เงินเฟ้อ สปป.ลาว พุ่งแตะ 23.6% สูงสุดในรอบ 22 ปี

ในเดือนมิ.ย.2565 เงินเฟ้อในสปป.ลาว พุ่งแตะ 23.6% สูงสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน เนื่องจากราคาพลังงานและสินค้าอุปโภคบริโภคที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องสร้างความลำบากและซ้ำเติมการใช้ชีวิตของประชาชนในประเทศเป็นอย่างมาก ด้านสำนักงานสถิติของสปป.ลาว ชี้ว่า ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซ และสินค้านำเข้าอื่นๆ ที่พุ่งสูงขึ้น ประกอบกับค่าเงินกีบเป็นปัจจัยหลักที่ผลักดันเงินเฟ้อ ซึ่งเกินกรอบเงินเฟ้อเป้าหมายที่รัฐบาลได้ตั้งไว้คือ 12% โดยในเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา ราคาน้ำมัน ก๊าซ และทองคำพุ่งขึ้น 107.1 เปอร์เซ็นต์ 69.4% และ 68.7% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปีก่อน ประกอบกับสถานการณ์ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่รุนแรงขึ้นส่งผลให้ตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงทั่วโลกผันผวน ความหวาดกลัวว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก และวิกฤตด้านอาหารที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ส่วนราคาน้ำมันมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเกิดจากการที่รัฐบาลพยายามจัดหาให้กับประชาชน ที่ผ่านมาเงืนเฟ้อในสสป.ลาว เคยพุ่งสูงสุดถึง 26.95% ในปี 2543 ทั้งนี้ จากดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนมิ.ย.2565 ที่พุ่งสูงขึ้นสูงสุด คือหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร ที่พุ่งขึ้นถึง 55.5%

ที่มา: https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten126_Inflation.php

จักรยานมือสองญี่ปุ่น ครองส่วนแบ่งตลาดใน “มัณฑะเลย์”

เมืองมัณฑะเลย์เป็นเมืองที่ขึ้นชื่อว่ามีการใช้จักรยานเพื่อการท่องเที่ยวในเขตเมืองเป็นหลัก ซึ่งจักรยานมือสองจากญี่ปุ่นมีส่วนแบ่งการตลาดสูงในเมืองมัณฑะเลย์ ทำให้มียอดขายสูงขึ้นส่งผลให้ราคาปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ราคาอยู่ที่ประมาณ 120,000 – 150,000 จัตต่อคัน ซึ่งจักรยานจากญี่ปุ่นที่นำเข้ามาในประเทศจะผ่านทางทะเล หลังจากนั้นร้านที่รับซื้อจะทำการซ่อมบำรุงรักษาเพื่อไปขายต่อให้กับผู้ที่สนใจรับซื้อ ปัจจุบันในตลาดจะมีที่นำเข้ามาทั้งจากจีนและญี่ปุ่นแต่ที่นิยมส่วนมากจะเป็นของญี่ปุ่นเพราะ มีความทนทานสูงและสมรรถนะที่ดี และในช่วงที่น้ำมันแพงยิ่งเป็นตัวเร่งให้จักรยานเป็นที่ต้องการในตลาดเป็นมากขึ้น

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/used-bikes-from-japan-grasp-market-share-in-mandalay-city/

ครึ่งปีแรกของปี 65 ท่าเรือย่างกุ้งมีเรือขนส่งสินค้า เทียบท่าถึง 306 ลำ !

การท่าเรือเมียนมา เผย ครึ่งแรกของปี 2565 (ม.ค.-มิ.ย.) มีเรือขนสินค้าทั้งหมด 306 ลำเข้าจอดเทียบท่าของท่าเรือย่างกุ้ง ทำให้มีแผนที่จะขยายการให้บริการตั้งแต่เดือนพ.ค.2565 เพื่อให้การส่งออกและนำเข้าสะดวกสะบายมากขึ้น โดยมีจำนวนเรือที่เข้ามาเทียบท่า ดังนี้ เดือนม.ค. จำนวน 49 ลำ,เดือนก.พ จำนวน 48 ลำ, เดือนมี.ค. จำนวน 50 ลำ, เดือนเม.ย. จำนวน 52 ลำ, เดือนพ.ค.จำนวน 54 ลำ และเดือนมิ.ย. จำนวน 53 ลำ ซึ่งมูลค่าการค้าทางทะเลระหว่างวันที่ 1 เม.ย. ถึง 24 มิ.ย.2565 ของปีงบประมาณปัจจุบัน 2565-2566 มีมูลค่า 5.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 1.49 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงเวลาเดียวกันของปีงบประมาณที่แล้ว ที่มีมูลค่าการค้า 4.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ สินค้าเกษตร ผลิตภัณฑ์ประมง แร่ธาตุ ปศุสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากป่า สินค้าอุตสาหกรรมสำเร็จรูป และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในขณะที่การนำเข้า ได้แก่ สินค้าทุน สินค้าอุปโภคบริโภค และวัตถุดิบอุตสาหกรรม ปัจจุบันเมียนมามีท่าเรือ 9 แห่ง ซึ่งท่าเรือย่างกุ้งถือเป็นประตูการค้าทางทะเลของเมียนมา

