ผลผลิตถั่วลูกไก่ ทะลักเข้าตลาดมัณฑะเลย์ ฉุดราคาดิ่งลง

สมาคมผู้ค้าถั่วและงาของเมียนมา เผย วันที่ 1 ธันวาคม 2565 ราคาถั่วลูกไก่ในเมียนมาอยู่ระหว่าง  180,000 ถึง 205,000 จัตต่อ 56.25 visses ต่อมาในวันที่ 21 ธันวาคม ราคาลดลงเหลือ 170,000 ถึง 183,000 จัตต่อ 56.25 visses เนื่องจากในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตจากภาคมัณฑะเลย์ออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ซึ่งผลผลิตทางการเกษตรของเมียนมาพืชตระกูลถั่วและถั่วพัลส์มีผลผลิตและการเพาะปลูกมากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ คิดเป็น 33% ของผลผลิตทางการเกษตรและครอบคลุม 20% ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด ซึ่งภาคการเกษตรของเมียนมาถือเป็นกระดูกสันหลังทางเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์เมียนมา พบว่า ตั้งแต่เดือนเมษายน 2565 จนถึงปัจจุบัน เมียนมาส่งออกถั่วลูกไก่มากกว่า 18,000 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 12.678 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/new-entry-to-domestic-market-plummets-chickpea-price/#article-title

โรงแรมเผยต่างชาติเที่ยวไทยฟื้นตัวดันอัตราเข้าพักเกิน 80%

นายศึกษิต สุวรรณดิษฐกุล นายกสมาคมโรงแรมภาคใต้ เปิดเผยว่า ยอดจองล่วงหน้าในเดือนกุมภาพันธ์นี้ มีเข้ามาประมาณ 60-70% แล้ว รวมถึงเดือนมีนาคมด้วย โดยเฉพาะตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพราะใกล้จะหมดเดือนมกราคม ทำให้ยอดจองล่วงหน้าจะทยอยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดการณ์อัตราเข้าพักฟื้นตัวขึ้นมาเกิน 80% เทียบกับเดือนธันวาคม 2565  เช่น กลุ่มตลาดที่มาท่องเที่ยวภูเก็ต 5 อันดับแรก ได้แก่ รัสเซีย (28%) อินเดีย (10%) ออสเตรเลีย (5%) บริติช (5%) คาซัคสถาน (4.3%) โดย 5 ชาตินี้เป็น 53%. ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดที่เข้ามาภูเก็ต และมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามาช่วยเสริมบ้าง แต่ด้วยเที่ยวบินที่ยังมีจำกัด ทำให้ชาวจีนเข้ามาเที่ยวยังเป็นจำนวนที่น้อยอยู่ ซึ่งประเมินเฉพาะจำนวนเที่ยวบินจากจีนเข้าภูเก็ต เริ่มมีมากขึ้นแล้ว อาทิเช่น วันที่ 18 มกราคม ที่ผ่านมา มี 3 สายการบินเข้ามา, วันที่ 20 มกราคม มีเข้ามา 2 สายการบิน ทำให้ขณะนี้จำนวนผู้โดยสารที่สนามบินและเที่ยวบินฟื้นตัว 70% ได้แล้วเทียบกับปี 2562

