คลังชี้เศรษฐกิจดีขึ้น การบริโภคภาคเอกชนช่วยหนุน

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมกราคม 2566 ว่า “เศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 และสูงสุดในรอบ 26 เดือน ขณะที่แรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อลดลงต่อเนื่อง”

โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือนมกราคม 2566 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 10.1% และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 2.1% ขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -2.1% แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 32.3%

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ในเดือนมกราคม 2566 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -7.3% แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า 6.6%

เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน ปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยภาคการเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือนมกราคม 2566 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 2.7% ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตสำคัญ อาทิ ยางพารา ข้าวโพด และผลผลิตในหมวดไม้ผล เป็นต้น

ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ในเดือนมกราคม 2566 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 93.9 จากระดับ 92.6 ในเดือนก่อนหน้าองค์ประกอบที่สำคัญของดัชนีฯ ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดีและแรงกดดันจากระดับราคาสินค้าลดลงต่อเนื่องสะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมกราคม 2566 อยู่ที่ 5.02% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 3.04% ส่วนสัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565 อยู่ที่ 60.7% ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561

ที่มา: https://www.naewna.com/business/713999

ราคาอ้างอิงน้ำมันปาล์มขายส่งตลาดย่างกุ้ง พุ่งขึ้น ! ในสัปดาห์นี้

คณะกรรมการกำกับดูแลการนำเข้าและจัดจำหน่ายน้ำมันเพื่อการบริโภคของเมียนมา เผย ราคาอ้างอิงน้ำมันปาล์มขายส่งของเมียนมา (วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566) ณ ตลาดย่างกุ้ง อยู่ที่ 4,600 จัตต่อ viss (1 viss เท่ากับ 1.66 กิโลกรัม) พุ่งสูงขึ้นจากราคาอ้างอิงของสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ 4,470 จัตต่อ viss เป็นผลมาจากผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลกอย่างมาเลเซียและอินโดนีเซียจำกัดการส่งออกน้ำมันปาล์ม ส่งผลให้ราคาซื้อ-ขายในตลาดของเมียนมาอาจพุ่งขึ้นไปถึง 6,000-7,000 จัตต่อ viss ซึ่งสูงกว่าราคาอ้างอิงเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ ปริมาณการใช้น้ำมันปาล์มในประเทศอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านตันต่อปี แต่เมียนมาสามารถผลิตได้เพียง 400,000 ตัน จึงจำเป็นต้องนำเข้าจากมาเลเซียและอินโดนีเซียประมาณ 700,000 ตันต่อปี เพื่อให้เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/palm-oil-reference-price-for-yangon-region-rebounds-this-week-ending-5-march/

ปี 66 สปป.ลาว เตรียมแผนรับมือนักท่องเที่ยวจีนทะลักเข้าประเทศ

การประชุมของกรมพัฒนาการท่องเที่ยว กระทรวงสารสนเทศ วัฒนธรรม และการท่องเที่ยวของสปป.ลาว เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566) นางโฟนมาลี อินทผาลัม อธิบดีกรมพัฒนาการท่องเที่ยว ได้คาดการณ์ว่า ปี 2566 จะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าประเทศราว 368,000 คน เพิ่มขึ้น 21% เมื่อเทียบกับปี 2565 โดยในการประชุมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อหารือเกี่ยวกับแผนการเตรียมความพร้อมการรับมือกับนักท่องเที่ยวจีนที่จะเริ่มเดินทางเข้ามาสปป.ลาว ซึ่งการหารือจะประกอบไปด้วย การปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวก การเดินทางภายในประเทศ สถานที่ท่องเที่ยว โรงแรม ภัตตาคาร บริษัทท่องเที่ยว มัคคุเทศก์ ร้านขายของที่ระลึก การบริการ และการรักษาความปลอดภัย ทั้งนี้ ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2562 มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าสปป.ลาว จำนวน 1,022,727 คน แต่ในปี 2565 มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาสปป.ลาว เพียง 45,249 คน

ที่มา: https://english.news.cn/20230228/b92c4946f6044de29fd524aebed39e6b/c.html

การส่งออกของกัมพูชาไปยังเกาหลีใต้ ภายใต้เขตการค้าเสรีขยายตัวต่อเนื่อง

การส่งออกของกัมพูชาไปยังเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก เนื่องจากก่อนหน้าทางการกัมพูชาได้ลงในข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างกันในช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งเกาหลีใต้ตกลงที่จะยกเว้นภาษีในอัตราร้อยละ 95.6 ของผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากกัมพูชา และกัมพูชาได้ยกเว้นในอัตราร้อยละ 93.8 ของสินค้านำเข้าจากเกาหลีใต้ โดยกัมพูชาส่งออกสินค้ามูลค่ารวมกว่า 44.3 ล้านดอลลาร์ ไปยังเกาหลีใต้ ในเดือนมกราคมขยายตัวกว่าร้อยละ 39.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้าสินค้าของกัมพูชาจากเกาหลีกลับลดลงร้อยละ 34 หรือคิดเป็นมูลค่า 47.4 ล้านดอลลาร์ ซึ่งส่วนใหญ่กัมพูชาส่งออก รองเท้า เครื่องแต่งกายชนิดต่างๆ รวมถึงผลิตภัณฑ์เพื่อการท่องเที่ยว เครื่องดื่ม ส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เป็นสำคัญ ส่วนการนำเข้าของกัมพูชาจากเกาหลีใต้ ส่วนใหญ่ ได้แก่ รถยนต์ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ในครัวเรือน เครื่องดื่ม ยา และผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป โดยทั้งสองประเทศได้คาดการณ์ว่ามูลค่าการค้าทวิภาคีจะมีมูลค่าสูงถึง 1 พันล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501245624/cambodias-export-to-south-korea-swells-under-fta/

