‘เวียดนาม’ เผยนิคมอุตสาหกรรม แรงขับเคลื่อนตลาดอสังหาฯ ของประเทศ

นายเจิ๊น โกว๊ก เฟือง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการวางแผนและการลงทุน กล่าวว่ากระทรวงฯ ให้ความสำคัญกับการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เซมิคอนดักเตอร์และอุตสาหกรรมใหม่ อย่างไรก็ดี ปัญหาทางด้านโครงสร้างพื้นฐานและที่ดินยังเป็นข้อกังวลให้กับนักลงทุนต่างชาติ จึงควรเร่งแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน ทั้งนี้ CBRE Vietnam ที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่าค่าเช่าที่ดินนิคมอุตสาหกรรมในภาคเหนือ คาดว่าเพิ่มขึ้น 5-9%1 ต่อปี และในภาคใต้ 3-7% เนื่องจากความต้องการในกลุ่มอุตสาหกรรมปรับตัวสูงขึ้น ตลอดจนค่าเช่าคลังสินค้าสำเร็จรูป คาดว่าเพิ่มขึ้น 1-4% ในอีก 3 ปีข้างหน้า แสดงให้เห็นถึงการขยายตัวของธุรกิจต่างประเทศในเวียดนาม และยอดการจดทะเบียนของนักลงทุนต่างชาติรายใหม่ที่สูงขึ้น

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/industrial-real-estate-emerges-out-of-storm/283065.vnp

นายกฯ สปป.ลาว แนะกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมคุมเข้มการใช้ที่ดิน

นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว แนะนำให้เจ้าหน้าที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดูแลการจัดสรรและใช้ที่ดินอย่างใกล้ชิดมากขึ้น แม้ว่า การออกโฉนดที่ดินทั่วประเทศดำเนินไปด้วยดี โดยมีการออกโฉนดที่ดินเป้าหมายเพียงครึ่งหนึ่งของจำนวนเป้าหมาย นอกจากนี้ การให้สิทธิการใช้ที่ดินแก่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายที่ดินรวมทั้งในระดับเขตยังไม่เสร็จสิ้นตามที่ตั้งใจไว้ ภายใต้กฎหมายโครงการสัมปทานที่ดินของรัฐควรได้รับการตรวจสอบอย่างเคร่งครัดตามกฎระเบียบที่กำหนด ในขณะเดียวกัน โครงการที่ไม่ก่อให้เกิดผลควรหยุดหรือยกเลิก ในขณะที่โครงการที่ดำเนินการได้สำเร็จและสอดคล้องกับประเภทการใช้ที่ดินที่ระบุควรได้รับการสนับสนุน

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_14_PMcalls_y24.php

นายกฯ สปป.ลาว ให้คำมั่นปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้ดีขึ้น

นายกรัฐมนตรี Sonexay Siphandone ให้คำมั่นว่าจะแก้ไขกฎหมายหวังปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ท่ามกลางการแข่งขันระหว่างประเทศที่รุนแรง เพื่อให้การดำเนินธุรกิจและการลงทุนเป็นไปอย่างราบรื่น ซึ่งนายกฯ ได้กล่าวกับฝ่ายนิติบัญญัติในการประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 5 ของสมัชชาแห่งชาติ (NA) โดยได้มอบหมายให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเร่งจัดประเภทที่ดินเพื่อให้สามารถออกสัมปทานที่ดินได้อย่างรวดเร็ว และถูกต้องตามวัตถุประสงค์ ซึ่งแต่ละจังหวัดต้องมีข้อมูลที่ชัดเจนและถูกต้องในการจัดประเภทที่ดิน เช่น ด้านการเกษตร อุตสาหกรรม การพัฒนาบริการ และการพัฒนาที่อยู่อาศัย โดยการให้ความสำคัญกับการจัดประเภทที่ดินมีขึ้นหลังจากทราบว่ามีโครงการที่ศึกษาความเป็นไปได้แล้ว แต่การพัฒนาไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากที่ดินไม่เพียงพอสำหรับโครงการที่เสนอ นอกจากการให้สัมปทานที่ดินของรัฐแบบเดิมแล้ว รัฐบาลจะสำรวจรูปแบบความร่วมมือในการให้สัมปทานที่ดินแก่ภาคเอกชนสำหรับโครงการลงทุนใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งนายกฯ ยังให้คำมั่นว่าจะปรับปรุงขั้นตอนต่างๆ เพื่อเร่งการลงนามในบันทึกความเข้าใจที่เกี่ยวข้องกับโครงการลงทุน เพื่อส่งเสริมการลงทุนและดึงดูดนักลงทุนต่างชาติมากขึ้น