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/yangon-port-handles-306-cargo-ships-in-h1/#article-title

“เวียดนาม” ตั้งเป้าศก.โต 7% ปีนี้

นาย Nguyen Chi Dung รัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ กล่าวในที่ประชุมของรัฐบาลว่าเวียดนามตั้งเป้าตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ขยายตัว 7% ในปีนี้ ซึ่งสูงกว่าที่รัฐบาลได้ตั้งเป้าไว้ว่าจะขยายตัว 6-6.5% เพื่อให้บรรลุตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ เศรษฐกิจของเวียดนามในไตรมาสที่ 3 จะต้องขยายตัว 9% และในไตรมาสที่ 4 (6.3%) และเวียดนามเกินดุลงบประมาณ ทำให้นโยบายการคลังช่วยภาคธุรกิจและผู้อยู่อาศัย ทั้งนี้ สถาบันสินเชื่อจะต้องปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มเติม เพื่อลดแรงกดดันด้านต้นทุนการผลิตแก่กิจการและเศรษฐกิจ

ที่มา : https://asia.nikkei.com/Economy/Vietnam-targets-7-GDP-growth-this-year-investment-minister-says

“เวียดนาม” ส่งออกสินค้าประมง พุ่ง 40% ในช่วงครึ่งแรกของปี

สมาคมผู้ส่งออกและผู้ผลิตอาหารทะเลของเวียดนาม (VASEP) รายงานว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 เวียดนามส่งออกสินค้าประมง 5.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 40% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว หากพิจารณารายการสินค้า อาทิ กุ้ง เวียดนามส่งออกกุ้งเพิ่มขึ้น 7% ถือว่าอยู่ในระดับปกติ คิดเป็นมูลค่ารวม 450 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุสำคัญมาจากการขาดแคลนวัตถุดิบ ถึงแม้ว่าภาคธุรกิจจะกลับมาฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตหลายรายได้ยกระดับมูลค่าของกุ้งแปรรูปให้สูงขึ้นแทนที่จะเป็นของดิบ ไปยังตลาดสำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกาและยุโรป เพื่อป้องกันการขาดแคลนวัตถุดิบอาหารทะเล นอกจากนี้ วิกฤตเงินเฟ้อและสงครามรัสเซีย-ยูเครน เปิดโอกาสครั้งสำคัญแก่ปลาสวายของเวียดนามในปีนี้ เนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรการนำเข้าปลาไวท์ฟิช ทำให้เกิดการขาดแคลนอย่างรุนแรงในตลาดโลก ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้าจากรัสเซีย

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/aquatic-exports-spike-40-in-h1/232123.vnp

โรงแรมเริ่มฟื้นตัว อัตราเข้าพักเพิ่ม เดือนมิ.ย.พุ่ง38%

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ สมาคมโรงแรมไทย สำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรม (Hotel business operator Sentiment Index: HSI) เดือนมิ.ย. 2565 พบว่า อัตราการเข้าพักเดือน มิ.ย. 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 38% เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน และเดือนเดียวกันกับปีก่อน จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ทยอยเพิ่มขึ้น หลังมีการผ่อนคลายนโยบายเปิดประเทศ ขณะที่นักท่องเที่ยวไทยชะลอการเดินทางตามสิทธิ์โครงการเราเที่ยวด้วยกันที่หมดลง คาดว่าอัตราการเข้าพักเดือน ก.ค. 2565 เพิ่มขึ้น เฉลี่ยอยู่ที่ 40% ส่วนรายได้ของโรงแรมบางส่วนเริ่มปรับดีขึ้น แต่ภาพรวมยังอยู่ในระดับต่ำ เกือบครึ่งหนึ่งรายได้ยังกลับมาไม่ถึง 30% และมีสภาพคล่องใกล้เคียงเดือนก่อน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเห็นว่า ยังต้องการมาตรการในการช่วยเหลือ ได้แก่ มาตรการช่วยเหลือด้านต้นทุน ลดค่าไฟฟ้า-ประปา และขยายเวลาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มาตรการช่วยเหลือทางการเงิน

ที่มา: https://www.naewna.com/business/664576

“เวียดนาม” บริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมากที่สุดในโลก แซงเกาหลีใต้

ตามข้อมูลของนงชิม (Nongshim) ผู้ผลิตรามยอนรายใหญ่ของเกาหลีใต้ เปิดเผยว่าชาวเวียดนามบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเฉลี่ย 87 ที่ต่อปี ในขณะที่ชาวเกาหลีใต้บริโภคเฉลี่ย 73 ที่ โดยตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของเวียดนามเติบโตอย่างรวดเร็วจากมูลค่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2562 มาอยู่ที่ระดับ 8.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564 และอยู่ในอันดับที่ 3 รองจากตลาดจีนและอินโดนีเซีย ทั้งนี้ เวียดนามมีกำลังซื้อสูงจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ผู้คนหันมาทานอาหารที่บ้านมากกว่าทานอาหารนอกบ้าน เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19

