COVID-19 ส่งผลกระทบต่อแรงงานอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มในกัมพูชา

การระบาดทั่วโลกของ COVID-19 กำลังส่งผลทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง รวมถึงส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในกัมพูชาซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในภูมิภาค ซึ่งโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าที่ต้องพึ่งพาวัตถุดิบจากประเทศจีน ในขณะที่การผลิตลดลงในประเทศจีนเจ้าของโรงงานในกัมพูชาได้เริ่มหยุดดำเนินการและตัดทอนแรงงานลง ซึ่งโรงงาน 10 แห่งในกัมพูชาแจ้งรัฐบาลว่าจะระงับการผลิต และคาดว่าจะมีโรงงานอีกกว่า 200 แห่งในภาคอุตสาหกรรมที่จะหยุดการดำเนินงานหรือลดกำลังการผลิตลง โดยจากแหล่งข่าวรายงานว่าแรงงานกัมพูชา 5,000 คนตกงานแล้ว ซึ่งโรงงานที่หยุดการดำเนินงานจะต้องจ่ายค่าแรง 60% ของค่าแรงขั้นต่ำ ในช่วงพักงานพนักงานจะต้องได้รับการฝึกอบรมที่จัดทำโดยกระทรวงแรงงานและอาชีวศึกษาในสถานที่ทำงาน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50701601/covid-19-impacts-garment-workers-in-cambodia/

การจัดเก็บภาษีของกรมศุลกากรเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

กรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) กล่าวว่าการจัดเก็บภาษีมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 19.5% ต่อปี ตั้งแต่ปี 2014 จากการกำกับดูแลที่ดีของ GDCE ซึ่งสะท้อนจากการปฏิรูปการทำงานในระยะเวลาที่ผ่านมา ซึ่งจากข้อมูลของ GDCE รายได้จากภาษีนำเข้าปี 2019 เพิ่มขึ้นมากกว่า 30% และจากภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ประมาณ 29% โดยแหล่งรายได้หลักสำหรับปี 2019 คือการนำเข้ายานพาหนะและเครื่องจักรซึ่งจากข้อมูลของ GDCE นั้นคิดเป็น 50% ของรายได้ทั้งหมด เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา GDCE ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการระบาดใหญ่ของโลก ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อแผนการประจำปีสำหรับการจัดเก็บภาษีสำหรับปีนี้แผนประจำปีของ GDCE คือการจัดเก็บภาษีให้ถึง 2.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยกรมสรรพากร (GDT) ในเวลาเดียวกันได้เตือนถึงการระบาดของ COVID-19 จะลดรายได้ที่สามารถเก็บได้ในปีนี้ ผู้อำนวยการ GDT กล่าวว่าไวรัสยังคงสร้างการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจท้องถิ่นเป็นอย่างมาก ซึ่งรัฐบาลกำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพราะไม่ทราบถึงการระบาดของ COVID-19 จะสิ้นสุดลงเมื่อใด

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50701921/custom-revenue-grows-by-almost-20-percent-over-last-five-years/

กลุ่มยางวางแผนที่จะสร้างโรงงานแปรรูปในภาคเหนือ

จากข้อมูลของกลุ่มยางเวียดนาม (Vietnam Rubber Group – VRG) ได้ลงทุนก่อสร้างโรงงานแปรรูปจำนวน 3 โรงงานในภาคเหนือ เนื่องมาจากผลผลิตยางจะเพิ่มขึ้นเร็วๆนี้ ดังนั้น ในปี 2565 บริษัทยาง Lai Chau จะดำเนินลงทุนในสายการผลิตน้ำยางข้น (SVR10,SVR20) ด้วยกำลังการผลิตอยู่ที่ 3,000 ตันต่อปี เพื่อที่จะรองรับกับบริษัทในภาคเหนือ ทั้งนี้ ในปัจจุบัน กลุ่มยางเวียดนาม (VRG) มีโรงงานแปรรูปยางในจังหวัด Son La ด้วยกำลังการผลิต 6,000 ตัน และในจังหวัด Lai Chau ด้วยกำลังการผลิต 5,000 ตันต่อปี ซึ่งในปี 2566 ทางกลุ่มยางเวียดนามจะเริ่มก่อสร้างโรงงานแปรรูปยาง (เฟส 2) ในจังหวัด Lai Chau ด้วยกำลังการผลิต 4,000 ตันต่อปี ส่งผลให้กำลังการผลิตรวมอยู่ที่ 9,000 ตันต่อปี ขณะเดียวกัน โรงงานทั้งสองแห่งนี้คาดว่าจะตอบสนองต่อความต้องการทั้งภูมิภาค

