คลังยังไม่มีแผนกู้เพิ่ม1ล้านล้าน มาดูแลโควิด

สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) เผยถึงกระแสข่าวกระทรวงการคลังเตรียมกู้ฉุกเฉินเยียวยาโควิดอีก 1 ล้านล้านบาทว่า ยังไม่ทราบนโยบายดังกล่าว แต่ปัจจุบัน พ.ร.ก.กู้เงิน1 ล้านล้าน สามารถใช้ได้จนถึง 30 ก.ย.นี้ ทั้งนี้ยังต้องมีการหารือในคณะกรรมการวินัยการเงินการคลังเพื่อขยายกรอบเพดานการก่อหนี้สาธารณะ เนื่องจากสัดส่วนหนี้สาธารณะของงบประมาณนี้ คาดอยู่ที่ประมาณ 57-58% ต่อจีดีพี แต่หากจะกู้เพิ่มขึ้นอาจสูงกว่ากรอบที่กำหนดไว้ไม่เกิน 60% ต่อจีดีพี อย่างไรก็ตาม หนี้สาธารณะที่ปรับสูงขึ้นป็นทิศทางเดียวกันกับประเทศอื่นทั่วโลก ซึ่งทุกประเทศได้ก่อหนี้เพื่อนำมาใช้จ่ายดูแลแก้ปัญหาโควิด

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/economic/839321

คลังส่องหาทางผ่อนวินัยการเงินการคลัง หนี้สาธารณะปริ่มคอหอยแค่เฉียดเส้นตาย

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากการระบาดไวรัสโควิดระลอกใหม่ ทำให้มีผู้ได้รับผลกระทบในวงกว้างนั้น ได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ศึกษาแผนระยะสั้นและแผนระยะยาว เพื่อรองรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ที่ต้องรับกับความผันผวนของเศรษฐกิจในอนาคต การกระตุ้นเศรษฐกิจยังต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวและฟื้นตัว ดังนั้นต้องพิจารณาผลของมาตรการต่างๆที่รัฐทยอยออกมาก่อนหน้านี้ ว่าจะสิ้นสุดเมื่อใด แล้วจะมีมาตรการใหม่ๆ ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจต่อไปอย่างไร เช่น มาตรการคนละครึ่ง จะสิ้นสุดเดือนมี.ค.นี้ โครงการเราชนะ สิ้นสุดการใช้เงินเดือนพ.ค. แล้วจะมีมาตรการใดต่ออีก หรือพอแล้ว เพราะเศรษฐกิจฟื้นตัวแล้ว ในปีงบประมาณ 2564 มั่นใจว่าระดับหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งเป็นหนึ่งในกรอบความยั่งยืนทางการคลังของรัฐบาล จะไม่เกิน 60% ของจีดีพี ตามที่ได้กำหนดไว้แน่นอน แต่อาจขึ้นไปแตะที่ระดับ 58-59% จากก่อนหน้านี้ที่สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ระบุว่า ระดับหนี้สาธารณะหลังกู้เงินตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 1 ล้านล้านบาทเต็มจำนวนแล้ว จะขึ้นไปอยู่ระดับ 57% ของจีดีพี”.

ที่มา: https://www.thairath.co.th/news/business/finance-banking/2041405

หนี้สาธารณะของกัมพูชายังคงอยู่ในระดับคงที่

รัฐบาลกัมพูชาได้ลงนามในสัญญาเงินกู้สัมปทานมูลค่า 479 ล้านดอลลาร์ กับพันธมิตรเพื่อการพัฒนา (DPs) ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2020 ตามแถลงการณ์สถิติหนี้สาธารณะของกัมพูชาที่เผยแพร่เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา โดยกล่าวว่าสัญญาเงินกู้รวม 479.05 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นร้อยละ 25 ของเพดานหนี้ที่ตั้งไว้ที่ 1,400 ล้าน ซึ่งร้อยละ 93 หรือ 443.65 ล้านดอลลาร์ได้รับการลงนามกับ DPs แบบทวิภาคี และอีกร้อยละ 7 ของวงเงินกู้หรือ 35.40 ล้านดอลลาร์ ได้รับการลงนามกับ DPs พหุภาคี โดยวัตถุประสงค์ของการกู้ยืมเงินคือการจัดหาเงินทุนสำหรับโครงการลงทุนภาครัฐในภาคส่วนที่ได้มีการลำดับความสำคัญ ซึ่งมีส่วนสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในระยะยาว โดยผลการวิเคราะห์เบื้องต้นของการวิเคราะห์ความยั่งยืนของหนี้ (DSA) พบว่าในปี 2020 ตัวชี้วัดหนี้หลักทั้ง 5 ตัวต่ำกว่าเกณฑ์ที่บ่งชี้ตามลำดับ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50769828/cambodias-public-debt-remains-sustainable-categorised-as-low-risk/

การขาดดุลการคลังเพิ่มแรงกดดันต่อรัฐบาลสปป.ลาว

การขาดดุลการคลังที่เพิ่มสูงขึ้นจะส่งผลให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นซึ่งจะเพิ่มแรงกดดันต่อความสามารถในการชำระหนี้ของประเทศท่ามกลางวิกฤตโควิด -19 รัฐบาลประเมินว่าการขาดดุลงบประมาณจะเพิ่มขึ้นจาก 6.69 ล้านล้านกีบ  เป็น 10.3 ล้านล้านกีบ ประธานคณะกรรมการการวางแผนการเงินและการตรวจสอบของสมัชชาแห่งชาติ กล่าวว่ารัฐบาลกำลังหาวิธีแก้ไขหนี้ของประเทศหลังจากที่รายได้ขาดแคลน ซึ่งหนี้มี 2 รูปแบบ คือหนี้ที่มาจากเงินทุนในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและความรับผิดที่รัฐบาลกู้ยืมมาเพื่อเป็นหลักประกันสำหรับรัฐวิสาหกิจ ทั้งนี้มีหลายวิธีที่รัฐบาลสามารถจัดการหนี้ได้โดยการแปลงหนี้เป็นการลงทุน เจรจาต่อรองหนี้และขายหุ้นของรัฐวิสาหกิจหรือทรัพย์สินที่รัฐบาลใช้เป็นหลักประกันเงินกู้ รัฐบาลออกพันธบัตรเพื่อระดมทุนมากขึ้น นักวิจารณ์กล่าวว่าการกู้ยืมเงินมากขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการขาดดุลนั้นเป็นไปได้ในระยะสั้น แต่ในระยะยาวการขาดดุลอาจฉุดให้ประเทศกลายเป็นหนี้จากรายงานธนาคารโลกในเดือนมิ.ย. ในปี 63 หนี้สาธารณะคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 65% เป็น 68% ของ GDP  และคาดว่าภาระการชำระหนี้ต่างประเทศจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจาก 842 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 62 นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีกล่าวกับรัฐสภาว่ารัฐบาลจะออกพันธบัตรในช่วงที่เหลือของปีนี้เพื่อชำระหนี้ รัฐบาลจะเปลี่ยนหนี้ที่เป็นหนี้บริษัทเอกชนซึ่งดำเนินโครงการลงทุนของรัฐไปยังธนาคารพาณิชย์ นอกจากนี้จะให้ความสำคัญกับการจัดเก็บรายได้และตัดการใช้จ่ายในโครงการที่ไม่จำเป็น

ที่มา : http://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Fiscal162.php