วิเคราะห์เศรษฐกิจ เมียนมา หลังรัฐประหาร
โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย I กรุงเทพธุรกิจ
จากเหตุการณ์กองทัพเข้ายึดอำนาจรัฐบาลออง ซาน ซูจี เมื่อวันที่ 1 ก.พ.2564 ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเมียนมาและมหาอำนาจชาติตะวันตกกลับเข้าสู่สภาวะชะชักงัน และอาจนำไปสู่การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับประเทศเมียนมาอีกครั้ง
เป็นที่ทราบกันดีว่าความสัมพันธ์ระหว่างเมียนมากับมหาอำนาจชาติตะวันตกมีพลวัตในทางที่ดีขึ้นในช่วงที่ผ่านมา สืบเนื่องมาจากการปฏิรูปการเมืองเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2554 และประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อนางออง ซาน ซูจี ชนะการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกในช่วงปลายปี 2558 ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันนี้เอง สหภาพยุโรปประกาศให้สิทธิพิเศษทางการค้า Everything But Arms (EBA) แก่เมียนมาในปี 2556 พร้อมทั้งสหรัฐก็ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับเมียนมาในปี 2559
ความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นนี้เป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจเมียนมาให้เติบโตได้ในระดับสูงตลอดช่วงที่ผ่านมา โดยการลงทุนจากต่างประเทศเป็นปัจจัยผลักดันให้เกิดการส่งออก และเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจเมียนมา จากสังคมเกษตรเข้าสู่สังคมอุตสาหกรรม พร้อมทั้งก่อให้เกิดการจ้างงานและยกระดับกำลังซื้อของภาคประชาชนอย่างมหาศาล
ดังนั้น การเข้ายึดอำนาจรัฐบาลของกองทัพเมียนมาในครั้งนี้ย่อมก่อให้เกิดความชะงักงันในความสัมพันธ์กับมหาอำนาจชาติตะวันตก และอาจนำไปสู่การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ เช่น การเพิกถอนสิทธิพิเศษทางการค้าของสหภาพยุโรปและสหรัฐ ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อสภาวะการค้า การลงทุน และเศรษฐกิจโดยรวมของเมียนมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในด้านการค้า นับตั้งแต่เมียนมาได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าจากสหภาพยุโรป การส่งออกของเมียนมาไปสหภาพยุโรปก็เติบโตมากกว่า 10 เท่าในช่วงเวลาเพียง 6 ปี โดยมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นจาก 208 ล้านดอลลาร์ในปี 2556 มาเป็น 3,300 ล้านดอลลาร์ในปี 2562 ส่วนการส่งออกของเมียนมาไปสหรัฐก็เติบโตขึ้น 5 เท่าภายใน 3 ปี โดยเพิ่มขึ้นจาก 150 ล้านดอลลาร์ในปี 2559 มาเป็น 829 ล้านดอลลาร์ในปี 2562
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า หากสูญเสียสิทธิพิเศษทางการค้าจากสหภาพยุโรปและสหรัฐ มูลค่าการส่งออกของเมียนมาจะหดตัวลงประมาณ 10% และคาดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจะอยู่ในกรอบ (-)0.5% ถึง (-)2.5% ในปี 2564 การเข้ายึดอำนาจของกองทัพเมียนมาไม่ได้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อการส่งออกเพียงเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศอีกด้วย
สำหรับผลกระทบต่อประเทศไทย จะเกิดขึ้นผ่านทาง 2 ช่องทางหลัก ได้แก่ การค้าชายแดนและการเคลื่อนย้ายแรงงานเมียนมาเข้ามาในประเทศไทย
ในประเด็นการค้าชายแดนคงต้องพิจารณาจากสถานการณ์เศรษฐกิจ การค้า การลงทุนที่จะมีผลต่อการซื้อสินค้าของไทยผ่านพรมแดนไทยกับเมียนมาที่เป็นช่องทางหลักในการส่งออกสินค้าไทยถึงร้อยละ 75 ของการส่งออกทั้งหมดของไทยไปเมียนมา
ภาพรวมการส่งออกชายแดนไทยไปเมียนมาในปี 2563 ได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อและการคุมเข้มการเข้าออกทั้งคนและสินค้าจากปัญหาโควิด-19 จึงฉุดให้การส่งออกทรุดตัวถึงร้อยละ (-)12.4 มีมูลค่าส่งออกต่ำกว่าแสนล้านบาทต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยมีมูลค่า 87,090 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี คงต้องเฝ้าติดตามการเปิด-ปิดด่านค้าขายแดน ดังเช่นการปิดด่านอย่างกะทันหันบริเวณพรมแดนด่านแม่สาย จ.เชียงราย เมื่อวันจันทร์ที่ 1 ก.พ.2564 แม้ว่าในขณะนี้จะเปิดให้บริการตามปกติแล้ว แต่ก็เป็นสัญญาณถึงความไม่แน่นอนที่อาจจะมีมาตรการในการตรวจคนและสินค้าข้ามแดนเพิ่มเติมจากมาตรการคุมเข้มเดิมที่ใช้รับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน อันจะทำให้การส่งออกทางชายแดนในทุกช่องทางไม่ราบรื่น
ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจของเมียนมาที่เปราะบางอยู่แล้วจากปัญหาโควิด-19 ทั้งยังต้องรับมือกับปมการการเมืองในประเทศ ที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในด้านการค้าการลงทุนกับนานาชาติ ซึ่งในประเด็นนี้เองศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าการส่งออกชายแดนไทยในปี 2564 แม้ในภาพรวมจะได้อานิสงส์จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นช่วยพยุงการค้าไว้ได้ระดับหนึ่ง แต่ความเปราะบางทางเศรษฐกิจของเมียนมาจะยิ่งส่งผลอย่างมากทำให้การผลิตและการบริโภคในภาพรวมทรุดตัวลง กดดันให้สินค้าไทยที่ส่งผ่านชายแดนไปเมียนมาในปี 2564 จะยังหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 (-)0.5% มีมูลค่าการค้าลดลงเหลือราว 86,600 ล้านบาท
ส่วนประเด็นการเคลื่อนย้ายแรงงานเมียนมาเข้ามาในประเทศไทยนั้น จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด ทำให้แรงงานเมียนมาเดินทางกลับประเทศไปไม่ต่ำกว่า 1 แสนคน และยังไม่สามารถกลับเข้าไทย ประกอบกับการเข้ายึดอำนาจของกองทัพเมียนมาทำให้เกิดความไม่แน่นอนทางนโยบาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นโยบายการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศ เช่น ความเสี่ยงในการปิดด่าน หรือการใช้มาตรการตรวจเข้มพลเมืองที่เดินทางเข้าออกประเทศ
มาตรการเหล่านี้จะเป็นอุปสรรคต่อทั้งการรับแรงงานใหม่และการรับแรงงานเมียนมาเดิมให้กลับเข้ามาทำงานที่ไทยอีกครั้งอย่างถูกกฎหมาย จะส่งผลให้ประเทศไทยขาดแคลนแรงงานที่ถูกกฎหมายในภาคธุรกิจต่างๆ ได้แก่ ธุรกิจเกษตรและปศุสัตว์ (25%) ธุรกิจค้าปลีกและร้านอาหาร (17%) ธุรกิจก่อสร้าง (15%) ธุรกิจประมงและสินค้าประมงแปรรูป (10%)