ที่มา: https://www.matichon.co.th/economy/news_3786301

“ตลาดธุรกิจพื้นที่ค้าปลีกของเวียดนาม” แนวโน้มเติบโตในปี 2566

ตลาดพื้นที่ค้าปลีก (Retail space) ของเวียดนามมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างแข็งแกร่งในปี 2566 ตามการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมค้าปลีก โดยเฉพาะการลงทุนระลอกใหม่ของแบรนด์ดังจากต่างประเทศ ในส่วนของมุมมองของผู้เชี่ยวชาญอย่าง คุณ Nick Bradstreet หัวหน้าฝ่ายตลาดค้าปลีกของ Savills’ Asia-Pacific กล่าวว่าแบรนด์ค้าปลีกชื่อดังหลายแห่งได้พิจารณาขยายการดำเนินธุรกิจในเวียดนาม เนื่องจากเศรษฐกิจมีความแข็งแกร่งและเล็งเห็นถึงศักยภาพของเวียดนาม ยกตัวอย่างเช่น บริษัทลอตเต้ (Lotte) เดินหน้าทำโปรเจกต์ใหม่ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ท้าทายแก่เวียดนามในปัจจุบัน คือ ศูนย์การค้ายังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ค้าปลีกต่างชาติ

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-retail-real-estate-market-expects-growth-in-2023-2103611.html

ประเมินเศรษฐกิจเวียดนาม 2 ฉากทัศน์ ปี 2566

จากข้อมูลของ Central Institute for Economic Management (CIEM) เปิดเผยว่าได้ทำการประเมินเศรษฐกิจเวียดนาม 2 ฉากทัศน์ (Scenario) ในปี 2566 หลังจากเศรษฐกิจเวียดนามขยายตัว 8% ในปีที่แล้ว โดยเป็นการวิเคราะห์ถึงแนวโน้มเศรษฐกิจของเวียดนามในปีนี้ ได้พิจารณาจากปัจจัยต่างๆ มากกว่าปีที่แล้ว ได้แก่ ความสามารถในการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโรค การดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวด การแข่งขันทางภูมิศาสตร์และความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน เป็นต้น ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวข้างต้น ทางสถาบันฯ จึงประเมินเศรษฐกิจของเวียดนามในปีนี้ ออกเป็น 2 ฉากทัศน์ (1) ฉากทัศน์แรก เศรษฐกิจของเวียดนามจะขยายตัว 6.47% และ (2) ฉากทัศน์ที่สอง เศรษฐกิจของเวียดนามจะขยายตัว 6.83%

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/two-scenarios-for-vietnamese-economy-in-2023-post997878.vov

Foodpanda มอบเงินบริจาคกว่า 54 ล้านกีบ ให้โรงพยาบาลในหลวงพระบาง ของ สปป.ลาว

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คุณธัญญารัตน์ เจริญสุข กรรมการผู้จัดการบริษัท Delivery Hero ประจำสปป.ลาว ซึ่งดำเนินธุรกิจฟู๊ดเดลิเวอรี่ภายใต้แบรนด์  Foodpanda ได้บริจาคเงิน 54 ล้านกีบให้กับ Lao Friends Hospital ซึ่งเป็นโรงพยาบาลสำหรับรักษาเด็กเล็ก ในหลวงพระบาง ของสปป.ลาว เพื่อนำเงินไปซื้อเครื่องมือแพทย์และเวชภัณฑ์สำหรับเด็กและครอบครัว โดยมี นายโทมัส บรูน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเป็นผู้รับมอบเงินบริจาค ทั้งนี้ Delivery Hero ได้ออกแคมเปญ One Order One Smile เพื่อช่วยเหลือเด็กที่เข้ารับการรักษาใน Lao Friends Hospital โดยลูกค้าที่สั่งอาหารผ่านแอป Foodpanda สามารถร่วมเข้าร่วมแคมเปญด้วยการบริจาคพร้อมการสั่งอาหาร ซึ่งแคมเปญดังกล่าวเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนและสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม. 2565

ที่มา: https://laotiantimes.com/2023/01/23/foodpanda-donates-lak-54-million-to-lao-friends-hospital-in-luang-prabang/