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/rubber-group-plans-to-build-three-processing-plants-in-northern-region/170134.vnp

ยอดขายซุปเปอร์มาร์เก็ตพุ่งสูงขึ้น ขณะที่ตลาดสดดิ่งลง

จากรายงานของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า เปิดเผยว่ารายได้ของธุรกิจภาคการค้าในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องมาจากผลกระทบของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้มีความต้องการสินค้าจำเป็นมากยิ่งขึ้น โดยสินค้าส่วนใหญ่ที่คนซื้อ คือกลุ่มอาหารที่จำเป็น ได้แก่ ปศุสัตว์และเนื้อสัตว์ปีก ไข่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและผัก เป็นต้น สำหรับทางฝั่งซุปเปอร์มาร์เก็จยังคงต้องส่งเสริมช่องทางอีคอมเมิร์ซ เพื่อที่จะตอบสนองความต้องการของผู้คนเมื่อเผชิญกับสถานการณ์ดังกล่าว เพราะว่าราคาอาหารในซุปเปอร์มาร์เก็ตหลังจากช่วงปีใหม่ ยังมีเสถียรภาพอยู่และต่ำกว่าเมื่อเทียบกับตลาดสด สำหรับปริมาณขายสินค้าของตลาด ลดลงร้อยละ 50-70 ขณะที่รายได้ลดลงร้อยละ 50-80 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดไวรัส นอกจากนี้ ลูกค้ายังคงกังวลที่จะไปยังสถานที่แออัด ดังนั้น รายได้จากอีคอมเมิร์ซของบางธุรกิจนั้น ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 20-30

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/sales-at-supermarkets-surge-wet-markets-drop/170116.vnp

เมียนมาตั้งทีมงานเยียวยาเศรษฐกิจสำหรับ Covid-19

เมียนมาได้ตั้งคณะทำงานเพื่อร่างแผนการแก้ไขผลกระทบทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นจาก Covid-19 โดยร่วมมือระหว่างกระทรวงและองค์กรของรัฐบาลเมื่อวันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการมีหน้าที่หกประการ มีเป้าหมายเพื่อใช้มาตรการฉุกเฉินและร่างแผนระยะสั้นและระยะยาว เพื่อลดปัญหาทั้งจากการค้าและการท่องเที่ยว สร้างงานใหม่สำหรับคนที่ว่างงานทำและฝึกอบรมสายอาชีพให้ หาวิธีการนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศอื่น ๆ แทนที่จะพึ่งพาจีน เนื่องจากเหตุการณ์ที่คล้ายกัน เช่น Covid-19 ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ในระยะยาว บริษัทจำเป็นต้องนำระบบซัพพลายเชนมาใช้โดยการจัดตั้งอุตสาหกรรมการทอผ้า การถัก การย้อม และการตัดเย็บ คณะกรรมการจะยื่นข้อเสนอต่อสำนักงานประธานาธิบดีเกี่ยวกับการยกเว้นภาษีและการลดหย่อนภาษีหาก Covid-19 มีผลกระทบต่อธุรกิจขนาดเล็กและขนาดย่อมในท้องถิ่น เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่กระจายของ Covid-19 รัฐบาลได้สั่งห้ามให้มีการชุมนุมตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคมถึง 30 เมษายน 2563

ที่มา: https://elevenmyanmar.com/news/myanmar-president-office-forms-economic-remedy-committee-for-covid-19

