ส.อ.ท. จี้รัฐรับมือเศรษฐกิจโลกยังหนัก

หลังจากประเมินสถานการณ์โดยรวมในปี 2563 ภาคเอกชนต้องปรับตัวกันครั้งใหญ่ เศรษฐกิจยังคงได้รับแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจโลก สงครามค่าเงินการเมือง แม้มีมาตรการกระตุ้นการลงทุน ข้อเสนอหลักคือต้องลดภาระ โดยขอให้รัฐพิจารณาเรื่องของการลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกอบการรายเล็กและประชาชนบางส่วน โดยการลดค่าไฟให้กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และบ้านพัก 5% เป็นระยะเวลา 1 ปี ขณะเดียวกันขอให้ลดภาษีนำเข้าเครื่องจักรใหม่ เพื่อการผลิตในสินค้าที่ไทยผลิตเองไม่ได้ ให้เหลือ 0% เป็นระยะเวลา 1 ปี นอกจากนี้การที่รัฐใช้แนวทางดึงหน่วยงานรัฐวิสาหกิจเข้ามา เพื่อเป็นอีกหนึ่งในเครื่องมือในการช่วยเศรษฐกิจฐานราก นอกจากนี้รัฐจำเป็นที่ต้องผลักดันให้แต่ละภาคถูกพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษตามศักยภาพของแต่ละพื้นที่ เพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์ ดึงการลงทุนเข้ามาเช่นเดียวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยภาคเหนือควรถูกยกเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (NEC) ให้เป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารและ Creative Economy เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคอีสาน(NEEC) ให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว อาหาร และLogistics Hub และเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) ให้เป็นเมืองอัจฉริยะและท่องเที่ยว รวมถึงอุตสาหกรรมฮาลาล

ที่มา: https://www.prachachat.net/economy/news-414443

รัฐมั่นใจ อีอีซี ดันไทยผงาดเอเชีย

สุริยะ เร่งเดินหน้า อีอีซี ดึงทุกภาคส่วนร่วมด้วยช่วยกันพัฒนาเศรษฐกิจ ให้ประเทศพ้นปัจจัยลบเศรษฐกิจโลกผันผวนย้ำ อีอีซี คือความหวังดันไทยผงาดภูมิภาคเอเชีย ขณะที่ อุตตม กล่าวถึงนักลงทุนทั้งไทย-ต่างประเทศต่างสนใจลงทุนภายในประเทศ มั่นใจเป็นโอกาสและจุดเปลี่ยนประเทศ ด้าน ณัฏฐพล เร่งแผนผลิตบุคลากรป้อน อีอีซี โดยนายสุริยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในงานสัมมนา “EEC NEXT: ทุนไทย-เทศ ปักหมุด EEC” หัวข้อ “ดึงอุตสาหกรรม เป้าหมายลงพื้นที่ EEC” ถึงสถานการณ์การแข่งขันทางการค้าและระบบเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 1 ปี ที่ผ่านมาที่สงครามการค้าระหว่างประเทศ ยักษ์ใหญ่อย่างจีนและสหรัฐ ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องส่งผลให้การส่งออกในภาพรวมของโลกชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่มั่นใจว่า อีอีซี จะช่วยยกระดับเศรษฐกิจไทยได้ ไม่ว่าจะเป็นโอกาสจากสภาพทางภูมิศาสตร์ที่มีความได้เปรียบในการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค และเป็นจุดยุทธศาสตร์ด้านโลจิสติกส์ ที่เป็นประตูสู่เชื่อมต่อไปยังประเทศเศรษฐกิจ

ที่มา : นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 21 พ.ย. 2562

กลุ่มทุนจีนปรับทัพย้ายฐานลง EEC ‘สมคิด’ ช่วยกล่อม

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์รองนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางเยือนมณฑลกวางตุ้งและเขตบริหารพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 20-25 ตุลาคม 2562 ทั้งนี้รัฐบาลจีน จะใช้เขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (Guangdong-Hong Kong-Macao Greater Bay Area) หรือ GBA เป็นตัวเชื่อมระหว่างจีนกับโลกภายนอกโดยเฉพาะอย่างยิ่งอาเซียน ขณะที่ประเทศไทยในฐานะเป็นศูนย์กลาง CLMVT และอาเซียนมีแผ่นดินเชื่อมกับจีนด้วย ขณะที่ ไทยให้ความสำคัญกับจีนเป็นอย่างมาก โดยการเป็นประเทศคู่ค้าและหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา นอกจากนี้ไทยยังเชื่อมั่นกับฮ่องกงในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาค จากนโยบาย Belt and Road ของจีนเชื่อมกับโลกทุกมิติ โดยเฉพาะกลุ่ม CLMV ของไทย เป็นประตูส่งผ่านค้าออกไปทั่วโลก ซึ่งนักธุรกิจจีนสนใจมาลงทุนไทยเพื่อเลี่ยงผลกระทบจากสงครามการค้า ขณะที่นักลงทุนฮ่องกง เลี่ยงผลกระทบจากความไม่สงบของการเมืองในประเทศฮ่องกง นอกจากนี้ การที่นายสมคิดนำคณะเดินทางไปโรดโชว์การลงทุน ณ มณฑลกวางตุ้ง และเขตบริหารพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน จะยิ่งเพิ่มความน่าสนใจให้พื้นที่ EEC

ที่มา : https://www.naewna.com/business/449519