ตลท.หนุนตลาดทุนไทยเติบโตยั่งยืน เชื่อมนักลงทุน-บลจ.เข้าถึงข้อมูล ESG

นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการหัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร และหัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวในการสัมมนา “OSP Sustainability Dialogue : Mission to Carbon Neutral” ถึงแนวทางการพัฒนาความยั่งยืนในตลาดทุนไทย เผยว่าความยั่งยืนเป็นเรื่องใหม่ และเป็นเทรนด์ใหญ่ในระดับโลก และเมื่อประเทศไทยเป็นหนึ่งในโกลบอลซัพพลายเชน ดังนั้นจะต้องมีมาตรฐานที่สอดคล้องกับมาตรฐานของโลก โดย ตลท.มีเป้าหมายพัฒนายุทธศาสตร์ด้าน ESG 5 ด้าน ได้แก่ 1.sustainable business พัฒนาการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนทั้งในเชิงกว้างและเชิงลึก 2.Sustainable investment ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนอย่างยั่งยืน และพัฒนาสินค้า และบริการที่เกี่ยวข้อง 3.ESG infrastructure พัฒนาเครื่องมือ และยกระดับการเปิดเผยข้อมูล ESG เพื่อการตัดสินใจลงทุน 4.ESG Education พัฒนาความรู้ และสร้างบุคลากรด้านความยั่งยืนให้ตลาดทุน SET’s internal 5.Development พัฒนาความยั่งยืนของกลุ่มตลาดหลักทรัพย์ให้มีประสิทธิภาพ ตลท.จึงมีหน้าที่ในการเชื่อมโยงนักลงทุน และบริษัทจดทะเบียนให้สามารถเข้าถึงข้อมูลด้าน ESG และเปลี่ยนพฤติกรรมไปสู่การลงทุนอย่างยั่งยืนที่สามารถพิสูจน์ให้นักลงทุนเห็นได้ว่า การลงทุนในกลุ่มความยั่งยืนมีคุณค่าที่แท้จริง ตลท.จึงมีหน้าที่นำเสนอข้อมูลด้าน ESG ที่มีความเป็นปัจจุบัน และน่าเชื่อถือ ทำให้มีการพัฒนา “ESG Data platform” ในการเปิดเผยข้อมูลผ่าน SETSMART เพื่อสนับสนุนการเปิดเผยข้อมูล และเชื่อมต่อไปยังนักลงทุน เรตติ้งเอเจนซี ให้ง่ายต่อการเข้าถึง สะดวก และสามารถนำไปใช้ในการประมวลผลต่อได้ทันที ขณะนี้มี บจ. 658 บริษัท หรือคิดเป็น 74% ได้อนุมัติเผยแพร่ข้อมูลผ่าน ESG Data Platform และมี บจ. อีก 343 บริษัทคิดเป็น 39% มีการเผยแพร่ข้อมูล Greenhouse Gas (GHG) โดยได้รับการทวนสอบแล้ว 185 บริษัท รวมทั้งการลงทุนอย่างยั่งยืนกำลังกลายเป็นกระแสหลักในการลงทุนในตลาดทุนโลก และตลาดทุนไทย สะท้อนจากกองทุนยั่งยืนหรือกองทุน ESG ที่เติบโตเพิ่มขึ้น 220% ในปี 2566 จาก 82 กองทุน เป็นมูลค่า 4.7 หมื่นล้านบาท จากปี 2560 ที่มีเพียง 20 กองทุน

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/finance/investment/1089775

“นายกฯ เวียดนาม” เยือนสิงคโปร์อย่างเป็นทางการครั้งแรก

นายฟาม มินห์ ชินห์ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม จะเดินทางเยือนสิงคโปร์อย่างเป็นทางการครั้งแรก ระหว่างวันที่ 8-10 กุมภาพันธ์ 2566 ตามคำเชิญของนายลีเซียน ลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ โดยการเยือนในครั้งนี้เพื่อเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตในโอกาสที่ครบรอบ 50 ปี และครบรอบ 10 ปี ของหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ (MFA) เปิดเผยว่านายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศจะเป็นสักขีพยานในการลงนามข้อตกลงทวิภาคี ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความร่วมมือหลายด้านระหว่างสิงคโปร์และเวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านดิจิทัลและเศรษฐกิจสีเขียว

ที่มา : https://www.channelnewsasia.com/singapore/vietnam-prime-minister-pham-minh-chinh-official-visit-singapore-anniversary-3259141

