รายได้โตไม่ทันรายจ่าย ปัจจัยกดดันปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า หนี้ครัวเรือนไทย ณ ไตรมาส 2 ปี 2022 อยู่ที่ 14.76 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.5%YOY มีทิศทางชะลอลงต่อเนื่องหลายไตรมาส โดยขยายตัวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยก่อนเกิดวิกฤตโควิด จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP ลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ 88.2% นอกจากนี้ยังเป็นผลจาก Nominal GDP ที่ดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังผ่อนคลายนโยบายควบคุมโรคและเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงผลด้านราคาที่ปรับสูงขึ้นมากในปีนี้ หากพิจารณาการขยายตัวของสินเชื่อครัวเรือน พบว่าชะลอลงเกือบทุกหมวด โดยเฉพาะสินเชื่อที่อยู่อาศัย สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลแม้จะชะลอลงบ้าง แต่ถือว่ายังขยายตัวสูง ส่วนหนึ่งสะท้อนแนวโน้มการกู้ยืมเพื่อใช้จ่ายทดแทนการขาดสภาพคล่อง ในภาวะรายได้ฟื้นตัวไม่ทันรายจ่าย จะเป็นปัจจัยกดดันปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยในระยะถัดไป โดยผลสำรวจจาก EIC Consumer survey 2022 พบว่า (1) ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ค่าครองชีพคนไทยสูงขึ้นต่อเนื่องสวนทางกับรายได้ (ผู้บริโภคเกือบ 2 ใน 3 ยังมีรายได้ไม่เท่ากับก่อนเกิดวิกฤตโควิด โดยเฉพาะกลุ่มคนรายได้น้อยที่รายได้ฟื้นช้ากว่ากลุ่มคนรายได้สูง)และ (2) ในช่วง 6 เดือนข้างหน้าผู้บริโภค 43.8% คาดว่ารายได้จะโตไม่ทันรายจ่าย มีความเสี่ยงที่จะก่อหนี้เพิ่มขึ้นในอนาคต

ที่มา: https://www.naewna.com/business/689126

นักวิชาการห่วง!! ดอกเบี้ยขึ้นกดศก.ถดถอย ห่วงคนไทยก่อหนี้เพิ่ม

นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยถึงการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นสูงว่า ตามปกติจะส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัว เพราะดอกเบี้ยเงินฝากเพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้นคนทั่วไปจะไม่ถอนเงินฝากออกมาใช้ ส่งผลภาวะเศรษฐกิจฝืดลง ขณะเดียวกันคนที่จะขอเงินกู้ก้อนใหม่ก็ต้องเสียดอกเบี้ยแพงขึ้น ทำให้กู้น้อยลงด้วย นอกจากนี้ผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ย คือ หนี้ครัวเรือน สถานะเครดิตของคนไทยมีปัญหาไม่ชำระหนี้หรือหนี้เสียเพิ่มขึ้น ล่าสุดภาครัฐได้เดินหน้ามหกรรมร่วมใจแก้หนี้ ช่องทางออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน – 30 พฤศจิกายน และมหกรรมร่วมใจแก้หนี้สัญจร ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565 ถึง มกราคม 2566 ถือเป็นแนวทางที่ดี เพราะถ้าหากปล่อยไปจะเกิดปัญหา เกิดหนี้ที่ไม่ชำระคืน หรือบางส่วนถึงขั้นฟ้องร้องดำเนินคดี สำหรับสถานการณ์ดอกเบี้ยขาขึ้นจะส่งผลทั้งสองด้าน ในเบื้องต้นต้องเข้าใจก่อนว่า คนที่มีหนี้อยู่แล้ว ส่วนใหญ่จะมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ตั้งแต่ต้น ดังนั้นหากปรับขึ้นดอกเบี้ย ไม่ได้หมายความว่าหนี้เก่าจะเพิ่มภาระขึ้น แต่ถ้าบุคคลนั้นเป็นหนี้แต่จ่ายได้แค่ดอกเบี้ย และท้ายที่สุดต้องหาเงินหมุน ต้องไปทำสัญญาเงินกู้ใหม่ แบบนี้จะเจอปัญหาว่าการไปก่อหนี้ใหม่จะแพงขึ้น

ที่มา: https://www.matichon.co.th/economy/news_3595909

ดอกเบี้ยขาขึ้นระเบิดหนี้ครัวเรือน เกียรตินาคิน ห่วงกลุ่มรายได้น้อย จี้ปฏิรูปโครงสร้างศก.

รายงานข่าวจากฝ่ายวิจัยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP Research) เปิดเผยรายงานคาดการณ์ดอกเบี้ยขาขึ้น อาจจุดชนวนระเบิดหนี้ครัวเรือนที่เป็นปัญหาใหญ่ของไทย โดยกลุ่มที่มีความน่ากังวลมาก คือ หนี้ภาคครัวเรือนที่ปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้นเกิน 90% ของจีดีพี และสูงเป็นลำดับที่ 11 ของโลก ซึ่งเกิดจากการมีรายได้ไม่พอกับรายจ่าย โดยเฉพาะครัวเรือนรายได้น้อยที่สุด 20% มีรายได้ต่อเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท ขณะที่ค่าใช้จ่ายต่อเดือนอยู่ที่ 12,000 บาท และมีความจำเป็นต้องกู้ยืมเงินเพื่อบริโภค นอกจากนี้อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจรุนแรงและหนักกว่าประเทศอื่น เนื่องจากไทยมีความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งสูงที่สุด ทั้งนี้ได้เสนอแนะเร่งปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจผ่าน 2 แนวทาง คือ 1.การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจให้แข่งขันและเติบโตได้ในระยะยาว และนโยบายการเงินต้องไม่สนับสนุนให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตด้วยหนี้ 2.การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อนำเศรษฐกิจเข้าสู่กระบวนการของการลดภาระหนี้สินในระบบ ต้องระวังไม่ให้เร็วเกินไปและนำไปสู่ภาวะวิกฤต

ที่มา: https://www.matichon.co.th/economy/news_3422735