ยอดค้าปลีก-บริการเวียดนาม โต ช่วงเทศกาลเต็ด

สำนักงานสถิติแห่งชาติของเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่ายอดค้าปลีกสินค้าและรายได้จากบริการผู้บริโภคของเวียดนามในเดือนมกราคม อยู่ที่ประมาณ 20.77 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.7% จากช่วงเดียวกันของเดือนก่อน และ 6.4% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งแบ่งออกเป็นยอดค้าปลีก มีมูลค่า 378.9 ล้านล้านด่อง คิดเป็นสัดส่วน 79% ของยอดค้าปลีกรวม เพิ่มขึ้น 8.7% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ตามมาด้วยรายได้จากร้านอาหารและที่พักอยู่ที่ราว 48.7 ล้านล้านด่อง รายได้จากการท่องเที่ยวอยู่ที่ราว 1.6 ล้านล้านด่อง และรายได้จากบริการอื่นๆอยู่ที่ราว 50.7 ล้านล้านด่อง ทั้งนี้ สำนักงานฯ ระบุว่ายอดค้าปลีกและรายได้จากบริการผู้บริโภคมีแนวโน้มดีขึ้น เมื่อเข้าใกล้เทศกาลเต็ด (Tet) อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการอย่างห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ต ได้เตรียมจัดหาสินค้าจำนวนมาก รวมถึงโปรโมทสินค้า เพื่อกระตุ้นการบริโภคในช่วงปีแห่งจันทรคติ

  ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/retail-sales-consumer-service-revenue-up-ahead-of-tet/195737.vnp

ยอดส่งออกเวียดนาม พุ่ง 50.5% ในม.ค.

สำนักงานสถิติแห่งชาติของเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าการส่งออกของเวียดนามในเดือนมกราคม 2563 เพิ่มขึ้น 50.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้วยมูลค่า 27.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากบริษัทข้ามชาติผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ‘Samsung’ ที่ยกระดับการผลิตและส่งออกสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ ‘Galaxy S21’ ทั้งนี้ สหรัฐฯ ยังคงเป็นผู้นำเข้าสินค้าเวียดนามรายใหญ่ที่สุดในเดือนมกราคม มูลค่าอยู่ที่ 7.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ พุ่ง 57.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน รองลงมาจีน สหภาพยุโรป อาเซียนและญี่ปุ่น ตามลำดับ ในขณะเดียวกัน จีนยังคงเป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม มูลค่าอยู่ที่ 9.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ พุ่ง 72.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน รองลงมาเกาหลีใต้ อาเซียน ญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม เวียดนามเกินดุลการค้า 1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐในเดือนดังกล่าว แบ่งออกเป็นภาคเศรษฐกิจในประเทศขาดดุลการค้า 0.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ ภาคการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (รวมถึงน้ำมันดิบ) เกินดุลการค้า 3.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ

  ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/865536/viet-nams-january-exports-up-505-per-cent-year-on-year.html

เวียดนามเผยดัชนี CPI เดือนม.ค. พุ่งขึ้น เหตุเทศกาลเต็ต

สำนักงานสถิติแห่งชาติของเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของเวียดนามในเดือนนี้ เพิ่มขึ้น 0.06% จากช่วงเดียวกันของเดือนก่อน โดยส่วนใหญ่ได้รับแรงหนุนมาจากความต้องการของผู้บริโภคสูงขึ้นในช่วงเทศกาลเต็ด (Tet) ที่กำลังจะมาถึง ด้วยเหตุนี้ ทำให้ราคาอาหารและค่าบริการพุ่งสูงขึ้น ในขณะที่ ราคาน้ำมันในประเทศปรับเพิ่มขึ้นตามตลาดโลก ทั้งนี้ ในบรรดากลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ 11 ประเภท มีอยู่ 9 รายการที่เพิ่มขึ้น ประกอบด้วยการขนส่งเพิ่มขึ้นสูงสุด 2.29% รองลงมาอาหารและบริการจัดเลี้ยง (0.44%), การศึกษา (0.33%), เครื่องดื่มและยาสูบ (0.32%) และสินค้าและบริการอื่นๆ (0.24%) ในขณะที่ราคาที่อยู่อาศัย ค่าน้ำค่าไฟ่และวัสดุก่อสร้างลดลง 2.31% และโทรคมนาคม 0.1% อย่างไรก็ตาม ดัชนี CPI หดตัว 0.97 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/80409/high-consumer-demand-for-tet-drives-up-january%C3%A2%E2%82%AC%E2%84%A2s-cpi.html

