สหภาพยุโรปมอบเงิน 1.5 ล้านยูโร ส่งเสริมการเกษตรอัจฉริยะใน สปป.ลาว

สหภาพยุโรป (EU) อนุมัติเงิน 1.5 ล้านยูโร ให้แก่ สปป.ลาว สำหรับดำเนินโครงการส่งเสริมการเกษตรอัจฉริยะเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มสตรีและเกษตรกรเยาวชนที่เปราะบาง สำหรับโครงการนี้จะดำเนินการใน 15 หมู่บ้านใน 7 เมือง ในแขวงสะหวันนะเขต และแขวงหลวงพระบาง คาดว่าจะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อครอบครัวเกษตรกรรมจำนวน 300,000 ครอบครัว และอื่นๆ อีกกว่า 100,000 คน ผ่านการให้เทคนิค ความรู้ และทักษะที่เกี่ยวข้องกับ Climate Smart Agriculture (CSA) นอกจากนี้ ยังคาดว่าจะช่วยเพิ่มผลผลิต ปรับปรึงความเป็นอยู่ โภชนาการ และความมั่นคงทางอาหารในท้องถิ่นของ สปป.ลาว อีกด้วย

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_63_EU_y24.php

โครงการ Green CUP ส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียวสินค้ากาแฟและชาของ สปป.ลาว

กาแฟและชาเป็นมากกว่าเครื่องดื่มยอดนิยมใน สปป.ลาว แต่สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและปรับปรุงคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในประเทศ ภายใต้ความร่วมมืออันยาวนานระหว่างฝรั่งเศสและ สปป.ลาว ด้วยตระหนักถึงคุณค่าของกาแฟและชาที่มีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาล สปป.ลาว และพันธมิตรด้านการพัฒนาในยุโรปจึงได้ทำงานร่วมกันในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เพื่อปรับปรุงการผลิต คุณภาพ และการเข้าถึงตลาดสำหรับกาแฟและชา ปัจจุบันกาแฟและชามีส่วนช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจของ สปป.ลาว โดยมีมูลค่าการส่งออกเกือบ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ทำให้ สปป.ลาว เป็นผู้ส่งออกกาแฟอันดับที่ 34 ของโลก และชาอันดับที่ 63 ของโลก โครงการ Green CUP พยายามที่จะสนับสนุนการค้าและการลงทุนในระบบเศรษฐกิจสีเขียวสำหรับภาคส่วนการผลิตกาแฟและชา ผ่านวิถีชุมชนเกษตรกร ห่วงโซ่คุณค่าที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ และการเข้าถึงตลาดที่ยั่งยืนและมีมูลค่าสูง โดยเฉพาะตลาดยุโรป

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_62_Bolstering_y24.php

สปป.ลาว-สหภาพยุโรป ร่วมพัฒนาห่วงโซ่มูลค่าสินค้ากาแฟ ชา และผลิตภัณฑ์ป่าไม้

รัฐบาล สปป.ลาว สหภาพยุโรป (EU) ผู้แทนจากฝรั่งเศสและเยอรมนี ร่วมเปิดตัวโครงการ Global Gateway มูลค่าหลายล้านยูโร เพื่อพัฒนาห่วงโซ่มูลค่ากาแฟ ชา และป่าไม้ และสนับสนุนการเข้าถึงตลาด โครงการนี้มีขึ้นเพื่อเพิ่มมูลค่าทางการค้า การลงทุน และการเชื่อมต่อในภาคการเกษตรและป่าไม้ที่ยั่งยืน โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าที่ยั่งยืนและครอบคลุมของกาแฟ ชา และผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ ที่ สปป.ลาว กำลังทำการค้ากับสหภาพยุโรป เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงตลาดระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับโลก ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการเชื่อมต่อห่วงโซ่มูลค่าที่ดีขึ้นกับตลาดระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ ผ่านการฟื้นฟูทางหลวงหมายเลข 2 ที่เป็นเส้นทางไปสู่ประเทศไทยและเวียดนามที่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากสหภาพยุโรป จำนวน 28 ล้านยูโร ฝรั่งเศส 4.65 ล้านยูโร เยอรมนี 11 ล้านยูโร และเงินกู้ที่ได้รับสัมปทานจากธนาคารเพื่อการลงทุนแห่งยุโรป 50 ล้านยูโร

