดและดึงประชากรส่วนมากเข้าสู่ระบบสถาบันการเงินมากขึ้น สำหรับปัจจัยเหล่านี้ทั้ง สปป.ลาว เมียนมา และ เวียดนาม ล้วนมีประชากรน้อยกว่า 30% ที่เข้าถึงบัญชีธนาคาร ในขณะที่ประชากรส่วนใหญ่ยังมีอายุน้อย (ค่ามัธยฐานต่ำกว่า 30 ปี) แต่มีการเข้าถึงบริการโทรศัพท์มือถือในระดับที่สูง (เฉลี่ยมากกว่า 1 เบอร์โทรศัพท์ต่อคน) ด้วยปัจจัยแวดล้อมด้านประชากรที่คล้ายคลึงกับกัมพูชา ทำให้คาดได้ว่าการพัฒนา  Retail CBDC จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับประเทศเหล่านี้เช่นกัน และมีศักยภาพที่จะตามทันกัมพูชามาได้ในเวลาไม่ช้า

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/7775

เวียดนามเล็งพัฒนา เงินดิจิทัล รับกระแสสังคม ไร้เงินสด

เวียดนามเล็งพัฒนา’เงินดิจิทัล’รับกระแสสังคม’ไร้เงินสด’ หลังจากห้ามประชาชนในประเทศลงทุนสกุลเงินคริปโตมานานหลายปี หลังจากประกาศห้ามประชาชนในประเทศลงทุนสกุลเงินดิจิทัลหรือสกุลเงินเสมือนจริงมานานหลายปี รวมทั้งออกประกาศเตือนว่า สกุลเงินคริปโตอาจทำให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อของแชร์ลูกโซ่ แต่ล่าสุด รัฐบาลเวียดนามมีคำสั่งให้ธนาคารกลางทำการศึกษาและพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของตัวเอง หวังควบคุมการลงทุนในระบบการเงินที่รัฐบาลมองว่าไม่มีตัวกลางนี้มากขึ้น หลังจากประชาชนจำนวนมากเข้าไปลงทุนในสกุลเงินคริปโตตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/948596

‘กัมพูชา’ รั้งอันดับ 2 ของโลก ขึ้นเป็นประเทศที่คืบหน้าใช้เงินดิจิทัลแบบ CBDC กับประชาชนรายย่อยในภาคธุรกิจมากที่สุด

สำนักข่าว Bloomberg รายงานอ้างอิงผลการศึกษาของ PwC ที่จัดอันดับการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลกลางแบบ Retail หรือแบบที่ใช้กับประชาชนทั่วไปในแต่ละประเทศ พบว่าอันดับหนึ่งคือ บาฮามาส อันดับสองคือกัมพูชา ขณะที่จีนซึ่งเป็นประเทศที่มีข่าวคราวความเคลื่อนไหวของการศึกษาทดสอบ CBDC หรือ Central Bank Digital Currency อย่างต่อเนื่อง กลับอยู่ในลำดับที่ 3 ท่ามกลางธนาคารกลางทั่วโลกมากกว่า 60 แห่งที่เดินหน้าศึกษาสกุลเงินดิจิทัล สำหรับเหตุผลหลักที่ทำให้ CBDC รูปแบบ Retail ของบาฮามาสและกัมพูชาแซงหน้าจีน เนื่องจากโครงการดังกล่าวของสองประเทศนี้ได้เกิดขึ้นเรียบร้อยแล้ว ขณะที่ของจีนกำลังอยู่ในระหว่างการทดสอบการใช้งาน โดยมีเพียง 23% ของโครงการ Retail เท่านั้นที่มาถึงระดับการประยุกต์ใช้งาน ขณะที่เกือบ 70% ของโครงการ Wholesale กำลังอยู่ในช่วงนำร่อง

ที่มา : https://thestandard.co/cambodia-using-cbdc-currency/

ตลท.เล็งออกสกุลเงินดิจิทัล CLMV

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยภายในงานเสวนาลิบราว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีแนวคิดศึกษาและพัฒนาแพลต ฟอร์มการเชื่อมโยงตลาดกลุ่ม “CLMV” ที่ให้สามารถซื้อขายหลักทรัพย์ระหว่างประเทศรวมกันได้ รวมทั้งอาจลดระยะเวลา และการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ที่ปัจจุบันดำเนินการ 2 วันทำการ (ที+2) ให้เร็วขึ้นมากกว่าเดิม ซึ่งเบื้องต้นหากดำเนินการจริง คงต้องมีการทดลองทำสกุลเงินดิจิทัลที่มีสินทรัพย์อ้างอิงในกลุ่ม (CLMVT) ผ่านศูนย์ทดสอบนวัตกรรมการเงิน (แซน บอค) เพื่อทดสอบระบบดังกล่าวก่อน อย่างไรก็ตาม ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องการดำเนินการเพื่อพัฒนาการลงทุนให้มีการซื้อขายหลักทรัพย์ที่มีความหลากหลายมากขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีรวมกัน โดยจะหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเชื่อมโยงการลงทุนในภูมิภาคให้กับนักลงทุนไทยที่ลงทุนในต่างประเทศ

ที่มา : https://www.ryt9.com/s/tpd/3013083