ตลาดในประเทศยังเป็นปัจจัยสำคัญของอุตฯการบินเวียดนาม ปี 64

เวียดนามควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้ความต้องการเดินทางทางอากาศในประเทศเพิ่มสูงขึ้นในปี 2564 ซึ่งจำนวนผู้โดยสานทางอากาศสามารถกลับไปสู่ระดับก่อนเกิดโควิด-19 ที่ 73 ล้านคนในปีนี้ เพิ่มขึ้น 23% เมื่อเทียบเป็นรายปี ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์ของเวียดนามอย่าง SSI Securities Corp. คาดการณ์ว่าตลาดในประเทศยังคงเป็นปัจจัยที่สำคัญของอุตสาหกรรมการบินเวียดนาม จนกว่าจะสิ้นสุดครึ่งแรกของปี 2564 อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โควิด-19 ที่รุนแรงไปทั่วโลกนั้น ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลเวียดนามต้องปิดพรมแดนจนถึงครึ่งหลังของปีนี้ อีกทั้ง ประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 จะเป็นปัจจัยชี้ขาดในการปลดล็อกข้อจำกัดในการเดินทางในปัจจุบันและกลับมาเปิดให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศ

ที่มา : http://hanoitimes.vn/domestic-market-to-remain-priority-for-vietnam-aviation-industry-in-2021-316061.html

FDI เวียดนามเดือน ม.ค. พุ่ง 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ

กระทรวงวางแผนและการลงทุน (MPI) เปิดเผยว่ายอดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เมื่อวันที่ 20  ม.ค. 2564 อยู่ที่ 1.51 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.1% เมื่อเทียบรายปี ในจำนวนเงินลงทุนดังกล่าว มุ่งเน้นไปที่อุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูป ด้วยมูลค่าราว 1.54 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 76.4% ของยอดการลงทุนจากต่างชาติรวม รองลงมาภาคอสังหาริมทรัพย์ มูลค่า 179 ล้านเหรียญสหรัฐ, การขนส่ง คลังสินค้าและการเกษตร ป่าไม้ ประมง มูลค่า 111.9 และ 60.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ ทั้งนี้ สิงคโปร์เป็นผู้ลงทุนจากต่างประเทศรายใหญ่ที่สุดในเวียดนาม เป็นเงินทั้งสิ้น 680.7 ล้านเหรียญสหรัฐ (33.8% ของทั้งหมด) รองลงมาจีน ฮ่องกง ตามลำดับ

 ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/january-fdi-tops-15-billion-usd/195512.vnp

‘รัสเซีย’ ตั้งเป้าฟาร์มแปรรูปเนื้อสุกร 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐในเวียดนาม

คณะกรรมการประชาชนจังหวัดทัญฮว้า ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับ AVG Capital Partners เพื่อสร้างฟาร์มแปรรูปเนื้อสุกรในเขตเศรษฐกิจ ‘Nghi Son’ ด้วยมูลค่า 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐในจังหวัดทัญฮว้า รวมถึงฟาร์มเลี้ยงสุกร 5 ล้านตัวต่อปี ซึ่งมีฟาร์มเลี้ยงสุกรเชิงพาณิชย์ 43 แห่ง และฟาร์มเลี้ยงสุกรลูกผสม 3 แห่ง นอกจากนี้ ยังมีการสร้างโรงงานผลิตอาหารสัตว์ ด้วยกำลังการผลิต 2 ล้านตันต่อปี ประกอบกับโรงฆ่าสัตว์และโรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์ ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะแบ่งออกเป็น 3 เฟส โดยตัวแทนของบริษัท AVG ยืนยันว่าโครงการดังกล่าวจะสร้างประโยชน์แก่ท้องถิ่น เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจ งบประมาณ การสร้างงาน ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีการแปรรูปอาหารตามหลักมาตรฐานสากล