ที่มา : http://www.theinvestor.co.kr/view.php?ud=20220703000035

สถานีรับ-ส่งสินค้ารถไฟจีน-ลาว เปิดให้บริการส่งสินค้าเข้าไทย

เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2565 ที่ผ่านมา  การขนส่งสินค้าของการรถไฟจีน-ลาว ถูกเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการปลายทางไปยังท่าเรือแหลมฉบังของไทย ซึ่งการขนส่งสินค้าของสถานีเวียงจันทน์ใต้ของรถไฟจีน-ลาว คาดว่าเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของการขนส่งสินค้าระหว่างจีนและประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยสปป.ลาวให้ความสำคัญกับโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) เสมอ เพราะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ในการเปลี่ยนจากประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลให้เป็นศูนย์กลางทางบกของภูมิภาค ซึ่งจะส่งผลให้อุตสาหกรรมต่างๆ เติบโต เช่น การค้าและการลงทุน โดย Laos-China Railway Co., Ltd. (LCRC) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนในเวียงจันทน์ ได้ให้ข้อมูลว่า รถไฟจีน-ลาว สามารถไปทางเหนือไปถึงเฉิงตู ฉงชิ่ง หวู่ฮั่น ซีอาน และศูนย์กระจายสินค้าอื่นๆ ของจีน พร้อมทั้งเชื่อมต่อกับทางรถไฟจีน-ยุโรป เครือข่ายทางด่วนและทางใต้เข้าถึงเมืองท่าต่างๆ เช่น ท่าเรือแหลมฉบังของไทยและสิงคโปร์ ทั้งนี้จนถึงวันที่ 30 มิ.ย.2565 การรถไฟจีน-ลาว มีผู้โดยสารใช้บริการแล้ว 3.36 ล้านคน โดยแบ่งเป็นผู้โดยสารชาวสปป.ลาว ประมาณ 480,000 คน, การขนส่งสินค้า 4.69 ล้านตัน และสินค้าข้ามชายแดนจีน-ลาว 0.77 ล้านตัน

ที่มา: https://english.news.cn/20220702/ead3dc1c0b664fdfa2fa2bde9beadc52/c.html

ก.พ.65 เมียนมาส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จ พุ่ง! 360 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

สำนักงานสถิติกลางของเมียนมา เผย เดือนก.พ. 2565 เมียนมามีรายได้จากการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปมากกว่า 360 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 143 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 217.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีงบประมาณ 2562-2563 การส่งออกเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ทำรายได้เกือบ 4.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงมากกว่า 63 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยหลักๆ แล้วอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มในเมียนมาเป็นแบบ สินค้าตัดเย็บ หรือ CMP (Cut, manufacture and produce) คำสั่งซื้อหลักๆ จะมาจากประเทศในสหภาพยุโรป จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์เมียนมา ระบุว่า การส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นสามเท่าจาก 337 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2553 เป็นเกือบ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2557 ขณะที่ ในปี 2558 การส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปสูงถึง 1.46 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็น 10% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของทั้งประเทศ

ที่มา: https://news-eleven.com/article/233400

เศรษฐกิจกัมพูชาอยู่ในช่วงของการฟื้นตัว แต่กลับต้องเผชิญกับภาวะน้ำมันแพง

คาดเศรษฐกิจกัมพูชาเติบร้อยละ 4.5 ในปี 2022 จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศและการส่งออกสินค้าเริ่มกลับมาฟื้นตัว ตามการคาดการณ์ของธนาคารโลก ในขณะเดียวกันยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น จากผลกระทบของสงครามระหว่าง รัสเซีย-ยูเครน ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อสภาวะเงินเฟ้อภายในประเทศ โดยธนาคารโลกยังได้รายงานเพิ่มเติมถึงภาคการส่งออกของกัมพูชาในช่วงไตรมาสแรกของปี 2022 ซึ่งการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นเป็นมูลค่ากว่า 4.8 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 26 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ถึงแม้ว่าแรงกระตุ้นทางเศรษฐกิจภายในประเทศจะแข็งแกร่ง การฟื้นตัวกลับถูกชะลอโดยอุปสงค์ทั่วโลกที่ถดถอย ราคาพลังงานและอาหารทั่วโลกที่พุ่งสูงขึ้นเป็นปัจจัยหนุนให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น และในกัมพูชา มีภาคครัวเรือนที่อยู่ในกลุ่มเปราะบางเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีแนวโน้มที่จะแบกรับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อไว้ไม่ไหว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501105248/cambodias-economy-growing-but-must-weather-oil-price-shock/