กัมพูชาคาดพลังงานทดแทนจะเป็นส่วนสำคัญของอุตสาหกรรมพลังงานภายในประเทศ

คาดแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่ผลิตได้ภายในประเทศกัมพูชาจะคิดเป็นเกือบร้อยละ 70 ของการผลิตไฟฟ้าของกัมพูชาในปีนี้ กล่าวโดย Sun Chanthol รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ในระหว่างการประชุมของกัมพูชาและเกาหลี ซึ่งคาดว่าการหารือดังกล่าวจะกระตุ้นให้นักลงทุนชาวเกาหลีเข้ามาลงทุนในกัมพูชามากขึ้น สำหรับกัมพูชามีแผนที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้า (PDP) ในช่วงปี 2022-2040 โดยเน้นไปที่การพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนอย่างมีนัยสำคัญ สอดคล้องกับนโยบายที่จะเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 ซึ่งคาดว่าการผลิตไฟฟ้าโดยพลังงานแสงอาทิตย์ของกัมพูชาจะสูงถึง 3,155 เมกะวัตต์ ภายในปี 2040 ครอบคลุมสัดส่วนการผลิตไฟฟ้ากว่าร้อยละ 45 จากการผลิตพลังงานจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน ขณะที่แผนการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำจะเพิ่มขึ้นจาก 1,330MW เป็น 1,560MW ภายในปี 2030 และ 3,000MW ภายในปี 2040 และจากพลังงานจากชีวมวลหมุนเวียนซึ่งเป็นแหล่งพลังงานสะอาดอีกแหล่งหนึ่งจะเพิ่มขึ้นจาก 27MW ในปี 2022 เป็น 98MW ในปี 2030 และ 198MW ในปี 2040

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501429249/renewable-energy-to-give-70-of-power-in-cambodia-this-year/

‘เวียดนาม’ เปิดแผนลงทุนด้านพลังงานสะอาด 15.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ประชุม COP28

เวียดนามมีแผนที่จะลงทุนเปลี่ยนไปสู่การใช้พลังงานสะอาด 15.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะมีการประกาศเรื่องดังกล่าวในที่ประชุมสุดยอดสภาพภูมิอากาศ ‘COP28’ ที่จะเริ่มในสัปดาห์นี้ที่ดูไบ ในขณะที่นายมาร์ก จอร์จ ที่ปรึกษาด้านสภาพอากาศของสถานทูตอังกฤษในกรุงฮานอย กล่าวว่าหลังจากประสานงานกับหน่วยงาน กระทรวงต่างๆ ของเวียดนาม เพื่อชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้เม็ดเงินลงทุนดังกล่าว และแผนการขั้นสุดท้ายที่จะสรุปในวันพฤหัสบดีนี้ ทั้งนี้ สหราขอาณาจักร (UK) เป็นประธานร่วมของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมที่ร่ำรวย 9 ประเทศ ซึ่งได้ตกลงที่จะจัดสรรเงินทุน 15.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อช่วยให้เวียดนามยุติการพึ่งพาพลังงานถ่านหินและเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนได้รวดเร็วขึ้น โดยกิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือในการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม (Just Energy Transition) หรือ JTEP

ที่มา : https://macaudailytimes.com.mo/vietnams-plan-for-spending-15-5-billion-for-its-clean-energy-transition-to-be-announced-at-cop28.html

‘ลาว-สิงคโปร์’ ร่วมประชุมหารือทวิภาคี ตอกย้ำความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน

กระทรวงการต่างประเทศลาวและสิงคโปร์ จัดการประชุมทวิภาคีความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน ณ เวียงจันทน์ สปป.ลาว โดยทั้งสองฝ่ายได้ทบทวนความคืบหน้าในความพยายามร่วมกันในการปกป้องสิ่งแวดล้อม การจัดการแหล่งน้ำ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งนี้ ฝ่ายลาวได้ขอให้รัฐบาลสิงคโปร์สนับสนุนให้นักธุรกิจสิงคโปร์เข้าลงทุนในลาวมากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในด้านการเกษตร พลังงานสะอาด การท่องเที่ยวและโรงแรม

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_Laosomga201_23.php

สปป.ลาว พร้อมส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า หวังดันพลังงานสะอาดในประเทศ

กระทรวงอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ของ สปป.ลาว ได้ออกมาตรการเพื่อส่งเสริมการใช้ยานพาหนะไฟฟ้า (EV) เพื่อลดงบประมาณในการนำเข้าปิโตรเลียมและเพื่อเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยการใช้พลังงานสะอาด รวมถึงนโยบายที่พร้อมจะส่งเสริมการพัฒนาการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าตลอดซัพพลายเชน และส่งเสริมการให้บริการหลังการซื้อ ไปจนถึงการก่อสร้างสถานีชาร์จทั่วประเทศ พร้อมทั้งดึงดูดนักลงทุนให้สร้างโรงงานผลิตใน สปป.ลาว ด้าน Buavanh Vilavong อธิบดีกรมอุตสาหกรรมและหัตถกรรม กล่าวว่า การใช้รถยนต์ไฟฟ้าใน สปป.ลาว ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องผลักดัน เพื่อหวังลดงบประมาณในการนำเข้าปิโตรเลียม โดยเสริมว่ามูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตเลียมใน สปป.ลาว ค่อนข้างสูง ซึ่งคิดเป็นกว่าร้อยละ 20 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดของประเทศ ขณะเดียวกัน สปป.ลาว มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าสูง ดังนั้น การส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าทั่วประเทศจึงเป็นทิศทางที่ควรจะต้องผลักดัน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากทรัพยากรภายในและรักษาสมดุลทางการค้า โดย สปป.ลาว วางแผนที่จะเพิ่มจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าประมาณร้อยละ 1 ของยานพาหนะทั้งหมดภายในปี 2025 และจะติดตั้งสถานีชาร์จอย่างน้อย 50 แห่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศ

ที่มา : https://nepalnews.com/s/global/laos-promotes-evs-for-clean-energy

โรงผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 1.9 MWp ณ โรงบำบัดน้ำบาเค็งเสร็จสมบูรณ์แล้ว

Green Yellow Cambodia (GYC) บริษัทผู้รับรับผิดชอบในการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ณ โรงบำบัดน้ำบาเค็งในประเทศกัมพูชา โดยโครงการดังกล่าวมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 1.9 MWp ในระยะที่ 1 ซึ่งโครงการดังกล่าวประกอบด้วยแผงโซลาร์เซลล์ 3,500 แผง ที่จะให้พลังงานสะอาดแก่โรงงานช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้เป็นอย่างมาก โดยโครงการดังกล่าวได้รับความร่วมมือจาก VINCI Construction Grand Projects (VCGP) ซึ่งเป็นผู้ก่อสร้างโครงการบำบัดน้ำในระดับชาติอย่างโครงการ PPWSA ด้านโรงบำบัดน้ำบาเค็งถือเป็นศูนย์บำบัดน้ำที่สำคัญของกัมพูชาสามารถผลิตน้ำได้มากถึง 390,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน และส่งไปยังพื้นที่เขตเมืองครอบคลุมเมืองพนมเปญและถนนตักเมาในบริเวณชายแดน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501350868/1-9mwp-solar-power-project-at-bakheng-water-treatment-plant-in-cambodia-completed/

สำนักงานตลาดพลังงานสิงคโปร์ วางแผนนำเข้าพลังงานสะอาดจากกัมพูชา

สำนักงานตลาดพลังงานสิงคโปร์ (EMA) ได้อนุมัติภายใต้เงื่อนไขสำหรับการนำเข้าพลังงานสะอาดจำนวน 1 กิกะวัตต์ (GW) จากกัมพูชาส่งไปยังสิงคโปร์ ผ่านสายเคเบิลใต้ทะเลระยะทางกว่า 1,000 กม. ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การนำเข้าพลังงานที่กำลังดำเนินอยู่ของสิงคโปร์ โดยการอนุมัติดังกล่าวมอบหมายให้กับ Keppel Energy ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจพลังงานของสิงคโปร์ ในการต่อยอดจากการที่ทั้งสองประเทศได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ไปเมื่อปีที่แล้ว ว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงาน ขณะที่ PV Tech Premium อีกหนึ่งบริษัทด้านพลังงานของสิงคโปร์ วางแผนที่จะนำเข้าพลังงานหมุนเวียนจำนวน 4 GW ภายในปี 2035

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501259849/singapores-ema-gives-conditional-nod-to-project-importing-1gw-of-clean-energy-from-cambodia-inked-with-royal-group/

“เวียดนาม” ประเทศแนวหน้าผลักดันพลังงานสะอาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เว็บไซต์ The Economist เผยเวียดนามก้าวขึ้นเป็นผู้นำการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยในบทความชี้ให้เห็นว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหนึ่งในส่วนสำคัญของโลกที่มีความเสี่ยงต่อผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) มากที่สุด แต่ว่าไม่ได้รับความสนใจในการแก้ไขปัญหาเรื่องการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล อย่างไรก็ดี ในหลายปีที่ผ่านมา เวียดนามหันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจาก 0% มาอยู่ที่ 11% ผลลัพธ์ข้างต้นนั้นไม่ใช่แค่อัตราการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าประเทศอื่นๆ ในโลกเท่านั้น แต่เวียดนามมีส่วนแบ่งการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่กว่าประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น ฝรั่งเศสหรือญี่ปุ่น ทั้งนี้ เมื่อปีที่แล้วเวียดนามขึ้นมาเป็นผู้ผลิตพลังงานแสงอาทิตย์รายใหญ่อันดับ 10 ของโลก นายกรัฐมนตรีเวียดนามให้คำมั่นว่าในเดือนพ.ค. จะหยุดสร้างโรงงานไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศให้เหลือศูนย์ภายในปี 2050