ที่มา : https://vietnamtimes.org.vn/russian-firm-plans-to-build-us-14-billion-pork-processing-complex-in-vietnam-27671.html

นักลงทุนไทยเล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจในเวียดนาม

สถานทูตเวียดนามประจำประเทศไทยร่วมกับสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม และบริษัท อมตะ วีเอ็น จำกัด (มหาชน) จัดงานแถลงข่าวโอกาสทางการลงทุน เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 ที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการฉลองครบรอบ 45 ปี ของความสัมพันธ์ทางการทูตไทยและเวียดนาม นายฟัน จิ้ ทัน เอกอัครราชทูตเวียดนามประจำประเทศไทย ได้บรรยายถึงความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจของเวียดนามและการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามครั้งที่ 13 โดยคาดว่าจะส่งผลให้เวียดนามก้าวเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่ทันสมัย ด้วยรายได้ปานกลางระดับสูงในปี 2573 และเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วภายในปี 2588 ทั้งนี้ ธุรกิจไทยทุ่มเงินกว่า 12.84 พันล้านเหรียญสหรัฐไปยัง 600 โครงการในเวียดนาม จำแนกออกเป็นด้านต่างๆ ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน, นิคมอุตสาหกรรม, เทคโนโลยีขั้นสูง, พลังงานและเกษตรกรรม เป็นต้น นอกจากนี้ นายสนั่น  อังอุบลกุล  ประธานสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม กล่าวว่ามีความสนใจอย่างมากในการลงทุนไปเวียดนาม เนื่องมาจากความมีเสียรภาพทางการเมือง การประสบความสำเร็จในการควบคุมการระบาดของโควิด-19 แรงงานจำนวนมาก กำลังซื้อสูงและสภาพแวดล้อมการลงทุน

ที่มา : https://vov.vn/en/economy/thai-investors-keen-on-future-business-opportunities-in-vietnam-833370.vov

Global Times เผยเวียดนาม ดาวรุ่งในเอเชียตะวันออกเฉีนงใต้

ตามรายงาน “Asia Economics Quarterly” ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น (HSBC) เปิดเผยว่าเศรษฐกิจเวียดนามเติบโตเร็วที่สุดในเอเชีย ปี 2563 และจะทะยานเป็นขึ้นเบอร์หนึ่งในภูมิภาคในปีนี้ เวียดนามได้รับการยอมรับว่าเป็นตัวอย่างในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และมีการเติบโตทางเศรษฐกิจ 2.91% ในปี 2563 อีกทั้ง เศรษฐกิจยังคงขยายตัวได้ดีในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาและสามารถก้าวข้ามวิกฤตทางการเงินในเอเชีย รวมถึงวิกฤตการเงินโลก ด้วยเหตุนี้ เวียดนามพร้อมที่จะก้าวไปสู่ประเทศรายได้ปานกลาง ทั้งนี้ เวียดนามได้รับแรงหนุนจากปัจจัยหลายประการด้วยกัน การส่งออกของเวียดนามไปยังสหรัฐฯ พุ่ง 24.5% ในปี 2563 ด้วยมูลค่าการส่งออก 76.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้เวียดนามเป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่อันดับ 2 ของสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้เวียดนามเกินดุลการค้ามาเป็นเวลาติดต่อกัน 5 ปี แตะระดับสูงสุด 19.1 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2563 ประกอบกับอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ คือ การลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีกับกลุ่มเศรษฐกิจสำคัญของโลก โดยในปี 2563 เวียดนามได้ลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP), ข้อตกลงการค้าสหภาพยุโรป-เวียดนาม (EVFTA) และข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างเวียดนามกับอังกฤษ (UKVFTA) เพื่อขยายตลาดส่งออก