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_54_LaosEU_y24.php

สปป.ลาว มีแผนส่งเสริมการส่งออก ‘ผลิตภัณฑ์จากไม้’ ไปยังตลาดสหภาพยุโรป

กรมป่าไม้ของสปป.ลาว กำลังวางแผนที่จะส่งเสริมธุรกิจไม้แปรรูปเพื่อการส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรป (EU) และได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ไม้ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง โดยนำเสนอความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการทั้งด้านภาษีและไม่ใช่ภาษีสำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้ไปยังตลาดสหภาพยุโรป ทั้งคำสั่งและกฎระเบียบ ตลอดจนข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ไม้ที่มีศักยภาพสูงในด้านความต้องการและมูลค่า และครอบคลุมถึงขั้นตอนของสหภาพยุโรป เช่น ข้อกำหนดสำหรับการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ทำจากไม้ เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่กระจายของศัตรูพืช และการจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ไม้แปรรูป เป็นต้น ทั้งนี้ ตามรายงานของสำนักข่าวใน สปป.ลาว กล่าวถึงความต้องการผลิตภัณฑ์ไม้จากสหภาพยุโรปที่มีมากขึ้น จะทำให้ลาวมีโอกาสสำหรับการขยายธุรกิจของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

ที่มา : https://scandasia.com/laos-plans-to-boost-wood-export-to-eu-markets/

การค้าระหว่าง กัมพูชา-สหภาพยุโรป พุ่งแตะ 4.98 พันล้านดอลลาร์

การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและสหภาพยุโรป (EU) มีมูลค่าแตะ 4.5 พันล้านยูโร (4.98 พันล้านดอลลาร์) ในปี 2021 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าหลักที่กัมพูชาส่งออกไปยังสหภาพยุโรป ได้แก่ สินค้าเกษตร อาทิเช่น ข้าวสาร สิ่งทอ รองเท้า สินค้าเพื่อการท่องเที่ยว และจักรยาน ในขณะที่สินค้าสำคัญที่กัมพูชานำเข้าจากสหภาพยุโรป ได้แก่ วัสดุก่อสร้าง อาหารและเครื่องดื่ม สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเภสัชภัณฑ์ เป็นต้น ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเปิดเผยระหว่างการประชุมคณะกรรมการร่วมกัมพูชา-สหภาพยุโรป ครั้งที่ 11 โดยทั้งสองฝ่ายให้คำมั่นที่จะเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกันทั้งทางด้านการค้าและการลงทุน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501039659/cambodia-eu-trade-up-4-6-percent-to-4-98-billion-last-year/

‘ข้าวเวียดนาม’ กระแสตอบรับดีมากในตลาดยุโรป

กรมศุลกากรเวียดนาม รายงานว่าปริมาณการส่งออกข้าวของเวียดนามไปยังตลาดยุโรปไม่ได้เพิ่มขึ้นมากเท่าไรนัก เมื่อเทียบกับด้านราคาและมูลค่าเงินที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 64 การส่งออกข้าวไปยังตลาดยุโรป มีปริมาณ 53,910 ตัน เพิ่มขึ้น 0.8%YoY คิดเป็นมูลค่า 38.07 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 21.6%YoY แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากข้อตกลง “EVFTA” อย่างมีประสิทธิภาพ ท่ามกลางการแพร่ระบาดของเชื้อโรค รวมถึงค่าเฟรตพุ่งสูงขึ้นมากและการนำเข้าข้าวลดลงในปีก่อน ทั้งนี้ สำนักงานสถิติสหภาพยุโรป (Eurostat) เปิดเผยว่าในช่วง 9 เดือนแรกของปีที่แล้ว การนำเข้าข้าวของยุโรป ลดลง 10.9% ในแง่ของปริมาณ และ 9.3% ในแง่ของมูลค่า อย่างไรก็ดี สมาคมอาหารเวียดนาม (VFA) คาดการณ์ว่าการส่งออกข้าวไปยังสหภาพยุโรปจะเพิ่มขึ้นอย่างมากในปีนี้ โดยเฉพาะคุณภาพข้าวของเวียดนามที่มีการพัฒนา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ข้าวหอมมะลิที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวยุโรป

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1143078/vietnamese-rice-well-received-in-europe.html

จับตาศักยภาพ! ยุโรปขึ้นแท่นผู้นำเข้าข้าว ‘เวียดนาม’

ตามรายงานจาก VietNam Investment Review เปิดเผยว่าความต้องการข้าวจากประเทศในแถบเอเชียเพิ่มสูงขึ้น ตลาดสหภาพยุโรป (EU) จึงถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงแก่ผู้ส่งออกข้าวของเวียดนาม โดยในปี 2564 เวียดนามส่งออกข้าวไปยังยุโรป ปริมาณกว่า 60,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 41 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 1% ในแง่ของปริมาณ และ 20% ในแง่ของมูลค่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งมาจากการส่งออกข้าวหอมมะลิราว 40,000 ตัน มูลค่า 30 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ ข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (EVFTA) ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ส.ค.63 ช่วยให้ราคาธัญพืชของเวียดนามปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น 10-20 เหรียญสหรัฐต่อตัน เนื่องมาจากจากความต้องการเพิ่มขึ้น เหตุโควิด-19 ระบาด นอกจากนี้ ตามรายงานของสำนักงานสถิติยุโรป (Eurostat) ชี้ว่ากลุ่มซัพพลายเออร์ข้าวรายใหญ่ 10 อันดับแรกของกลุ่มนี้ ข้าวจากเวียดนามมีราคาเติบโตอย่างแข็งแกร่งที่สุดที่ 20.3% ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 781 เหรียญสหรัฐต่อตัน

