สปป.ลาว เปิดทำเนียบประชุมร่วมประธานาธิบดีมองโกเลีย
นายทองลุน สีสุลิด ประธานาธิบดี สปป.ลาว และนายคูเรลสุข อุคนนา ประธานาธิบดีมองโกเลีย ร่วมการเจรจาอย่างเป็นทางการที่ทำเนียบประธานาธิบดี ณ นครเวียงจันทน์ สปป.ลาว โดยทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาความสัมพันธ์ฉันมิตรแบบดั้งเดิมในด้านการเมือง การป้องกันประเทศ โครงสร้างถนนและการขนส่ง เกษตรกรรม การศึกษา และสุขภาพ ตลอดจนประเด็นความร่วมมือในเวทีระหว่างประเทศและระดับภูมิภาค ในฐานะประมุขของประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลและประเทศกำลังพัฒนาเหมือนกัน ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศด้วยเนื้อหาทางการค้าและเศรษฐกิจ และกระชับความร่วมมือทวิภาคี โดยในอนาคตเห็นพ้องที่จะขยายขอบเขตความสัมพันธ์ทวิภาคีเพิ่มเติมในอีก 6 ทศวรรษข้างหน้า และกระชับความร่วมมือในทุกด้านที่เป็นไปได้ เช่น การค้า เศรษฐกิจ สินค้าเกษตร การท่องเที่ยว และโลจิสติกส์การขนส่ง
‘ประธานาธิบดีมองโกเลียเยือน สปป.ลาว’ กระชับสัมพันธ์สองประเทศ
นายคูเรลสุข อุคนนา ประธานาธิบดีมองโกเลีย พร้อมด้วยภริยา และคณะเจ้าหน้าที่ เดินทางถึงนครหลวงเวียงจันทน์ เพื่อเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมื่อเดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติวัตไต ประธานาธิบดีมองโกเลียและคณะฯ ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากรัฐมนตรีและหัวหน้าสำนักงานประธานาธิบดีแห่ง สปป.ลาว พร้อมกับเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งมองโกเลียประจำ สปป.ลาว เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มของ สปป.ลาว ประจำมองโกเลีย นายเพ็งสะหวัน แก้วประเสริฐ และเจ้าหน้าที่อื่นๆ ทั้งนี้ ในระหว่างการเยือน สปป.ลาว ประธานาธิบดีมองโกเลีย และนายทองลุน สีสุลิด ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จะจัดการเจรจาอย่างเป็นทางการ และกำหนดให้เข้าพบประธานสมัชชาแห่งชาติของ สปป.ลาว นายไซสมพอน พรหมวิหาร และนายกรัฐมนตรี โสเนกชัย สีพันโดน เพื่อหารือเกี่ยวกับความสัมพันธ์และความร่วมมือทวิภาคี
สปป.ลาว มีแผนส่งเสริมการส่งออก ‘ผลิตภัณฑ์จากไม้’ ไปยังตลาดสหภาพยุโรป
กรมป่าไม้ของสปป.ลาว กำลังวางแผนที่จะส่งเสริมธุรกิจไม้แปรรูปเพื่อการส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรป (EU) และได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ไม้ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง โดยนำเสนอความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการทั้งด้านภาษีและไม่ใช่ภาษีสำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้ไปยังตลาดสหภาพยุโรป ทั้งคำสั่งและกฎระเบียบ ตลอดจนข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ไม้ที่มีศักยภาพสูงในด้านความต้องการและมูลค่า และครอบคลุมถึงขั้นตอนของสหภาพยุโรป เช่น ข้อกำหนดสำหรับการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ทำจากไม้ เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่กระจายของศัตรูพืช และการจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ไม้แปรรูป เป็นต้น ทั้งนี้ ตามรายงานของสำนักข่าวใน สปป.ลาว กล่าวถึงความต้องการผลิตภัณฑ์ไม้จากสหภาพยุโรปที่มีมากขึ้น จะทำให้ลาวมีโอกาสสำหรับการขยายธุรกิจของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
ที่มา : https://scandasia.com/laos-plans-to-boost-wood-export-to-eu-markets/
‘สมาชิกสภาแห่งชาติลาว’ ขอรัฐบาลเพิ่มความเข้มงวดในการจัดการเงินตราต่างประเทศ
สมาชิกสภาแห่งชาติลาว กล่าวในการประชุมสามัญครั้งที่ 6 ขอให้รัฐบาล สปป.ลาว เพิ่มความเข้มงวดในการจัดการสกุลเงินต่างประเทศ เพื่อลดอัตราเงินเฟ้อ ควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่ไม่เอื้ออำนวย โดยขอให้รัฐบาลดำเนินการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น ควรทำผ่านการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดและการตรวจสอบการใช้สกุลเงินต่างประเทศโดยผู้นำเข้าและผู้ส่งออก การชำระค่าสินค้านำเข้าควรดำเนินการผ่านระบบธนาคาร และควรเก็บบันทึกรายรับที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศและการโอนไปยังประเทศอื่น อีกทั้งยังเสนอแนะว่าควรมีการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศนอกระบบธนาคารให้เข้มงวดมากขึ้น เนื่องจากร้านแลกเงินเอกชนบางแห่งยังคงเปิดดำเนินการผ่านระบบออนไลน์อยู่ รวมถึงยังขอให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการจัดเก็บรายได้ ควบคุมการใช้จ่ายในโครงการพัฒนาและการชำระหนี้ ตลอดจนเพิ่มผลผลิตในประเทศเพื่อทดแทนสินค้านำเข้า