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_PMvows135.php

รัฐบาล สปป.ลาว อนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติสำรวจที่ดินภายในประเทศ

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สปป.ลาว อนุญาตให้นักธุรกิจและนักลงทุนต่างชาติ เข้าสำรวจที่ดินภายในประเทศ ผ่านการให้บริการของพลเมือง สปป.ลาว ที่ต้องมีใบอนุญาต มีอุปกรณ์สำรวจที่ได้มาตรฐาน ตลอดจนที่ตั้งสำนักงานที่เหมาะสมสำหรับการดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับที่ดิน และต้องมีประสบการณ์การทำงานไม่ต่ำกว่า 3 ปี เพื่อการให้บริการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงจะทำการให้บริการสำรวจที่ดิน ประเมินราคาที่ดิน และบริการเกี่ยวกับที่ดินอื่นๆ แก่นักลงทุนต่างชาติ ตามที่กำหนดในกฎหมายที่ดิน โดยที่ดินสามารถทำการซื้อขาย หรือเจ้าของสามารถให้สิทธิในการใช้ที่ดินนั้นๆ ได้ ภายใต้เงื่อนไขการถือครองของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งนักธุรกิจหรือนักลงทุนต่างชาติต้องทำการลงทะเบียนบัญชีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์ หรือธนาคารของรัฐที่มีสำนักงานใหญ่ใน สปป.ลาว

ที่มา : https://laotiantimes.com/2022/09/07/laos-government-allows-foreign-legal-businesses-to-survey-lands/

นักลงทุนจีน แห่ซื้อที่ดินในสปป.ลาว

ธุรกิจจีนเข้ามากว้านซื้อที่ดินในสปป.ลาว สำหรับโรงงาน โรงแรมและโครงการพัฒนาด้านอื่นๆ เนื่องจากอิทธิพลของจีนเข้ามาขยายตัวอย่างต่อเนื่องในประเทศที่ยากจนและไม่มีทางออกสู่ทะเล โดยสำนักข่าว RFA อ้างตัวแทนอสังหาริมทรัพย์ในเวียงจันทน์ เปิดเผยว่า ชาวจีนจำนวนมากกำลังจะเข้ามาซื้อที่ดินในอนาคต ราคาที่ดินใกล้สถานีรถไฟเวียงจันทน์อยู่ที่ 2,500 บาท (70 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อตารางเมตร และที่ดินที่ได้รับการจดทะเบียนส่วนใหญ่ถูกขายไปกับชาวจีน นอกจากนี้ จีนเป็นผู้ลงทุนและให้ความช่วยเหลือต่างชาติรายใหญ่ที่สุดของลาว และเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับสองรองจากไทย

ที่มา : https://www.rfa.org/english/news/laos/land-07062022143130.html

คำม่วนประกาศใช้กฎเกณฑ์ในการบริหารพื้นที่การเกษตรอย่างยั่งยืน

เว็บไซต์ช่องทางเผยแพร่ข่าวสารของรัฐบาลสปป.ลาว ได้ประกาศราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่เอกสารทางกฎหมายในเรื่องการพัฒนาที่ดินและพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การบริหารจัดการด้านการเพาะปลูกและที่ดินเกิดประสิทธิภาพสูงสุด สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การคุ้มครองสิ่งแวดล้อมประเทศและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยจังหวัดที่จะเป็นต้นแบบในการพัฒนาคือจังหวัดคำม่วนซึ่งเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพสำหรับการพัฒนาด้านเกษตร เนื่องจากมีพื้นที่เพาะปลูกครอบคลุมประมาณ 132,000 เฮกตาร์โดยมีการอนุรักษ์ 87,000 เฮกแตร์สำหรับการผลิตอาหารและ 44,000 เฮกเตอร์สำหรับทำธุรกิจการเกษตร นอกจากการพัฒนาแล้วยังมีการออกกฎระเบียบในการใช้ที่ดิน โดยเจ้าของที่ดินต้องแจ้งความประสงค์ต่อเจ้าหน้าที่จังหวัดในการนำที่ดินไปใช้ในเรื่องใดและจะมีการเก็บค่าธรรมเนียมหากต้องการเปลี่ยนแปลงพื้นที่เพาะปลูกไปเป็นอย่างอื่นทั้งนี้เพื่อรักษาความมั่นคงและยั่งยืนด้านอาหารของประเทศ

