“เวียดนาม” กลายเป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญของห่วงโซ่อุปทานในเอเชีย

Nikkei Asia สื่อยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น รายงานว่าเวียดนามกำลังดึงดูดกลุ่มผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของโลก นอกจากบริษัทระดับโลกอย่างแอปเปิล (Apple), ซัมซุง (Samsung) และพานาโซนิค (Panasonic) ซึ่งวางแผนที่จะขยายกำลังการผลิต ในขณะที่บริษัทออกแบบชิบรายใหญ่ของสหรัฐฯ “Synopsys” เพิ่งจะประกาศว่าจะช่วยเหลือในการฝึกอบรมด้านวิศวกรและจัดตั้งศูนย์การออกแบบชิปในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หากตั้งข้อสังเกตจะเห็นได้ว่าเวียดนามดึงดูดกลุ่มธุรกิจไฮเทคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ คุณ Okuda Yoshiki ที่ปรึกษาขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) กล่าวว่าในอดีตไม่เพียงแต่ประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายประเทศที่พึ่งพาการผลิตของจีน อย่างไรก็ตาม COVID-19 ทำให้เกิดการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน ทำให้เกิดการย้ายโรงงานไปยังเวียดนามและยังถือว่าเป็นข้อกังวลอย่างมากต่อมุมมองของประเทศญี่ปุ่น

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-an-important-link-in-asian-supply-chain-post967774.vov

“ลอตเต้ กรุ๊ป” เล็งสร้างเมืองอัจฉริยะเชิงนิเวศและศูนย์โลจิสติกส์ในเวียดนาม

ธุรกิจค้าปลีกขนาดยักษ์ของประเทศเกาหลีใต้ “ล็อตเต้ กรุ๊ป” ประกาศเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ว่าจะสร้างเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและศูนย์โลจิสติกส์ในเวียดนาม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนธุรกิจที่ขยายกิจการ เพื่อวางรากฐานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อยู่ภายใต้โครงการ “Thu Tiem Eco Smart City” ด้วยมูลค่า 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ บริษัทมีแผนที่จะสร้างอาคารสูง 60 ชั้น และมีชั้นใต้ดิน ประกอบไปด้วยห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ พื้นที่สำนักงาน โรงแรม ที่พักอาศัยและอพาร์ทเมนท์ในเมืองโฮจิมินห์ นอกจากโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่แล้วนั้น บริษัทวางแผนที่จะสร้างศูนย์โลจิสติกส์อัจฉริยะในจังหวัดด่งนาย (Dong Nai) ภายในปี 2567 เพื่อยกระดับการนำเข้าและส่งออก

ที่มา : http://www.theinvestor.co.kr/view.php?ud=20220905000144

GDCE ปราบปรามคดีลักลอบนำเข้ากว่า 15,000 คดี ในช่วงครึ่งปีแรก

กรมศุลกากรและสรรพสามิตทั่วไป (GDCE) ในช่วง มกราคม-มิถุนายน 2022 ได้ปราบปรามคดีลักลอบขนส่งสินค้าจำนวนกว่า 15,631 คดี โดยจำแนกเป็นคดีขนาดใหญ่ 445 คดี และคดีขนาดเล็ก 15,186 คดี ซึ่งคิดเป็นการเพิ่มขึ้นกว่า 7,456 คดี หรือร้อยละ 91.20 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในช่วงระยะเวลาดังกล่าว GDCE ได้ดำเนินคดีไปแล้วกว่า 15,408 คดี คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 1.8 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่การจัดเก็บภาษีของ GDCE ได้จัดเก็บไปแล้วกว่า 1.3 พันล้านดอลลาร์ จากภาษีศุลกากรหรือภาษีนำเข้า ภาษีส่งออก และภาษีอื่นๆ หรือคิดเป็นกว่าร้อยละ 50.18 ของเป้าการจัดเก็บภาษีประจำปี ซึ่งมูลค่าดังกล่าวเพิ่มขึ้นกว่า 138.83 ล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยอีกส่วนหนึ่งกัมพูชาสูญเสียโอกาสทางรายได้ศุลกากรประมาณ 187 ล้านดอลลาร์ จากการดำเนินการตามข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 7.34

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501144668/gdce-cracks-15000-smuggling-cases-in-h1/

