สัญญาดี “ตลาดยานยนต์เวียดนาม” ฟื้นตัว

ตลาดยานยนต์ในประเทศฟื้นตัวอย่างน่าประทับใจ เนื่องจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ประกอบกับผู้ผลิตยานยนต์ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่และตอบสนองความต้องการให้กับลูกค้า เพื่อจะเพิ่มยอดขาย ทั้งนี้ แบรนด์ยานยนต์ ‘ซูบารุ ฟอเรสเตอร์’ ประกาศปรับลดราคาสูงสุด โดยราคารถ Subaru Forester 2.0i-L ลดลง 249 ล้านดอง จากระดับ 1.125 พันล้านดอง มาอยู่ที่ 879 ล้านดองในสัปดาห์แรกของเดือนตุลาคม ในขณะที่ราคารถ Subaru Forester 2.0 i-S EyeSight อยู่ที่ 1.088 พันล้านดอง อย่างไรก็ดียานยนต์รุ่นอื่นๆ ก็ขายในราคาที่สูงขึ้น เนื่องจากการขาดแคลนอุปทาน นอกจากนี้ ในปัจจุบันผู้ผลิตยานยนต์ส่วนใหญ่พึ่งพาอุปทานในจีน ในขณะที่จีนยังไม่เปิดประตูอย่างเต็มที่ รวมถึงยังเผชิญกับต้นทุนโลจิสจิกส์ที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งทำให้ผู้ผลิตยานยนต์ต้องปรับชึ้นราคาขาย

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vn-automobile-market-recovers-well-2068152.html

“สื่อสวิส” ตีข่าว มองทิศทางเศรษฐกิจเวียดนามเติบโตได้ดี

หนังสือพิมพ์สวิตเซอร์แลนด์ได้ดีพิมพ์บทความใช้ชื่อว่า “Le Vietnam et les nouveaux tigres asiatiques” (เวียดนามและเสือเศรษฐกิจตัวใหม่เอเชีย) ชี้ให้เห็นถึงเวียดนามได้กลายเป็นหนึ่งในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่มีบทบาทสำคัญในเอเชีย โดยคุณ Guy Mettan ผู้เขียนบทความมองว่าโลกกำลังจะเห็นกับการเปลี่ยนแปลงของประเทศเวียดนามและอินโดนีเซียที่จะขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย ทั้งนี้ เวียดนามอาจได้รับประโยชน์สูงสุดจากสถานการณ์ระหว่างประเทศใหม่ ตั้งแต่เดือนมกราคม-กรกฎาคม ซึ่งมีการไหลเข้าของเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) อยู่ที่ราว 11.57 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 10.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี สูงสุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ธนาคารโลกได้คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนาม ขยายตัว 7.5% ในปี 2565 และคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 3.8% ในปีนี้

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/swiss-newspaper-optimistic-about-vietnams-economic-prospects/239763.vnp

กัมพูชาส่งออกลำไยไปยังจีนเป็นครั้งแรก

กัมพูชาส่งออกลำไยเป็นครั้งแรกอย่างเป็นทางการไปยังจีน โดยคาดว่าจะเริ่มจัดส่งในช่วงเดือนตุลาคมปีนี้ ซึ่งลำไยถือเป็นผลไม้ 1 ใน 3 ชนิดของกัมพูชาที่ได้รับอนุมัติโดยหน่วยงานสุขอนามัยพืชของจีน ถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ผลิตและผู้ส่งออกลำไยของกัมพูชาในการขยายตลาดไปยังต่างประเทศ โดยปัจจุบันมียอดคำสั่งซื้อและเตรียมการในการส่งออกแล้วปริมาณกว่า 10,000 ตัน ไปยังประเทศจีน ด้านเจ้าหน้าที่เกษตรจังหวัดแนะนำผู้ปลูกลำไยเร่งขึ้นทะเบียนเพื่อรองรับมาตรฐานการส่งออกไปยังจีนในฤดูกาลนี้ ตามระเบียบพิธีการส่งออกทวิภาคีที่ตกลงกันระหว่างสองประเทศ  ในขณะที่ GACC รายงานว่าปัจจุบันมีสวนผลไม้จำนวน 74 แห่ง และโรงงานแปรรูป 8 แห่ง ที่ผ่านเกณฑ์สุขอนามัยพืชของจีน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501165697/first-exports-of-cambodian-longans-to-china-targeted-this-month/

ท่าเรือ PPAP ในกัมพูชา รายงานผลประกอบการไตรมาส 3 เพิ่มขึ้น 9%

ท่าเรือพนมเปญ (PPAP) รายงานผลประกอบการรวมในไตรมาส 3 เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 ที่มูลค่า 10.6 ล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผ่านการรายงานในตลาดหลักทรัพย์กัมพูชา (CSX) โดยรายรับในช่วงเดือนกันยายนลดลงเล็กน้อยร้อยละ 6 คิดเป็นมูลค่า 3.1 ล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่ง PPAP ถือเป็นท่าเรือนำลึกระหว่างประเทศ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงโยธาธิการและการขนส่งกัมพูชา กระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง ในขณะที่รายรับรวมของ PPAP รวม 3 ไตรมาสเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 21 คิดเป็นมูลค่ากว่า 30.3 ล้านดอลลาร์ เทียบกับรายรับรวมในช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มูลค่า 25.01 ล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501165242/ppap-third-quarter-revenue-rises-9/