COVID-19 พ่นพิษ แรงเมียนมาตกงานกว่า 4,000 คน

กระทรวงตรวจคนเข้าเมืองและประชากรของเมียนมาชี้มีแรงงานกว่า 4,000 คนตกงานตั้งแต่ต้นปีเนื่องจากการปิดตัวและลดจำนวนแรงงานใน 15 โรงงาน และมีโรงงานอีก 20 แห่งที่ยื่นคำร้องขอระงับการดำเนินการ เหตุผลหลักๆ คือการขาดวัตถุดิบและไม่มีคำสั่งซื้อของสินค้า จากปัญหาการแพร่ระบาดของ COVID-19 และปัญหาการเช่าที่ดิน สำหรับโรงงานที่ได้รับผลกระทบ 15 แห่ง ปิดอย่างถาวรไปแล้ว 9 แห่ง ปิดชั่วคราว 6 แห่ง และอีก 2 แห่งลดจำนวนแรงงานลง คนงานที่ว่างงานจะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านการดูแลสุขภาพขึ้นอยู่กับเงินสมทบประกันสังคม แต่ไม่ใช่สวัสดิการการว่างงาน โรงงานเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ในเขตย่างกุ้ง, พะโคและเขตอิรวดีโดยส่วนใหญ่ผลิตกระเป๋า รองเท้า และเครื่องนุ่งห่ม ในบรรดาผู้ที่ตกงานเป็นชาวจีนและชาวเกาหลีที่ทำในโรงงานเหล่านี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าตั้งแต่ต้นปีโรงงานเปิดใหม่สร้างงานได้ถึง 6,000 ตำแหน่ง

ที่มา: https://www.mmtimes.com/news/4000-workers-myanmar-unemployed-over-shutdown-workforce-reduction.html

ประชาชนตื่นรับมือวิกฤติโคโรนาแห่ซื้อสินค้าจำเป็นเข้าบ้าน ข้าวสาร น้ำดื่ม อาหารกระป๋อง ทิชชูยอดฮิต

จากการสำรวจของ”ฐานเศรษฐกิจ” ในช่วงสุดสัปดาห์ พบว่าจากกระแสที่ประชาชนเริ่มกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาหรือโควิด-19ว่าจะกินระยะเวลายาวไปนานแค่ไหนยังไม่มีใครตอบได้ อีกทั้งการแพร่ระบาดก็เพิ่มขึ้น ทำให้ประชาชนจำนวนมากออกมาจับจ่ายซื้อสินค้าจำเป็นในช่วงสุดสัปดาห์  โดยพบว่ามีสินค้าที่วางขายตามห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ต ห้างค้าปลีก บางประเภทเริ่มขาด  เช่น น้ำดื่ม บางยี่ห้อ ข้าวสาร อาหารกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป น้ำตาลทราย  และกระดาษทิชชูบางยี่ห้อ   จากการสอบถามของพนักงานขายที่ร้านโมเดิร์นเทรดแห่งหนึ่งในย่านลาดพร้าว  ยอมรับว่าช่วงวันหยุดสินค้าจำเป็นหลายอย่างขายดี บางช่วงขาดต้องรอมาเติมเป็นระยะ

ที่มา: https://www.thansettakij.com/content/Macro_econ/424832?utm_source=homepage_hilight&utm_medium=internal_referral

สหรัฐอเมริกาสนับสนุนงบประมาณแก่สปป.ลาวในการป้องกัน Covid-19

รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้สนับสนุนงบประมาณ 1.9 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ในการช่วยเหลือสปป.ลาว .ในการป้องกันการแพร่กระจายของ Covid-19 และยังมีการพัฒนาบุคลากรด้านสาธารณสุขของสปป.ลาวเพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพด้านสาธารณสุขมากขึ้น โดยโครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างกรมควบคุมโรคติดต่อสหรัฐฯ (DCDC)และกระทรวงสาธารณสุขสปป.ลาวภายใต้การสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลก (WHO) อีกด้วย ทำให้การดำเนินการดังกล่าวมีประสิทธิภาพ ในปัจจุปันนอกจากปัญหาเรื่องความยากจนที่เป็นปัญหาเรื้อรังของสปป.ลาวที่กำลังเผชิญอยู่ ปัญหาที่สำคัญอีกอย่างที่ต้องได้รับการแก้ไขคือปัญหาการเข้าถึงระบบสาธารณสุขต่างๆ ของสปป.ลาวที่ในปัจจุบันมีประชากรมากกว่าร้อยละ 50 ที่ได้รับการรักษาที่ไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นการได้รับเงินสนับสนุนดังกล่าวไม่เพียงเป็นการช่วยสนับสนุนการป้องกันไวรัส Covid-19 แต่จะทำให้ระบบสาธารณสุขของสปป.ลาวมีความั่นคงและประสิทธิภาพมากขึ้น

ที่มา : http://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_USA_53.php