ฮุนเซนคาดเศรษฐกิจกัมพูชายังคงมีความยืดหยุ่นในภาวะเศรษฐกิจโลกปัจจุบัน

นายกรัฐมนตรีฮุนเซนกล่าวในระหว่างพิธีสำเร็จการศึกษาที่จัดขึ้น ณ Royal University of Phnom Penh (RUPP) ถึงสภาวะเศรษฐกิจกัมพูชายังคงรักษาความยืดหยุ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้จะประสบกับปัจจัยภายนอกทางเศรษฐกิจ สะท้อนจากตัวเลขทางเศรษฐกิจมหภาค โดยเศรษฐกิจกัมพูชายังคงมีการขยายตัวในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของกัมพูชา (GDP) ในปี 2023 จะขยายตัวที่ร้อยละ 5.6 จากที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 6.6 ขณะที่เศรษฐกิจโลกคาดว่าจะเติบโตร้อยละ 2.7 ภายใต้สถานการณ์ด้านอัตราแลกเปลี่ยนและเงินเฟ้อกัมพูชาที่ยังคงควบคุมได้ แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังเนื่องจากปัจจัยภายนอกโดยเฉพาะราคาน้ำมันในตลาดโลกจากผลกระทบของสงครามระหว่าง รัสเซีย-ยูเครน ด้าน Vongsey Vissoth รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจและการเงิน (MEF) ได้กล่าวเสริมว่าปัจจุบันรัฐบาลได้มีการกำหนดกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจมหภาค รวมไปถึงทางด้านการเงินเกี่ยวกับการเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับระบบเศรษฐกิจ เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์และปัจจัยภายนอกในช่วง 2023

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501245617/cambodias-economy-resilient-despite-external-factors-says-pm-hun-sen/

“เวียดนาม” ตั้งเป้าส่งออกสินค้าสัตว์น้ำปี 68 ที่ 1 พันล้านดอลลาร์

โครงการส่งเสริมเกษตรด้านการประมง ในปี 2573 โดยมีวิสัยทัศน์ถึงปี 2588 ได้ตั้งเป้าหมายว่าเวียดนามจะมีมูลค่าการส่งออกสินค้าสัตว์น้ำ อยู่ที่ 800,000 – 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 และจะมีพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำรวมทั้งสิ้น 280,000 เฮกตาร์ สร้างผลผลิตปีละ 850,000 ตัน ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของโครงการนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาคอขวดและปรับเปลี่ยนการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของเวียดนามให้ยกระดับขึ้นมาเป็นอุตสาหกรรมการผลิตขนาดใหญ่ ตลอดจนต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีความยั่งยืน นอกจากนี้ จากข้อมูลของกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท ระบุว่าในปีนี้ เวียดนามมีสถานเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในทะเล ประมาณ 7,447 แห่ง โดยครอบคลุมพื้นที่กว่า 85,000 เฮกตาร์

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-eyes-1-billion-usd-from-seaculture-product-exports-by-2025/248993.vnp

“เวียดนาม” เผย ม.ค.-ก.พ. ยอดทุนต่างชาติไหลเข้า 2.55 พันล้านดอลลาร์ ลดลง 4.9%YoY

กระทรวงวางแผนและการลงทุนเวียดนาม (MPI) เปิดเผยว่าการเบิกจ่ายเงินทุนของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในเวียดนามในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ อยู่ที่ 2.55 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 4.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อีกทั้ง จำนวนเม็ดเงินทุนจากการเบิกจ่ายในอนาคต ลดลง 38% คิดเป็นมูลค่า 3.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 2 เดือนเช่นเดียวกัน โดยเงินทุนข้างต้นส่วนใหญ่กว่า 70% ลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูป ในขณะที่ 12.8% ลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์

ที่มา : https://www.channelnewsasia.com/business/vietnam-jan-feb-fdi-inflows-seen-down-49-y-y-255-billion-planning-ministry-3307936

ทางการกัมพูชาอนุมัติโครงการลงทุนใหม่ 3 โครงการ มูลค่ารวม 17 ล้านดอลลาร์

สภาเพื่อการพัฒนาแห่งกัมพูชา (CDC) ได้อนุมัติโครงการลงทุนใหม่ 3 โครงการ ด้วยเม็ดเงินลงทุนรวม 17.6 ล้านดอลลาร์ ซึ่งโครงการแรกเป็นของ บริษัท Pengjiao (Cambodia) Industrial Co., Ltd. โครงการถัดไปเป็นชอง บริษัท Zhong Shan Teng Fei (Cambodia) Packaging Material Co., Ltd. และโครงการสุดท้ายเป็นของ บริษัท SSH CB Sustainable Fashion Co., Ltd. โดยทั้งสามบริษัทจะลงทุนสร้างโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าและวัสดุบรรจุภัณฑ์ในจังหวัดตาแก้วและกัมปงสปือ ซึ่งคาดว่าจะสร้างงานให้กับคนในท้องถิ่นประมาณ 6,480 ตำแหน่ง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501244833/three-more-investment-projects-worth-over-17-million-approved/