เกาหลีใต้เล็งเจาะตลาดพลังงานไฟฟ้าใน สปป.ลาว

เกาหลีใต้แสดงความสนใจขยายการลงทุนใน สปป.ลาว และแสวงหาพันธมิตรทางธุรกิจ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมผลิคพลังงานไฟฟ้า เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างทั้งสองฝ่าย จึงได้จัดงานสำคัญที่มีชื่อว่า “สัมมนาพลังงานไฟฟ้าลาว-เกาหลี” และการประชุมจับคู่ธุรกิจที่มีชื่อว่า การประชุมคณะผู้แทนการค้าอุปกรณ์และอุปกรณ์ไฟฟ้าปี 2024 ที่มีผู้ร่วมจับคู่ธุรกิจระหว่างบริษัทชั้นนำของเกาหลีใต้ 10 แห่ง และบริษัทของ สปป.ลาว 20 แห่ง และร่วมจัดแสดงสินค้าและนวัตกรรม เช่น อุปกรณ์กราวด์แบบกะทัดรัด, รีโคลเซอร์แบบหุ้มฉนวนโพลีเมอร์, สวิตช์บอร์ดแบบปิด, แผงจ่ายไฟ, สวิตช์เกียร์, เบรกเกอร์แบบหล่อ, ระบบจัดการพลังงาน, สวิตช์เกียร์หุ้มฉนวนก๊าซที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม, หม้อแปลงเฟสขั้ว และเครื่องปฏิกรณ์แบบซีรีส์ โดยงานนี้จัดขึ้น เพื่อวัตถุประสงค์หลัก คือ การเร่งความร่วมมือและส่งเสริมความร่วมมือที่มั่นคงในภาคส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าระหว่าง สปป.ลาว และเกาหลีใต้

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_123_S_Korea_eyes_y24.php

อัตราเงินเฟ้อ สปป.ลาว มิถุนายน 67 แตะ 26.2% สูงที่สุดในรอบ 6 เดือน

อัตราเงินเฟ้อ สปป.ลาว เดือนมิถุนายน 67 เพิ่มขึ้นเป็น 26.2% จาก 25.8% ในเดือนก่อน นับเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 6 เดือนของปีนี้ โดยราคาสินค้าในกลุ่มการดูแลสุขภาพและยารักษาโรคมีความผันผวนสูงอยู่ที่ 41.7% รองลงมาคือ ร้านอาหารและโรงแรมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 35.3% ที่อยู่อาศัย น้ำ ไฟฟ้า และเชื้อเพลิงเครื่องปรุงรสและอาหารปรับตัวเพิ่มขึ้น 32.5% นอกจากนี้ ยังมีสินค้าอื่นๆ ที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ เสื้อผ้าและรองเท้า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ อาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ปัจจัยที่ส่งผลต่อแรงกดดันด้านเงินเฟ้อใน สปป.ลาว เกิดจากค่าเงินกีบที่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินต่างประเทศหลัก เช่น ดอลลาร์สหรัฐ บาทไทย และหยวนจีน ส่งผลกระทบอย่างมากต่อราคาสินค้าและบริการนำเข้า รวมถึงความสามารถในการผลิตภายในประเทศที่อ่อนแอ ทำให้แนวโน้มเงินเฟ้อรุนแรงขึ้น เนื่องจาก สปป.ลาว ต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคและวัตถุดิบอย่างมาก ซึ่งเพิ่มผลกระทบของค่าเงินอ่อนค่าต่ออัตราเงินเฟ้อ นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 10% ได้ผลักดันราคาสินค้าโภคภัณฑ์ให้สูงขึ้นอีก

ที่มา : https://laotiantimes.com/2024/06/27/laos-june-inflation-hits-26-2-percent-highest-in-2024/