อุตสาหกรรมธนาคารในกัมพูชายังคงเติบโตต่อเนื่องในปี 2022

ปี 2022 อุตสาหกรรมการธนาคารของกัมพูชายังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านสินเชื่อและเงินฝาก ตามรายงานประจำปีของธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) โดยในรายงานระบุว่าสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 21.7 เมื่อเทียบเป็นรายปีที่มูลค่า 56,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่เงินฝากของลูกค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.3 คิดเป็นมูลค่า 45,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเงินกู้ยืมดังกล่าวได้ออกให้กับภาคส่วนสำคัญๆ เช่น การค้า ที่อยู่อาศัย การก่อสร้าง การเกษตร โรงแรมและภัตตาคาร และภาคการผลิต รวมถึงภาคส่วนสำคัญอื่นๆ โดยปัจจุบันกัมพูชามีธนาคารพาณิชย์รวมทั้งสิ้น 58 แห่ง ธนาคารเฉพาะกิจ 9 แห่ง และสถาบันการเงินรายย่อย 86 แห่ง โดยมีสำนักงานใหญ่และสาขารวม 2,614 แห่ง รวมถึงเครื่องถอนเงินอัตโนมัติ (ATM) 3,998 เครื่องทั่วประเทศ ด้าน Heng Bomakara รองอธิบดีฝ่ายกำกับดูแลการธนาคารของ NBC กล่าวว่าร้อยละ 67 ของประชากรในกัมพูชาสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ภายในปี 2022 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 59 เมื่อเทียบกับปี 2021

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501223356/the-banking-industry-in-cambodia-continues-to-enjoy-high-growth-in-2022/

กัมพูชาจัดเก็บภาษีเกินกว่าเป้า 22% ในช่วงปี 2022

กรมภาษีอากร (GDT) หน่วยงานร่วมกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง รายงานการจัดเก็บภาษีประจำปี 2022 ซึ่งมีมูลค่ารวมกว่า 3.45 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นกว่าร้อยละ 122 ของเป้าหมายในการจัดเก็บประจำปี รายงานโดย Kong Vibol ผู้อำนวยการทั่วไปของ GDT ในปี 2565 โดยปัจจุบันกัมพูชามีหน่วยงานหรือสถาบันในการจัดเก็บภาษีสองแห่ง คือ 1.กรมภาษีอากร ซึ่งเน้นจัดเก็บภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีโรงเรือน และ 2.กรมศุลกากรและสรรพสามิต ซึ่งเน้นไปที่การจัดเก็บภาษีสินค้าเข้าและออก โดยในปี 2023 รัฐบาลตั้งเป้าในการจัดเก็บภาษีไว้ที่ประมาณ 5.5 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2022 เกือบร้อยละ 16

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501222609/tax-collection-exceeds-22-of-plan-last-year/

“AMRO” ปรับเพิ่ม GDP เวียดนาม ปี 66 โตสูงขึ้น แม้ว่าศก.ภูมิภาคชะลอตัว

สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (AMRO) รายงานประจำเดือน ม.ค. เปิดเผยว่าได้ปรับตัวเลขเศรษฐกิจของเวียดนามในปี 2566 ขยายตัว 6.8% จากเดิมที่ปรับประมาณการเศรษฐกิจว่าจะขยายตัว 6.5% แต่หากเทียบกับเศรษฐกิจในประเทศภูมิภาค อาทิเช่น อาเซียน+3 ในปี 2566 ว่าจะขยายตัวประมาณ 4.3% จากในครั้งก่อนที่ประมาณการไว้ที่ 4.6% และในปี 2565 ชะลอตัว 3.7% สาเหตุหลักมาจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศอาเซียน +3 ที่อ่อนแอลง โดยเฉพาะประเทศจีนที่มีอัตราการขยายตัวที่อ่อนแอลงอย่างมาก นอกจากนี้ ภาวะเงินเฟ้อของเวียดนาม คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 3% ในปีนี้ และเงินเฟ้อของภูมิภาคอาเซียน+3 ปรับตัวลดลงจาก 6.3% ในปี 2565 มาอยู่ที่ 4.5% ในปีนี้

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1452456/amro-revises-viet-nam-s-2023-gdp-upward-despite-regional-slowdown.html