ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของเวียดนามเพิ่มขึ้น 6.2% ในช่วง 2 เดือนแรก

ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมของเวียดนามในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 6.2 เป็นผลมาจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งต่ำกว่าร้อยละ 13.7 และ 9.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 และ 2562 ตามลำดับ โดยภาคการแปรรูปและการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4 การผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.4 การจำหน่ายน้ำและบำบัดน้ำเสียเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 ขณะที่ ภาคเหมืองแร่ลดลงร้อยละ 3.7 ซึ่งจากการประชุมที่กรุงฮานอยเมื่อเร็วๆนี้ ทางกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ระบุว่าภาคการแปรรูปและการผลิตของเวียดนาม มียอดค้าปลีกส่วนใหญ่มาจากวัตถุดิบและชิ้นส่วนที่นำเข้ามาจากจีน เกาหลีใต้และญี่ปุ่น ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสดังกล่าว ทั้งนี้ ในปีที่แล้ว เวียดนามนำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอยู่ที่ 40 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากกลุ่ม 3 ประเทศข้างต้น นอกจากนี้ จากสถานการณ์เดียวกันนั้น ผู้ประกอบการเครื่องนุ่งห่มและรองเท้ายังคงมีวัตถุดิบในการผลิตที่เพียงพอจนถึงต้นเดือนมีนาคมหรือต้นเดือนเมษายน

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnams-industrial-production-up-62-pct-in-two-months/169482.vnp

เวียดนามขาดดุลการค้า 176 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 2 เดือนแรก

จากรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ เวียดนามขาดดุลการค้าราว 176 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภาคเศรษฐกิจในประเทศขาดดุลการค้าอยู่ที่ 3.97 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ ภาคการลงทุนจากต่างชาติ (รวมถึงน้ำมันดิบ) เกินดุลการค้าอยู่ที่ 3.76 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ  สำหรับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ มูลค่าการส่งออกรวมอยู่ที่ 36.92 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ถึงแม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งบางส่วนมาจากการส่งออกสมาร์ทโฟนซัมซุง S20 ทั้งนี้ สินค้าส่งออกที่มีมูลค่าสูงสุด ได้แก่ โทรศัพท์และชิ้นส่วน มีมูลค่าอยู่ที่ 6.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 ตามมาด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เครื่องจักรและรองเท้า เป็นต้น ในขณะเดียวกัน สินค้ารายการอื่นๆที่มีมูลค่าการส่งออกลดลง ได้แก่ อาหารทะเลมีมูลค่า 921 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 17.7 ตามมาด้วยกาแฟ ผักผลไม้ เม็ดมะม่วงหิมพานต์และเม็ดพริกไทย เป็นต้น สหรัฐฯยังคงเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ด้วยมูลค่า 9.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.6 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

ที่มา : https://english.vov.vn/economy/vietnam-posts-trade-deficit-of-176-million-usd-in-two-months-410757.vov

สนง.สถิติเวียดนาม เผย CPI เดือนก.พ. ลดลง 0.17%

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม เปิดเผยว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือนกุมภาพันธ์ ลดลงร้อยละ 0.14 เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว เนื่องมาจากความต้องการสินค้าลดลง หลังจากช่วงเทศกาลขึ้นปีใหม่ (เต็ด), ราคาน้ำมันที่ลดลง และการระบาดของไวรัสโควิด-19 จากการแพร่ระบาดไวรัสดังกล่าวส่งผลให้กิจกรรมของภาคการท่องเที่ยวและเทศกาลลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธุรกิจโรงแรมและบริการด้านความบันเทิง ซึ่งกลุ่มสินค้าและบริการ 11 รายการที่อยู่ในตะกร้าสินค้า โดยมีสินค้า 6 รายการที่ราคาลดลงทำสถิติ ได้แก่ บริการขนส่ง (2.5%), การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม, เครื่องดื่มและบุหรี่, เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า, วัสดุที่อยู่อาศัยและบริการโทรคมนาคมและไปรษณีย์ ขณะเดียวกัน กลุ่มสินค้าที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ บริการจัดงานเลี้ยง (0.26%), สินค้าและบริการอื่นๆ, แพทยศาสตร์และบริการทางการแพทย์, เครื่องใช้ในครัวเรือนและการศึกษา ทั้งนี้ ราคาทองคำในเดือน ก.พ. เคลื่อนไหวตามราคาทองคำโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.74 จากเดือน ม.ค. ที่แตะระดับราว 4.45 ล้านดองต่อตำลึง สาเหตุมาจากนักลงทุนย้ายเงินทุนไปยังสินทรัพย์ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น เพราะผลกระทบที่ไวรัสโควิด-19 มีผลต่อเศรษฐกิจ สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราดองต่อดอลลาร์สหรัฐ ยังคงอยู่ในระดับคงที่ อยู่ที่ 23,300 ดอง/ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ในเดือน ก.พ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.17 จากเดือน ม.ค.

