เวียดนามเผยภาคการประมงก้าวขึ้นเป็นภาคเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ

การประมงจะก้าวขึ้นเป็นภาคเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศในปี 2573 ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาของภาคการประมงปี 2573-2588 ตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี ดังนั้น ภาคการประมงต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านการผลิตขนาดใหญ่ ผ่านกระบวนการเป็นเศรษฐกิจอุตสาหกรรมที่ขึ้นกับเครื่องจักรและมีความทันสมัย ตลอดจนนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในกระบวนการผลิตและการปรับโครงสร้างการผลิต เพื่อยกระดับผลิตภาพและสร้างเครื่องมือหมายการค้าที่มีชื่อเสียง พร้อมกับเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันในตลาดโลก อีกทั้ง ได้ตั้งกลยุทธ์การเติบโตของการผลิตในภาคการประมงเฉลี่ยที่ 3-4% ต่อปี โดยผลผลิตรวมแตะ 9.8 ล้านตัน นอกจากนี้ ภาคการประมงได้ตั้งเป้าว่าจะสร้างงานมากกว่า 3.5 ล้านคน โดยมีรายได้ต่อหัวเทียบเท่ากับระดับประเทศ

  ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/fisheries-envisaged-to-become-a-vital-economic-sector/197891.vnp

5 สัญญาณบ่งชี้จากเวียดนาม ที่ไทยต้องเร่งยกระดับความสามารถในการแข่งขัน

โดย ดร. กำพล อดิเรกสมบัติ I ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจ และตลาดการเงิน I Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน ในบทความก่อน ๆ เราเคยมีการพูดถึงแผลเป็นทางเศรษฐกิจ (scarring effects) ที่วิกฤต COVID-19 จะทิ้งผลกระทบไว้กับเศรษฐกิจไทย ซึ่งเราคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องค่อย ๆ จัดการกับแผลเป็นเหล่านี้ด้วยการปรับตัวให้เข้ากับบริบททางธุรกิจและเศรษฐกิจหลัง COVID-19

นอกจากเรื่องของแผลเป็นแล้ว COVID-19 ยังจะเป็นตัวเร่งสำคัญหนึ่ง ร่วมกับสงครามการค้าและเทคโนโลยี รวมถึงการเร่งตัวของการใช้ digital technology ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่การผลิตของโลก (global supply chain rearrangement) ซึ่งมีการคาดกันว่าส่วนหนึ่งจะทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตออกมาจากจีนเพื่อลดความเสี่ยงการกระจุกตัวของฐานการผลิต

คำถามคือแล้วบริษัทที่จะย้ายฐานการผลิตออกมาจากจีนซึ่งมีทั้งบริษัทขนาดใหญ่และเล็ก และเป็นบริษัทจากหลายประเทศจะย้ายฐานการผลิตไปที่ไหน ภูมิภาคอาเซียน (ASEAN) เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ได้รับการคาดการณ์ว่าจะได้รับประโยชน์ และจากการศึกษาของ SCB EIC ก็พบว่าเวียดนามจะเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลบวกจากการปรับเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทานออกจากจีนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เนื่องด้วยความสามารถทางการแข่งขันของเวียดนามที่เพิ่มขึ้น ทั้งในด้านต้นทุนค่าแรง การพัฒนาทุนมนุษย์ ที่ตั้งซึ่งอยู่ใกล้กับจีน สิทธิประโยชน์ทางภาษี ข้อตกลงทางการค้ากับนานาประเทศ และโครงสร้างการส่งออก

ดังนั้น EIC จึงยังคงมุมมองทางบวกต่อเศรษฐกิจเวียดนามในระยะกลาง สำหรับไทย แน่นอนว่าเราจำเป็นต้องเร่งยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่พูดกันมานานแล้วแต่อาจจะยังไม่ค่อยได้ทำ (execute) กันมากเท่าที่พูด แต่มาถึงจุดนี้เราช้าไม่ได้แล้วครับ และ EIC ขออนุญาตชี้ถึงสัญญาณน่ากังวล 5 ข้อ เปรียบเทียบระหว่างเวียดนามและไทยที่บ่งชี้ว่าเราต้องรีบแล้วครับ

สัญญาณแรก : มูลค่า FDI เข้าเวียดนามเติบโตสูงและเข้าลงทุนในภาคการผลิตเป็นหลัก ในขณะที่ FDI เข้าไทยค่อนข้างผันผวน นอกจากนี้ ญี่ปุ่นและจีนซึ่งเป็นประเทศผู้ลงทุนหลักในไทยยังขยายการลงทุนในเวียดนามมากขึ้นในระยะหลัง

สัญญาณที่สอง : เวียดนามได้พัฒนาความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกอย่างมีนัย

สัญญาณที่สาม : ช่องว่างระหว่างค่าแรงไทยและเวียดนามมีแนวโน้มลดลงในระยะข้างหน้า เนื่องจากกำลังแรงงานในไทยลดลงต่อเนื่อง สวนทางกับผลิตภาพแรงงานเวียดนามที่เติบโตสูงขึ้น

สัญญาณที่สี่ : ความสามารถทางการแข่งขันของเวียดนามด้านทักษะทางวิชาการและวิชาชีพคาดว่าจะพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง

สัญญาณที่ห้า : เวียดนามมีข้อตกลงการค้าที่ครอบคลุมประเทศคู่ค้ามากกว่าไทย

ประเทศไทยจึงต้องเร่งนำยุทธศาสตร์เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันไปปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริง (Execution) ยุทธศาสตร์การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยเป็นสิ่งจำเป็นที่ได้ผ่านการถกเถียงและวิเคราะห์มาเป็นเวลานานและเป็นวงกว้าง ในด้านผลิตภาพแรงงาน ปัญหาทักษะแรงงานที่ไม่ตรงความต้องการตลาดและคุณภาพการศึกษาเป็นประเด็นสำคัญในวงสัมมนาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ในช่วง 2-3 ปีล่าสุด การเพิ่มทักษะและปรับเปลี่ยนทักษะแรงงาน (Upskill and Reskill) ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดก็เป็นประเด็นสำคัญในเวทีเสวนาต่าง ๆ จำนวนมาก ในประเด็นของข้อตกลงทางการค้า ประเทศไทยในปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาสนธิสัญญาการค้าใหม่หลายฉบับ แต่ตราบใดที่เรายังไม่ได้นำเอายุทธศาสตร์เพิ่มขีดความสามารถไปปฏิบัติ หรือบรรลุข้อตกลงทางการค้า ผลประโยชน์จากการศึกษาก็จะไม่เกิดขึ้นจริง

อ่านต่อ : https://www.scbeic.com/th/detail/product/7283