ที่มา : https://vietnamtimes.org.vn/global-times-vietnam-a-rising-star-in-southeast-asia-27640.html

เวียดนามนำเข้ารถยนต์ 2.35 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 63

ตามรายงานของสำนักงานศุลกากรเวียดนาม เปิดเผยว่าในปี 2563 เวียดนามนำเข้ารถยนต์ 105,000 คัน เป็นมูลค่า 2.35 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในแง่ของปริมาณ ลดลง 24.5% และในแง่ของมูลค่า ลดลง 25.6% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งในเดือนธันวาคม ปริมาณการนำเข้ารถยนต์อยู่ที่ 12,690 คัน เป็นมูลค่า 308 ล้านเหรียญสหรัฐ ในแง่ของปริมาณและมูลค่า เพิ่มขึ้น 3.7% และ 12.8% เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ตามลำดับ ทั้งนี้ ปริมาณการนำเข้าส่วนใหญ่ราว 88% ในเดือนสุดท้ายของปี มาจากประเทศไทย (7,696 คัน) ตามมาด้วยอินโดนีเซีย (2,353 คัน) และจีน (1,158 คัน) นอกจากนี้ สมาคมผู้ผลิตรถยนต์เวียดนาม (VAMA) ระบุว่ายอดขายรถยนต์ในเวียดนามพุ่งขึ้น 45% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เป็นผลมาจากการจัดโปรโมชั่นครั้งใหญ่ในเดือนสุดท้ายของปี และลูกค้ารีบซื้อรถยนต์ก่อนที่นโยบายภาครัฐฯ จะปรับลดค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนรถยนต์ที่ผลิตในประเทศ 50% โดยจะหมดอายุภายในสิ้นปี อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญมองว่าในปีนี้ จะเป็นปีที่ลำบากอีกครั้ง สำหรับตลาดรถยนต์เวียดนาม สาเหตุจากผู้ประกอบการต่างๆ เลือกที่จะควบคุมการใช้จ่ายมากขึ้น

ที่มา : http://hanoitimes.vn/vietnam-spends-us235-billion-to-import-cars-in-2020-316043.html

“โควิด-19” ไม่สะเทือนเวียดนามรัฐ-เอกชนมองเศรษฐกิจยังโตต่อเนื่อง

นายฟัน จิ้ ทัน เอกอัครราชทูตเวียดนามประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจของเวียดนามในปี 64 ถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี  โดยองค์กรการเงินระหว่างประเทศ อาทิ ธนาคารโลก (World Bank) ,กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ “ไอเอ็มเอฟ” (International Monetary Fund : IMF) และธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ “เอดีบี” (Asian Development Bank : ADB) คาดการณ์ไว้ว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ “จีดีพี” (GDP) จะเติบโตอยู่ที่ 6.5-7.0% ทั้งนี้ เนื่องจากเวียดนามเป็นประเทศที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 (Covid-19) ได้ตั้งแต่ช่วงแรก ส่งผลทำให้แม้ว่าปี 63 เศรษฐกิจทั่วโลกจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่เวียดนามเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกที่มี GDP เติบโตถึง 2.91 % ในปี 63 โดยอัตราการเติบโตของ GDP เวียดนามในช่วงปี 2559-2563 เฉลี่ยอยู่ที่ 5.9% ซึ่งเป็นการเติบโตที่สูงที่สุดในโลก นอกจากนี้ ในอีก 5 ปี (2564-2568) ข้างหน้ารัฐบาลเวียดนามได้วางแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ 10 ปี การพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจฉบับใหม่ปี 2564-2573 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาแห่งชาติเวียดนามที่คาดว่าจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศให้มีการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเดินหน้าพัฒนาความสัมพันธ์แบบทวิภาคีกับประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทยที่สามารถนำไปสู่การสร้างโอกาสใหม่ๆ สำหรับนักลงทุนไทยที่จะเข้ามาในประเทศเวียดนามมากขึ้นในอีก 5 ปีข้างหน้า

ที่มา : https://www.thansettakij.com/content/466134