ราคาข้าวโพดเมียนมา ดิ่งฮวบ จากความต้องการต่างประเทศที่หดตัว

Mandalay Commodity Centre เผย ตลาดข้าวโพดในประเทศค่อนข้างซบเซาและราคาเริ่มลดลงเนื่องจากความต้องการของต่างประเทศที่เริ่มลดลงนั่นเอง เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565 ราคาข้าวโพดค่อยๆ ดิ่งลงเหลือ 1,000 จัตต่อ viss (viss เท่ากับ 1.66 กิโลกรัม) ที่ผ่านมา ไทยผู้นำเข้ารายใหญ่ของเมียนมาไฟเขียวนำเข้าข้าวโพดภายใต้ภาษีศุลกากรเป็นศูนย์ (แบบ Form-D) ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ถึง 31 สิงหาคม 2565 แต่อย่างไรก็ตาม ภายหลังไทยได้กำหนดอัตราภาษีสูงสุดร้อยละ 73 สำหรับการนำเข้าข้าวโพดเพื่อคุ้มครองเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดในประเทศ ส่งผลให้ราคาข้าวโพดใยนมาตกต่ำลง  ที่ผ่านมา ในปีงบประมาณ 2563-2564 เมียนมาส่งออกข้าวโพด 2.3 ล้านตัน ตลาดสำคัญได้แก่ ไทย จีน อินเดีย และเวียดนาม

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/corn-prices-tumbling-due-to-lack-of-foreign-demand/#article-title

เดือนก.ย.65 สปป.ลาว ขาดดุลการค้าถึง 233 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

เดือนกันยายน 2565 สปป.ลาว ขาดดุลการค้า 233 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยภาพรวมการค้าระหว่างประเทศแบ่งเป็นการส่งออก 456 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ทองคำและทองคำแท่ง ยาง ปุ๋ย แร่ทองคำ น้ำตาล เสื้อผ้า กล้วย รองเท้า แร่เหล็ก และโค ส่วนการนำเข้าอยู่ที่ 689 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรกล ดีเซล ยานพาหนะทางบก อัญมณีกึ่งมีค่า น้ำมันเบนซิน ผลิตภัณฑ์พลาสติก เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้า สัตว์มีชีวิต ชุดสายไฟ และอะไหล่ โดยผู้นำเข้ารายใหญ่คือจีน รองลงมาเป็นเวียดนาม และไทย ตามลำดับ

ที่มา:https://english.news.cn/asiapacific/20221010/5d81119c2dd74f0fa84d9a79eeae7ead/c.html

ออมสินบุก Non Bank กดดอกเบี้ย 5% ช่วยคนระดับฐานรากเข้าถึงแหล่งเงินในระบบ

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารกำลังจะเข้าสู่ธุรกิจ Non Bank เต็มตัวเพื่อให้คนระดับรากหญ้าได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งในระบบด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าในตลาดอย่างน้อย 5% โดยมีแผนที่ยื่นขอใบอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อทำธุรกิจนอนแบงก์ภายในช่วงต้นปี 2566 และคาดว่าจะเริ่มดำเนินธุรกิจได้ภายในปลายไตรมาส 3 ปี 2566 หรือต้นไตรมาส 4 ปี 2566 โดยจะเป็นการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคล (P-Loan) ด้วยระบบ Digital Lending ให้วงเงินกู้ 1-2 หมื่นบาทต่อราย พร้อมเปิดตัวสินเชื่อ My Credit ในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. นี้ เจาะกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ เช่น พ่อค้าแม่ค้า รับจ้าง ผู้มีรายได้ประจำ วงเงินกู้ 10,000-30,000 บาท ผ่อนชำระสูงสุดไม่เกิน 2 ปี อัตราดอกเบี้ย 1.25% ต่อเดือน ไม่ต้องมีหลักประกัน โดยจะใช้ Alternative Data แทนการวิเคราะห์รายได้ เช่น การใช้ข้อมูลจ่ายค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า จำนวนเม็ดเงินที่ไหลเวียนในระบบ MyMo ฯลฯ เบื้องต้นตั้งวงเงินรวมสำหรับโครงการนี้ไว้ที่ 1,000 ล้านบาท เบื้องต้น ตั้งเป้าลูกค้า 1 แสนราย ซึ่งมาจากฐานลูกค้า MyMo ที่มีอยู่กว่า13 ล้านราย

ที่มา: https://www.naewna.com/business/685655