ที่มา : http://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Khammuan_87.php

ราคาที่ดินพื้นที่การเกษตรพุ่ง ในช่วงโควิด-19

ในขณะที่กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ส่วนใหญ่พยายามดิ้นรนเอาตัวรอดในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่พื้นที่การเกษตรยังคงได้รับการลงทุนที่ร้อนแรง เนื่องจากผู้คนหันกลับไปพื้นที่ต่างจังหวัดมากขึ้น สำหรับมุมมองของนายหน้าซื้อขายที่ดิน กล่าวว่าราคาพื้นที่การเกษตรพุ่งสูงขึ้น 2 เท่าและ 3 เท่า ในจังหวัดทางตอนใต้ของเวียดนาม เป็นผลมาจากผู้คนย้ายจากเมืองไปยังพื้นที่ชานเมืองมากขึ้นและจากการแพร่ระบาดของไวรัส รวมถึงระยะห่างทางสังคมทำให้คนจำนวนมากเล็งสวนและพื้นที่การเกษตรแทนที่จะอาศัยอยู่ในเมือง ซึ่งในเมืองด่าหลัด พื้นที่สูงตอนกลาง แต่ละแปลงของพื้นที่การเกษตร 1,000 ตารางเมตร ด้วยต้นทุน 400-700 ล้านด่ง (17,000-30,000 ดอลลาร์สหรัฐ) ในปีที่แล้ว โดยปัจจุบัน ราคาพื้นที่พุ่งสูงขึ้นอยู่ที่ 3-6 พันล้านด่ง ในขณะเดียวกัน พื้นที่การเกษตรรอบนครโฮจิมินห์ อาทิ จังหวัดด่งนาย ราคาพื้นที่แตะ 2-2.5 พันล้านด่งต่อแปลง นอกจากนี้ เมื่อความกังวลต่อสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดความสนใจในการลงทุนในพื้นที่ชนบทมากขึ้นตามไปด้วย ส่งผลราคาพื้นที่การเกษตรพุ่งสูงขึ้นในตลาด

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/agricultural-land-price-increases-during-covid19/171770.vnp

ราคาที่ดินไซ่ง่อนพุ่งสูงขึ้น 3 เท่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

จากคำแถลงการณ์ของคุณ Tran Khanh Quang, CEO ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ HCMC ระบุว่าช่วงเวลาในแต่ละทศวรรษ ราคาที่ดินมักจะปรับสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในช่วง 2-4 ปีแรก และจากนั้นจะกลับมาหดตัวลง ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า ซึ่งราคาที่ดินในย่านศูนย์กลางธุรกิจ ตอนเริ่มมักจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างช้าๆ จากนั้นราคาในพื้นที่ชานเมืองถึงจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และไปยังต่างจังหวัด ทั้งนี้ จากข้อมูลของรองผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์โฮจิมินห์ซิตี้ กล่าวว่าราคาที่ดินในช่วงปี 2559-2561 มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น 2 เท่า และจะเพิ่มขึ้นอีก 4-10 เท่า ภายในปี 2552-2562 ซึ่งจากราคาที่ดินสูงขึ้นนั้นจะทำให้โอกาสเป็นเจ้าของลดน้อยลง ประกอบกับราคาอพาร์ทเมนท์ในกรุงไซ่ง่อนพุ่งสูงขึ้นร้อยละ 11.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันไตรมาสที่แล้ว

ที่มา : https://english.vov.vn/economy/saigon-land-prices-rise-3-times-every-decade-406058.vov