ที่มา : https://english.vov.vn/economy/february-cpi-falls-by-017-percent-410755.vov

ภาคเกษตร ป่าไม้และประมง เกินดุลการค้า ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้

ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ ภาคเกษตร ประมงและประมงเวียดนาม มียอดเกินดุลการค้ากว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตร ป่าไม้และประมงอยู่ที่ 5.34 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 2.8 ขณะเดียวกัน มูลค่าการนำเข้าสินค้าเกษตร ป่าไม้และประมงอยู่ที่ 4.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 6.7 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ตลาดส่งออกสินค้าเกษตร ป่าและประมงรายใหญ่ของเวียดนาม คือ จีน สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรปและอาเซียน ทั้งนี้ ทางกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทเวียดนาม (MARD) ระบุว่าได้ทำการประสานงานกับหนวยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมการค้าในตลาดใหม่และกระตุ้นยอดขายในประเทศ ขณะเดียวกัน คาดว่ายอดส่งออกสินค้าดังกล่าวในปี 2563 อยู่ที่ 41.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว นอกจากนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) ระบุว่าภาคการเกษตร ป่าไม้และประมง ขยายตัวร้อยละ 2.01 ในปี 2562

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/agro-forestry-fishery-sector-runs-trade-surplus-in-two-months/169295.vnp

การลงทุนจากต่างชาติลดลง 23.6% ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้

จากรายงานของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม เปิดเผยว่ายอดการลงทุนจากต่างชาติลดลงร้อยละ 23.6 ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ คิดเป็นมูลค่าอยู่ที่ 6.47 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับโครงการลงทุนจากต่างชาติมีการเบิกจ่ายเงินทุน 2.45 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 5 โดยโครงการใหม่มีจำนวน 500 โครงการที่จดทะเบียน ด้วยมูลค่าจดทะเบียนรวม 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 2 เท่าจากปีที่แล้ว ทั้งนี้ โครงการที่ปรับเพิ่มเงินทุนมีจำนวนอยู่ 151 โครงการ ด้วยเงินทุน 638.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นในธุรกิจเวียดนามอยู่ที่ 827.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญร้อยละ 84 ซึ่งภาคการผลิตพลังงานมีการลงทุนจากต่างชาติมากที่สุด รองลงมาภาคการแปรรูปและการผลิต ค้าส่งค้าปลีก และเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ เป็นต้น ในขณะเดียวกัน สิงคโปร์เป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุด รองลงมาจีน และเกาหลีใต้ เป็นต้น

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/foreign-investment-falls-23-6-percent-in-first-two-months/169297.vnp

ยอดขายรถจักรยานยนต์เวียดนามสูงเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคอาเซียน

ถึงแม้ว่ายอดขายรถจักรยานยนต์เวียดนามติดอยู่ในอันดับที่ 2 ในภูมิภาคอาเซียน เมื่อปีที่แล้ว แต่ความต้องการในประเทศกลับลดลงเมื่อเทียบกับการเติบโตของภูมิภาคใกล้เคียงกัน โดยข้อมูลจากบริษัทวิจัยการตลาด เปิดเผยว่าเวียดนามมียอดขายอยู่ที่ 3.27 ล้านคัน เป็นรองอินโดนีเซียที่มียอดขายเพียง 6.53 ล้านคัน สำหรับยอดขายในประเทศนั้น ลดลงร้อยละ 3.7 ในปี 2561 ขณะที่ ยอดขายในภูมิภาคอาเซียนขยายตัวร้อยละ 3.1 เนื่องจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นในอินโดนีเซียและมาเลเซีย  เมื่อจำแนกเป็นยี่ห้อรถจักรยานยนต์ พบว่าฮอนด้าทำสถิติยอดขายสูงสุดอยู่ที่ 2.57 ล้านคัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 และยังคงครองผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุด ทั้งนี้ เวียดนามติดอยู่ในอันดับที่ 4 ที่มีการบริโภครถจักรยานยนต์ ตามมาด้วยอินเดีย จีนและอินโดนีเซีย ตามลำดับ เป็นต้น นอกจากนี้ จากข้อมูลของสมาคมผู้ผลิตรถจักรยานยนต์เวียดนาม ระบุว่าตลาดรถจักรยานยนต์เวียดนามยังคงเติบโต ถึงแม้คาดว่าในครั้งก่อน ตลาดจะอยู่ในช่วงอิ่มตัว ด้วยข้อจำกัดด้านโครงสร้างพื้นฐานและภาษีที่สูง แต่พบว่ายังมีความความต้องการสินค้าประเภทนี้อยู่และข้อจำกัดของรถยนต์ ด้วยเหตุนี้ ทางสมาคมฯมองว่าตลาดจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงในอนาคตข้างหน้า ซึ่งยอดขายชะลอตัวอยู่ที่ราว 3 – 3.5 ล้านคันต่อปี

