โครงการสัมมนาส่งเสริมการค้าเวียดนาม-กานา

จากข้อมูลของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม ระบุว่างานสัมมนาส่งเสริมการค้าในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2562 ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม โดยนำคณะผู้แทนจากกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าประเทศกานาเข้ามาเยี่ยมชม ซึ่งจุดประสงค์ของกิจกรรมในครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการทำธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการเวียดนามกับกานา ให้มีความใกล้ชิดกันมากขึ้น ทั้งนี้ ประเทศกานาถือว่าเป็นประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ดีในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก ด้วยรายได้ต่อหัวมากกว่า 2,316 เหรียญสหรัฐต่อปี ประกอบกับทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ซึ่งจากตัวเลขสถิติการค้าเวียดนามกับกานา ในปี 2561 อยู่ที่ 572.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว สินค้าส่งออกสำคัญของเวียดนามไปยังประเทศกานา ได้แก่ ข้าว เครื่องใช้ในครัวเรือน และเหล็กกล้า เป็นต้น ขณะที่ เวียดนามนำเข้าเม็ดมะม่วงหิมพานต์ และไม้ เป็นต้น

ที่มา : https://english.vov.vn/economy/business-seminar-to-promote-vietnam-ghana-trade-406676.vov

บิ่นห์เยืองดึงดูดเม็ดเงิน FDI พุ่งสูงขึ้น 69%

จากรายงานของระบบฐานข้อมูลส่วนกลางเวียดนาม (VGP) เปิดเผยว่าจังหวัดบิ่นห์เยือง (Binh Duong) ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ได้ดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศอยู่ที่ 9.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงปี 2559 – เดือนตุลาคม 2562 นับว่าเม็ดเงินลงทุนดังกล่าว เกินกว่าที่ตั้งเป้าไว้ โดยส่วนใหญ่จะเน้นลงทุนไปภาคอุตสาหกรรม การค้า และบริการ ทั้งนี้ เพื่อดึงดูเงินทุนโดยตรงจากต่างประเทศอย่างยั่งยืนในจังหวัด ทำให้ต้องมีการปรับปรุงโปรแกรมการลงทุนในช่วงปี 2559-2563 เพื่อจุดประสงค์ในการเพิ่มเงินทุน FDI กว่า 7 พันล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ ในปี 2561 การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 49.6 ของการลงทุนทั้งหมด และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20 ของงบประมาณจังหวัด

ที่มา : https://english.vov.vn/economy/fdi-poured-into-binh-duong-up-69-percent-406678.vov

ภาคการขนส่งเวียดนาม ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานกว่า 2 ล้านคน

จากข้อมูลของสมาคมโลจิสติกส์เวียดนาม (VLA) เปิดเผยว่าภาคโลจิสติกส์เวียดนามมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ร้อยละมากกว่า 10 ต่อปี และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ซึ่งตัวเลขสถิติ แสดงให้เห็นว่าในปัจจุบัน เวียดนามมีบริษัทรับจัดส่งสินค้า 30,000 แห่ง รวมถึง 4,000 แห่ง ที่ดำเนินธุรกิจขนส่งสินค้าในประเทศและระหว่างประเทศ หากจำแนกออกเป็นขนาดธุรกิจ พบว่าส่วนใหญ่ธุรกิจโลจิสติกส์เป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม อย่างไรก็ตาม ปัญหาการขาดแคลนแรงงานกำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องมาจากเวียดนามเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และการตกลงความร่วมมือการค้าเสรี (FTA) โดยคาดว่าในอีก 3 ปีข้าวหน้า ธุรกิจโลจิสติกส์เวียดนามต้องการพนักงานใหม่ 18,000 คน ทำให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องส่งเสริมคุณภาพการฝึกอบรมแรงงานในภาคโลจิสติกส์ ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล นอกจากนี้ ตลาดโลจิสติกส์และคลังสินค้าเวียดนาม คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตต่อปี (CAGR) อยู่ที่ร้อยละ 13.3 ในช่วงปี 2561-2565

ที่มา : https://english.vov.vn/economy/vietnams-logistics-sector-faces-labor-shortage-of-2-million-people-406638.vov

การรถไฟเวียดนามปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน

จากข้อมูลของการรถไฟแห่งเวียดนาม (VNR) ได้ทำการวางแผนที่จะปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟที่ตอบสนองต่อความต้องการผู้ใช้บริการ รวมถึงการสร้างตู้รถไฟโดยสารใหม่ 300 คัน และสั่งซื้อหัวรถจักรเพิ่มมากขึ้น ในปี 2566 เนื่องมาจากตู้รถไฟโดยสารล้าสมัย ส่งผลต่อการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงและค่าบำรุงรักษาที่สูงขึ้น ทั้งนี้ ทางการรถไฟแห่งเวียดนามได้ร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ต่างประเทศ ในการส่งเสริมการลงทุนตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ ด้วยการที่หุ้นส่วนจะสร้างรถไฟ และเสนอให้ทางการรถไฟเวียดนามทำการลงนามข้อตกลงสัญญาเช่าซื้อ ขณะเดียวกัน ค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะลดลงร้อยละ 10 ตัวอย่างเช่น ค่าใช้จ่ายรวมประมาณ 300 พันล้านด่อง (12.9 ล้านเหรียญสหรัฐ) เพื่อสร้างตู้รถไฟและค่าบำรุงรักษา ด้วยมูลค่า 40 พันล้านด่อง ด้วยเหตุนี้ ทางการรถไฟเวียดนามต้องใช้เงินราว 300 พันล้านด่อง แทนที่จะต้องเสียเงิน 340 พันล้านด่อง โดยไม่จำเป็นต้องกู้เงิน ซึ่งจะประหยัดเงินทุนอย่างมาก

