เศรษฐกิจเวียดนามปีนี้คาดจะเติบโต 4.8-5.0% ต่ำกว่าเป้าหมายอัตราการเติบโตใหม่ 6.0% ที่รัฐบาลเวียดนามตั้งเป้าไว้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าเศรษฐกิจเวียดนามในไตรมาสที่ 4 จะเติบโตอยู่ที่ระดับ 6.3-7.0% และส่งผลให้เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตอยู่ที่ระดับ 4.8-5.0% ในปีนี้ โดยปัจจัยหลักที่ทำให้เศรษฐกิจเวียดนามเร่งตัวขึ้นในไตรมาสที่ 4 คือภาคการส่งออกที่เริ่มขยายตัว และการเร่งการเบิกจ่ายการลงทุนภาครัฐ อย่างไรก็ตาม ปัญหาการต่ออายุหุ้นกู้เดิมในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะยังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจเวียดนามไปจนถึงปลายปี 2567

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ธนาคารกลางเวียดนามจะคงดอกเบี้ยนโยบายไปอีก 3 เดือน ท่ามกลางวัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่ยังไม่สิ้นสุด แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของเวียดนามจะลดลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อทั่วไปก็ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อเป้าหมาย 4.5% แต่แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด จะส่งผลให้เกิดสถานการณ์เงินทุนไหลออกและเป็นปัจจัยกดดันให้ค่าเงินดองอ่อนค่า จึงมองว่าธนาคารกลางเวียดนามจะรอดูสถานการณ์ต่อไปและจะยังไม่ปรับดอกเบี้ยนโยบายลงในระยะ 3 เดือน ข้างหน้า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่ามูลค่าการส่งออกไทยไปเวียดนามจะขยายตัวขึ้น 2.7%YoY ในไตรมาสที่ 4 และส่งผลให้มูลค่าการส่งออกทั้งปี 2566 หดตัว -11.7%YoY โดยการขยายตัวของการส่งออกในไตรมาสที่ 4 จะเป็นผลพวงจากฐานต่ำและราคาน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและฮามาส ซึ่งน้ำมันสำเร็จรูปเป็นสินค้าส่งออกอันดับที่ 2 ของไทยไปเวียดนาม

นอกจากนี้ ปัจจัยกดดันการส่งออกไทยไปเวียดนามในไตรมาสที่ 4 ส่วนหนึ่งมาจากการที่บริษัทไทยไปลงทุนในโครงการปิโตรคอมเพล็กซ์เพื่อผลิตเม็ดพลาสติกในเวียดนาม ซึ่งจะเริ่มดำเนินกิจการตั้งแต่ครึ่งหลังของปีนี้ และคาดว่าจะทำให้การส่งออกเม็ดพลาสติกซึ่งเป็นสินค้าส่งออกอันดับที่ 4 ของไทยไปเวียดนาม หดตัวอย่างต่อเนื่องไปจนถึงกลางปี 2567

ที่มา : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/Vietnam-EB4020-12-10-2023.aspx

วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน และผลต่อทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2565

โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

นอกจากปัญหาการระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่แล้ว วิกฤตรัสเซีย-ยูเครนยังส่งผลกระทบเพิ่มเติมต่อเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ผ่านราคาพลังงาน สินค้าโภคภัณฑ์ทั้งที่เป็นโลหะอุตสาหกรรมและสินค้าเกษตรที่ใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิต ให้เร่งตัวขึ้น

.

นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่าภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินผลกระทบแบ่งออกเป็นสองกรณี คือ กรณีฐาน ที่การปะทะสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน จำกัดอยู่ในบางพื้นที่ของประเทศยูเครน แต่ข้อตกลงร่วมกันคงยังไม่เกิดขึ้นในปีนี้ และมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของชาติตะวันตกและสหรัฐฯ ต่อรัสเซียจะคงอยู่ไปตลอดทั้งปีนี้นั้น คาดว่าจะทำให้ราคาน้ำมันดิบดูไบมีค่าเฉลี่ยทั้งปีที่ 105 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล และจีดีพีขยายตัวที่ร้อยละ 2.5 ส่วนในกรณีดีนั้น คาดการณ์ตัวเลขจีดีพีไว้ที่ร้อยละ 2.9 ซึ่งเกิดขึ้นบนสมมติฐานที่รัสเซีย-ยูเครนหาทางออกร่วมกันได้เร็วกว่าที่กำหนด หรือภายในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ อันทำให้ราคาน้ำมันดิบอาจย่อตัวลงในช่วงครึ่งปีหลัง และทำให้ค่าเฉลี่ยน้ำมันทั้งปี 2565 อยู่ที่ 90 ดอลลาร์ฯ

.

ส่วนผลกระทบต่อธุรกิจไทย นางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ มองว่า ปัจจัยรัสเซีย-ยูเครน กระทบต้นทุนการผลิตภาคอุตสาหกรรมคิดเป็นมูลค่าราว 8 หมื่นล้านบาท โดยผลกระทบส่วนใหญ่ตกอยู่กับภาคธุรกิจ ซึ่งจะถูกกระทบแตกต่างกันตามสัดส่วนการใช้วัตถุดิบและความสามารถในการปรับตัว ขณะที่ผลกระทบบางส่วนตกอยู่กับผู้บริโภค ขณะเดียวกัน การท่องเที่ยวก็ได้รับผลกระทบผ่านการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวรัสเซียและยุโรป ซึ่งแม้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยรวมในปี 2565 อาจแตะ 4 ล้านคน แต่การใช้จ่ายจะลดลงราว 5 หมื่นล้านบาทจากกรณีที่ไม่มีสงคราม นอกจากนี้ ภาคการบริการอื่นๆ ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ไม่เพียงแต่ต้นทุนที่ขยับขึ้น ค่าครองชีพที่สูงขึ้นของผู้บริโภค ยังวนกลับมากดดันยอดขายภาคธุรกิจอีกด้วย ทำให้ในภาพรวมแล้วประเมินตัวเลขการขยายตัวของธุรกิจในกลุ่มรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ค้าปลีก และร้านอาหาร น้อยลงจากรณีไม่มีสงคราม

.

ด้านนางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ ระบุเพิ่มเติมว่า แม้การคว่ำบาตรทางการเงินของประเทศมหาอำนาจในโลกต่อรัสเซีย จะมีผลกระทบทางตรงที่จำกัดตามปริมาณการค้าระหว่างรัสเซีย-ยูเครนกับไทย แต่จุดติดตามจะอยู่ที่สถานการณ์ที่ยังไม่นิ่ง ซึ่งจะทำให้การเคลื่อนไหวของตลาดการเงินผันผวนต่อเนื่อง และต้นทุนการระดมทุนมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ทั้งจากความไม่แน่นอนที่ยังอยู่และการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด โดยภายในปี 2565 จะมีตราสารหนี้ภาคเอกชนที่รอครบกำหนดอีกกว่า 7 แสนล้านบาท นอกจากนี้ ลูกค้าที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมาก คงต้องได้รับการดูแลเพิ่มเติมในแง่ของวงเงินสินเชื่อหมุนเวียนเพิ่มเติมในรายที่ยังประคองคำสั่งซื้อไว้ได้ รวมถึงประเด็นปรับโครงสร้างหนี้และคุณภาพหนี้ ซึ่งรวมแล้ว สินเชื่อธุรกิจที่อยู่ในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญจากต้นทุนน้ำมันและวัตถุดิบอาหารที่เพิ่มขึ้น จะมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 4-5 ของพอร์ตสินเชื่อรวม ขณะที่ ประเมินภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยทั้งปีนี้ที่ร้อยละ 4.5 ในกรณีฐาน

.

อ่านต่อ : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/KR-Press-25-mar-2022.aspx