ตอกย้ำศักยภาพภาคการเกษตรกัมพูชา

กลุ่มนักลงทุน นักธุรกิจ และผู้ประกอบการ รวมตัวกันจัดฟอรั่ม ณ กรุงพนมเปญเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเป็นการมองหาโอกาสด้านการลงทุนในภาคเกษตรกรรมของกัมพูชา ซึ่งงานฟอรั่มดังกล่าวจัดโดย Junior Chamber Youth (JCI) กัมพูชา ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและการพัฒนาชนบทของภาครัฐ ในการผลักดันภาคการเกษตรในประเทศ โดยกลุ่มผู้เข้าร่วมงานกล่าวเสริมว่าภาคเกษตรกรรมของกัมพูชาในปัจจุบันถือว่ามีศักยภาพเพียงพอที่จะทำการขยายไปยังตลาดต่างประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนในภาคอุตสาหกรรมการเกษตร ที่กำลังจะเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชา โดยการส่งออกสินค้าเกษตรของกัมพูชาในปี 2021 มีปริมาณรวมกันอยู่ที่ 7.98 ล้านตัน คิดเป็นการเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 63 หรือเพิ่มขึ้นจาก 3.11 ตัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สร้างรายได้กว่า 4.96 พันล้านดอลลาร์เข้าประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501144672/cambodias-potential-for-agriculture-sector-highlighted/

5 เดือนแรกของปีงบฯ 65 – 66 เมียนมามีรายได้ส่งออกถั่วพุ่งแตะ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

กระทรวงพาณิชย์เมียนมา (MoC) เผย รายได้จากการส่งออกถั่วในช่วง 5 เดือนของปีงบประมาณปัจจุบัน 2565-2566 (วันที่ 1 เมษายนถึง 26 สิงหาคม 2565) พุ่งไปถึง 513.347 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากปริมาณการส่งออกกว่า 660,806 ตัน ซึ่งที่ผ่านมา ในปีงบประมาณ 2563-2564 เมียนมามีรายได้จากการส่งออกถั่ว 1.57 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากปริมาณการส่งออกทั้งสิ้นกว่า 2.02 ล้านตัน โดยเป็นการส่งออกทางเรือ 1.24 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 966.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และทางชายแดนอีก 786,920 ตัน คิดเป็นมูลค่า 604.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้การเพาะปลูกถั่วของเมียนมาครอบคลุมพื้นที่ 20% ของพื้นที่เกษตรกรรมทั้งหมด โดยมี ถั่วดำ ถั่วแระ และถั่วเขียวคิดเป็น 72% ของพื้นที่เพาะปลูกถั่ว ซึ่งภาคเกษตรกรรมถือเป็นกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจประเทศและสินค้าเกษตรหลักก็รวมอยู่ในสินค้าส่งออกหลักเมียนมาอีกด้วย

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/myanmar-bags-500-mln-from-export-of-various-pulses-in-nearly-5-months/

สปป.ลาว จับมือ คิวบา เซ็น MoU ร่วมพัฒนาโครงการระหว่างประเทศ

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (วันที่ 5 กันยายน 2565) นาย Bounleua Phandanouvong รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสปป.ลาว และนาย Gerardo Penalver Portal รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของคิวบา ได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือเกี่ยวกับกิจกรรมพัฒนาระหว่างประเทศในอนาคตร่วมกัน (MoU) โดยมีเป้าหมายเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกระทรวงทั้งสองประเทศ ภายหลังการประชุมระหว่างกระทรวงของทั้งสองประเทศเพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างประเทศตั้งแต่ปี 2565-2568 โดยในการประชุมระหว่างวันที่ 3-5 กันยายน 2565 ได้มีการเจรจาเกี่ยวกับความร่วมมือด้านสุขภาพ การศึกษา กีฬา เศรษฐกิจ การค้าระหว่างประเทศ และการส่งเสริมด้านวัฒนธรรม ทั้งนี้ ทางคณะรัฐมนตรีของคิวบายังได้เยี่ยมชมเขตพัฒนาไซเศรษฐา, โรงเรียนมัธยมมิตรภาพลาว-คิวบา ในหมู่บ้านดงบัง, อำเภอไซธานี,พิพิธภัณฑ์ไกสอน พรหมวิหาร และสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ต่างๆ

ที่มา: https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten172_Lao_Cuban_y22.php

แห่ใช้โครงการ “คนละครึ่ง” เฉียด 6 พันล้าน

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การใช้สิทธิผ่านโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 5 โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระยะที่ 3 และโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 ตั้งแต่วันที่ 1-4 ก.ย.65 มีผู้ใช้สิทธิรวม 23.78 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 7,779.5 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ใช้สิทธิ 9.02 ล้านคน ยอดใช้จ่าย 1,792.6 ล้านบาท โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ใช้สิทธิ 514,716 คน ยอดใช้จ่าย 101.8 ล้านบาท และโครงการคนละครึ่งใช้สิทธิ 14.24 ล้านคน ยอดใช้จ่าย 5,885.1 ล้านบาท เป็นเงินที่ประชาชนจ่าย 2,981.8 ล้านบาท และเงินที่รัฐร่วมจ่าย 2,903.3 ล้านบาท

ที่มา: https://www.thairath.co.th/business/economics/2492260