แนวโน้มศก.เวียดนาม ครึ่งหลังปี 66 มีทิศทางในเชิงบวก

องค์กรระหว่างประเทศและสื่อ ยังคงประเมินการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนาม มีทิศทางไปในเชิงบวกเป็นไปตามการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องและแนวโน้มในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ตามเว็บไซต์ Fibre2fashion ของสหรัฐได้อ้างรายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารแห่งชาติสิงคโปร์ (DBS) ระบุว่าถึงแม้เศรษฐกิจโลกจะเติบโตช้าลง แต่เศรษฐกิจเวียดนามก็สามารถเติบโตอย่างแข็งแกร่งกว่าหลายๆประเทศทั่วโลก และยังเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ทั้งนี้ IMF คาดการณ์ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจของเวียดนามจะฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมายที่ระดับ 4.5% ของธนาคารกลางเวียดนาม ในขณะเดียวกัน  ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโต 7% ในช่วงครึ่งปีหลัง

ที่มา : https://www.reuters.com/markets/commodities/vietnam-aims-raise-annual-raw-rare-earths-output-2-mln-tyr-by-2030-2023-07-25/

“องค์กรระดับโลก” มองแนวโน้มเศรษฐกิจเวียดนามไปในทิศทางที่เป็นบวก

ธนาคารโลก (WB) คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามที่ 6% ในปี 2566 ชะลอตัวลง 0.3% เมื่อเทียบกับตัวเลขคาดการณ์ในเดือน ม.ค. อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเศรษฐกิจของเวียดนามยังอยู่ในระดับสูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถึงแม้ว่าเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ตกต่ำ ขณะที่ธนาคารโลกรายงานว่าสถานการณ์การค้าทั่วโลกในปีนี้ อยู่ในทิศทางที่เป็นลบ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อบางประเทศที่พึ่งพาภาคการค้าเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญทางด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะมาเลเซียและเวียดนาม ทั้งนี้ องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD), ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด และธนาคารพัฒนาเอเชีย คาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเวียดนามในปีนี้ จะขยายตัว 6.5% อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญมองว่าเศรษฐกิจเวียดนามยังคงเผชิญกับความเสี่ยงหลายประการ ได้แก่ เงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง การดำเนินนโยบายแบบเข้มงวดในหลายประเทศ เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าฟื้นตัวช้า การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานโลก ความมั่นคงด้านพลังงานและอาหาร ภัยพิบัติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/reputable-organisations-optimistic-about-vietnam-s-economic-outlook-2154134.html