ที่มา : https://english.vov.vn/economy/vietnam-railways-to-upgrade-infrastructure-406655.vov

เวียดนามตั้งเป้า GDP ขยายตัว 7% ในปี 2564-2568

จากข้อมูลของศูนย์ข้อมูลและวิเคราะห์เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (NCIF) คาดการณ์ว่าเวียดนามจะมีอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเวียดนาม (GDP) ที่ระดับร้อยละ 7 ต่อปี ในช่วงปี 2564-2568 สำหรับเศรษฐกิจมหภาคอยู่ในระดับทรงตัว อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 3.5-4.5 ต่อปี และผลิตภาพแรงงานจะขยายตัวร้อยละ 6.3 ต่อปี โดยข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (EVFTA) คาดว่าจะมีผลกระทบเขิงบวกมากกว่าความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) เนื่องมาจากมีกลุ่มประเทศที่ลงนามข้อตกลงการค้าเสรีกับเวียดนามอยู่แล้ว ซึ่งทั้ง 2 ของความตกลงการค้าเสรีดังกล่าวนั้น จะส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานอย่างมาก โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานมาก ได้แก่ เสื้อผ้า สิ่งทอ และรองเท้า  เป็นต้น นอกจากนี้ เขตการค้าเสรีจะช่วยให้เวียดนามปรับปรุงนโยบายและสภาพแวดล้อมในการทำธุรกิจ

ที่มา : https://english.vov.vn/economy/vietnams-gdp-expected-to-expand-7-in-20212025-406577.vov

อุตสาหกรรมน้ำตาลเวียดนาม ดิ่งลงอย่างมาก

จากข้อมูลของสมาคมอ้อยและน้ำตาลเวียดนาม (VSSA) เปิดเผยว่าปัจจุบันเวียดนามมีจำนวนธุรกิจน้ำตาลกว่า 40 แห่ง และในช่วงปี 2560-2561 มีโรงงานผลิตน้ำตาลทั้งประเทศจำนวน 37 โรงงาน ผลผลิตน้ำตาลรวมทั้งสิ้น 1.47 ล้านตัน ขณะเดียวกัน ในปี 2561-2562 มีผลผลิตน้ำตาล 1.17 ล้านตัน สำหรับพื้นที่ปลูกอ้อมในประเทศลดลงร้อยละ 30-60 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากขาดแคลนวัตถุดิบในการป้อนเข้าสู่โรงงาน ประกอบกับเกษตรกรเลิกปลูกอ้อย เพราะว่ายิ่งเกษตรกรเพาะปลูกมากเท่าไหร่ก็ยิ่งขาดทุนมากเท่านั้น จึงหันไปปลูกพืชชนิดอื่นแทน ทั้งนี้ อุตสาหกรรมน้ำตาลเวียดนามได้รับความกดดันจากการฉ้อโกงทางการค้าและการลักลอบนำเข้าจากประเทศไทย ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมน้ำตาลเวียดนามอย่างมาก และเป็นเวลายาวนาน โดย 1 ใน 3 ของโรงงานได้ปิดตัวลง และพื้นที่ไร่อ้อยหลายแห่งถูกทิ้งไว้ ซึ่งผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลต้องการแรงสนับสนุนจากภาครัฐบาลมากยิ่งขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาการลักลอบสินค้า และการปลอมแปลง เพื่อที่ว่าเพิ่มความสามารถในการแข่งขันสินค้าต่างประเทศในตลาดเวียดนามได้

ที่มา : https://english.vov.vn/economy/vietnams-sugar-industry-in-serious-decline-406612.vov

เนื้อหมูขึ้นราคา ทำให้ต้นทุนอาหารพุ่งสูงขึ้น

ราคาเนื้อหมูปรับตัวสูงขึ้น เป็นผลจากการระบาดของโรคไข้หวัดหมูแอฟริกา ส่งผลให้แนวโน้มราคาอาหารขยับเพิ่มขึ้นในซูเปอร์มาร์เก็ตและภัตตาคาร โดยจากแหล่งสำรวจของสำนักข่าวเวียดนาม “VnExpress” เปิดเผยว่าราคาผลิตภัณฑ์เนื้อหมูซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านอาหารในนครโฮจิมินห์ ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 5-25 ตัวอย่างเช่น ราคาไส้กรอกเนื้อหมูเพิ่มขึ้นจาก 120,000 ด่องต่อกิโลกรัม (5.2 ดอลลาร์สหรัฐ) ขยับมาเป็น 150,000 ด่องต่อกิโลกรัม (6.5 ดอลลาร์สหรัฐ) เป็นต้น ประกอบกับราคาข้าวและก๋วยเตี๋ยวที่มีส่วนประกอบจากเนื้อหมูก็มีต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 30,000 ด่อง ซึ่งทางเจ้าของร้านอาหารในนครโฮจิมินห์ กล่าวว่าไม่สามารถขึ้นราคาได้อีกแล้ว ดังนั้น จึงจำเป็นต้องสรรหาเนื้อหมูที่มีขนาดเล็กลง และหาซัพพลายเออร์ที่ราคาถูกลง ทั้งนี้ จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ (GSO) ระบุว่าราคาเนื้อหมูปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 19 ในช่วงตั้งแต่เดือนพ.ย. ปีที่แล้ว และอาจเพิ่มขึ้นอีกในสิ้นปีนี้ รวมถึงคาดว่าจะขาดแคลนเนื้อหมูกว่า 200,000 ตัน

ที่มา : https://english.vov.vn/economy/pork-price-hikes-drive-up-related-food-costs-406471.vov