สนค. เผยปรับค่าจ้างส่งผลต่อเงินเฟ้อไม่มากดีกับ ศก.
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยการวิเคราะห์ “ผลกระทบของการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไป” ผลการวิเคราะห์เบื้องต้น พบว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะส่งผลต่อต้นทุนการผลิตและอัตราเงินเฟ้อไม่มากนัก เนื่องจากภาคการผลิตในภาพรวมมีค่าใช้จ่ายจากการใช้แรงงานที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำในสัดส่วนไม่สูงมากเมื่อเทียบกับต้นทุนรวม อีกทั้งมีข้อจำกัดและปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายประการ ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลมีมาตรการลดต้นทุนด้านพลังงาน ดังนั้น ต้นทุนค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นจะส่งผ่านมายังราคาสินค้าและบริการได้อย่างจำกัด ขณะที่การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะสนับสนุนให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย และการเพิ่มผลิตภาพการผลิต (Productivity) ซึ่งจะเกิดผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมในระยะต่อไป ปัจจุบัน อัตราค่าจ้างขั้นต่ำของไทยถูกกำหนดโดยคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งเป็นองค์กรไตรภาคี ประกอบด้วยผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล ทั้งนี้ในการปรับอัตราค่าจ้างแต่ละครั้งจะคำนึงถึงหลายปัจจัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน มาตรา 87 อาทิ ค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ ต้นทุนการผลิต ราคาของสินค้า ความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ สภาพทางเศรษฐกิจและสังคม สำหรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นอัตราตามมติของคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 21 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยมีอัตราอยู่ระหว่าง 328 – 354 บาทต่อวัน หรือเฉลี่ย 337 บาทต่อวันและขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับอัตราใหม่ของคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 เพื่อให้มีผลบังคับใช้ในปี 2567
ที่มา : https://www.innnews.co.th/news/politics/news_646179/