เวียดนามเผยยอดการลงทุนเขตเศรษฐกิจพิเศษในนครโฮจิมินห์ พุ่ง 321 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นาย Hua Quoc Hung ผู้อำนวยการของหน่วยงานบริหารจัดการเขตเศรษฐกิจพิเศษ (HEPZA) กล่าวว่าในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ การจดทะเบียนธุรกิจรายใหม่รวมและการปรับเพิ่มเงินทุน มีมูลค่าอยู่ที่ 592 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.2 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในขณะที่ เงินลงทุนจากต่างประเทศ อยู่ที่ 270.67 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 19 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ทั้งนี้ ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา เงินลงทุนรวมในประเทศ สำหรับเขตอุตสาหกรรมส่งออกและเขตเศรษฐกิจพิเศษ มีมูลค่ามากกว่า 321 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 47.6 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แบ่งออกเป็นจำนวน 46 โครงการใหม่ที่ยื่นขอจดทะเบียน ด้วยมูลค่ารวมราว 251 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 30 และ 32 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ตามลำดับ นอกจากนี้ องค์กรต่างๆ ที่ยังไม่ฟื้นตัวในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้ความคืบหน้าของโครงการประสบปัญหาเกี่ยวกับการระดมทุน ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมการจึงรับพิจารณาอนุมัติความคืบหน้า 34 โครงการ

  ที่มา : https://en.dangcongsan.vn/economics/over-321-million-usd-invested-in-izs-in-ho-chi-minh-city-564353.html

ตลาดค้าปลีกเวียดนามดึงดูดผู้ประกอบการญี่ปุ่น

จากรายงานเศรษฐกิจและสังคมของสำนักงานสถิติแห่งชาติของเวียดนาม (GSO) ระบุว่าถึงแม้จะเผชิญกับการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ไปทั่วโลก แต่ว่าการส่งออกและนำเข้าของเวียดนามยังคงเติบโตไปในทิศทางเชิงบวก ในขณะที่ เดือนต.ค. ยอดค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้วและร้อยละ 6.1 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ทั้งนี้ คุณ Tetsuyuki Nakagawa ผู้อำนวยการกลุ่มบริษัทอิออนเวียดนาม มองว่าสภาพแวดล้อมธุรกิจในอนาคตของเวียดนามอยู่ในทิศทางที่ดี ประกอบกับความพยายามของเวียดนามในการยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ช่วยให้ภาคค้าปลีกกลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเครือข่ายธุรกิจศูนย์การค้า

ที่มา : https://vov.vn/en/economy/vietnamese-retail-market-lures-japanese-firms-816274.vov

สปป.ลาว-เวียดนามกระชับความสัมพันธ์การค้ามากกว่า 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้จะมีการระบาด Covid-19

มูลค่าการส่งออกของสปป.ลาวไปยังเวียดนามเพิ่มขึ้นในปี 63 แม้ว่าจะมีการระบาด Covid-19 ก็ตาม โดยในปี 62 มูลค่าการส่งออกจากสปป.ลาวไปเวียดนามในช่วง 9 เดือนแรกอยู่ที่ 757.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 758 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าลดลงจาก 458 ล้านเหรียญสหรัฐเมื่อเทียบกับช่วง 9 เดือนของปี 62 เหลือ 410 ล้านเหรียญสหรัฐใน 9 เดือนของปี 63 ในขณะเดียวกันทั้งสองฝ่ายจะเพิ่มความพยายามในการส่งเสริมการค้าทวิภาคีในปี 63 โดยคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นระหว่าง 10-15% สินค้าหลักที่ส่งออกไปยังเวียดนาม ได้แก่ น้ำดื่ม แร่ธาตุ ผลิตภัณฑ์จากไม้และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เช่นยางพารา กาแฟ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ข้าวและวัว ด้านการนำเข้า จะเน้นกลุ่มสำคัญ เช่น ปิโตรเลียม ปุ๋ย เหล็ก เครื่องจักร อุปกรณ์ไฟฟ้า วัสดุก่อสร้างและชิ้นส่วนอะไหล่ เวียดนามยังคงเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 3ของสปป.ลาวและนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่อันดับ 3 ในสปป.ลาว รองจากไทยและจีน ธุรกิจของเวียดนามได้ลงทุนในโครงการ 413 โครงการในสปป.ลาวมูลค่ารวม 4.2 พันล้านเหรียญสหรัฐซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำ เหมืองแร่ การขนส่ง สวนป่าอุตสาหกรรม และบริการซึ่งมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาของทั้งสองประเทศ รัฐบาลสปป.ลาวหวังว่าการนำเข้าและการส่งออกรวมกันของประเทศจะบรรลุเป้าหมายในแผน โดยรัฐบาลสปป.ลาวได้ตั้งเป้าหมายการค้ารวมไว้ที่ 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 63 และเนื่องจากวิกฤต Covid-19 มีการแก้ไขเป็น 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : https://www.thestar.com.my/aseanplus/aseanplus-news/2020/11/07/laos-and-vietnam-strengthen-ties-more-than-us12bil-in-trade-agreements-despite-pandemi