ที่มา : https://english.vov.vn/economy/vietnams-motorbike-sales-second-highest-in-asean-410556.vov

ไทยตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้าเหล็กจากเวียดนาม

หน่วยงานกำกับดูแลมาตรการค้าของเวียดนาม (TRAV) ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม เปิดเผยว่าประเทศไทยเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้าเหล็กของเวียดนาม ในอัตราร้อยละ 6.79 -51.61 ของราคาสินค้ารวมค่าประกันภัยและค่าระวาง (CIF) สำหรับการนำเข้าสินค้าเหล็กจากเวียดนาม ซึ่งทางสำนักงานการค้าเวียดนามในไทยได้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับสรุปการพิจารณาการทุ่มตลาดสินค้าเหล็กและท่อเหล็กกล้าที่มีแหล่งกำเนิดจากเวียดนาม (HS Code 169) เนื่องจากปกป้องภาคการผลิตอุตสาหกรรมของไทย อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงเรื่องการทุ่มตลาด ดำเนินเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดที่ถูกนำมาใช้เป็นเวลาสูงสุดไม่เกิน 5 ปี และสมาชิกสามารถดำเนินการตรวขสอบได้ทุกๆปี ดังนั้น หน่วยงานกำกับดูแลมาตรการค้าของเวียดนามให้คำแนะนำผู้ประกอบการส่งออกชาวเวียดนามในการทบทวนหลักฐาน เพื่อให้แน่ใจว่าถูกต้องและได้รับผลประโยชน์

ที่มา : https://english.vov.vn/economy/thailand-imposes-antidumping-duty-on-vietnamese-steel-products-410542.vov

ผู้ค้าออนไลน์เร่งปรับราคาหน้ากากและเจลล้างมือ

จากข้อมูลของสำนักงานพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และเศรษฐกิจดิจิทัล ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (MoIT) เปิดเผยว่ามีการละเมิดในเว็บไซค์อีคอมเมิร์ซ ได้แก่ Sendo, Shopee, Lazada, Tiki, chotot, vatgia และ fado เป็นต้น ผู้ขายออนไลน์ถูกกล่าวหาว่าใช้ผลประโยชน์จากการแพร่ระบาดชองไวรัสโคโรนา ในการปรับขึ้นราคาสินค้าอนามัย ซึ่งทางสำนักงานระบุว่าได้ดำเนินการ เพื่อป้องกันไม่ให้ร้านค้าขายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวที่ตั้งราคาสูงมากเกินไป เมื่อวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้ดำเนินการตรวจสอบผู้ขายออนไลน์ทั้งหมด 463,865 ราย พบว่ามีผู้ละเมิด 5,200 รายที่เพิ่มราคาสินค้า 21,000 ชิ้น ทั้งนี้ ในช่วงปลายเดือนม.ค. สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้คร่าชีวิตผู้คนมากกว่า 2,600 ราย และจำนวนผู้ติดเชื้อราว 79,000 ราย ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมผู้บริโภคในท้องถิ่นและความต้องการของสินค้าสุขอนามัยเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ข้อมูลของกันตาร์ เวิล์ดพาแนล (Kantar Worldpanel) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์และบริการจัดส่ง มองว่าการเติบโตฐานลูกค้าและการมใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นนั้น ได้แรงหนุนจากความสนใจของผู้ซื้อรายใหม่ที่ยังไม่เคยซื้อของออนไลน์หรือการใช้จ่ายออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/online-sellers-fined-for-hiking-prices-of-face-masks-hand-sanitiser/169152.vnp