‘เวียดนาม’ พัฒนาอาคารสีเขียว มุ่งสู่ลดคาร์บอนเป็นศูนย์

เวียดนามตั้งเป้าที่จะเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมเป็นศูนย์ภายในปี 2050 โดยเป้าหมายดังกล่าว นาย ฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ได้กล่าวในที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 (COP26) ซึ่งจะเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์สีเขียวของชาติ ทั้งนี้ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ระทรวงการก่อสร้างได้อนุมัติแผนปฏิบัติการเกี่ยวกับการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปี 2022-2030 ในขณะที่ตามรายงานของกระทรวงฯ ระบุว่าในปัจจุบัน เวียดนามมีอาคารสีเขียวทั้งสิ้น 230 แห่ง ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนอาคารที่สร้างไว้แล้ว อาคารสีเขียวยังมีส่วนสำคัญที่จะตอบสนองความต้องการพลังงานสูงขึ้นในอนาคตและปกป้องสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-developing-green-buildings-towards-net-zero-emissions/244464.vnp

‘พาณิชย์’ ดึงญี่ปุ่นลงทุนไทยชูใช้สิทธิ ‘FTA-RCEP’ ปักหมุดอุตสาหกรรม BCG

นายสินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์ ประธานเปิดงานสัมมนาเชิงนโยบาย “ความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้ามิติใหม่ ไทย – ญี่ปุ่น” โอกาสฉลองครบรอบ 135 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – ญี่ปุ่น ว่า ได้มีการแลกเปลี่ยนแนวคิดเรื่องนโยบายและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างกัน ในมิติใหม่ที่สอดรับกับสถานการณ์โลกหลังวิกฤตโควิด-19 โดยมีเป้าหมายส่งเสริมอุตสาหกรรมของกลุ่มเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ พลังงานสะอาด สุขภาพและการแพทย์

ทั้งนี้ ไทยมีความตกลงการค้าเสรีกับญี่ปุ่น ได้แก่ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน – ญี่ปุ่น (AJCEP) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การค้าระหว่างไทยและญี่ปุ่นเติบโตอย่างมาก

ที่มา : https://www.thaipost.net/economy-news/138495/

ดันอุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษโลหะสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนสร้างลงทุนเพิ่ม 500 ล.

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ให้ความสำคัญกับนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green (BCG) Economy) และสนับสนุนในเกิดการลงทุนจากภาคธุรกิจเอกชนไปพร้อมกัน โดยด้านการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนได้มอบหมายให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการ เหมืองแร่เตรียมจัดงานประชาสัมพันธ์โครงการจัดการเศษโลหะอย่างยั่งยืน หรือ Green Scrap Metal Thailand 2020 ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษโลหะลดการปลดปล่อยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน ลดการสร้างของเสียในภาคอุตสาหกรรม ด้วยการนำกลับมาผลิตในรูปแบบใหม่ที่สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูนิโด) กรมควบคุมมลพิษ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย รวมถึงผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษโลหะ สำหรับการดำเนินโครงการดังกล่าวคาดว่าจะส่งเสริมผู้ประกอบการกลุ่มเป้าหมายคือ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมรีไซเคิลตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานให้เข้าร่วมโครงการ 1,889 ราย และสนับสนุนผู้ประกอบการให้เป็นโรงงานนำร่อง 5-10 ราย ซึ่งคาดว่าจะสร้างให้เกิดมูลค่าการลงทุนของบริษัทที่เข้าร่วมโครงการในการปรับปรุงเครื่องจักรและปรับปรุงกระบวนการผลิตมากกว่า 560 ล้านบาท การดำเนินงานโครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก ระยะเวลาการดำเนินงาน 5 ปี ตั้งแต่ปี 2561-2566 โดยได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก 4.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเงินจากหน่วยงานร่วมดำเนินโครงการอีกรวมเป็นเงิน 33.71 ล้านเหรียญสหรัฐฯ  โดยกิจกรรมหลักของโครงการจะมีการทบทวนกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง  การประชาสัมพันธ์ความรู้เกี่ยวกับยูป๊อป รวมทั้งส่งเสริมการใช้แนวทางด้านเทคนิคที่ดีที่สุด (Best Available Technique) และแนวปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุด (Best Environmental Practice) เพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการติดตามประเมินผลโรงงานนำร่องที่มีการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมต่อไป การจัดการเศษโลหะอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยจะก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อเนื่องมหาศาล  เพราะนำกลับมารีไซเคิลได้ ลดของเสียในระบบอุตสาหกรรม การใช้พลังงานในกระบวนการผลิตก็ลดลง  ซึ่งงาน Green Scrap Metal Thailand 2020 จะจัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 30 ตุลาคมนี้ เพื่อให้ความรู้ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ตลอดจนเพื่อสร้างประสิทธิภาพในภาคอุตสาหกรรมต่อไป”

ที่มา: https://www.thansettakij.com/content/Macro_econ/454238?utm_source=sub_category&utm_medium=internal_referral&utm_campaign=industry