เวียดนามเผยหนี้เสียพุ่ง เหตุโควิด-19

ธนาคารพาณิชย์ 15 แห่ง เผยผลประกอบการในไตรมาสที่ 3 ปี 63 พบว่าจำนวน 14 แห่ง มีหนี้เสีย (NPL) พุ่งร้อยละ 30 หรือมากกว่านั้น ในขณะที่ ธนาคารเพื่อการลงทุนและพัฒนาของเวียดนาม (BIDV) มีหนี้เสียเพิ่มขึ้นร้อยละ 16 ด้วยมูลค่า 22.5 ล้านล้านด่อง ซึ่งสูงที่สุดในบรรดาผู้ให้กู้ทั้งหมด ทั้งนี้ ผู้นำธนาคาร กล่าวว่าจำนวนหนี้คุณภาพต่ำเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ท่ามกลางการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เมื่อหลายธุรกิจประสบปัญหาทางการเงิน เนื่องจากมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมและความต้องการสินค้าและบริการหดตัวลง อย่างไรก็ตาม นาย Nguyen Tri Hieu นักเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่าหนังสือเวียนของแบงก์ชาติเวียดนาม เดือนมี.ค. ได้อนุมัติให้ธนาคารปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อช่วยเหลือผู้กู้ยืมท่ามกลางการระบาดของเชื้อไวรัส และขยายเวลาระยะคืนทุน

 ที่มา : https://vietreader.com/business/22446-non-performing-loans-surge-due-to-pandemic.html

เวียดนามเผยยอดตั้งธุรกิจใหม่และการกลับมาดำเนินธุรกิจ ฟื้นตัว ต.ค. 63

สำนักงานจดทะเบียนธุรกิจ เปิดเผยว่าการจดทะเบียนธุรกิจใหม่ในเดือนที่แล้ว อยู่ที่ 12,205 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.4 เมื่อเทียบกับเดือนก.ย. ในขณะเดียวกัน เดือนต.ค. ธุรกิจกลับมาดำเนินกิจการ 5,044 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในภาคค้าปลีก ซ่อมยานยนต์ การก่อสร้าง อุตสาหกรรมการผลิตและการท่องเที่ยว เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.4 เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว ทั้งนี้ ในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้  เวียดนามมีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนใหม่ จำนวน 111,160 ราย ลดลงร้อยละ 2.9 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว นอกจากนี้ เงินทุนจดทะเบียนเฉลี่ยอยู่ที่ 14.3 พันล้านด่อง (617,070 ดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.4 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าธุรกิจรายใหม่อยู่ในช่วงขยายกิจการ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/more-firms-established-resuming-operation-in-october/189979.vnp

