เกาหลีใต้ มอบเงินให้แก่ สปป.ลาว ในการพัฒนาชนบททางตอนใต้

เกาหลีใต้มอบเงินทุนสนับสนุน สปป.ลาว รวมมูลค่าประมาณ 9.4 ล้านดอลลาร์ เพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อม ความเป็นอยู่ของประชาชนในเขตชนบท 3 จังหวัด ทางตอนใต้ของ สปป.ลาว โดยมีเป้าหมายเพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างประชากรในชนบทและในเมือง ซึ่งโครงการนี้กำหนดเป้าหมายในหมู่บ้านนำร่องที่ได้รับการคัดเลือก 20 แห่ง ผ่านโครงการย่อย 5 โครงการ ที่มุ่งพัฒนาให้รายได้ของเกษตรกรเพิ่มสูงขึ้น และโครงการย่อยอีก 6 โครงการ เพื่อปรับปรุงมาตรฐานการครองชีพในหมู่บ้านเป้าหมาย เช่น ถนนหนทาง ระบบชลประทาน ระบบน้ำประปา เป็นสำคัญ โดยเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของสาธารณรัฐเกาหลี (KOICA) และกระทรวงเกษตรและป่าไม้ ได้จัดพิธีเปิดโครงการอย่างเป็นทางการที่อำเภอปากซอง ในจังหวัดจำปาสัก

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten101_Korea_to_y23.php

เศรษฐกิจไทยศักยภาพต่ำลง ซมพิษโควิด-19 ธปท.แนะรัฐปรับโครงสร้างทันที

ธปท.ชี้พิษโควิด-19 ทำเศรษฐกิจไทยศักยภาพต่ำลง การแข่งขันลด แต่ความเหลื่อมล้ำเพิ่มสวนทาง จี้รัฐปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจทันที ก่อน “ทุน” หมด พร้อมแนะหยุดมาตรการเบี้ยหัวแตก แจกเงินเหวี่ยงแห แต่เจาะกลุ่มที่จำเป็น นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงานสัมมนาวิชาการของ ธปท.ประจำปี 2563 ในหัวข้อ “ปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ทำอย่างไรให้เกิดได้จริง” ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 เพิ่มความรุนแรงของความเหลื่อมล้ำในเศรษฐกิจ และสังคมไทย ความเปราะบางในระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งลดทอนความสามารถในการแข่งขัน มากขึ้น ส่งผลต่อศักยภาพการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า ดังนั้น ต้องปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจให้เกิดผลได้จริง และต้องทำทันที เพื่อรองรับชีวิตวิถีใหม่ เพราะธุรกิจหลังโควิด-19 จะมีการแข่งขันสูงขึ้น นอกจากนี้ ต้องลดพึ่งพาภาคเศรษฐกิจใดภาคหนึ่งมากจนเกินไป จากปัจจุบัน ที่พึ่งพาการส่งออกมาก โดยต้องกระจายทรัพยากร และกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง โดยรัฐต้องสร้างแรงจูงใจให้เกิดการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ บนรากฐาน 3 ด้าน คือ 1.คนไทยและธุรกิจไทยต้องมีผลิตภาพสูง มีความสามารถในการแข่งขัน 2.ต้องมีภูมิคุ้มกันที่ดี รับมือสถานการณ์ต่างๆ ที่ผันผวน ซับซ้อนและคลุมเครือในอนาคต 3.การกระจายผลประโยชน์จากการเติบโตเศรษฐกิจ ต้องทั่วถึง ไม่เกิดความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้น  อย่างไรก็ตาม การดำเนินมาตรการหลังจากนี้ควรทำภายใต้แนวคิด 3 ด้านคือ 1.การเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะสั้น ต้องสอดคล้องกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ด้านที่ 2 การปฏิรูปโครงสร้างจะไม่เกิดขึ้นได้จริง หากไม่สามารถย้ายทรัพยากรจากภาคเศรษฐกิจหนึ่งไปสู่อีกภาคเศรษฐกิจหนึ่งได้ ดังนั้น รัฐต้องสนับสนุนการโยกย้ายทรัพยากรจากภาคเศรษฐกิจที่มีกำลังการผลิตส่วนเกินไปยังภาคเศรษฐกิจที่มีศักยภาพสูงกว่า ส่วนด้านที่ 3 ยกระดับชนบท โดยให้ท้องถิ่นเป็นเป้าหมายสำคัญของการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ เพราะโควิดทำให้แรงงานย้ายกลับภูมิลำเนามากกว่า 1 ล้านคน ซึ่งจะต้องทำให้แรงงานเหล่านี้ เปลี่ยนเป็นพลังพลิกฟื้นเศรษฐกิจในต่างจังหวัด.

ที่มา: https://www.thairath.co.th/news/business/1940138