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-leads-the-transition-to-clean-energy-in-sea-the-economist-post948389.vov

‘พาณิชย์’ ดึงญี่ปุ่นลงทุนไทยชูใช้สิทธิ ‘FTA-RCEP’ ปักหมุดอุตสาหกรรม BCG

นายสินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์ ประธานเปิดงานสัมมนาเชิงนโยบาย “ความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้ามิติใหม่ ไทย – ญี่ปุ่น” โอกาสฉลองครบรอบ 135 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – ญี่ปุ่น ว่า ได้มีการแลกเปลี่ยนแนวคิดเรื่องนโยบายและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างกัน ในมิติใหม่ที่สอดรับกับสถานการณ์โลกหลังวิกฤตโควิด-19 โดยมีเป้าหมายส่งเสริมอุตสาหกรรมของกลุ่มเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ พลังงานสะอาด สุขภาพและการแพทย์

ทั้งนี้ ไทยมีความตกลงการค้าเสรีกับญี่ปุ่น ได้แก่ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน – ญี่ปุ่น (AJCEP) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การค้าระหว่างไทยและญี่ปุ่นเติบโตอย่างมาก

ที่มา : https://www.thaipost.net/economy-news/138495/

ADB สนับสนุนทางด้านสุขภาพ พลังงานสะอาด และถนนหนทางในกัมพูชา

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) มอบเงิน 25 ล้านดอลลาร์ เพื่อเสริมสร้างระบบสุขภาพของกัมพูชา โดยเฉพาะห้องปฏิบัติการและระบบควบคุมการป้องกันการติดเชื้อจากโควิด-19 ทั่วประเทศจำนวน 81 แห่ง ซึ่งในปีที่แล้ว ADB ได้สนับสนุนภาคเอกชนในการขยายโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานสะอาดในกัมพูชา โดยได้ให้เงินกู้นอกภาครัฐจำนวน 4.7 ล้านดอลลาร์แก่ Prime Road Alternative Company Ltd. เพื่อพัฒนาและดำเนินการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 60 เมกะวัตต์ ในจังหวัดกำปงชนัง โครงการนี้คาดว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เกือบ 111,000 ตันต่อปี อีกทั้ง ADB ยังได้สนับสนุนเงินช่วยเหลือจำนวน 82.1 ล้านดอลลาร์ ให้กับกัมพูชา เพื่อปรับปรุงและก่อสร้างถนนภายในประเทศเชื่อมกันระหว่างจังหวัด เหยื่อแวง-กันดาล ระยะทางประมาณ 48 กม.

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501063773/adb-focuses-on-health-clean-energy-roads-in-cambodia/

การเปลี่ยนแปลงทางด้านพลังงานสะอาดในกัมพูชา

จังหวัดกัมปอตจะเป็นที่ตั้งของฟาร์มกังหันลมแห่งแรกของกัมพูชา โดยถือเป็นก้าวสำคัญบนทิศทางของพลังงานทดแทนและพลังงานหมุนเวียนในกัมพูชา ซึ่งโครงการพลังงานทดแทนจากลมในกัมพูชากำลังใกล้เข้าสู่ขั้นตอนการก่อสร้าง โดย The Blue Circle (กัมพูชา) ถือเป็นบริษัทผู้ทำการศึกษาโครงการและอยู่ระหว่างการหารือกับการไฟฟ้าแห่งกัมพูชา (EDC) เกี่ยวกับต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในอนาคต ซึ่งโครงการพลังงานลมแห่งแรกของ Blue Circle ในกัมปอตสามารถผลิตไฟฟ้าสะอาดได้ถึง 225 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี โดยสามารถรองรับการใช้ไฟฟ้าของครัวเรือนได้ 150,000 ครัวเรือน และลดการปล่อย CO2 ได้มากกว่า 130,000 ตันต่อปี ซึ่งนี่เป็นสิ่งสำคัญสำหรับกัมพูชาในการบรรลุพันธสัญญาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของกรุงปารีสในปี 2015 และถือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศในอนาคต ซึ่งในปัจจุบันกัมพูชาพึ่งพาแหล่งพลังงานต่างๆเป็นหลักไม่ว่าจะเป็นพลังน้ำ ถ่านหิน น้ำมันเตา และพลังงานที่ทำการนำเข้ามาจากต่างประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50788448/winds-of-change-for-renewables-in-the-kingdom/