กระทรวงฯ คาดว่าการส่งออกของเวียดนามในปี 63 โต 3-4%

กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (MoIT) เปิดเผยว่าเวียดนามยังคงรักษาอัตราการเติบโตของการส่งออกในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ ถึงแม้ว่าจะเผชิญกับการระบาดของ COVID-19 ก็ตาม โดยในช่วง 10 เดือนแรก เวียดนามมีมูลค่าการส่งออก อยู่ที่ 229.27 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ยอดการส่งออกของธุรกิจในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 (28.7% ของยอดส่งออกรวม) ในขณะที่ธุรกิจต่างชาติเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 (71.3% ของยอดส่งออกรวม) อย่างไรก็ตาม รองผู้อำนวยการฝ่ายการส่งออกและนำเข้า กล่าวว่าสหรัฐฯ ยังคงเป็นตลาดส่งออกรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ด้วยมูลค่า 62.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 24 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว รองลงมาจีน สหภาพยุโรป อาเซียน เกาหลีใต้และญี่ปุ่น ตามลำดับ ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ คาดว่าผู้ส่งออกในท้องถิ่นยังคงทำตลาดแบบดั้งเดิมอยู่และมองหาตลาดใหม่ๆ เพื่อที่จะใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) นอกจากนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงฯ กล่าวว่าการผลิตภาคอุตสาหกรรม การส่งออกและการค้าในประเทศ ปี 2563 อาจอยู่ในทิศทางที่ดีขึ้น และคาดว่าการส่งออกจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3-4 เมื่อเทียบกับปี 2562

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/ministry-predicts-2020-export-growth-of-34-pct/189865.vnp

เผยผลสำรวจพบนักช้อปชาวเวียดนามซื้อสินค้าออนไลน์พุ่ง ในปี 2563

“เอเซีย พลัส” บริษัทวิจัยตลาดเอเชียและอาเซียน เปิดเผยผลสำรวจของผู้บริโภคชาวเวียดนาม เรื่อง “ตลาดอีคอมเมิร์ซเวียดนาม ปี 2563” ทำการสำรวจเดือนต.ค. 2563 รวมทั้งสิ้น 700 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการซื้อสินค้าออนไลน์ เมื่อถามถึงอุปกรณ์ที่ใช้ในการซื้อสินค้าออนไลน์ พบว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่ร้อยละ 59 ใช้แอปพลิเคชันบนมือถือ ในขณะที่ร้อยละ 19 ใช้คอมพิวเตอร์ สาเหตุส่วนใหญ่มาจากนักช้อปชาวเวียดนามอยู่บ้านมากขึ้นในช่วง COVID-19 ส่งผลให้การซื้ออาหารและเครื่องดื่มผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้นตามไปด้วย รองลงมาแฟชั่น เครื่องสำอาง อุปกรณ์กีฬา หนังสือ โทรศัพท์มือถือและของใช้ภายในบ้าน ซึ่งล้วนแต่เป็นสินค้าที่นิยมซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส อย่างไรก็ตาม จำนวนเงินที่ซื้อสินค้าออนไลน์ ส่วนใหญ่ร้อยละ 53 ใช้จ่ายต่ำกว่า 500,000 ด่องต่อเดือน (21.6 ดอลลาร์สหรัฐ) ขณะที่ร้อยละ 21 ใช้จ่าย 700,000-1 ล้าน ด่องต่อเดือน (30.3-43.2 ดอลลาร์สหรัฐ) นอกจากนี้ สำหรับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ พบว่า ช้อปปี้ (Shopee) เป็นแพลตฟอร์ที่นักช้อปชาวเวียดนามร้อยละ 36 นิยมซื้อนิยมสินค้ามากที่สุด รองลงมาลาซาด้า (28%) และทิกิ (11%) โดยสาเหตุที่ช้อปปี้ได้รับความนิยมมากที่สุด เนื่องมาจากราคาและความหลากหลายของสินค้าที่มีความเหมาะสม รวมถึงมีภาพลักษณ์ให้ความสนุกสนานในการจับจ่ายใช้สอย

ที่มา : http://hanoitimes.vn/vietnamese-shoppers-increase-online-purchase-frequency-in-2020-survey-314726.html

INFOGRAPHIC : เวียดนามดึงดูด FDI ถึง 23.48 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้

กระทรวงวางแผนและการลงทุนของเวียดนาม (MPI) เปิดเผยว่าเวียดนามดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) 23.48 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้

โดยเงินลงทุนจากโครงการใหม่จำนวน 2,100 โครงการรวมมูลค่า 11.66 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ, จำนวน 907 โครงการที่ปรับเพิ่มเงินทุนมูลค่าน้อยกว่า 5.71 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และจำนวน 5,451 โครงการที่มีการซื้อหุ้นกิจการจากนักลงทุนต่างประเทศ มูลค่า 6.11 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