ที่มา : https://english.news.cn/20231102/03a14c21757f49faac6caa12a1d0f976/c.html
‘ภาคบริการ’ เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจ สปป.ลาว
คำเจน วงโพสี รัฐมนตรีกระทรวงการวางแผนและการลงทุน สปป.ลาว เผยอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของ สปป.ลาว ในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2566 ขยายตัว 4.4% โดยการค้าส่งและค้าปลีก การขนส่ง และการบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ถือเป็นธุรกิจที่มีผลประกอบการดีที่สุด ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจภาคบริการขยายตัว 5.6% ซึ่งมีส่วนทำให้ GDP สปป.ลาว ขยายตัวได้ ทั้งนี้ การจัดเก็บภาษี ขยายตัว 3.9%, ภาคการผลิตอุตสาหกรรม ขยายตัว 3.5% ภาคเกษตรกรรมและการป่าไม้ ขยายตัว 3.4% นอกจากนี้ รัฐมนตรีฯ ได้กล่าวเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการรักษาเสถียรภาพทางการเมืองที่แข็งแกร่งและความสงบเรียบร้อยทางสังคม ทั้งนี้ ในปี 2567 คาดว่าภาคอุตสาหกรรมจะมีอัตราการเติบโตสูงสุดที่ 5% ตามมาด้วยภาคบริการ ขยายตัว 4.8% ภาษีและศุลกากร ขยายตัว 3.9% และภาคเกษตรกรรม ขยายตัว 2.6% หากบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ GDP สปป.ลาว ปี 2567 จะมีมูลค่า 293,786 พันล้านกีบลาว รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี 1,787 ดอลลาร์สหรัฐ
ที่มา : https://english.news.cn/20231102/f12f1f851a9440fc92b266c671b19d89/c.html
สปป.ลาว-ไทย ร่วมหารือเกี่ยวกับการก่อสร้าง ‘สะพานรถไฟข้ามแม่น้ำโขง’
รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ สปป.ลาว และไทย ได้ทำการเจรจาเกี่ยวกับการก่อสร้างสะพานสำหรับใช้เป็นทางรถไฟข้ามแม่น้ำโขง ระหว่างนครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว กับจังหวัดหนองคาย ประเทศไทย ซึ่งขยายเส้นทางรถไฟข้ามพรมแดนจากหนองคายไปยังสถานีรถไฟเวียงจันทน์ (สถานีคำสะหวาด) เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและเข้าถึงประเทศจีนได้สะดวกขึ้น ทั้งนี้ จากการหารือทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องร่วมกันที่จะส่งเสริมให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันพิจารณาวิธีการส่งเสริมปริมาณการค้า
ทวิภาคี โดยการขจัดอุปสรรคทางการค้าที่มีอยู่และทำให้การทำธุรกิจง่ายขึ้น และมุ่งเป้าไปที่การส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างสปป.ลาว กับประเทศไทย โดยใช้เส้นทางรถไฟเป็นระบบขนส่งหลัก
ที่มา : https://english.news.cn/20231101/4129819645d347a6a2b36f7d10d100ed/c.html
‘การเติบโตทางเศรษฐกิจ สปป.ลาว’ ช่วงสองปีครึ่งที่ผ่านมาเติบโตได้ 4.03%
นายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว เผยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศตั้งแต่ปี 2564 ถึงกลางปี 2566 ขยายตัวได้ 4.03% ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 4% ทั้งนี้ รัฐบาลได้ปรับลดเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจตลอดทั้งปี 2566 จากที่คาดการณ์ไว้ 4.5% ปรับลดเหลือขยายตัว 4.2% เนื่องจากผลกระทบของค่าเงินกีบที่อ่อนค่ารุนแรงและปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งจะส่งผลให้ GDP ต่อหัวของประชากร สปป.ลาว ปีนี้มีแนวโน้มปรับลดลงมาอยู่ที่ 1,712 ดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม รัฐบาล สปป.ลาว มีความมุ่งมั่นที่จะทำให้รายได้ต่อหัวของประชากรบรรลุเป้าหมายที่ระดับ 2,880 ดอลลาร์สหรัฐ ให้ได้ภายในปี 2568 นอกจากนี้ รัฐบาลมีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับความไม่มั่นคงทางการเงิน อัตราเงินเฟ้อที่สูง และอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน โดยได้สั่งให้ธนาคารกลางใช้กลไกทั้งหมดในลักษณะบูรณาการเพื่อรักษาปริมาณเงิน M2 ในวงกว้างให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ เน้นการใช้สกุลเงินต่างประเทศกับการนำเข้าที่มีลำดับความสำคัญ ยกเลิกร้านแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและบริการแลกเปลี่ยนสกุลเงินทั่วไป ให้แลกเปลี่ยนได้เฉพาะกับธนาคารพาณิชย์