ธุรกิจสิงคโปร์ค้นหาซัพพลายเออร์สินค้าเกษตรจากเวียดนาม

คณะผู้แทนจากสิงคโปร์เข้าเยี่ยมชมเวียดนาม ในช่วงปลายเดือนนี้ เพื่อค้นหาซัพพลายเออร์ผักและผลไม้และเน้นในการร่วมมือธุรกิจ ตลอดจนการถ่ายทอดโอนเทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตสินค้าเกษตร เนื่องมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ยอดการนำเข้าจากจีนลดลง ทางกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (MOIT) ระบุว่าปัจจัยข้างต้นอาจจะเป็นทางออกในการแก้ไขปัญหาด้านการส่งออกสินค้าเกษตรกรรมของเวียดนามจากการแพร่ระบาดชองไวรัส ทำให้ภาคธุรกิจของสิงคโปร์ต้องหาตลาดใหม่ โดยเฉพาะตลาดกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไทยและเวียดนาม เพื่อรองรับทางการค้าหยุดชะงักกับจีน ประกอบกับสิงคโปร์เป็นประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าสินค้าเกษตร ด้วยโอกาสนี้ เวียดนามขยายการส่งออกผักผลไม้ไปยังสิงคโปร์และลดการค้ากับจีน นอกจากนี้ จากตัวเลขสถิติศุลกากร แสดงให้เห็นว่าในเดือนม.ค. มีมูลค่าการส่งออกรวมอยู่ที่ 280 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 20.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันเดือนก่อนหน้า สำหรับตลาดนำเข้าผักผลไม้รายใหญ๋ที่สุดของเวียดนาม ได้แก่ จีน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 64.8 ของมูลค่าส่งออกผักผลไม้ทั้งหมด แต่ในเดือน ม.ค. มูลค่าการส่งออกไปยังจีนลดลงร้อยละ 32.4 ด้วยมูลค่า 173.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/622670/singapore-firms-seek-suppliers-of-agricultural-products-in-viet-nam.html

ธุรกิจญี่ปุ่นลงทุนภาคการค้าปลีกและบริการในเวียดนาม

ภาคการค้าปลีกและบริการเวียดนาม คาดว่าจะดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากญี่ปุ่นจำนวนมากในปีนี้ จากข้อมูลขององค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JETRO) เปิดเผยว่ากำลังซื้อของชาวเวียดนามที่เพิ่มขึ้นทั่วประเทศนั้น ทำให้ผู้ประกอบการค้าปลีกและบริการชาวญี่ปุ่น มองหาโอกาสธุรกิจในตลาดที่กำลังเติบโต ถึงแม้ว่าการลงทุนของญี่ปุ่นจะลดลงในปีที่แล้ว แต่จำนวนโครงการใหม่ของนักลงทุนญี่ปุ่นกลับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งจำนวนโครงการที่จดทะเบียนแตะระดับสูงสุดอยู่ที่ 435 โครงการในปีที่แล้ว ทั้งนี้ จากผลการสำรวจของเจโทร ระบุว่าผู้ประกอบการชาวญี่ปุ่นที่ทำธุรกิจในเวียดนามส่วนใหญ่ร้อยละ 63.9 ตั้งใจที่จะขยายธุรกิจในประเทศ นับว่าเวียดนามเป็นประเทศที่มีอัตราการลงทุนสูงสุดในอาเซียน ในขณะเดียวกัน องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) ได้กล่าวกับสื่อท้องถิ่นว่าเมื่อ 3 ปีก่อน ว่าประเทศไทยเป็นตลาดที่น่าสนใจอย่างมากสำหรับนักลงทุนและผู้ประกอบการชาวญี่ปุ่น แต่ด้วยแนวโน้มในปัจจุบัน ผู้ประกอบการชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่หันมาลงทุนในเวียดนามแทน เนื่องจากจำนวนประชากรมากกว่า 96 ล้านคน ดังนั้น ภาคบริการจีงมีศักยภาพสูงและเป็นสาเหตุที่ผู้ค้าปลีกญี่ปุ่นหลายรายเข้ามาทำตลาดในเวียดนาม นอกจากนี้ กระทรวงการวางแผนและการลงทุน ระบุว่าธุรกิจญี่ปุ่นหลายรายมักจะระมัดระวังในการลงทุน ซึ่งจากข้อมูลสถิติการลงทุน ระบุว่าในปีที่แล้ว เม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากญี่ปุ่นอยู่ที่ 1.07 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/japanese-businesses-to-invest-in-vietnam-s-services-and-retail/169100.vnp