สิงค์โปร์เป็นประเทศที่มีการลงทุนมากที่สุด ด้วยมูลค่าการลงทุน 7.51 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 31.9 ของเงินทุนรวมจากต่างประเทศ รองลงมาเกาหลีใต้ มีมูลค่า 3.42 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 14.6, จีน มีมูลค่า 2.17 คิดเป็นร้อยละ 9.2 และประเทศอื่นๆ มีมูลค่า 10.38 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 44.3

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-attracts-2348-billion-usd-in-fdi-in-ten-months/189661.vnp

อีคอมเมิร์ซเป็นเครื่องมือที่ธุรกิจเวียดนามจะขาดไม่ได้

รองผู้อำนวยการอุตสาหกรรมและการค้าของเมืองโฮจิมินห์ กล่าวว่าท่ามกลางการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ไปยังทั่วโลก อีคอมเมิร์ซถือเป้นเครื่องมือหนึ่งที่ธุรกิจในท้องถิ่นขาดไม่ได้ในการขยายการดำเนินงานและกิจกรรมทางการค้า โดยอเมซอน (Amazon) เป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่มีส่วนสำคัญอย่างมากในฐานะตัวเลือกการจับจ่ายสินค้าที่สะดวกและมีความปลอดภัยแก่ผู้ค้าเวียดนาม ทั้งนี้ จากข้อมูลขององค์การค้าโลก (WTO) ระบุว่าสถานการณ์การแพร่ะระบาดของไวรัส ส่งผลให้อีคอมเมิร์ซเป็นทางออกของผู้บริโภคในช่วงวิกฤตดังกล่าวและยังเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รวมถึงผลักดันธุรกิจขนาดย่อมอีกด้วย อย่างไรก็ตาม รองผู้อำนวยการแผนกอีคอมเมิร์ซและเศรษฐกิจดิจิทัล กล่าวว่าในช่วงเศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะถดถอยในปีนี้ แต่ว่าเศรษฐกิจเวียดนามยังอยู่ในทิศทางที่เป็นบวก ถึงแม้อัตราการเติบโตจะอยู่ในระดับต่ำที่สุดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความพยายามของรัฐบาลในการดำเนินงานทั้งการควบคุมการระบาดและการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยเหตุนี้ อีคอมเมิร์ซจึงเป็นกลไกที่สำคัญของเศรษฐกิจเวียดนาม ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 14 ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้

ที่มา : http://hanoitimes.vn/e-commerce-to-become-indispensable-instrument-for-vietnam-enterprises-314716.html

เศรษฐกิจดิจิทัลเวียดนามในปี 68 คาดพุ่ง 43 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

งานสัมมนาในหัวข้อ “การพัฒนาอีคอมเมิร์ซเวียดนามในยุคดิจิทัล” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 พ.ย. ณ กรุงฮานอย เผยว่าเศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนามและอินโดนีเซียมีอัตราการขยายตัวสูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 38 ต่อปี ในขณะที่ ประเทศอื่นๆ ในอาเซียน มีอัตราการเติบโตร้อยละ 20-30 ต่อปี ซึ่งการเปลี่ยนแปลงด้วยเทคโนโลยีในการดำเนินธุรกิจที่รวดเร็วในปัจจุบัน สาเหตุส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการแพร่ะบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เป็นแรงผลักดันให้ลูกค้าเข้าสู่ตลาดอีคอมเมิร์ซ ด้วยเหตุนี้ เศรษฐกิจดิจิทัลในปี 2562 มีมูลค่าแตะ 12 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะสูงถึง 43 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 รวมถึงบริการเดินทางออนไลน์ สื่อออนไลน์และยานพาหนะอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ทั้งนี้ รองผู้อำนวยการกระทรวงพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และเศรษฐกิจดิจิทัล กล่าวว่ามิติที่ 749 ของนายกรัฐมนตรีเหงวียนซวนฟุกเกี่ยวกับการกำหนดวิสัยทัศน์ในปี 2568 ซึ่งเศรษฐกิจดิจิทัล คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20 ของ GDP และได้ตั้งเป้ามูลค่าของอีคอมเมิร์ซค้าปลีกและบริการ อยู่ที่ 35 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2568

ที่มา : https://vietreader.com/business/finance/22025-vietnamese-digital-economy-expected-to-jump-to-us43-billion-by-2025.html