กัมพูชาส่งออกยางพารามูลค่าแตะ 470 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 11 เดือนแรกของปี

กัมพูชาส่งออกยางพาราและไม้ยางพารา ณ เดือนพฤศจิกายน ขยายตัวต่อเนื่องคิดเป็นมูลค่าเกือบ 470 ล้านดอลลาร์ ข้อมูลดังกล่าวรายงานโดยกรมยาง ซึ่งมูลค่าดังกล่าวแบ่งออกเป็นมูลค่าจากการส่งออกยางพารา 465 ล้านดอลลาร์ และรายได้จากไม้ยางพาราอยู่ที่ 3.8 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นปริมาณของยางพารา 322,586 ตัน เพิ่มขึ้น 9,139 ตัน ขยายตัวที่ร้อยละ 19 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่การส่งออกไม้ยางพาราสูงถึง 24,989 ลบ.ม. ตามรายงานของ General Department of Rubber ซึ่งราคาขายยางเฉลี่ย ณ เดือนพฤศจิกายน อยู่ที่ 1,231 ดอลลาร์ต่อตัน ลดลง 31 ดอลลาร์ต่อตัน โดยปัจจุบันพื้นที่เพาะปลูกยางพาราทั้งหมดของกัมพูชาอยู่ที่ 404,578 เฮกตาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501205164/cambodia-sees-nearly-470-million-from-rubber-rubber-wood-exports-in-11-months/

ท่องเที่ยวกัมพูชากลับมาฟื้นตัวสะท้อนจากอัตราการฟื้นตัวที่ร้อยละ 26.3

ปัจจุบันภาคการท่องเที่ยวทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเริ่มกลับมาฟื้นตัว หลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยกัมพูชาเริ่มเห็นการขยายตัวที่อัตราการฟื้นตัวร้อยละ 26.3 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาด นับเป็นอันดับที่สามในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน จากข้อมูลของคณะกรรมการที่ปรึกษาการท่องเที่ยวของเวียดนาม ซึ่งสิงคโปร์อยู่อันดับแรกด้วยอัตราการฟื้นตัวร้อยละ 30.9, มาเลเซียเป็นอันดับที่สองที่อัตราการฟื้นตัวร้อยละ 27.5 รองจากกัมพูชาคืออินโดนีเซียในอันดับที่ 4 ด้วยอัตราการฟื้นตัวร้อยละ 22.9 ฟิลิปปินส์อยู่ในอันดับที่ 5 ด้วยอัตราการฟื้นตัวร้อยละ 22.1 และไทยอยู่ในอันดับที่ 6 ด้วยอัตราการฟื้นตัวร้อยละ 22 โดยกัมพูชาตั้งเป้าต้อนรับนักท่องเที่ยวอีก 2 ล้านคน ภายในสิ้นปีนี้ และภายในปี 2026-2027 คาดว่าสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวจะกลับมาสู่ภาวะก่อนเกิดการแพร่ระบาด

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501204801/tourism-recovery-rate-at-26-3-in-cambodia/

ผู้ประกอบการญี่ปุ่น 60% เดินหน้าขยายธุรกิจในเวียดนาม

องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) เปิดเผยผลการสำรวจของธุรกิจ ตั้งแต่วันที่ 22 ส.ค. – 21 ก.ย.  พบว่าผู้ประกอบการญี่ปุ่นส่วนใหญ่ 60% มีความต้องการที่จะขยายการดำเนินกิจการในตลาดเวียดนาม อีก 2 ปีข้างหน้า เพิ่มขึ้น 4.7 จุด เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว หากทำการเปรียบเทียบกับประเทศและภูมิภาค จะเห็นว่าเวียดนามเป็นตลาดหลักที่ธุรกิจญี่ปุ่นมีแผนขยายธุรกิจ รองจากอินเดียและบังกลาเทศ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาถึงแนวโน้มของธุรกิจ พบว่าผู้ประกอบการ 59.5% มองว่าการดำเนินธุรกิจในเวียดนาม จะสามารถสร้างผลกำไรได้อีกในอนาคตข้างหน้า ในขณะที่ 20.8% มองว่าการดำเนินธุรกิจแย่ลงหรือเผชิญกับการขาดทุน อีกทั้ง ผู้ประกอบการญี่ปุ่นมองทิศทางเศรษฐกิจของเวียดนามเป็นบวก เนื่องจากเศรษฐกิจอยู่ในช่วงฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง หลังโควิด-19 โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภคที่เติบโตได้อย่างรวดเร็ว

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/60-of-japanese-businesses-keen-to-expand-operations-in-vietnam-post991401.vov

