สปป.ลาวประสบปัญหานักท่องเที่ยวตกต่ำเนื่องจากโควิด-19 รุนแรงมากขึ้น

จำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศและต่างประเทศที่มาเยือนแต่ละแขวงของสปป.ลาวลดลงอย่างมากในปีที่แล้วเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 62 เนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด -19 แขวงจำปาสักลดลงประมาณ 90 % เมื่อเทียบกับปี 62 ในจำนวนนี้เป็นชาวต่างชาติ 142,435 คนลดลง 68 % เมื่อเทียบกับปี 62 อย่างไรก็ตามทางแขวงมีความหวังว่าการท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นในปีนี้และตั้งเป้าหมายไว้ที่ 283,000 คนในปี 64 ด้านเมืองวังเวียง แขวงเวียงจันทน์ นักท่องเที่ยวคนลดลงประมาณ 35 % โดยคาดว่าในปีนี้จะมีผู้คนมาเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวริมแม่น้ำมากขึ้นและตั้งเป้าจะมีนักท่องเที่ยวชาวสปป.ลาวอย่างน้อย 300,000 คน หากการระบาดลดลงจะมีนักท่องเที่ยวชาวสปป.ลาวและชาวต่างชาติไม่ต่ำกว่า 500,000 คน  แขวงอุดมไซเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก มีนักท่องเที่ยวชาวสปป.ลาวและชาวต่างชาติเพียง 100,000 คนเท่านั้น ซึ่งลดลงประมาณ 40% เมื่อเทียบกับปี 62 ทำให้แขวงกำลังเร่งปรับปรุงที่พัก จัดกิจกรรมใหม่ ๆ และปรับปรุงคุณภาพการบริการเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มากขึ้นในปีนี้

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Province18.php

สปป.ลาวปรับปรุงชลประทานเพื่อการผลิตทางการเกษตรที่ยั่งยืน

โครงการปรับปรุงชลประทานนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อแก้ไขปัญหาด้านชลประทานรวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในชนบทและการจัดการลุ่มน้ำในจังหวัดที่เป็นภูเขาทางตอนเหนือของสปป.ลาว โดยใช้แนวทางการวางแผนการใช้ที่ดินแบบบูรณาการที่มีประสิทธิภาพยั่งยืนและยืดหยุ่นได้ นอกจากนี้โครงการนี้จะช่วยเพิ่มเป้าหมายการส่งออกข้าวของรัฐบาลในปีนี้ไปยังตลาดโลก เนื่องจากสปป.ลาวมีแผนส่งข้าวขัดสี 2,000 ตันไปยังจีนในเดือนมกราคมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงโควต้าการค้าระหว่างรัฐบาลลาวและจีน โครงการดังกล่าวจะเป็นส่วนช่วยสำคัญในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรของสปป.ลาวอย่างมีประสิทธิภาพ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Norther18.php

กัมพูชาเกินดุลการชำระเงิน (BOP) ในปี 2020

ดุลการชำระเงินของกัมพูชา (BOP) เกินดุลร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในปี 2020 โดยมีการเติบโตที่ได้รับแรงหนุนจากการไหลเข้าของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศและการส่งออกตามรายงานของธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) ซึ่งการส่งออกรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.9 ในปี 2020 จากการส่งออกทองคำ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ จักรยาน ข้าว และยางพารา อย่างไรก็ตามการส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่มที่ถือเป็นสินค้าสำคัญลดลงประมาณร้อยละ 7.8 โดยรายงานของ NBC ระบุว่าการนำเข้าทั้งหมดที่มายังกัมพูชาลดลงร้อยละ 10.1 ในปี 2020 ซึ่งการลดลงเป็นผลมาจากการชะลอตัวของการนำเข้าวัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมเสื้อผ้า รองเท้า วัสดุก่อสร้าง ยานยนต์และเชื้อเพลิง ในส่วนของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของกัมพูชาในปี 2020 ลดลงร้อยละ 11.9 ในปี 2020 เช่นเดียวกัน สาเหตุหลักมาจากการลดลงของการลงทุนในภาคธนาคาร (ลดลงร้อยละ 14.2) และภาคการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (ลดลงร้อยละ 9.8)

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50807074/payments-balance-up-kingdom-sees-a-1-7-percent-surplus-in-2020/

การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชากับไทยต่ำกว่าเป้าหมาย

การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและไทยในปี 2020 ต่ำกว่าเป้าหมาย โดยทำได้เพียงครึ่งหนึ่งของเป้าหมายที่ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ที่รัฐบาลทั้งสองประเทศกำหนดไว้ในปี 2015 ซึ่งในปี 2019 การค้าทวิภาคีระหว่างสองประเทศมีมูลค่าอยู่ที่ 7.236 พันล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 23 ตามข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ของไทย โดยการส่งออกของกัมพูชาไปยังไทยในปี 2020 มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 1.148 พันล้านดอลลาร์ ลดลงอย่างมากถึงร้อยละ 49.5 ส่วนกัมพูชานำเข้าสินค้าจากไทยมูลค่ารวมอยู่ที่ 6.089 พันล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 14.8 เมื่อเทียบกับปี 2019 ซึ่งเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยประจำกัมพูชากล่าวว่า โควิด-19 ถือเป็นส่วนที่ทำให้ทำให้การขนส่งสินค้าระหว่างสองประเทศเป็นเรื่องยาก แต่นักลงทุนและนักธุรกิจไทยยังคงมั่นใจในศักยภาพการลงทุนในกัมพูชาและยังคงมีการแสวงหาโอกาสในการลงทุนอยู่อย่างสม่ำเสมอ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50807076/thai-cambodia-2020-bilateral-trade-below-goal-by-50-percent/

“โควิด-19” ไม่สะเทือนเวียดนามรัฐ-เอกชนมองเศรษฐกิจยังโตต่อเนื่อง

นายฟัน จิ้ ทัน เอกอัครราชทูตเวียดนามประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจของเวียดนามในปี 64 ถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี  โดยองค์กรการเงินระหว่างประเทศ อาทิ ธนาคารโลก (World Bank) ,กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ “ไอเอ็มเอฟ” (International Monetary Fund : IMF) และธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ “เอดีบี” (Asian Development Bank : ADB) คาดการณ์ไว้ว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ “จีดีพี” (GDP) จะเติบโตอยู่ที่ 6.5-7.0% ทั้งนี้ เนื่องจากเวียดนามเป็นประเทศที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 (Covid-19) ได้ตั้งแต่ช่วงแรก ส่งผลทำให้แม้ว่าปี 63 เศรษฐกิจทั่วโลกจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่เวียดนามเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกที่มี GDP เติบโตถึง 2.91 % ในปี 63 โดยอัตราการเติบโตของ GDP เวียดนามในช่วงปี 2559-2563 เฉลี่ยอยู่ที่ 5.9% ซึ่งเป็นการเติบโตที่สูงที่สุดในโลก นอกจากนี้ ในอีก 5 ปี (2564-2568) ข้างหน้ารัฐบาลเวียดนามได้วางแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ 10 ปี การพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจฉบับใหม่ปี 2564-2573 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาแห่งชาติเวียดนามที่คาดว่าจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศให้มีการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเดินหน้าพัฒนาความสัมพันธ์แบบทวิภาคีกับประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทยที่สามารถนำไปสู่การสร้างโอกาสใหม่ๆ สำหรับนักลงทุนไทยที่จะเข้ามาในประเทศเวียดนามมากขึ้นในอีก 5 ปีข้างหน้า

ที่มา : https://www.thansettakij.com/content/466134