สปป.ลาว เตรียมแผนที่จะขึ้นเงินเดือนขั้นต่ำของข้าราชการภายในปี 2568

รัฐบาล สปป.ลาว ได้ประกาศแผนการเพิ่มเงินเดือนขั้นต่ำของข้าราชการเป็นระหว่าง 2 ล้านกีบถึง 2.2 ล้านกีบ หรือประมาณ 91.45 – 100.60 ดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2568 เพื่อตอบสนองต่อค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นและความท้าทายทางเศรษฐกิจนานับประการ โดยในปี 2566 รัฐบาลได้ขึ้นเงินเดือนขั้นต่ำเป็น 1.7 ล้านกีบ หรือประมาณ 77.74 ดอลลาร์สหรัฐ และจัดสรรเงินเพิ่ม 150,000 กีบ หรือประมาณ 6.86 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อชดเชยค่าครองชีพที่สูงขึ้นในปีนี้ และมีการเพิ่มค่าจ้างขึ้นอีกครั้งทำให้เงินเดือนขั้นต่ำปัจจุบันอยู่ที่ 1.85 ล้านกีบ หรือประมาณ 84.59 ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ การเพิ่มเงินเดือนที่เสนอนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของรัฐบาลในการบรรเทาผลกระทบของอัตราเงินเฟ้อและค่าเงินกีบที่อ่อนค่าลง

ที่มา : https://laotiantimes.com/2024/06/14/laos-plans-to-raise-minimum-government-salary-by-2025/

รองนายกฯ และรัฐมนตรีต่างประเทศ สปป.ลาว เข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกลุ่ม BRICS+

นายสะเหลิมไซ กมมะสิด รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศ สปป.ลาว เข้าร่วมการประชุม BRICS Foreign Ministers’ Dialogue with Developing Countries (BRICS+) ที่เมืองนิจนีนอฟโกรอด ประเทศรัสเซีย โดย ฯพณฯ ท่าน กล่าวในที่ประชุมว่า ในบริบทโลกปัจจุบัน สปป.ลาว อยากเห็นกลุ่ม BRICS มีบทบาทมากขึ้นและปกป้องความร่วมมือแบบพหุภาคีในการพัฒนาและความมั่นคงระดับโลก และการป้องกันขั้วการเมืองโลกแบบฝ่ายเดียว รวมถึงพฤติกรรมสองมาตรฐานในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งนี้ สปป.ลาว มุ่งมั่นที่จะสนับสนุนและร่วมมือกับ BRICS ในทุกระดับ การหารืออย่างมีประสิทธิผลในวันนี้ จะช่วยยกระดับความร่วมมือไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมในอนาคต

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_113_DPM_y24.php

สปป.ลาว เผชิญการขาดดุลการค้าต่อเนื่อง และเงินกีบอ่อนค่าต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

สปป.ลาว ประสบปัญหาการขาดดุลการค้าติดต่อกันสี่เดือนตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเมษายนปีนี้ สถานการณ์นี้รุนแรงขึ้นจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ส่งผลให้เงินกีบอ่อนค่าต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ โดยมูลค่าการค้าเดือนพฤษภาคม 2567 อยู่ที่ 1.122 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นมูลค่าการส่งออก 462 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมูลค่าการนำเข้า 660 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขาดดุลการค้า 198 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงสุดในรอบปีและเป็นการขาดดุลการค้าต่อเนื่อง 4 เดือนติดต่อกัน ขณะเดียวกัน เงินกีบขยังคงอ่อนค่าลงจนแตะระดับต่ำสุดใหม่เป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก เช่น บาทไทย ดอลลาร์สหรัฐ และหยวนจีน โดยราคาขายดอลลาร์สหรัฐขายอยู่ที่ 21,825 กีบต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ และบาทไทยขายอยู่ที่ 694.45 กีบต่อ 1 บาท อย่างไรก็ตาม ตามข้อมูลของร้านแลกเปลี่ยนเงินในท้องถิ่น มีการขายในอัตราที่ไม่เป็นทางการที่สูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 25,000 กีบต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ และมากกว่า 710 กีบต่อ 1 บาท

ที่มา: https://laotiantimes.com/2024/06/13/laos-sees-fourth-months-of-trade-deficit-lao-kip-hits-record-low/