‘ศก.เวียดนาม’ เติบโตได้ดี แม้เผชิญกับความท้าทายในอนาคต

นาย เจิ่น ต๊วน อัน ประธานคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจแห่งชาติเวียดนาม กล่าวว่าเศรษฐกิจเวียดนามกำลังกลับมาฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง หลังจากสิ้นสุดการแพร่ระบาดของโควิด-19 และคาดว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะเติบโตที่ 8% ในปี 2565 ขณะที่ตัวเลขการส่งออกในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ ขยายตัว 13.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ทำให้เวียดนามเกินดุลการค้า 10.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ เม็ดเงินจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ขยายตัว 15.1% ตามมาด้วยการผลิตของภาคอุตสาหกรรม 8.6% และยอดการค้าปลีกสินค้าและบริการ 17.5% อย่างไรก็ตาม ในปีหน้ายังคงเผชิญกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อทั่วโลกจะคงปรับตัวสูงขึ้น ในขณะเดียวกัน ทั่วโลกต่างใช้การดำเนินนโยบายการเงินและนโยบายการคลังแบบหดตัว ท่ามกลางราคาเชื้อเพลิงที่ผันผวน

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1437149/fast-growth-but-challenges-ahead.html

อะโวกาโด พันธุ์แฮสส์ (Hass) เริ่มออกขายอย่างคึกคักในตลาดของเมียนมา

นาย อู เมียว ยุน รองประธานสมาคมผู้ผลิตและผู้ส่งออกอะโวคาโดแห่งเมียนมา เผย ปัจจุบัน อะโวกาโด พันธุ์แฮสส์ (Hass) ได้วางจำหน่ายในตลาดภายในประเทศเป็นหลักและได้สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับผู้ค้าในท้องถิ่น โดยฤดูเก็บเกี่ยวของอะโวคาโดอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ซึ่งราคาอยู่ระหว่าง 3,000 ถึง 7,000 จัตต่อกิโลกรัม ขึ้นอยู่กับคัดเกรด ส่วนใหญ่แล้วอะโวคาโด จะถูกส่งไปยังเมืองใหญ่ๆ อย่างย่างกุ้งและมัณฑะเลย์ ส่วนที่เหลือจะถูกส่งไปยังตลาดมูเซ, ล่าเสี้ยว และโมนยวา ปัจจุบันผู้ค้าได้ขยายช่องทางการขายผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลและโซเชียลมีเดียกันมากขึ้น

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/hass-avocado-sales-brisk-in-domestic-market/#article-title

สปป.ลาว มุ่งผลักดันเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2568

จากรายงานของเวียงจันทน์ไทมส์ เผย รัฐบาลสปป.ลาว ยืนยันว่าจะได้รับเงินทุนจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศในการสนับสนุนโครงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศ ซึ่ง นายบุญคำ วรชิต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของสปป.ลาว  เปิดเผยว่า สปป.ลาว คาดว่าจะได้รับการสนับสนุนทางการเงินจำนวน 19 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในอนาคตอันใกล้นี้  ทั้งนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แห่งสปป.ลาวกำหนดนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 นี้ โดยมีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ภายในปี 2568

ที่มา: https://laotiantimes.com/2022/12/19/laos-commits-to-zero-greenhouse-gas-emissions-by-2025/

DITP ชี้ช่องผลิตสินค้า BCG เจาะผู้บริโภคกลุ่ม Gen Z ในแคนาดา

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโตรอนโตประเทศแคนาดา ถึงโอกาสในการขยายการส่งออกสินค้ากลุ่ม BCG (เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว) เจาะตลาดผู้บริโภคกลุ่ม Gen Z ในแคนาดา ที่ปัจจุบันให้ความสำคัญกับสินค้าที่มีการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผลการสำรวจพบว่า กลุ่มผู้บริโภค Gen Z ที่มีอายุระหว่าง 10-25 ปี มีสัดส่วนสูงถึง 20%ของประชากร และได้กลายเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงกว่ากลุ่มรุ่นก่อน คือ Millennials ในภูมิภาคอเมริกาเหนือ กลุ่ม Gen Z มีการใช้จ่ายในปี 2564 มูลค่าสูงถึง 360,000 ล้านเหรียญสหรัฐ(12.9 ล้านล้านบาท) มีแหล่งรายได้มาจากงานประจำและงานชั่วคราวหรือจากผู้ปกครอง มีทัศนคติและพฤติกรรมผู้บริโภคแตกต่างจากคนรุ่นก่อน ทำให้นักการตลาดให้ความสำคัญกับการศึกษาและทำความเข้าใจคนกลุ่มนี้ เพื่อปรับกลยุทธ์สินค้าการตลาดต่างๆให้กับเข้ากับคนกลุ่มนี้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ที่มา: https://www.naewna.com/business/699253