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1115829/eu-remains-highly-potential-importer-of-vietnamese-rice.html

การเข้าถึงตลาดสหภาพยุโรปโดยปลอดภาษีของ สปป. ลาว

ปัจจุบัน สปป. ลาวเป็นประเทศที่มีการพัฒนาน้อยที่สุด (LDC) ได้ประโยชน์จากการเข้าถึงสินค้าทั้งหมดโดยปลอดภาษีและปลอดโควตา (DFQF) ไปยังตลาดสหภาพยุโรปสำหรับสินค้าทั้งหมด ยกเว้นเครื่องกระสุนปืนและอาวุธ การเข้าถึงพิเศษนี้มีให้ภายใต้โครงการ Everything But Arms (EBA) ของสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นหนึ่งในสามประเภทของโครงการที่สหภาพยุโรปจัดทำขึ้นภายใต้ ‘Generalised Scheme of Preferences’ (โครงการ GSP) อีกสองหมวดคือ Standard GSP และ GSP+ ซึ่งใช้กับประเทศกำลังพัฒนา  สปป. ลาวได้ใช้ประโยชน์จาก EBA ของตนมากขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยการส่งออก EBA จาก สปป. ลาวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอย่างไรก็ตาม การส่งออกของ สปป. ลาวไปยังสหภาพยุโรปในปัจจุบันมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 5 ของการส่งออกทั้งหมด ถึงอย่างนั้น สปป. ลาวมีศักยภาพที่สำคัญในการขยายการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปและเพิ่มส่วนแบ่งการส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรปได้ในอนาคตจากการใช้ประโยชน์จากโครงการให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_The_lao_pdr_224.php

 

รัฐบาลกัมพูชาส่งตัวแทนหารือสหภาพยุโรปเกี่ยวกับการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ

ตัวแทนจากทางฝั่งรัฐบาลกัมพูชาและสหภาพยุโรป เข้าร่วมหารือระหว่างกันเกี่ยวกับแผนการพัฒนาเศรษฐกิจของกัมพูชา รวมถึงหารือเกี่ยวกับนโยบายการค้าใหม่ เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจกัมพูชากลับมาฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับบทบาทของการพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้กรอบการทำงานขององค์การการค้าโลก (WTO) โดยมุ่งเน้นที่การปฏิรูปและกลไกการระงับข้อพิพาทของ WTO ใหม่ ซึ่งรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์จะเป็นตัวแทนของกัมพูชาในการร่วมประชุมระดับรัฐมนตรีขององค์การการค้าโลก ครั้งที่ 12 โดยจะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ที่มีประเด็นสำคัญหลายประการรวมถึงการให้สัตยาบันข้อตกลงเงินอุดหนุนการประมงฉบับใหม่ และการเจรจาการค้าทางอิเล็กทรอนิกส์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50896690/officials-meet-with-their-eu-counterparts-to-talk-recovery/

สปป.ลาวเพิ่มการส่งออกกาแฟไปยังสหภาพยุโรป

อุตสาหกรรมกาแฟในสปป.ลาวมีศักยภาพในด้านมูลค่าที่สูง เป็นพืชเศรษฐกิจหลักสำหรับเกษตรกรรายย่อยจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ภาคกาแฟเผชิญกับความท้าทายเร่งด่วนที่จำกัดความพยายามในการซื้อขายกาแฟในระดับภูมิภาคและระดับโลก ข้อจำกัดเหล่านี้มีคั้งแต่ ผู้ซื้อในตลาดที่มีศักยภาพสูง                          การปรับปรุงการจัดการคุณภาพอย่างเป็นระบบ การเพิ่มประสิทธิภาพและความยั่งยืนของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ยังทำให้ปัญหาที่มีอยู่ทวีความรุนแรงขึ้น และทำให้อนาคตของเกษตรกรและผู้ประกอบการกาแฟสปป.ลาวยากลำบากยิ่งขึ้นในการจะสามารถส่งออกกาแฟไปยังประเทศต่างๆ ของสหภาพยุโรป (EU) ภายหลังการนำแผนงานใหม่สำหรับการส่งออกมาใช้ แผนงานมุ่งเป้าไปที่การเพิ่มผลผลิตและความยั่งยืนในการผลิตและการแปรรูป ในขณะเดียวกันก็เพิ่มขีดความสามารถของผู้ส่งออกสปป.ลาว

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Laos_to_129.php